Cities Reviews

ท้องถิ่นนำการพัฒนาเศรษฐกิจ : การยกระดับขีดความสามารถเมืองชายแดนภาคเหนือ

 

พัฒนา สิทธิสมบัติ[1] เรื่อง

 

        เมืองชายแดนของไทยมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น ๆ ในบริเวณภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในด้านเศรษฐกิจ มีการแลกเปลี่ยนค้าขายร่วมกับกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เมืองชายแดนของไทยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ส่งเสริมเศรษฐกิจร่วมกัน ไม่ใช่พื้นที่ที่แข่งขันกัน ทั้งสองประเทศติดชายแดนล้วนได้ประโยชน์ทั้งคู่ ยิ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีและการรวมกลุ่มต่าง ๆ ทางการค้าในยุคปัจจุบันทำให้รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดการพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายถนนที่เชื่อมต่อเมืองชายแดน ทำให้ขนส่งสินค้าทำได้สะดวกยิ่งขึ้น มีการใช้แพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เมืองชายแดนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากจึงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถต่อสู้ผู้กับผู้ผลิตขนาดใหญ่ได้ และเราได้เห็นว่าภาคเอกชนเป็นตัวแสดงใหม่ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเมืองชายแดนไทย เมืองชายแดนเป็นโอกาสของประเทศไทย ฉะนั้น รัฐบาลควรมุ่งหน้าพัฒนาเมืองชายแดนของไทยให้เติบโต โดยบทความนี้จะขอนำเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองชายแดน โดยมีจุดเน้นเมืองชายแดนภาคเหนือเพื่อให้เห็นรูปธรรมของการพัฒนา เพื่อให้รัฐบาลและท้องถิ่นสามารถนำเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของตนเองได้

 

แนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับการค้าเมืองชายแดน

          การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในพื้นที่เมืองชายแดนมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่

  • การพัฒนาโครงข่ายถนน เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือและในอาเซียน โดยในปัจจุบันมีทั้งเส้นทางที่มีอยู่แล้วและเส้นทางที่กำลังดำเนินการสร้าง
  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการจัดฝึกอบรมผู้ผลิตรายย่อยในพื้นที่ให้เข้าใจกลยุทธและวิธีการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมให้เพิ่มตลาดผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลนี้สามารถทำได้โดยเริ่มจากการหาตัวแทนพื้นที่ พัฒนาสมาชิกชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญ แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่มเครือข่ายต่อไป
  • การพัฒนาเครือข่ายการค้า ที่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายผ่านรูปแบบที่ทั้งเป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการ เพื่อขยายตลาดการขายสินค้าและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทำให้พัฒนาการค้าต่อไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

การพัฒนาชายแดนภาคเหนือ

        แนวทางการพัฒนาเมืองชายแดนภาคเหนือแบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ดังนี้

  1. การพัฒนาโครงข่ายถนน : การพัฒนาเส้นทาง North-South Economic Corridor

        North-South Economic Corridor (NSEC) หรือแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อเชื่อมต่อจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ลงมายังพื้นที่ GMS (Greater Mekong Subregion) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน (มณฑลยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า โดยเส้นทาง NSEC ประกอบไปด้วย

  • เส้นทาง R3A เชื่อมโยงระหว่างจีนตอนใต้กับลาวและไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองคุนหมิง มายังเมืองโมฮาน เมืองบ่อเต็น และเมืองห้วยทรายของลาว เข้าเขตไทยที่ อำเภอเชียงของ มาสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ
  • เส้นทาง R3B มีจุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิงเช่นเดียวกับ R3A แต่ผ่านเข้ามาทางประเทศพม่าที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก แล้วเข้าไทยที่เขต อ. แม่สาย จ.เชียงราย และมีปลายทางที่กรุงเทพฯ[2]

        เส้นทางในแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้นี้จะช่วยให้การพัฒนาการขนส่งสินค้าระหว่างชายแดนสะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าให้กับประเทศในกลุ่ม GMS โดยจะเห็นว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในเส้นโอกาส ไม่ว่าจะเกิดโครงการอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในด้านการท่องเที่ยว หรือการพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำโขง เราก็ได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ที่ตั้งของเรา ซึ่งในปัจจุบัน เส้นทางเหล่านี้มีการขนส่งสินค้านำเข้าจากประเทศจีนมากมาย เป็นความท้าทายว่าเมืองชายแดนของไทยจะปรับตัวอย่างไรเพื่อสามารถแข่งขันกับสินค้าจากที่อื่นที่จะหลั่งไหลเข้ามา และสร้างประโยชน์สูงสุดกับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายได้

