Cities Reviews

ทางออกประเทศไทย... คำตอบอยู่ที่เมือง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

 

          ในประเทศไทยเรามีราชการที่เป็นกลุ่มเป็นกระทรวงบริหาร ดูแล จัดการ พัฒนาบ้านเมืองมานาน แต่พวกเราเป็นคนของพื้นที่ พื้นที่ของเราคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมือง เทศบาล ซึ่งมีเมืองนคร ซึ่งพวกเราเป็นพื้นที่ในนัยยะที่ไม่ได้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้นด้วย ต้องอาศัยพลังของชาวเมือง ของภาคธุรกิจ ของภาคประชาสังคม และภาคอื่น ๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เรารู้จักใช้พื้นที่ซึ่งที่สำคัญก็เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือท้องถิ่นของเรานี้กำลังเป็นเมืองนคร มหานครมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมืองมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อก่อนประเทศไทยนี้ก็เป็นเครื่องบินใบพัดเดียว คือ บินด้วยกรม ด้วยกระทรวง ด้วยราชการ ส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง ด้วยคณะรัฐมนตรี ด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเรามีนายกเทศมนตรี นายกอบจ. นายกเทศบาลเมือง นายกมหานคร มีจิตอาสา ประชาชนในพื้นที่ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักหนึ่ง ซึ่งเครื่องจักรนี้ที่ผมได้ฟังมาตลอดแปดปีที่เราทำศูนย์ศึกษามหานครและเมืองก็หมุนได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เก่งขึ้นเรื่อย ๆ มีความสร้างสรรค์ มีความต่อเนื่อง

          เป็นการยากที่นายอำเภอพนัสนิคมหรือผู้ว่าการจังหวัดชลบุรีจะรู้อะไรมากกว่านายกเทศมนตรีพนัสนิคม เพราะนายกเทศมนตรีอยู่มาแล้ว 30 ปี ท่านทั้งหลายได้มารายงานว่าเทศบาลของท่าน เมืองของท่าน นครของท่านได้ทำอะไรดี ๆ ถึงแม้ว่าตัวของท่านจะเพิ่งย้ายมาจากที่อื่น แต่ฝ่ายการเมืองของท่านอยู่ที่นั่นมาตลอด เพราะเป็นคนที่นั่นและอาจจะตายที่นั่น เพราะฉะนั้นก็จะมีความรักบ้านรักเมือง ถือเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก

          ผมจะขอใช้เวลาไม่มากเพื่อพูดสิ่งที่ท่านอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการเสริม ซึ่งอาจจะเป็นความรู้ใหม่ ๆ หรือแปลก หรืออะไรดลใจได้ ผมขอพูดจากมุมมองของตัวผมเอง ในฐานะที่คิดเรื่องเมือง เรื่องนคร เรื่องการกระจายอำนาจ เขียนแผนการกระจายอำนาจแผนแรกเมื่อปี 2542 - 2543 ตอนที่คุณชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็สนใจเรื่องการกระจายอำนาจ แผนการกระจายอำนาจแผนแรกที่เขียนขึ้นนั้นยังเล็ก งบประมาณก็ยังน้อย มีเพียง 8 ถึง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รายได้ของท้องถิ่นเมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐบาลทั้งหมดในปัจจุบันก็เกิน 25 เปอร์เซ็นต์แล้วใช่ไหมครับ กว่าจะถึงวันนี้มีแง่คิด มีข้อสรุปอะไรก็จะนำมาเล่าให้พวกเราฟัง เมื่อกี้ผมได้บอกว่าผมมีความคิดสนใจเรื่องการกระจายอำนาจ ต่อมาผมก็มาสนใจเรื่องเมือง เรื่องนคร มหานคร

 

โลกกำลังกลายเป็นเมือง

          สิ่งที่คลังปัญญาและศูนย์ศึกษามหานครและเมืองค้นพบ ได้พบว่าโลกกำลังเป็นเมือง ในหลายปีมานี้ เมืองเติบโตใหญ่กว่าชนบทแล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลก แรกเริ่มตั้งแต่มีมนุษย์ในโลก เมืองนั้นเล็กกว่าชนบทเยอะ แล้วเมืองก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก่อนเมืองเป็นเรื่องของตะวันตก ต่อมาได้พบว่าตะวันออกเองก็กำลังเป็นเมือง หากพูดเป็นทวีป ตอนนี้เอเชียก็กำลังเป็นเมือง การเกิดเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของโลกตอนนี้อยู่ที่ประเทศจีน หากอยากดูงานเรื่องความเป็นเมือง การพัฒนาการเป็นเมือง ไม่มีประเทศไหนในโลกดีเท่ากับจีนแล้ว นอกจากนั้น อินเดียก็กำลังเป็นเมือง ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนก็กำลังเป็นเมือง ประเทศไทยจะว่าไปแล้วเป็นเมืองน้อยกว่าที่อื่น ช้ากว่าที่อื่น เวลานี้เราก็เป็นเมืองมากกว่าชนบทแล้วเช่นกัน จากปรากฎการณ์นี้ โลกมีเมืองเป็นส่วนใหญ่มาไม่ต่ำกว่า 7 ถึง 8 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยเพิ่งเป็นเมืองมากกว่าชนบทเมื่อสองสามปีมานี้เอง

          ไม่ใช่เอเชียเท่านั้นที่กำลังเป็นเมือง แอฟริกาก็กำลังเป็นเมืองเช่นกัน คุณยุวดีได้พูดถึงไนจีเรียว่ากำลังเป็นเมืองที่ใหญ่ แอฟริกากำลังเกิดกระบวนการแปลเป็นเมืองมากมาย มันก็ไม่เลว ที่พวกท่านพูดมาก็เห็นชัดว่ามันไม่เลว แต่เมือของไทยนั้นแต่ก่อนเป็นเมืองที่บริหารจัดการโดยส่วนกลาง เป็นเพียง cluster ของประชากรที่มาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ถ้าใหญ่หน่อยก็เรียกว่านคร ใหญ่จริง ๆ ก็เรียกว่ามหานคร แต่ว่าปกครองแบบรวมศูนย์ งบประมาณก็จะลงมาที่ส่วนกลางส่วนภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่

 

