Cities Reviews

ชาธิป ตั้งกุลไพศาล บทบาทภาคเอกชน (กลุ่ม YEC) ในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร

 

 

            ในวันนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัด หรือการพัฒนาเมือง เราจะเริ่มคุ้นและได้ยินชื่อกลุ่ม YEC มากขึ้น โดยกลุ่ม YEC เป็นการรวมกลุ่มของนักธุรกิจรุ่นใหม่รุ่นเยาว์ในจังหวัดทั่วประเทศ เป็นประชาสังคมที่เกิดจากการรวมของภาคเอกชน กลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่จับตามองว่าพวกเขาเป็นพลังกลุ่มใหม่ (Actor) ในท้องถิ่น  คาดหวังกันว่ากลุ่ม YEC จะใช้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ การจัดการที่เก่ง ช่วยในการพัฒนาเมืองและสังคม กลุ่ม YEC ที่มีบทบาทโดดเด่นมาตลอด หนึ่งในนั้นคือ กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร

             ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง จึงลงพื้นที่เมืองสมุทรสาคร เพื่อพูดคุยกับ คุณชาธิป ตั้งกุลไพศาล รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และเคยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร  เพื่อเห็นภาพว่า กลุ่ม YEC จะมีบทบาทอย่างไรกับการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง เราจะคาดหวังกับกลุ่ม YECได้แค่ไหน และอะไรคือปัจจัยขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกลุ่ม YEC และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม  ต่อเรื่องราวและภาพการพัฒนาเมืองที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมนั้นจะมีรูปแบบการทำงานอย่างไร เพื่อที่เมืองอื่นๆ ได้ดึงพลังคนกลุ่มนี้มาสร้างบ้านแปงเมืองได้ดียิ่งขึ้น

 

จุดเริ่มต้นการรวมกลุ่ม YEC จังหวัดสมุทรสาคร

            คุณชาธิป เล่าว่า ตนเองเดิมเป็นคนหาดใหญ่ เป็นคนใต้โดยกำเนิด แต่ย้ายมาอยู่จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งรกรากสร้างโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ปัจจุบันก็ถือว่าเป็นคนสมุทรสาครแล้ว  เป็นประธานนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร และเป็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับหอการค้ามากนัก เป็นเพียงสมาชิกเท่านั้น

           พ.ศ. 2556 มีนโยบายจากหอการค้าไทยให้จัดตั้งกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม YEC (Young Entrepreneurs Chamber) ขึ้นมาทั่วประเทศ ให้เป็นส่วนหนึ่งของหอการค้าจังหวัดต่างๆ เตรียมพร้อมเป็นคณะกรรมการหอการค้าในอนาคต โดยประธาน YEC จะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของหอการค้าจังหวัดโดยตำแหน่ง  สำหรับการก่อตั้งกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร มอบให้รองประธานหอการค้าเป็นดูแลจัดตั้งกลุ่ม YEC จังหวัดสมุทรสาครขึ้นมา

            รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครจึงดำรงตำแหน่งเป็นประธาน YEC รุ่นที่ 1 ไปด้วย ได้เข้ามาชักชวนตนเอง ให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม YEC ตอนนั้นตนเป็นเพียงสมาชิกหอการค้าจังหวัด  เมื่อเข้ามาร่วมกับกลุ่ม YEC จึงได้มาเป็นรองประธานฝ่ายเศรษฐกิจในรุ่นที่ 1

            ในรุ่นที่ 2 คุณชาธิป  ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธาน YEC จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับการได้รับเลือกให้เป็นรองประธานหอการค้า ในยุคนั้นมีประธานกลุ่ม YEC เป็นรองประธานหอการค้าไม่เกิน 5 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น กาญจนบุรี ระยอง เป็นต้น เนื่องจากวัยวุฒิและคุณวุฒิที่เหมาะสม  

             กลุ่ม YEC ในช่วงเริ่มต้นมักประสบปัญหาคล้ายๆ กันในหลายจังหวัด คือ ประธาน YEC ไม่ได้เป็นคณะกรรมการหอการค้าจังหวัด เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหม่ และยังไม่ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากกลุ่มหอการค้าจังหวัด มีบางจังหวัดเท่านั้นที่มีการยอมรับ และในระยะหลัง ที่กลุ่ม YEC ได้เข้ามาทำกิจกรรมมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้น ทำให้กลุ่มหอการค้าจังหวัดก็เริ่มยอมรับและเปิดรับมากยิ่งขึ้น

 

คุณชาธิป ตั้งกุลไพศาล 

 

การบริหารจัดการกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร

           ในช่วงการเริ่มต้นก่อตั้งกลุ่ม YEC ทุกจังหวัดของประเทศ การจัดการองค์กรยังไม่มีทิศทางใดๆ ทั้งสิ้น ประธาน YEC ทุกจังหวัดรุ่นที่ 1 ไม่มีทิศทาง การจัดการองค์กรก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของประธาน แต่ในรุ่นที่ 2 ประธาน YEC ทั่วประเทศได้ประชุมคุยกันถึงทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเรียกชื่อกลุ่ม จึงมีการตกลงให้เรียก กลุ่ม YEC หอการค้า.....ต่อด้วยจังหวัดต่างๆ  เช่น กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

          สำหรับการบริหารจัดการกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร มีความชัดเจนมากขึ้นในรุ่นที่ 2 ในการสร้างระเบียบและโครงสร้างการจัดการองค์กรในหลายด้าน เช่น

          การรับสมัครสมาชิก กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ในยุคที่ 1 เริ่มจากการชักชวนเพื่อนพี่น้องนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในจังหวัดมารวมกลุ่ม เพราะยังเป็นเรื่องใหม่จึงยังไม่มีการสมัครอย่างเป็นทางการ ในยุคที่ 2 สมาชิกได้เปลี่ยนไป เริ่มมีการรับสมัครสมาชิกอย่างทางการมากขึ้น มีการเขียนใบสมัคร ทำให้สมาชิกเริ่มเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก สำหรับการเก็บค่าสมาชิก ในรุ่นที่ 1 เก็บค่าสมาชิก 15,000 บาท รุ่นที่ 2 เก็บค่าสมาชิก 25,000 บาทต่อปี รุ่นที่ 3 เก็บ 35000 บาท และรุ่นต่อๆ ไปก็แพงขึ้นเรื่อยๆ

          การคัดเลือกสมาชิก  การคัดเลือกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ จะใช้วิธีคัดการสัมภาษณ์ เน้นคำถาม คือ คุณมีเวลาจิตสาธารณะมากน้อยแค่ไหน ถ้าคิดจะเข้ามาแค่หาเครือข่ายส่วนตัวก็จะไม่ผ่านการคัดเลือก ทางกลุ่มใช้เวลาสาธารณะเป็นตัวตั้ง  เข้ามาแล้วต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุด หากใครเข้าร่วมไม่ได้ ให้เวลากับงานสังคมไม่ได้ เขาก็จะถอนตัวตั้งแต่แรก ทำให้ได้สมาชิกในแต่ละปีไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 40—50 คน

           โครงสร้างคณะกรรมการ ในรุ่นที่ 2  ได้พยายามวางโครงการและหลักเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ของกลุ่มให้ชัดเจน โครงสร้างคณะกรรมการในกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วย ประธาน และรองประธาน 5 คน คือ รองประธานคนที่ 1 รับผิดชอบดูแลเรื่องด้านรัฐกิจ ในรุ่นที่ 2 ได้เลือกอดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรสาคร ดำรงตำแหน่งทำให้ได้ความร่วมมือจากท้องถิ่น และภาครัฐดีมาก รองประธานคนที่ 2 รับผิดชอบดูแลด้านเกษตรกรรม รองประธานคนที่ 3 รับผิดชอบดูแลด้านพาณิชย์ รองประธานคนที่ 4 รับผิดชอบดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์  รองประธานคนที่ 5 รับผิดชอบดูแลด้านประมง

          วาระการดำรงตำแหน่งของประธาน กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กำหนดวาระของประธานกลุ่ม 2 ปี อันที่จริงไม่ได้เขียนวาระกำหนดชัดเจน แต่คุณชาธิปเชื่อว่า ประธานกลุ่ม YEC ไม่ควรเป็นประธานเกิน 1 วาระ เพราะควรมีประธานคนใหม่อยู่ตลอด เปิดโอกาสให้มีคนใหม่ๆ เข้ามาทำงาน เพราะกลุ่ม YEC เป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ยังมีภาระดูแลธุรกิจส่วนตัว ต่างจากนักธุรกิจรุ่นใหญ่ที่มีเวลามากกว่า ฉะนั้น วาระประธานของกลุ่ม YEC แตกต่างจากประธานหอการค้าจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัดจะมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละไม่เกิน 4 ปี  

         วิธีการส่งต่อตำแหน่งประธานกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ใช้วิธีการเลือกตั้งเลือกตั้งจากคณะกรรมการกลุ่ม YEC ไม่ได้เลือกตั้งจากสมาชิก อันที่จริงดูจากโครงสร้างคณะกรรมการก็พอจะบอกได้ว่าใครเป็นประธานคนต่อไป เพราะมีการวางตัวไว้บ้างแล้ว คือ ตำแหน่งรองประธานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ จะถูกวางให้เป็นประธานกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครในรุ่นต่อไป

           การสานสัมพันธ์ ภายในกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เน้นทำกิจกรรมให้คนสนิทสนมกัน และโจทย์ที่ท้าทายในการผสมรุ่นที่ 1 ที่เต็มไปด้วยพวกสายแข็ง และคนรุ่นใหม่ๆ ต้องทำให้พวกเขาผสมกลมกลืนกันให้ได้ จึงใช้เงินค่าสมาชิกส่วนใหญ่ไปกับการจัดงานสานสัมพันธ์ การจัดอบรม การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์นอกพื้นที่ จัดประชุม โดยเฉพาะกิจกรรมทำการฝึกการอบรมสมาชิก YEC รุ่นใหม่ ต้องจัดในทุกปี และเป็นกิจกรรมบังคับของกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร  ในส่วนของกิจกรรมสัมพันธ์ต่อเนื่อง ทุกเดือนจะมีการกินเลี้ยงเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้สมาชิกได้พบปะ เจอหน้ากัน รวมถึงมีการประชุมคณะกรรมการกลุ่มเป็นประจำทุกเดือน