 

ภาพที่ 1 ภาพแสดงเส้นทาง North-South Corridor (สีฟ้า) เส้นทางรถไฟความเร็วสูง (สีเหลือง) 

ที่มา : พัฒนา สิทธิสมบัติ

 

ภาพที่ 2 : ภาพแสดงพื้นที่ภาคเหนือของไทยบนยุทธศาสตร์การพัฒนา

ที่มา : พัฒนา สิทธิสมบัติ

 

  1. การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น : ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นนิยม

        พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม การพัฒนา รวมถึงเศรษฐกิจ ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองชายแดนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการดำเนินการเชิงนโยบายของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งความเป็นท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เมืองชายแดนที่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะต้องหาแนวทางปรับตัวเพื่อพัฒนาให้สามารถแข่งขันทางการค้าในโลกที่เปลี่ยนไป เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองชายแดนไม่สามารถขับเคลื่อนได้โดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว จึงเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนที่มองเห็นศักยภาพของท้องถิ่นกับผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นขึ้น ร่วมมือกันพัฒนาการค้าภายใต้ “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นนิยม”

        เมื่อผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กต้องแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ ผู้ประกอบการในท้องถิ่นจึงต้องชูความเป็นท้องถิ่น เพื่อผลักดันสินค้าให้ติดตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นนิยม ใช้ความเป็นท้องถิ่นเป็นจุดขายที่สำคัญ รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์สินค้า นำวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาใช้บอกเล่าเรื่องราว ดังนี้

  • ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ โดยสร้างมาตรฐานการผลิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย มีข้อมูลผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า และการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
  • ต่อยอดสินค้าพื้นฐานให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้น่าสนใจ ใส่เอกลักษณ์ของท้องถิ่นลงไปในสินค้า เปลี่ยนรูปแบบสินค้าธรรมดาๆ ให้ดูมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นโดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเล่าเรื่องราวของสินค้า
  • สร้างตลาดส่งออกให้สินค้าที่เพิ่มมูลค่าแล้ว โดยใช้ยุทธศาสตร์ 4.0 มองหาและสร้างตลาดใหม่ ๆ ให้แก่สินค้าในท้องถิ่นผ่านการใช้เทคโนโลยี โดยการโฆษณา หาเครือข่าย และขายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่าย E-Commerce

 

ภาพที่ 3 การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ลักษณ์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ที่มา : พัฒนา สิทธิสมบัติ

 

ตัวอย่างการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น  : แฟชั่น (Fashion)  การเผยแพร่และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยและพม่าบนเวทีแฟชั่นโชว์

        การหยิบยกวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นจุดขายไม่ได้ทำได้เพียงในสินค้าเท่านั้น แต่ทำได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย ดังเช่นการเล่าเรื่องวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 มีการเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายจากกลุ่มนักออกแบบแฟชั่นชาวไทยและพม่า จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ภายใต้แนวคิด GMS : House of Fashion Design, Gems & Jewelry ในงานการประชุมสัมมนานานาชาติ Northern Logistics Forum 2014 เป็นการจัดแสดงความสวยงามของเครื่องแต่งกายที่หยิบยกเครื่องแต่งกายของชนเผ่าขึ้นมาผ่านการออกแบบและนำเสนอในรูปแบบทันสมัย สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งนอกจากเป็นการแสดงความงดงามของผ้าท้องถิ่นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจ SME ด้านอุตสาหกรรมเสื้อผ้าให้สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกันได้ต่อไป รวมทั้งยังขยายต่อเนื่องไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจเครื่องประดับ อัญมณี เครื่องสำอาง ตลอดจนธุรกิจความสวยงามได้อีกด้วย

        แฟชั่นโชว์ชุดนี้เป็นตัวอย่างการหยิบยกความเป็นท้องถิ่นขึ้นมานำเสนอได้อย่างไม่เคอะเขิน เปลี่ยนมุมมองของผ้าท้องถิ่นที่มีภาพลักษณ์ไม่ทันสมัยให้ดูทันสมัย สวยงาม และน่าสวมใส่ การนำเสนอรูปแบบนี้ช่วยให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าท้องถิ่นสามารถเปิดตลาดได้กว้างยิ่งขึ้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ  

 

ภาพที่ 4 ภาพการเดินแฟชั่นในงานการประชุมสัมมนานานาชาติ ที่จังหวัดเชียงราย

   

ที่มา : http://oknation.nationtv.tv

 

  1. การพัฒนาแพลตฟอร์ม E-Commerce : ขยายตลาดสู่สากล

        ในยุคโลกไร้พรหมแดนที่ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่อกันได้สะดวกรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รูปแบบการค้าจึงไม่ได้อยู่แต่ในรูปแบบหน้าร้านอีกต่อไป การค้าขายผ่านระบบ        E-commerce เป็นรูปแบบใหม่ที่ธุรกิจทุกขนาดต้องให้ความสนใจและปรับตัว

        กลุ่มบิส คลับ ซึ่งเป็นศูนย์รวมเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และภาคีเครือข่าย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มขีดจำกัดทางการค้าของไทยผ่านการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางเมืองชายแดน ได้สร้างแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ (Platform E-commerce) เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก ภายใต้โครงการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ GMS. (GMS - THAILAND E-COMMERCE ECONOMIC CORRIDOR (GTEC) เพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้าและดึงดูดนักลงทุนระหว่างประเทศ ภายใต้กลุ่มความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion : อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ) อันประกอบไปด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) โดยแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เช่น ผลิตภัณฑ์โอทอป (One Tambon One Product : OTOP)  ผลิตภัณฑ์โอดอด (One District One Project : ODOD) สินค้าเกษตร และภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตลาดการค้าสู่ต่างประเทศได้มากขึ้นผ่านเครือข่ายออนไลน์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ยังไปสอดคล้องไปกับการพัฒนาโครงข่ายถนนที่เชื่อมระหว่างประเทศ (GMS Economic Corridors) ในแง่ของการใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าอีกด้วย

 

บทสรุป

        ในการดำเนินยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองชายแดนพบว่าไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ ได้แก่ ข้อได้เปรียบในอุตสาหกรรมบันเทิง สิ่งทอแฟชั่น เครื่องประดับ อัญมณี และอสังหาริมทรัพย์ ที่ธุรกิจเหล่านี้ในไทยมีการพัฒนาไปล้ำหน้ากว่าเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ สินค้าของไทยได้รับการยอมรับ เป็นที่นิยม และมีภาพลักษณ์ที่ดีในประเทศเพื่อนบ้าน

        ประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เปรียบ สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งจีนทั้งจีนและพื้นที่ในบริเวณรอบ อยู่บนยุทธศาสตร์เส้นทางการขนส่งที่สำคัญ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าเมืองชายแดนไทยในขณะนี้อยู่ภายใต้แนวความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไป ปรับเปลี่ยนมุมมองเป็นการมองแบบภูมิภาค มองการค้าผ่านชายแดนเป็นเรื่องของพื้นที่ทั้งหมดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ไม่ใช่เพียงเรื่องของแม่สาย แม่สอด แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทุกพื้นที่ในภูมิภาค ยกระดับการทำงานจากท้องถิ่นให้เป็นระดับความร่วมมือที่ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกัน การมองเศรษฐกิจแบบภูมิภาคไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงเมืองใหญ่อย่างเดียวดังแต่ก่อน แต่ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่เล็ก ๆ และกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

        หากเรามองจุดยืนของเมืองชายแดนผ่านการมองแบบรัฐต่อรัฐ เราจะมองเห็นว่าเมืองชายแดนเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบต่างและกฎหมายที่รัดกุม เมืองชายแดนระหว่างสองประเทศไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายเหมือนอดีต แต่หากเรามองเมืองชายแดนในมุมมองท้องถิ่น จะเห็นว่ารูปแบบความเป็นเมืองชายแดนนั้นยังคงสามารถเชื่อมต่อและทำการแลกเปลี่ยนผ่านทางพื้นที่ชายแดนได้เหมือนเดิม

 

[1] ประธาน Bizclub ประเทศไทย  อดีตประธานหอการค้าเชียงราย

[2] ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

 

• AUTHOR

 


มณฑิภรณ์  ปัญญา

ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

Related Posts