การสร้างเมืองนิยม นครนิยม มหานครนิยม

          เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมก็เริ่มมาคิดว่าเมืองของไทยนั้นขาดเจ้าของ เป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นที่ทำงานเท่านั้น เมื่อเราได้เริ่มทำศูนย์ศึกษามหานครและคลังปัญญาไปสักพักหนึ่ง เราก็ได้ค้นพบกุญแจความสำเร็จของการพัฒนาเมืองในประเทศไทย คือเราต้องสร้าง เมืองนิยม นครนิยม มหานครนิยม จังหวัดนิยม ภาคนิยมขึ้นมา พูดในทางทฤษฎีประเทศไทยเรามีชาตินิยมเป็นหลัก มีชาตินิยมเกือบจะอย่างเดียวในการปลุกระดมให้คนมีความรักต่อบ้านเมือง แต่บ้านเมืองไม่ได้หมายถึงชาติหรือประเทศเท่านั้น แต่บ้านเมืองยังหมายถึงท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งท้องถิ่นก็หมายถึงภาค เช่น รัฐภาคใต้ รัฐภาคเหนือ บางครั้งก็หมายถึงจังหวัด บางครั้งก็หมายถึงเมืองที่เป็นเทศบาล เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองทุ่งสง เราจะทำอย่างไรให้คนรักและศรัทธา บูชา หลงใหล ซึ่งอาจจะฟังดูโอเวอร์ไปหน่อย แต่ผมอยากใช้เพื่อกระชากอารมณ์ว่าบ้านเมืองไม่ได้หมายถึงชาติ ไม่ได้หมายถึงประเทศ ส่วนกลาง เท่านั้น แต่ยังหมายถึงท้องถิ่นซึ่งไม่ได้จำกัดแค่อบต. ท้องถิ่นในความหมายที่เป็นธรรมชาติด้วย เช่น ทำอย่างไรให้ราชภัฏที่ไปเปิดที่เชียงรายรู้สึกว่าตัวเองเป็นเชียงรายให้มากขึ้น ไม่ใช่คิดแค่เป็นเพียงกรมของกระทรวงศึกษา ต้องทำอย่างไรให้ส่วนภูมิภาคที่ไปอยู่ที่จังหวัดนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดด้วย ผู้ว่าจะทำอย่างไรให้เค้ารักในจังหวัด รู้เรื่องในจังหวัด หลงใหลในจังหวัดด้วย ซึ่งตอนนี้ผมว่าเราทำได้ค่อนข้างสำเร็จ ประชาชน จิตอาสา นักการเมือง ข้าราชการท้องถิ่น พนักงานของท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะมีความรักในเมืองที่ตนเองได้ไปอยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งท่านอาจจะไม่ได้เป็นคนของท้องถิ่น แต่ท่านก็รักพื้นที่ที่ท่านมีอยู่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นสิ่งที่จะต้องส่งเสริม เราก็จะทำเมืองดี ๆ มหานครดี ๆ ได้อีกเยอะ แล้วก็เราได้ค้นพบว่าการจะทำเมืองหรือมหานครให้ดีนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องไปรังเกียจส่วนกลาง  เราพยายามที่จะให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น แล้วก็อย่าไปคิดว่าในบางครั้งเมื่อเรากระจายไม่ได้แล้วก็ไม่อยากไปทำอะไร เพราะในความเป็นจริงเราได้พบว่าส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคอย่างที่ท่านนายกฯพนัสนิคมพูดถึงนั้น นับวันส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคได้พบว่าท้องถิ่นเป็นตัวทำงานที่ดีมาก ท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชน ท้องถิ่นมีความเข้าใจในภูมิศาสตร์ ภูมิวัฒนธรรม ความเป็นมาของเมืองมาก

          ดังนั้น ก็จะนำงบประมาณต่าง ๆ มาลงที่ท้องถิ่น แล้วให้ท้องถิ่นประสานกับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งทำได้ค่อนข้างดี เป็นการพัฒนาเมืองแบบไทย ไม่ใช่แบบฝรั่งหรือแบบจีน ซึ่งการพัฒนาแบบฝรั่งหรือแบบจีนนั้น การกระจายอำนาจ คือการให้เมืองนคร มหานคร เป็นเจ้าของแผน เป็นเจ้าของงบประมาณ เป็นเจ้าของทิศทางอย่างจริงจัง สำหรับในประเทศไทยส่วนกลางยังไม่ยอม แต่ความจำเป็นทำให้เค้าต้องยอม ไม่ยอมในทางทฤษฎี ไม่ยอมในทางกฎหมาย แต่ยอมในทางพฤติกรรม แต่เค้าจะยอมหรือเชื่อเราได้ก็ต่อเมื่อเราเก่ง ต่อไปผมถึงเสนอว่าในยุคนี้ท้องถิ่นต้องเก่งมากเป็นพิเศษ ท่านที่เป็นนักการเมืองก็ต้องเก่งกว่ารัฐมนตรีให้ได้ ท่านที่เป็นชาวเมืองทุกคนจะต้องเก่งเรื่องเมืองนคร มหานครมากกว่าคนของส่วนกลาง ท่านต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าถ้าส่วนกลางยังทำไม่ได้ ท้องถิ่นจะทำได้อย่างไร ตอนนี้ต้องคิดว่าเรื่องที่ส่วนกลางทำไม่ได้ ส่วนภูมิภาคทำไม่ได้ ส่วนท้องถิ่นจะต้องทำให้ได้ โดยมีหลักคิดว่าเป็นบ้านเมืองของเราซึ่งเราใกล้ชิดมากกว่าชาติ เราจะคุ้นชินกับชาติเพราะระบบการศึกษาของเราสอนให้คนไทยเป็นคนของชาติอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงคือการจะทำอย่างไรก็ได้ให้เมืองของเราดี มันอยู่ที่เราเองที่เป็นคนกำหนดบ้านกำหนดเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้เสนอ

  • การให้ความสำคัญและการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ความภูมิใจในท้องถิ่น

          ผมได้เขียนออกมาว่าเราควรที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะต้องภูมิใจในท้องถิ่น ต้องไม่ถือว่าท้องถิ่นซึ่งในที่นี้ คือ เมืองนคร มหานคร เป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง เราต้องอาศัยเอาความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาเสริม ประเทศไทยไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ถึงมีก็น้อยมาก มันจะเป็นพวกตำนานอะไรพวกนั้น แต่ถ้าท่านขอความร่วมมือจากนักวิชาการหลายคน ท่านจะเห็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่นที่ท่านอยู่ จังหวัดที่ท่านอยู่ ของเมืองนคร มหานครที่ท่านอยู่ เชียงราย ถ้าจะให้ผมพูดนะครับ มันเป็นต้นทางของสยามประเทศ มังรายก็อยู่ที่นั่น เป็นทั้งต้นทางของล้านนา แล้วก็เป็นจังหวัดหนึ่งในสองจังหวัดเท่านั้นที่มีอาณาเขตติดต่อกับสองประเทศ นั่นก็คือพม่ากับลาว นอกนั้นจังหวัดอื่น ๆ ติดต่อกับประเทศเดียวเท่านั้น อีกจังหวัดหนึ่งที่ต่อกับสองประเทศคือ อุบลราชธานี อุบลฯจะต่อกับเขมรและลาว เพราะฉะนั้น เชียงรายจึงไม่ใช่บ้านนอก ไม่ใช่ปลายแถว เมื่อกี้ผมพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใช่ไหมครับ ถ้าตอนนี้เรานำเรื่องภูมิรัฐศาสตร์มาประกอบด้วย เชียงรายเป็นเมืองที่สามารถเชื่อมต่อกับเมืองหลวงของพม่าไม่ยาก เชื่อมต่อกับเชียงรุ้ง คุณหมิงก็ไม่ยาก เชื่อมต่อหลวงพระบาง เวียงจันท์ก็ง่าย เพราะฉะนั้น เชียงรายน่าจะเป็นพรรคของไทยที่อยู่ทางตอนเหนือที่เชื่อมต่อเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยเข้าด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น หากเราทำงานที่นครเชียงราย เราอย่าไปคิดถึงเชียงรายแบบที่เค้าสอนให้เราคิด แบบเป็นลูกน้องของกรม เป็นลูกน้องของกระทรวง ของกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งผมยอมรับว่าตามกฎหมายก็เป็นแบบนั้นแต่ในทางปฏิบัติมันมีวิธีการเยอะ เมื่อกี้ท่านนายกพนัสนิคนก็ได้พูดถึงว่า สตง.จะมาตรวจว่าใช้เงินในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างไร จริง ๆ แล้วถ้ามีหลักฐานอะไรต่าง ๆ จากกระทรวงสาธารณะสุขก็ไม่จำเป็น แล้วท่านก็ยันไว้ว่าถ้ามีคนตายอะไรต่าง ๆ ท่านจะมาเรียกเงินคืนหรือ ในทางพฤตินัย สตง.ก็ไม่กล้าตรวจ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นการพัฒนาเมืองในแบบที่ค้นพบของเรา

  • การพัฒนาเมืองวัฒนธรรม : หลั่นล้าอีโคโนมี

          การพัฒนาการสร้างสรรค์เมืองในอดีต ในยุคที่ประเทศไทยเรายังเป็นการผลิตแบบพาณิชยกรรม ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมืองส่วนใหญ่ของเราก็มีจุดประสงค์ที่สำคัญก็คือเป็นเมืองราชการกับเมืองพาณิชยกรรม ในยุคนั้นประชาชนก็ไม่ค่อยมีส่วนร่วม จนมาถึงยุคที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เช่น เมืองโคราช เมืองลำพูน เมืองฉะเชิงเทรา การเป็นเมืองอุตสาหกรรมมันก็มีปัญหาทางเทคนิคมากเกินไป ส่วนประชาชนก็ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองต่าง ๆ ที่ผมเอ่ยชื่อมาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมได้อย่างไร ในปัจจุบันก็มีโอกาสที่เราไม่เคยมีมาก่อน เมืองหลาย ๆ เมืองในตอนนี้กำลังจะกลายเป็นเมืองวัฒนธรรม มีศักยภาพในทางศิลปะวัฒนธรรม อันนี้มันเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจไทยเวลานี้เป็นเศรษฐกิจที่ได้จากการท่องเที่ยวและการพัฒนาสันถวไมตรีมากเหลือเกินนะครับ ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ กระทรวงเกษตรนี่แค่ 8 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ อุตสาหกรรมนี่แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เพราะฉะนั้น รายได้จากการท่องเที่ยวของเรามีถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และมันยังเติบโตอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ที่ผมว่าภาคบริการและธุรกิจสันถวไมตรีมันเติบโตเร็วกว่าภาคอุตสาหกรรม สิบปีข้างหน้าการท่องเที่ยวสันถวไมตรี สุขภาพอนามัย หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความงามที่ผมเรียกว่า หลั่นล้าอีโคโนมี นะครับ หลั่นล้ามันเป็นภาษาไทย economy มันเป็นถาษาอังกฤษ เรียกให้เกียรติกับคนไทย ลั่นล้ามันเป็นนิสัยคนไทยที่เรียกได้ว่าชอบสนุกรื่นเริง ทุกข์ยาก สุขง่าย เห็นอะไรในชีวิตแก้ไขได้ทั้งนั้น ชอบรับแขก ทำการท่องเที่ยวได้ดี ตัวเองก็ชอบเที่ยวอยู่แล้ว บริการดูแลนักท่องเที่ยว ไม่รังเกียจคนต่างชาติ มีจิตใจที่โอบอ้อมอารี ผมเรียกธุรกิจเหล่านี้ทั้งหมด ผมโยงเข้ากับคำว่า หลั่นล้าอีโคโนมีด้วย เพราะตั้งใจจะบอกว่ามันเหมาะมากกับคนไทยที่มีเนื้อในเป็นลั่นล้า เนื้อในของคนไทยไม่ใช่อุตสาหะ แต่เป็นเนื้อในที่ลั่นล้า อุตสาหะก็ทำได้ แต่ว่าทำลั่นล้าได้ดีกว่า ลั่นล้าจะเป็นอนาคตของประเทศได้มากทีเดียว ตรงนี้จะทำให้เมืองเข้าสู่ยุคเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม ในยุคแห่งศิลปวัฒธรรม ทรัพยากรที่สำคัญก็คือวัฒนธรรม ประเพณี สำนึก ความรักในถิ่นฐานบ้านเมือง การเก็บรักษาขนบประเพณี วัฒนธรรมที่ดีเอาไว้ บันเทิง ดนตรี ของต่าง ๆ เหล่านี้สามารถเอามาเป็นจุดแข็งของเมืองได้ทังสิ้น ของต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เมืองของเราในยุคนี้มีส่วนร่วมกับประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมกับประชาชน เป็นประโยชน์ที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกระแสที่ไม่มีอะไรต้านทานได้

          นอกจากนั้นเรายังได้พบว่าประเด็นที่ควรร่วมกันนำเมืองนคร มหานครนั้นมีหลายเรื่องมาก ในวันนี้ประเด็นเรื่องของสุขภาวะนั้น ท่านทั้งหลายส่วนใหญ่พูดถึงสุขภาวะ สุขอนามัย ความสุข อันที่สองคือสิ่งแวดล้อมที่ดี บางท่านพูดถึง Carbon Free ส่วนที่สามผมเพิ่งพูดจบไป คือ หลั่นล้าอีโคโนมี ส่วนที่สี่ท่านทั้งหลายคงทราบแล้วแต่ผมเติมให้ครบถ้วน ในเมืองนคร มหานคร ต้องการขนส่งมวลชนที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่ารถสองแถว มากกว่ารถแท็กซี่ที่เก็บเงินแพง ๆ เราจะต้องทำรถไฟในเมือง จะเป็นรถไฟรางเบาแบบบีทีเอส หรือจะเป็นรถไฟใต้ดินแบบในหลาย ๆ เมือง อาจจะเชียงใหม่ อาจจะโคราช ก็ต้องเริ่มคิดกัน การขนส่งมวลชนจะเพิ่มราคาของเมืองขึ้นไป อีกสองประเด็นที่เราได้พูดไปในตอนต้นแล้วเราจะพูดให้ครบถ้วนนั่นก็คือ เราจะต้องเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อจะนำอำนาจทรัพยากรจากกรมมาลงที่พื้นที่ให้มากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อกระจายอำนาจบริหารจากกรมมาสู่เมืองนคร มหานครให้มากขึ้น

สิ่งที่ผมต้องเสนอและอยากเสนอให้พวกเรา และหากเราฟังในวันนี้คงเห็นด้วย คือ การเพิ่มน้ำหนักและความสำคัญให้แก่เมืองนคร มหานคร เห็นเมืองเป็นทางออกและเป็นโฟกัสใหญ่ของประเทศ จำเป็นที่จะต้องสร้างเมืองนคร มหานคร เมื่อพูดอย่างนี้แล้วไม่ได้หมายถึงเมืองนครจะทอดทิ้งชนบท แต่มันเป็นกระแสโลก เป็นกระแสของการพัฒนา กระแสการพัฒนาชนบทต้องเล็กลง แต่ไม่ใช่เล็กลงขนาดที่จะไปทำลายชนบท ถามว่าทำอย่างไรที่จะให้ชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง และถามว่าทำอย่างไรที่เมืองจะทำให้น่าอยู่ ที่จะมีสิ่งดี ๆ แบบชนบทเหลืออยู่แต่ก็มีอะไรที่ทันสมัยแบบเมืองตอบสนองได้ ซึ่งกระแสที่ผมพูดมาจนถึงตอนนี้ผมก็มีความยินดีที่จะบอกว่ามันตรงกับกระแสในต่างประเทศ ตรงกับกระแสในตะวันตกและกระแสในจีน ในตะวันตกนี่ก็กระแสในอเมริกาที่เสนอว่าเมืองนคร มหานครเป็นคำตอบ ไม่ใช่ประเทศคือคำตอบ

 

เมืองกับแง่คิดที่ได้จากหนังสือเล่มสำคัญ

  • หนังสือเรื่อง If Mayors Ruled The World: Dysfunctional Nations, Rising Cities

          เล่มนี้มีชื่อว่า If Mayors Ruled The World แปลเป็นไทยได้ว่า ถ้านายกเทศมนตรีปกครองโลก คนเขียนมีชื่อว่า Benjamin Barber ซึ่งเป็นนักทฤษฎีรัฐศาสตร์ที่เก่งมากอีกคนนึงของโลกก็ว่าได้ เขียนเรื่อง Strong government ที่พูดถึงว่าต้องนำประชาคมและพลเมืองมาทำงานให้มากขึ้น ชื่อรองของหนังสือเล่มนี้ชื่อ Dysfunctional Nations, Rising Cities พูดถึงว่าชาติที่กำลังฝืด ที่กำลังทำงานไม่ได้ ไม่ฟังก์ชัน กับ Rising Cities เมืองที่กำลังมีความสำคัญขึ้น เค้าบอกว่าเวลานี้อเมริกาอยู่ได้ด้วยเมืองสำคัญ ๆ เช่น เมืองนิวยอร์ก เมืองบอสตัน ลอสแอนเจลิส กับเมืองที่อยู่รอบ ๆ เมืองเหล่านั้น การแข่งขันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะดีขึ้นถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเมืองใหญ่ ๆ ที่ผมได้เอ่ยชื่อมา แล้วเมืองเล่านั้นจะต้องทำเสมือนว่าสหรัฐอเมริกาเป็นสหพันธ์ของเศรษฐกิจมหานคร หมายความว่าเค้ามองเห็นว่าความสำคัญของเศรษฐกิจเหล่านั้นไม่ได้อยู่ที่ประธานาธิบดี รัฐมนตรีเกษตรและคมนาคม ไม่ได้อยู่ที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา แต่อยู่ที่เทศมนตรีของนิวยอร์ก บอสตัน ของวอร์ชิงตัน ของลอสแอนเจลิส เค้ายกมาสามสี่บริเวณเมืองนี้สำคัญที่สุด ที่ญี่ปุ่นก็เหมือนกันนะครับ มีอยู่สองบริเวณ คือ บริเวณที่มีโตเกียวเป็นศูนย์กลางและเมืองรอบ ๆ บริเวณที่มีโอซากาเป็นศูนย์กลาง ญี่ปุ่นเจริญเติบโตมาได้ด้วยจังหวัดไม่ใช่ด้วยนายกรัฐมนตรีหรือคณะนายกรัฐมนตรี มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่จังหวัดของญี่ปุ่นไม่ใช่จังหวัดแบบไทย จังหวัดของญี่ปุ่นมีการปกครองแบบส่วนท้องถิ่น มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด สี่สิบกว่าจังหวัด แล้วในบรรดาสี่สิบกว่าจังหวัดนี้ จังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองมหานครมีความสำคัญมาก

          เพราะฉะนั้น แทนที่นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี ควรจะไปประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสามสิบจังหวัด ควรจะไปประชุมกับผู้ว่านคร สามสิบนครที่ผมได้เอ่ยมาเมื่อกี้นี้นะครับ โตเกียว โอซากา เกียวโต โกเบ นางาซากิ มากกว่า อันนี้ก็เป็นการมองอนาคตแบบอเมริกา ว่าอเมริกาจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่ประเทศ แต่อยู่ที่เมืองนคร มหานคร จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผมเห็นอเมริกาอยู่ในประเพณีแบบนี้มานานแล้ว แต่ในตอนนี้การพูดถึงประเพณีการบริหารประเทศแบบนี้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในนิวยอร์กมาห้าปี ก็เห็นว่าการเติบโตของเมืองนิวยอร์กขึ้นอยู่กับนายกเทศมนตรีและงบประมาณส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านการเงิน นิวยอร์กถือเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญที่สุดของโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และยังขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยสองถึงสามแห่งในนิวยอร์กซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่มาช่วยคิดว่าจะทำยังไงให้นิวยอร์กดึงดูดเงินทุน คนดี คนเก่ง คนสร้างสรรค์มาอยู่ในเมืองให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งพวกเราก็ต้องคิดต่อยอดจากสิ่งที่เราทำ ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนของเรามีสุขภาพที่ดี มีสุขอนามัยที่ดี ในอนาคตเราอาจจะต้องคิดว่า แทนที่จะปล่อยหรือบ่นว่า ในรัฐบาลประยุทธ์ ยกตัวอย่างนะครับ ทำไมถึงทำเศรษฐกิจได้ไม่ดี คือชี้นิ้วไปที่รัฐบาลกลางหมด เชียงรายทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเชียงรายดี ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจประเทศไม่ดี ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจแม่มอกมดี ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจลำปางไม่ดี เศรษฐกิจภาคเหนือยังไม่ดี แต่เศรษฐกิจแม่มอกดี เศรษฐกิจเถินดี มันก็เป็นเรื่องของนายกเทศมนตรี ท้องถิ่น และชาวเมืองที่จะต้องช่วยกันคิด ซึ่งเดี๋ยวตอนบ่ายดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ จะมาเล่าให้พวกเราฟังว่าเขา ทีมงานของเขา และประชาชนของเขาสามารถทำให้แม่มอกมีผู้บริบาลผู้สูงอายุ โดยใช้แม่บ้านมาฝึกให้กลายเป็นนักบริบาล โดยฝึกสี่ห้าเดือน มีรายได้หมื่นห้าเป็นอย่างต่ำ ซึ่งทำเงินให้แม่มอกปี ๆ หนึ่งร่วมสิบล้านบาท ท่านทั้งหลายลองคิดดูครับ ว่านี่เป็นวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกแบบหนึ่ง ปกติกระทรวงพาณิชย์ต้องไปเปิดขายของราคาถูกธงฟ้าที่จังหวัดนู้นจังหวัดนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องว่าทำอย่างไรจะไปส่งเสริมเอสเอ็มอี นี่คือการใช้กรมและกระทรวงทำงาน แต่เราแอบพบว่ามีนมีอีกวิธีหนึ่งคือการใช้ท้องถิ่นทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มันเป็นงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่พวกเราสามารถทำได้ แต่พวกเราอาจจะยังไม่คุ้นชิน แต่ด้วยความรักที่มีต่อเมือง อะไรที่ไม่คุ้นชินก็ต้องพยายามทำให้มันคุ้นชิน ทางไหนที่จะทำให้เมืองนคร เมืองมหานครของเรามีเศรษฐกิจที่ดี มีการอุตสาหกรรมที่ดี มีพาณิชยกรรมที่ดี มีอาชีพที่ดี มีหลั่นล้า economy ที่ดี เราช่วย เพราะคนที่จะได้ประโยชน์ก็คือคนของเราเอง

 

  • หนังสือเรื่องThe New Localism: How Cities Can Thrive in the Age of Populism

          อีกเล่มหนึ่งก็น่าสนใจ คนเขียนชื่อ Bruce Katz และ Jeremy Nowak เขียนหนังสือเรื่อง The New Localism ท้องถิ่นใหม่ ชื่อรองก็คือ How Cities Can Thrive in the Age of Populism ทำอย่างไรที่นครจะเจริญเติบโตได้ในยุคของประชานิยม ประชานิยมไม่ได้เป็นปัญหาของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ประชานิยมกลายเป็นปัญหาของทั้งโลกไปแล้ว แต่ไม่ใช่ประชานิยมแบบที่พูดแบบที่วิจารณ์กันในบ้านเรา หมายความว่าเป็นประชานิยมที่เอาใจคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบคนผิวดำ ไม่ชอบคนแอฟริกา ไม่ชอบคนที่หนีมาจากซีเรีย ตั้งข้อรังเกียจเดียดฉัน ทำให้เมืองของยุโรปในเวลานี้ไม่มีสันติภาพ วิธีแก้ของเค้าคืออย่าใช้ประเทศ ให้ใช้ท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นของเขาก็บังเอิญเหมือนกับเราหมด คือต้องไม่ใช่เพียงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องรวมประชาสังคม ศาสนา มหาวิทยาลัย รวมจิตอาสา รวมมูลนิธิต่าง ๆ ที่อยู่ในเมืองทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นทุกท่านครับ การที่เราเห็นความสำคัญเมืองนคร มหานคร ผมจึงคิดว่ามันน่าตื่นเต้น เพราะมันเป็นไปในแนวเดียวกับกับความสนใจของสังคม ซึ่งแม้ในตะวันตกเองจะให้เมืองนคร มหานคร มีอำนาจมีบทบาทในการพัฒนามาก แต่ก็ยังเสนอให้มีมากขึ้นไปอีก

 

  • หนังสือเรื่อง The Next Revolution: Popular Assemblies and the Promise of Direct Democracy