             นอกจากนี้ ทางกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครยังมีการทำงานสานสัมพันธ์กลุ่ม YEC ทั่วประเทศ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นโดยหอการค้าไทย เพื่อให้สมาชิกกลุ่ม YEC ทั้งประเทศได้สนิทสนมกัน และทำงานระดับภูมิภาคร่วมกันได้ดีในอนาคต เรียกงานดังกล่าวว่างาน SEED คุณชาธิปได้เข้าร่วมใน SEED รุ่นที่ 2 รุ่นดังกล่าวเป็นประธาน YEC เกือบทั้งหมด และค่อนข้างสนิทสนมกัน ทำให้มีการติดต่อกันอยู่ตลอด ผ่านทาง Line ทางโทรศัพท์ มีประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ทำให้การขับเคลื่อนงานระดับภูมิภาค ข้ามจังหวัดทำได้ง่ายมากขึ้น

 

บทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร

              บทบาทของกลุ่ม YEC ในการทำงานสาธารณะ ตอนก่อตั้งกลุ่มใหม่ๆ ไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรมากนัก เพราะทิศทางของ YEC ยังไม่ชัด ยังไม่มียอมรับจากหลายฝ่าย คุณชาธิปเองก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก มีเพียงการไปนั่งทานข้าว และประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกสัปดาห์เท่านั้น งานแรกที่ได้ทำร่วมกันในระดับจังหวัด คือ ทำถนนคนเดิน เป็น project ใหญ่งานเดียวของจังหวัด เป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยทำ ยังไม่ถือเป็นผลงานที่น่าสนใจนัก ต่อมาหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครมีนโยบายว่าจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี  จึงมอบหมายให้รองประธานท่านหนึ่งของหอการค้าเข้ามาดูแลงานนี้ รองฯ ก็มอบให้กับประธาน YEC รุ่นที่ 1 ดำเนินการ และประธาน YEC รุ่นที่ 1 มอบหมายให้คุณชาธิปในฐานะรองประธานด้านเศรษฐกิจเป็นประธานการจัดงาน ปรากฏว่างานประสบความสำเร็จดี สามารถหางบประมาณ 4 แสนบาท มอบให้ทั้งหอการค้าจังหวัดและกลุ่ม YEC งานดังกล่าวทำให้เกิดการยอมรับจากหอการค้าจังหวัดมากขึ้น  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่ม YEC เข้ามามีบทบาทการทำงานพัฒนาจังหวัดมากขึ้น ภายใต้การนำของคุณชาธิป ในฐานะประธานกลุ่ม YEC และในฐานะรองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เป็นแกนหลักในการทำงาน บทบาทของกลุ่ม YEC  คือ การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาคร  แบ่งออกเป็น 2 ด้านดังนี้

 

  1. การพัฒนาสินค้าเกษตรของจังหวัดสมุทรสาคร
  • การแปรรูปเกลือสปา

                 ในสมัยที่คุณชาธิปเป็นประธานกลุ่ม YEC กับรองประธานหอการค้า มีภารกิจพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนของจังหวัดสมุทรสาคร ขณะนั้นหอการค้าไทยมีนโยบายให้หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศทำโครงการ “1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร” เพื่อพัฒนาสหกรณ์การเกษตร จึงมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดวาระพิเศษเฉพาะ มอบให้หอการค้าจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ โดยคุณชาธิปเป็นประธาน ผู้ว่าเป็นประธานที่ปรึกษา และทำงานร่วมกับหัวหน้าส่วนต่างๆ ในจังหวัด เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรมพัฒนาชุมชน เป็นต้น

                 ในช่วงเริ่มต้นโครงการ มีผลผลิตหลายอย่างที่มีปัญหา ทั้งมะพร้าว ลำไย เกลือ ท้ายสุดคณะกรรมการเลือกเกลือ เนื่องจากราคาเกลือสมัยนั้นตกต่ำมาก จากกิโลกรัมละ เกือบ 2 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 50 สตางค์ โดยในสมุทรสาครมี 2 สหกรณ์ที่ทำเรื่องเกลือ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 25,000 ไร่ คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกลือในจังหวัดสมุทรสาคร อีก 40 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เข้าร่วมสหกรณ์  ทางกลุ่มสหกรณ์เกลือในจังหวัดสมุทรสาครเองก็เรียกร้องให้ทางคณะกรรมการช่วยเหลือ ในฐานะคนรุ่นใหม่จึงต้องทำคิดทำอะไรใหม่ๆ ในการช่วยเหลือ

                 อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยนักในการเลือกพัฒนาเกลือ เนื่องจากเกลือเป็นสินค้าที่มีปัญหาจำนวนมาก เกลือไม่เหมือนสินค้าเกษตรอย่างอื่น มีการกำหนดราคาล่วงหน้าจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง หากเกลือได้ราคาตามที่กำหนดไว้ ก็ถือว่าโชคดี แต่เมื่อเกลือราคาตกต่ำ พ่อค้าคนกลางจะกดราคากับสหกรณ์เกลือ ทำให้ยิ่งทำนาเกลือยิ่งมีแต่ขาดทุน เกษตรกรไม่ได้รับเงินตามราคาตลาด เกษตรกรเองก็กำหนดราคาไม่ได้ มีคนกำหนดราคาไว้ล่วงหน้าไว้นานแล้ว เมื่อมีปัญหา คุณชาธิปจึงให้สื่อมวลชนในท้องถิ่นทำข่าวเรื่องนี้อ กดดันยู่เป็นประจำ ทำให้หลายฝ่ายตกลงที่จะเลือกที่จะช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์เกลือ

                 หลังจากมีการประชุมร่วมกัน จึงเห็นว่าควรมีการยกระดับและพัฒนาเกลือให้เป็นสินค้าพรีเมียม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกับการขายเป็นเกลือธรรมดาที่ใช้ในครัวเรือน ในต่างประเทศ มีการนำเกลือไปทำเกลือสปาจำนวนมาก ราคากิโลกรัมละ 700-800 บาท จากนั้นจึงร่วมกับวิทยาลัยชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าไปสอนและร่วมพัฒนาสินค้าสปาเกลือร่วมกับกลุ่มสหกรณ์ จนเกษตรกรสามารถผลิตเกลือสปาเองได้ในทุกกระบวนการ ทางกลุ่ม YEC เองรับผิดชอบพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าซื้อ จนสามารถได้ผลิตภัณฑ์เกลือสปา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างหลากหลาย เป็นสินค้าที่ขายร่วมกับการท่องเที่ยวนาเกลือ ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มสหกรณ์เกลือได้พัฒนาขึ้นมานานแล้ว

                 ในส่วนของงบประมาณ ใช้ทั้งงบประมาณของส่วนราชการ แต่ไม่มากนัก และใช้งบประมาณส่วนตัวของประธานกลุ่ม YEC ที่ช่วยในการเริ่มต้นในโครงการมันเกิดได้

                 ในด้านการตลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครประกาศให้สปาเกลือเป็นของขวัญตะกร้าจังหวัด ฝ่ายสำนักงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ได้ช่วยกันหาตลาดรับซื้อสินค้าเกลือสปา ให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมซื้อเป็นของขวัญ  รวมถึงโรงพยาบาลเองก็สั่งซื้อ อีกทั้งคนมาเที่ยว ศึกษาดูงานพื้นที่นาเกลือ ทำให้สินค้าขายได้ และมีโอกาสออกงานแสดง OTOP ต่างๆ ทำให้มีออเดอร์จากทั่วประเทศ

 

 

ชุดผลิตภัณฑ์เกลือสปา

 

  • การพัฒนาเครื่องเบญรงค์ดอนไก่ดี

              ประมาณ พ.ศ. 2559 รัฐบาลมีนโยบายให้พลังระดับพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จัดตั้งเป็นบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ดำเนินการในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด มีเครือข่ายเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาสินค้าและเศรษฐกิจของเมือง ในจังหวัดสมุทรสาครก็มีการก่อตั้งบริษัทประชารักสามัคคี จังหวัดสมุทรสาคร  เกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐจากหลายหน่วยงาน เช่น หอการค้าจังหวัด  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ท้องถิ่น และมีหลายกลุ่ม คุณชาธิปเองเป็นหนึ่งคณะกรรมการดังกล่าวด้วย โดยมีกรมพัฒนาชุมชนเป็นเลขาธิการ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก

                 บริษัทประชารัฐสามัคคี จังหวัดสมุทรสาคร คณะกรรมการได้เลือกพัฒนาเครื่องเบญจรงค์ดอนไก่ดี ซึ่งเป็นกลุ่มที่วาดเครื่องเบญรงค์ที่มีลวดลายสวยงาม เป็นจุดเด่นของจังหวัดสมุทรสาคร แต่ในระยะหลังเครื่องเบญรงค์มักถูกใช้เป็นเครื่องประดับ ทำให้สินค้าขายได้ยากมากขึ้น ทางบริษัทประชารัฐ จึงเข้าไปพัฒนาร่วมกับหมู่บ้านเบญรงค์ดอนไก่ดี ร่วมกันพัฒนาเครื่องเบญรงค์ให้สามารถใช้งานได้ในครัวเรือน เช่น เป็นจาน ถ้วย ชาม แก้ว โดยยังคงลวดลายแบบเบญรงค์ มีทั้งลายใหม่ๆ และลายเดิม ตั้งชื่อว่า เครื่องเบญรงค์มีชีวิตสีสันฤดูร้อน ก็ทำให้เครื่องเบญรงค์สามารถขายได้มากขึ้น การพัฒนาเครื่องเบญรงค์นี้อยู่ภายใต้กลไกบริษัทประชารัฐ

   เครื่องเบญรงค์ดอนไก่ดี สีสันใหม่ๆ

 

  1. การพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร
  • การปรับปรุงศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

                 ในด้านการท่องเที่ยว คุณชาธิป ในฐานะประธาน YEC ดำเนินโครงการรูปธรรมหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ (อควาเรียม) ตำบลโคกขาม มีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ระดมกำลังเขียนโครงการเพื่อของบประมาณกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ จำนวน 60 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการเพิ่มพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ซื้อพันธุ์ปลามาเพิ่ม สร้างบ่อเต่า ศูนย์เรียนรู้ และพัฒนาให้เป็นแหล่งออกกำลังกายด้วย ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำแห่งนี้เป็นของท้องถิ่น แต่ไม่มีงบประมาณเข้ามาดูแล กำลังจะถูกปิดตัวลง จึงถูกส่งมอบคืนให้กับกรมประมง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน

  • การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน

                 หอการค้าไทยมีนโยบาย ให้หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินโครงการ  “ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สำนักงานเกษตรจังหวัดแต่งตั้งให้คุณชาธิป เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ และจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวชุมชนทุกอำเภอในจังหวัดสมุทรสาครทุกอำเภอร่วมกับท้องถิ่น มอบหมายให้นายอำเภอเป็นประธาน เป็นคณะย่อยการทำงาน โดยกลุ่ม YEC จังหวัดสมุทรสาคร เป็นคณะกรรมการและร่วมดำเนินงานในทุกอำเภอ คณะกรรมการชุดใหญ่มีภารกิจในการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสาคร ให้คณะย่อยแต่ละอำเภอ ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวของตนเอง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก เชื่อมโยงเมืองหลักสู่เมืองรอง ให้ชุมชนให้มีจุดขาย เข้าถึงสะดวก มีกิจกรรม รองรับนักท่องเที่ยว มีสิ่งอํานวยความสะดวก มีคนบริหารจัดการ เป็นต้น ขณะนี้คณะกรรมการย่อยได้แต่งตั้งครบทุกอำเภอแล้ว และเริ่มดำเนินการที่อำเภอบ้านแพ้ว เป็นอำเภอแรก แถลงข่าวร่วมกัน และมีการประชุมไปบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการท่องเที่ยวชุมชนอยู่ในช่วงดำเนินการ ยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมนัก

  • การพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยรถไฟ

                 กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร มีโครงการพัฒนาแนวทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ในโครงการ “เที่ยวตาม Train @ สมุทรสาคร” ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในจังหวัด ที่ประชุมมีแนวคิดในการนำนักท่องเที่ยว ซึ่งเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯมายังตลาดมหาชัย ได้นั่งเรือเที่ยวชมบรรยากาศของแม่น้ำท่าจีน และไหว้สักการะพระวัดดัง อาทิ หลวงพ่อปู่ วัดโกรกกราก หลวงปู่แก้ว วัดช่องลม ศาลเสด็จเตี่ย วัดกำพร้า และเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชนตำบลท่าฉลอม เป็นตำบลเก่าแก่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้ามาอยู่อาศัย ที่ผ่านมาผู้คนมีการสัญจรทางรถไฟน้อยลง เดินทางด้วยรถยนต์ แต่ก็ประสบปัญหารถติด เส้นทางรถไฟจากวงเวียนใหญ่ – แม่กลอง มีอยู่แล้ว จึงพัฒนาเป็นเส้นทางแนะนำการท่องเที่ยวแบบใหม่    ที่ผ่านมามีการทำกิจกรรมโปรโมทแล้ว หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครในฐานะผู้นำ ได้พากลุ่ม YEC ท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น  ร่วมกับผู้สื่อข่าว เดินสายทักทาย โปรโมทตลาดแม่กลอง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าให้ความร่วมมืออย่างดีและเปิดให้ชิมฟรีเกือบทุกร้าน

 

 การโปรโมท กิจกรรมเที่ยวตาม Train @ สมุทรสาคร

 

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค : กลุ่มเพชรสมุทรคีรี

                 คุณชาธิป เล่าเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากรัฐบาลมีการอนุมัติงบประมาณสำหรับกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ อันที่จริงงบประมาณที่อนุมัติมานั้นมีจำนวนมาก แต่กลุ่มจังหวัดที่อื่นๆ ไม่สามารถขอได้ทัน เนื่องจากต้องระดมเขียนโครงการอย่างรวดเร็ว และต้องมีแนวคิดหรือไอเดียพัฒนาไว้อยู่แล้ว ทำให้พลาดงบประมาณไปหลายจังหวัด แต่ที่จังหวัดสมุทรสาคร หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่ม YEC ร่วมกับ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสมุทรสงคราม หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มเพชรสมุทรคีรี เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกัน และเป็นกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว ได้ระดมเขียนโครงการเพื่อมาพัฒนาจังหวัดร่วมกัน ซึ่งในโครงการที่เขียนนั้น มีทั้งการเขียนขอโครงการพัฒนาเฉพาะของแต่ละจังหวัด สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการของบประมาณมาสร้างโรงล้างเกลือให้กับกลุ่มสหกรณ์ 2 โรง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านตากเกลือ โดยไม่มีโรงล้างเกลือ กับโครงการที่พัฒนาร่วมกันทั้ง 4 จังหวัด คือ การทำเรื่อง application การท่องเที่ยว ได้งบประมาณมากว่า 100 ล้านบาท หวังว่าในอนาคตจะพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระดับภูมิภาคได้สำเร็จ   

 

คุณชาธิป ตั้งกุลไพศาล  (ซ้าย)

 

“ทุกโครงการที่ทำนั้นไม่เคยท้อ เพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แค่อยากจุดประกายให้สามารถเดินหน้าต่อได้ และส่วนตัวเป็นคนที่หากทำอะไรแล้ว สิ่งนั้นต้องเป็นเรื่องสนุก และหากตั้งใจทำแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้ได้

 

ปัจจัยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเมืองสมุทรสาคร

                 ในระหว่างการสัมภาษณ์คุณชาธิป บทเรียนและข้อมูลที่ได้รับ สามารถสรุปปัจจัยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร มีหลายปัจจัยด้วยกัน

  1. ความสามารถของผู้นำ

                 กลุ่ม YEC เกิดขึ้นทุกจังหวัดในประเทศ แต่ผลงานและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดนั้นมีไม่เท่ากัน ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้นำ หากจังหวัดใดมีผู้นำกลุ่มมีสนใจและจริงจังกับการทำงานสาธารณะ ก็จะทำให้กลุ่ม YEC จังหวัดนั้นมีบทบาทในจังหวัดค่อนข้างมาก อย่างจังหวัดสมุทรสาคร คุณชาธิป ในฐานะผู้นำมีความประนีประนอมกับหลายฝ่ายได้ดี อีกทั้งมีคุณวุฒิ และวัยวุฒิที่เหมาะสม มีความจริงจัง ให้เวลากับงานสาธารณะเต็มที่ ทำให้สามารถสวมหมวกหลายใบ ทั้งประธานนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร รองประธานหอการค้าจังหวัด และประธาน YEC

  1. การมีผลงานรูปธรรม

               ในช่วงเริ่มต้น กลุ่ม YEC จังหวัดสมุทรสาครเองก็ไม่ได้รับการยอมรับหรือเป็นที่รู้จักมากนัก แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานในนามหอการค้าจังหวัด สามารถทำได้ดี จนได้รับความไว้วางใจมากขึ้น ผลงานรูปธรรมที่ทำให้คนยอมรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ ที่พัฒนาเกลือสปาขึ้นมา ทำให้คนในอำเภอเมืองรู้จัก ภาครัฐอย่างกรมพัฒนาชุมชน เกษตรจังหวัด รู้จักมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญมากขึ้น เมื่อไปพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่อำเภอบ้านแพ้ว ก็ทำให้คนที่บ้านแพ้วรู้จัก เมื่อทำผลงานเป็นรูปธรรม ผู้คนเชื่อถือ ทำให้การทำงานโครงการต่างๆ เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น

  1. การพัฒนาเมืองแบบร่วมมือกัน ภาครัฐและภาคเอกชน (Collaborate government)

                 ในจังหวัดสมุทรสาคร การทำงานสาธารณะของกลุ่ม YEC หรือในนามของหอการค้าจังหวัด ร่วมกับภาครัฐทุกโครงการ ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนทุกโครงการ คือ สำนักงานจังหวัด และประชาสัมพันธ์จังหวัด ไม่ว่าโครงการใดๆ จะต้องมีหน่วยงาน 2 หน่วยงานนี้เสมอ แต่ละกลุ่มได้นำความถนัดและความสามารถของตนเองมาแลกเปลี่ยนกัน หากการทำงานแบบร่วมมือกันให้ได้ผลดี ภาคเอกชนเองต้องได้รับความไว้วางใจและการยอมรับจากภาครัฐพอสมควร

  1. การมีส่วนร่วมทำยุทธศาสตร์และงบประมาณจังหวัด

               ความร่วมมือกับภาครัฐ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมุทรสาครสามารถมีโครงการความสำเร็จหลายอย่าง ภาคเอกชนที่มีบทบาทนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ร่วมดำเนินการเท่านั้น แต่มีส่วนร่วมตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือ ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัด เดิมทุกจังหวัดมียุทธศาสตร์จังหวัดอยู่แล้ว แต่มักจะเป็นยุทธศาสตร์ที่กว้าง  คุณชาธิปได้มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัด จึงผลักดันยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์จังหวัดสมุทรสาคร เพราะเดิมจังหวัดสมุทรสาครมียุทธศาสตร์ที่เน้นอุตสาหกรรมและการประมงเป็นหลัก ยังขาดการท่องเที่ยว  เมื่อการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์จังหวัด ทำให้ภาครัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ และในทุกปีจะมีการประชุมเรื่องงบประมาณของหน่วยงานทั้งจังหวัด คุณชาธิปก็ได้มีโอกาสเป็นประธานในการประชุม ให้ทุกหน่วยงานจัดสรรงบประมาณไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อทุกหน่วยงานตั้งงบประมาณร่วมกัน ทำให้โครงการต่างๆ มีงบประมาณของทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมดำเนินการทั้งสิ้น 

  1. การใช้สื่อท้องถิ่นสนับสนุน

            เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่คุณชาธิปดำเนินงานสาธารณะ คือการดึงสื่อท้องถิ่น กลุ่มชมรมผู้สื่อข่าวในจังหวัดสมุทรสาคร ให้มีส่วนร่วมเสมอ เพราะเป็นประชาสัมพันธ์การทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนให้กับสังคมได้รับรู้ เป็นที่รู้จัก รวมถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ  แต่ละโครงการที่ทำนั้น มีปัญหาหลายอย่าง และเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม ส่งให้มีการขัดขวางการทำงาน หรือทำให้งานเดินได้ช้า หากเกิดปัญหาและทำให้งานล่าช้า ต้องประสานงานผู้สื่อข่าวท้องถิ่นสามารถเขียนข่าวให้สังคมรับรู้  เพื่อกดดันกลุ่มคนที่ขัดขวางการทำงาน การตีแผ่ปัญหาต่างๆ ก็ช่วยให้หลายปัญหาจบลงได้  ก็ทำให้งานโครงการต่างๆ สามารถดำเนินหน้าได้  

  1. การแบ่งเวลาส่วนตัวและสังคม

              ภาคเอกชนมีข้อแตกต่างกับภาครัฐ คือ มีธุรกิจส่วนตัวที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการทำเพื่อสังคม ทำให้ภาคเอกชนมีข้อจำกัด ดังนั้น การทำงานสาธารณะให้ดี ต้องรู้จักแบ่งเวลา สำหรับคุณชาธิป เมื่อสมัยเป็นประธาน yec ให้เวลากับการทำงานสังคมถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เวลาสำหรับธุรกิจส่วนตัว 30 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับเปลี่ยนการทำงานส่วนตัวเพื่อให้สามารถทำงานสังคมได้ดี เช่น ประชุมกับลูกน้องช่วงเย็นเท่านั้น จากที่เคยประชุมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต้องเปลี่ยนมาเป็นประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลดเวลาการประชุมจากประชุมครั้งละ 3-4 ชม. เหลือเพียง 1 ชม. เป็นต้น ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาและการเสียสละของแต่ละคน ต้องปรับให้สมดุล  ฉะนั้น การเป็นประธาน YEC ไม่ควรเป็นวาระนาน เนื่องจากมีธุรกิจส่วนตัวด้วย จึงควรดำรงตำแหน่งสักระยะหนึ่ง เพื่อให้มีคนใหม่ๆ สามารถเข้ามาทำต่อ เพื่อให้ตัวเองได้หันมามีเวลาทำธุรกิจส่วนตัวได้

 

กลไกการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเมือง : กลุ่ม YEC คือกลุ่มหอการค้าจังหวัด

                 คุณชาธิปได้อธิบายสถานะของกลุ่ม YEC ในฐานะองค์กรและกลไกของจังหวัดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ณ วันนี้ ในจังหวัดมีกลไกที่เปิดโอกาสให้มีการรวมตัวของภาคเอกชน คือ หอการค้าจังหวัด และกลุ่ม YEC ฟังอาจจะดูเหมือนเป็นองค์กรที่แยกกัน เป็นเพียงเครือข่ายร่วมกัน ในทางปฏิบัติกลุ่ม YEC คือกลุ่มเดียวกับหอการค้าจังหวัด มีความแตกต่างกัน คือ หอการค้าจังหวัดอยู่ในสถานะนิติบุคคล แต่กลุ่ม YEC ไม่ได้เป็นนิติบุคคล เป็นเพียงกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น  และมีช่วงอายุที่แตกต่างจากกลุ่มหอการค้าจังหวัด

                 ในการทำงานด้านสาธารณะ กลุ่ม YEC ถูกจัดว่าเป็นองค์กรเดียวกับหอการค้าจังหวัด เพราะหอการค้าจังหวัดเป็นองค์กรที่มีการยอมรับ มีสถานะชัดเจน และเป็นที่น่าเชื่อถือของคนในจังหวัด กลุ่ม YEC เมื่อปฏิบัติภารกิจจึงเข้าร่วมในนามหอการค้าจังหวัด คุยในนามหอการค้าจังหวัด หากต้องการแยกผลงานและบทบาทให้ชัดเจน กลุ่ม YEC อาจได้มีโอกาสทำงานโครงการเล็กๆ เพราะยังไม่มีสถานะทางการรองรับ หากจังหวัดใดมีการแยกการทำงานชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่ามีความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มก็เป็นได้

                 การทำงานพัฒนาระดับจังหวัด โครงการที่ได้รับมาจากส่วนกลาง กลุ่มหอการค้าจังหวัดมีบทบาทชัดเจนที่ต้องร่วมกับภาครัฐในการปฏิบัติภารกิจ แต่มีส่วนร่วมมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเต็มที่และเอาใจใส่ในแต่ละจังหวัด ฉะนั้น กลุ่ม YEC ที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ได้แยกว่าตัวเองคือ YEC และแยกออกจากหอการค้าจังหวัด ไม่แยกบทบาทกันอย่างชัดเจน ทั้งสองกลุ่มจะต้องทำงานตามพันธกิจที่ได้รับมา มีเป้าหมายเดียวกัน งานนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมอบหมายให้กลุ่มใดเป็นคนดำเนินการหลัก หากหอการค้าจังหวัดไม่สนใจรับงานปฏิบัติตามนโยบาย จะเป็นผลทำให้กลุ่ม YEC ขับเคลื่อนงานไม่ได้ด้วยเช่นกั

                ขณะนี้ ประธานกลุ่ม YEC หลายจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 20-30 จังหวัด มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมการจังหวัดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ  ทั้งเข้าไปในฐานะหอการค้าจังหวัดและในฐานะตัวแทนกลุ่ม YEC แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการยอมรับและเห็นความสำคัญของกลุ่ม YEC มากขึ้นแล้ว

 

แนวโน้มของกลุ่ม yec ในอนาคต

               แม้วันนี้กลุ่ม YEC ถูกนับว่าเป็นองค์กรเดียวกับหอการค้าจังหวัด แต่เป็นไปได้ว่าแนวโน้มในอนาคตของกลุ่ม YEC อาจจะแยกกับองค์กรหอการค้าจังหวัด ให้สองกลุ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เหตุผลของแนวโน้มเช่นนี้ เนื่องจากคนบางส่วนจากกลุ่ม YEC ถูกผลักดันเข้าสู่การเป็นคณะกรรมการหอการค้าจังหวัด เพื่อทดแทนคนรุ่นเก่า อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถมีตำแหน่งเพียงพอและว่างที่รองรับคนจากกลุ่ม YEC ทดแทนได้พอดี เนื่องจากหากมีคนจากกลุ่ม YEC ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งในหอการค้าจังหวัดแล้ว คนกลุ่มนี้ อายุเพียงแค่ 40-45 ปี ยังเป็นคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดได้อีกหลายวาระ และตำแหน่งคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเองก็มีจำนวนไม่มาก  เพราะฉะนั้น คนที่มีโอกาสได้เป็นคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดและคนที่ต้องออกจากตำแหน่ง มีไม่เท่ากัน ทำให้กลุ่ม YEC จำนวนหนึ่งไม่มีตำแหน่งในหอการค้าจังหวัด จึงมีบทบาททำงานทางสังคมได้ไม่มากนัก  หากในอนาคตต้องการให้กลุ่ม YEC มีบทบาทมากขึ้น อาจจะแยกกลุ่ม YEC ออกจากหอการค้าจังหวัดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นเสมือนคนละองค์กรกัน

              ในส่วนของแนวโน้มของกลุ่ม YEC มีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีแนวโน้มทั้งเติบโตและถดถอยลง ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด เพราะหากคนในจังหวัดยอมรับและเปิดโอกาสให้บทบาทของกลุ่ม YEC กลุ่มสมาชิกหอการค้าจังหวัด กลุ่มนักธุรกิจในจังหวัด ย่อมต้องการให้ลูกหลานของตัวเองเข้าร่วมกลุ่ม YEC ทั้งสิ้น เพราะกลุ่ม YEC เป็นกลไกเดียวที่มีสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ในการทำงานเพื่อสังคม และเป็นเครือข่ายเดียวในระดับจังหวัดที่รวมกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้ อีกทั้งได้เชื่อมกันทั้งประเทศด้วย แต่หากจังหวัดใดไม่เห็นความสำคัญ ลดบทบาท กลุ่ม YEC จังหวัดนั้นย่อมหดตัวอย่างแน่นอน

 

ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนากลุ่ม YEC

            ประสบการณ์ของคุณชาธิปในฐานะประธาน YEC หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครมานานหลายปี ข้อเสนอของเขา คือ อยากให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนของหอการค้าจังหวัด หรือภาครัฐเอง เปิดโอกาสให้กลุ่ม YEC  มีบทบาทในการพัฒนาจังหวัดมากกว่านี้ อยากให้มีการยอมรับมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกลุ่ม YEC ในฐานะคนรุ่นใหม่ มักจะมั่นใจในตัวเองสูง ไม่ยอมถอยเมื่อเกิดปัญหา ต้องลดความมั่นใจ และประนีประนอมมากว่านี้  จะทำให้สองฝ่ายทำงานกันได้อย่างลงตัว

            การพัฒนาระหว่างกลุ่ม YEC เอง ต้องการพัฒนาตัวกลางที่เป็น Platform ช่วยทำให้เกิดการสนับสนุนธุรกิจระหว่างกันในกลุ่ม YEC ช่วยเหลือกันในธุรกิจส่วนตัว ส่วนใหญ่การช่วยเหลือเหล่านี้ต้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัว จึงอยากให้มีตัวกลางที่ทำให้การสนับสนุนธุรกิจกันแบบทางการได้ ยกตัวอย่าง  กลุ่ม YEC ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะสามารถแลกเปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือรวมกลุ่มกัน กลุ่ม YEC ที่ทำธุรกิจโรงแรมจะสามารถมีฐานข้อมูลเดียวกันได้หรือไม่ หรือมีการแนะนำลูกค้า จัดสรรลูกค้า มีการประชุมร่วมกันเป็นเครือข่ายกัน  เป็นต้น

              นอกจากนี้ การทำงานระดับภาคของกลุ่ม YEC อยากเสนอให้มีการสร้างประธาน YEC กลุ่มจังหวัด คล้ายแบบประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัด คุณชาธิปมองว่า กลุ่ม YEC จะสร้างความเข้มแข็งในจังหวัดตัวเอง และจะสามารถเข้มแข็งในกลุ่มจังหวัดได้ อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ยังเป็นไปได้ยาก เพราะในกลุ่มหอการค้าเองมีการเมือง คนบางกลุ่มกลัวเสียอำนาจ หากพัฒนากลุ่ม YEC ขึ้น ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาในการพัฒนากลุ่ม YEC

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts