Cities Reviews

วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ : การสร้างเศรษฐกิจชุมชนแนวใหม่ โอกาสในวิกฤตโควิด 19

 

ณัฐธิดา เย็นบำรุง 

 

 

      ท่ามกลางสถานการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด 19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ในประเทศไทยเองแม้จะมียอดผู้ป่วยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และควบคุมสถานการณ์การระบาดไว้ได้ แต่ผลกระทบทางทางเศรษฐกิจมหาศาลจนแทบประเมินมูลค่าไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพิงการท่องเที่ยว ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ  จึงหันมาขบคิดและพูดคุยถึงช่วงเวลาหลัง Covid19  เศรษฐกิจประเทศไทยจะกลับมาได้อย่างไร หนึ่งในงานสัมมนาที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟัง คือ งาน  "RESTART THAILAND พลังชุมชน ขับเคลื่อนประเทศไทย" ที่จัดโดย 77 ข่าวเด็ด เครือข่ายนักข่าวท้องถิ่นระดับชาติ ในวันพฤหัสบดี ที่ 20 สิงหาคม 2563  มีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมกันคิดวิธี Restart Thailand เพื่อพลิกฟื้นพลังชุมชน ฐานรากเศรษฐกิจไทย ยุคPost Covid19  โดยมี คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกาพิเศษเปิดงานสัมมนา เกี่ยวกับโอกาสในวิกฤตโควิด 19 ประเทศไทยจะใช้พลังชุมชนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร  การบรรยายสั้นๆ แต่เนื้อหาน่าสนใจยิ่ง ผู้เขียนจึงอยากเขียนสรุป เพื่อที่จะแนวทางให้ภาคส่วนต่างๆ ได้นำไปเรียนรู้และปฏิบัติได้

 

โควิด 19 กับปรากฏการณ์ใหม่ๆ ของสังคม

            คุณวีระศักดิ์ เปิดการบรรยายในช่วงเริ่มต้น ให้เห็นถึงภาพรวมปรากฏการณ์ของสังคมและเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด 19 ปรากฏการณ์หรือแนวทางที่จะเกิดขึ้น สิ่งแรก คือ การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบหนักสุด ท่องเที่ยวของไทยที่เคยเป็นเครื่องมือหากินง่ายๆ ของไทย แต่ตอนนี้ไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะต่อให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมการท่องเที่ยวดีเพียงใด ก็คงยังไม่มีเครื่องบินที่บรรจุนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนประเทศไทย อย่างน้อยต้องรอ 2-3 ปี ที่ประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มที่ ฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อขยับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่ที่สุดก็ตาม โดยปกติทุกปี มีคนไทยเที่ยวไทย 177 ล้านคนครั้ง มีการใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่ในยุคโควิด 19 ผู้คนคงอยากจะเก็บเงินสด เงินออมไว้กับตัว จึงคาดการณ์ไว้ว่าคนไทยจะใช้จ่าย 40 เปอร์เซ็นต์ จาก 1 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 4 แสนล้านบาท แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ก็ถือเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลอยู่ดี ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ 10 ล้านคน คนเหล่านี้น่าจะกลับมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น การท่องเที่ยวในประเทศจะกลายเป็นกำลังหลักของการท่องเที่ยวไทย

            การท่องเที่ยวของคนต่างชาติหายไป เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวหนีพิษเศรษฐกิจกลับต่างจังหวัด จากการสำรวจคนที่ติดเชื้อโควิด 19 แม้ว่าคนติดเชื้อส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพ นนทบุรี และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค แต่คนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ กลายเป็นคนต่างจังหวัด เพราะการบริโภคของคนเมืองใหญ่น้อยลง อัตราการเดินเข้าร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมของผู้คนมีน้อยลง น่าจะมากกว่าเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คำสั่งซื้อไปยังผู้ปลูกลดลงทันที ความเดือดร้อนจึงตกอยู่กับเจ้าของกิจการและผู้ปลูกซึ่งเป็นคนต่างในจังหวัด นอกจากนี้ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในยุคโควิด 19 ไม่ใช่คนที่อยู่ในวัยออมเงิน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้มีความสามารถอดทนกับสถานการณ์ได้มากกว่า แต่คนที่ได้รับผลกระทบมาก กลับเป็นวัยหนุ่มสาวที่ออมน้อย ในอดีตระบบอุตสาหกรรมจะดึงหนุ่มสาวเข้ามาในเมืองมากขึ้น แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป คนหนุ่มสาวกำลังกลับบ้าน

            ปรากฏการณ์ในประเด็นต่อเนื่องจากคนหนุ่มสาวกลับบ้าน คือ การเริ่มเห็นคนหนุ่มสาวหันมาพัฒนาชุมชน พวกเขากำลังมองหาว่าทุนในชุมชนมีอะไรที่พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์และพัฒนาได้บ้าง นี่เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการคืนความเข้มแข็งให้กับชุมชน ปรากฏการณ์นี้แตกต่างจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำปี 40 ที่คนตกงานกลับบ้านไปทำไร่นา แแต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไร่นาเหลือน้อยลง แต่ที่เหลือคือ วัฒนธรรมชุมชน ที่รุ่นคุณย่า คุณยายได้เก็บไว้ให้ และหาวิธีถ่ายทอด ซึ่งคนหนุ่มสาวกำลังกลับไปรับถ่ายทอด ปรับปรุงพัฒนา ให้ร่วมสมัย และนำมาสู่ตลาด หวังใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า การออกแบบดีกว่า และสามารถอธิบายเรื่องความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า คุณวีระศักดิ์ ย้ำว่า ด้วยปรากฏการณ์เช่นนี