          อีกเล่มหนึ่งคือหนังสือของ Murray Bookchin ชื่อ The Next Revolution ชื่อรองคือ Popular Assemblies and the Promise of Direct Democracy เค้าเชื่อว่าความก้าวหน้าครั้งต่อไปของโลกคือการที่ให้โลกบริหารด้วยเทศบาลเป็นหลัก แล้วให้รวมกันเป็นเสมือนสมาพันธรัฐ ซึ่งถ้าพูดแบบของเราอาจหมายถึงเมืองนคร มหานครทุกแบบ เทศบาลทุกแบบเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ แล้วก็ต้องเป็นแบบ directive democracy ให้มากขึ้น ไม่ใช่แบบ indirective democracy ต้องทำให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องทำให้มากขึ้นและอย่าทำแต่เทศบาลใครเทศบาลมัน จะต้องโยงถึงเทศบาลอื่น ๆ เริ่มจากใกล้เคียง ไปจนถึงที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน จนไปถึงที่อยู่ข้างภูมิภาค เป็นสมาพันธรัฐของเทศบาล ศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า libertarian municipalism นะครับ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยอย่างของไทยเรา ถ้าจะแก้ไขประชาธิปไตยให้มากกว่านี้อาจจะต้องละสายตาไปที่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เลือกผู้แทน เลือกผู้นำ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านสร้างเมือง มีส่วนร่วมในการเสนอแผนการต่าง ๆ การเรียกร้องต่าง ๆ ในท้องถิ่นซึ่งไม่ควรใหญ่เกินไป ซึ่งไม่ต่างจากที่ผมได้มองเห็นในเมือง ในประเทศไทย ว่าเวลานี้เทศบาลท้องถิ่นหลายแห่งสันทัดมากในการใช้ท้องถิ่น ใช้ประชาสังคม ใช้จิตอาสา ใช้การมีส่วนร่วม ใช้การเป็นเจ้าของร่วมกันในการทำงานมากขึ้น

          อีกเล่มหนึ่ง จาก David Harvey เขียนหนังสือเรื่อง Rebel Cities เมืองกบฏ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป ความไม่พอใจในระบบการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่จะไประเบิดอยู่ที่เมืองนคร มหานรตามลำดับ Bookchin บอกว่าถ้ามันไปได้จะไปแบบประชาธิปไตยแบบประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทนเลือกผู้นำ แต่ David  Harvey บอกว่าถ้าทำไม่ได้ ละเบิดจะมาจากเมืองนครมหานครเหมือนกัน กรุงเทพฯเป็นเมืองกบฏนะครับ ถ้าลองคิดถึงตั้งแต่ 14 ตุลา พฤษภา ออกมาหลายแสนนะครับ การเปลี่ยนแปลง การจลาจล ความวุ่นวาน มาจากเมืองทั้งนั้น แต่เราไม่ค่อยได้คิดแบบนี้ การพัฒนาเมืองก็จะต้องทำอย่างไรให้คนในเมืองมีสติปัญญา มีความรู้สึกพอใจกับเมือง มีความรู้สึกเสมอภาค มีภราดรภาคกับคนในเมือง ซึ่งเท่าที่ผมฟังจากทุกท่านทั้งหลาย เมืองขนาดเล็กเราทำกันได้ดี ในเมืองขนาดกลางเราก็ยังทำกันได้ดี แต่ที่กรุงเทพฯเรายังมีปัญหาเยอะ เพราะถึงแม้จะเป็นมหานครแต่ไกลจากประชาชนเยอะ ในอนาคตเชียงใหม่ เชียงรายก็จะต้องเตรียมตัวเอาไว้ อุดรฯ อุบลฯ ก็จะต้องเตรียมตัวเอาไว้ พิษณุโลก ก็จะต้องเตรียมตัวเอาไว้ เป็นภาพที่ดีที่ท่านนายกพนัสนิคมมาช่วยทำยังไงให้คนที่อยู่กันยี่สิบกว่าคนที่ถูกน้ำท่วมเยอะ ๆ เอาเค้าออกมาสร้างบ้านให้เค้า ยกระดับความเป็นอยู่ของเค้าขึ้นมาได้ ก็เป็นการลดระดับความเหลื่อมล้ำในเมือง

บทสรุป เมืองนคร มหานคร สำคัญที่สุด

          สุดท้ายนะครับ ผมปรารถนาที่จะให้พวกเราทั้งหมดเห็นความสำคัญของเมืองนคร มหานคร ที่เราทำงานให้มันก้าวหน้ามาแล้ว พัฒนาขึ้นอีก ผมก็อยากจะเติมมุมที่ทุกท่านได้ทราบมาแล้วว่าเมืองนคร และบางครั้งมหานครนั้นมีก่อนที่จะมีรัฐเสียอีก มีก่อนที่จะมีอาณาจักรเสียอีก เรามักเข้าใจว่ามีรัฐก่อนมีเมือง แต่จริง ๆ แล้วเมืองมีก่อน เป็นการปกครองแบบขอบเขตจำกัดของเมือง แล้วเมืองก็แผ่อำนาจออกไป ไปกลืนเมืองที่เล็กและกลางกว่า แล้วขยายไปยังบริเวณที่กว้างขวางขึ้น เรียกว่าอาณาจักร อย่างเมืองของกรีกโบราณ ก่อนที่จะเป็นประเทศก็เป็นเมือง เมืองของกรีกโบราณสำคัญกว่าประเทศกรีกโบราณ ไม่ว่าจะเอเธนส์ ไม่ว่าจะสปาร์ต้าและเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย คนอยู่รวมกันเป็นเมืองแล้วจึงกลายเป็นเมืองใหญ่ ๆ รวมกัน มีเมืองใหญ่ที่สถาปนาว่าเป็นเมืองหลวงแล้วเปลี่ยนบรรดาเมืองทั้งหลายให้เป็นประเทศ คำว่า polis ของกรีกโบราณ จึงมีความหมายที่แปลว่าเมืองหรือประเทศก็ได้ ซึ่งอันนี้มันก็บังเอิญเหลือเกิน คำว่าเมืองของไทย มันก็หมายทั้งเมืองหรือประเทศก็ได้ เราเรียกประเทศไทยว่าเมืองไทย ในขณะเดียวกันเราเรียกเมืองสุโขทัย เมืองสุพรรณบุรี

          สยามหรือประเทศไทยเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเมืองอยุธยา เมืองอยุทธยาเกิดก่อน เข้มแข็งขึ้นมา แล้วเมืองอยุธยาก็ค่อย ๆ ขยายขอบเขตอิทธิพลจนเอาชนะเมืองต่าง ๆ ได้หมด กลายเป็นประเทศสยามหรือประเทศไทยที่เรารู้จักทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเมืองมันมีเกียรติภูมิที่ยิ่งใหญ่มาก แต่การศึกษาแบบไทยเราในยุคสมัยใหม่เกิดในยุคชาตินิยม มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างชาติ ดังนั้น เมืองสุโขทัยมีความสำคัญมากกว่าเมืองกาญจนบุรีที่ตัวเองอยู่ การศึกษาเร่งที่จะทำให้เรารู้จักประเทศไทยซึ่งไกลเกินตัว พยายามที่จะทำให้เราศึกษาประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เมืองนคร มหานครลดความสำคัญลงไป ไปให้ความสำคัญกับประเทศ ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่ ณ เวลานี้จะต้องกลับมาเข้าใจเมืองนครมหานครให้มากขึ้นนะครับ เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์ผมจึงเห็นว่าเมืองนคร มหานครเกิดก่อนรัฐที่เป็นอาณาจักรหรือรัฐที่เป็นจักรวรรดิเสียอีก เมืองเป็นที่รวมประชากร ขยายประชากร แล้วก็ประสมประชากรเข้าด้วยกัน อย่างอยุธยาประสมรวมไม่รู้กี่ชาติพันธุ์ รวมทั้งไทยด้วย เข้าไปหล่อหลอม ถ้าเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า melting pot คือการทำให้คนหลากหลายชาติพันธุ์กลายเป็นคนไทย ฉะนั้นจึงเป็นเมืองไม่ใช่ประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการรวมประชากรไทยเข้าด้วยกันเป็นประเทศ แล้วก็เป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรม

          คำว่าอารยธรรมในภาษาอังกฤษคือ civilization คำว่า ซิฟ (civ) แปลว่าเมือง อารยธรรมจึงเกิดเฉพาะเมื่อมันมีเมืองขึ้นมาเท่านั้น ในยุคที่โลกทั้งหมดเป็นชุมชนเป็นหมู่บ้านมันยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอารยธรรม อารยธรรมเกิดขึ้นเมื่อคนในโลกสร้างเมืองขึ้นมาก่อน เมืองแรก ๆ ของโลกอายุประมาณ 6,000 ปี เกิดในแถบเมโสโปเตเมียซึ่งทุกวันนี้อยู่ในอิรัก อยู่ระหว่างลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส จากแถบนั้นความเป็นเมืองขยายไปที่อียิฟต์ ขยายไปที่ตะวันออกกลาง เมืองแรก ๆ ของโลกเกิดขึ้นแถบนั้น อารยธรรมแห่งแรกของโลกจึงเกิดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว แต่ว่าต่อมาก็เกิดที่จุดอื่น ๆ อีก เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้วก็เกิดที่อินเดีย ประมาณ 6,000 ปีที่แล้วเกิดที่จีน เมืองของจีนที่เกิดขึ้นคนมากมายมหาศาล

          เรามีมหานครมาเป็นพันปีแล้ว และขอพูดดัง ๆ นะครับ ความเป็นเมืองนคร ความเป็นมหานคร นั้นไม่ใช่ของฝรั่ง ตะวันออกเราเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองนคร มหานครที่ยิ่งใหญ่ ที่งดงาม ที่เข้มแข็งมากมายมหาศาล เรามี tradition ของเราอยู่แล้ว เรามี local tradition ของเราอยู่แล้ว ถ้าจะหาเมืองตะวันออกที่ยึดถือเป็น tradition ของท่านนะครับ ให้นึกถึงเมืองพาราณสีเมื่อ 5,000 ปี ให้นึกถึงปักกิ่งร่วม 2,000 ปี ให้นึกถึงนานกิงร่วม 2,000 กว่าปี ให้คิดถึงลั่วหยาง ไคเฟิงเป็นพันกว่าปี คิดถึงอันหยางสามพันกว่าปี เมืองเหล่านี้เป็นที่ประดิษฐ์อักษรจีน เขียนอักษรจีน เมืองสุโขทัยเป็นที่ประดิษฐ์อักษรไทย เมืองเชียงใหม่เป็นที่ประดิษฐ์อักษรล้านนา นี่แหละครับ เมืองมันสำคัญเหลือเกิน ประเทศสำคัญทีหลัง เมืองสำคัญกว่า ประเทศมาสำคัญจริง ๆ ตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา เมื่อเกิดลัทธิชาตินิยม แล้วก็ปกครองประเทศทั้งหมดโดยเมืองนคร มหานครเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ก่อนหน้านั้นเมืองนคร มหานคร เป็นส่วนสำคัญของประเทศ แล้วค่อย ๆ รวมเมืองหลวงนี้เข้าด้วยกันกลายเป็นประเทศ แต่ความจริงตรงนี้มันหายไป ทำให้คนในเมืองไม่ค่อยรู้เรื่องว่าจังหวัดของตนเองสำคัญ ไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเมืองของตนเองสำคัญ นี่เป็นจุดอ่อนมาก ๆ

          ลำปางเป็นเมืองตั้ง 1,300 ปี ลำพูนเป็นเมืองตั้ง 1,300 ปี แต่ทุกวันนี้ ถ้าเราใช้เกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยเราก็จะไปดูขนาดและปริมาณ ถ้ามีผู้ว่าเด็ก ๆ ก็ส่งไปลำพูน แก่ขึ้นมาหน่อยก็ส่งไปลำปาง พอแก่ได้ที่ก็ส่งไปเชียงใหม่ เพราะว่าเค้าจัดลำดับไว้แล้ว แต่ถ้าจัดตามลำดับความเป็นตัวเป็นตนแล้ว เชียงใหม่เกิดมาหลังลำพูนตั้ง 600 ปี ล้านนาเกิดทีแรกเรียกว่าหริภุญไชยอยู่ที่ลำพูน ทันทีที่มีเมืองลำพูนคุณก็ไปสร้างเมืองลำปาง พระธาตุลำปางอยู่ที่ลำปาง 1,300 กว่าปี ตอนหลังเราลืมความคิด ลืมประวัติศาสตร์เหล่านั้น ต้น ๆ เราอาจจะดีเมื่อเราสนใจเรื่องถิ่นน้อยลงหน่อยเพื่อจะไม่แตกแยกกัน แต่ ณ เวลานี้มันหลอมเป็นไทยไปหมดแล้ว ไม่มีใครแตกแยกกันแล้ว ที่พูดนี่ไม่ได้ให้เห็นแก่ตัว แต่เชียงใหม่ดีขึ้นแล้วก็ต้องไปช่วยให้จังหวัดอื่น ๆ ดีเหมือนเชียงใหม่ด้วย ข้ามภาคด้วย เรารักและภูมิใจในส่วนย่อยแต่ไม่ได้ไปทำให้ความรักในส่วนใหญ่เสียหาย ถ้าเราจะเอา tradition เป็นแบบฉบับนะครับ ผมจะขอยกเมืองเดียวเท่านั้นคือเมืองอโยธยา เมืองนี้เรามักเข้าใจว่าเป็นเมืองหลวงของสยามเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วเป็นทั้งเมืองหลวงของสยามและเป็นทั้งเมืองท่าสำคัญของเอเชียอาคเนย์ และเมืองนี้ฝรั่งที่มาดูก็บอกว่าใหญ่กว่าลอนดอนใหญ่กว่าฝรั่งเศส เมืองนี้มีคนที่อยู่ในกำแพงสองแสนคน และที่อยู่นอกกำแพงเมืองอีกสองแสนคน ประชากรของอยุธยาในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดมีจำนวนสี่แสนคน ไม่ใช่เมืองเล็กเลย แต่การที่มันถูกเผาไปทำให้เราไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ผมคิดว่าเมืองของไทยที่เก่าแก่และมีชีวิตต่อเนื่องมาน่าจะมีไม่กี่เมือง เชียงใหม่เมืองหนึ่ง 700 ปีนะครับ นครศรีธรรมราชอีกเมืองหนึ่งเป็นพันปีนะ อยู่ต่อเนื่องมาตลอดนะครับ เพชรบุรีในความเห็นผมคืออยุธยาที่ไม่ถูกเผา ไปดูนะครับ พระเจ้าไชยวรมันที่ 7 มาสร้างเมืองเพชรบุรี อยู่ในอาณาจักรขอมด้วย มาทางทะเล อะไรแบบนี้ผมว่ามันน่าตื่นเต้นและทำให้เรานึกออกว่าเราจะใช้สร้างบ้านสร้างเมืองอย่างไรนะครับ

          ก็ขอสรุปว่าสิ่งที่ผมพูด มันพูดก่อนที่ยุคการท่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่ พูดไปมันก็เพียงแต่ว่าดี ก็ทำสิ ทำให้คนมันคิดถึงประวัติศาสตร์ตัวเองมันก็ดี แต่ว่าไม่ใช่มันจะดีอย่างเดียว มันได้เงินด้วย มันเป็นทางทำมาหากินที่สำคัญ ทั้งถูกกับอัธยาศัยของเรา ทั้งเราเป็นชาติที่มีการผสมผสานหลายวัฒนธรรม ทั้งเข้าใจอินเดีย เข้าใจจีน เข้าใจตะวันตก เข้าใจการค้าเส้นทางสายไหมอะไรได้อีกเยอะเลยนะครับ เพราะประเทศสยามของเราเป็นเส้นทางสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลด้วย และทำให้เราภูมิใจในภาคของเราด้วย ภาคอีสานคือภาคที่เชื่อมกับลาวเชื่อมกับเขมร ไม่มีภาคไหนเชื่อมสองประเทศได้ขนาดนี้ทั้งยังอยู่ใกล้เวียดนามด้วย ภาคอีสานใกล้จีนที่สุดในการเดินทางโดยการบิน ภาคเหนือคลุมพม่า คลุมลาว คลุมจีนได้หมด ภาคใต้คลุมสองมหาสมุทร ผมคิดว่าเรายังใส่ story กับเมืองของเราน้อยไป คำขวัญก็เป็นคำขวัญเชย ๆ ผมคิดนะครับ ถ้าผมจะไปตั้งคำขวัญให้สตูล จะใช้ ปากทางเข้าช่องแคบมะละกา สตูลนี่อยู่ตรงปากทางเข้าช่องแคบมะละกาด้วยนะครับ แต่ว่าคนสตูลก็ไม่ค่อยรู้ คนภาคใต้ก็ไม่ค่อยรู้ คนที่รู้มีน้อยมากนะ รู้แต่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ช่องแคบมะละกามีความสำคัญมาก ท่านครับ ทั้งหมดที่ผมได้พูดมาสามตอนนี่นะครับ รวมถึงตอนสุดท้ายด้วย เพื่อจะบอกว่าศูนย์ศึกษามหานครและเมืองชื่นชมในสิ่งที่พวกท่านทำ เห็นคุณค่าและผลประโยชน์ในสิ่งที่พวกท่านทำ เราจะสนับสนุน เราจะให้กำลังใจ เราจะศึกษาความรู้จากท่าน ถ้าเรามีส่วนที่เติมกำลังใจให้ท่าน ช่วยท่านได้ เราก็ยินดี บ้านเมืองที่เป็นเมืองนคร เมืองมหานครมันจะเดินไปได้ก็อยู่ที่พวกเราช่วยกัน ถ้าพวกเราช่วยกัน สามัคคีกัน เป็นเน็ตเวิร์คกัน แลกเปลี่ยนความรู้กันและไม่พอใจอยู่กับความรู้ ไม่พอใจอยู่กับความสำเร็จ เราไม่เป็นถ้วยชาที่เต็ม เติมอะไรก็จะล้น เราเป็นถ้วยชาที่เติมได้อยู่เรื่อย ๆ พึ่งตนเอง พึ่งกันเอง บ้านเมืองก็จะไปได้นะครับ ขอขอบคุณทุกท่านนะครับ

 

 

 

 

• AUTHOR

 


มณฑิภรณ์ ปัญญา

ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts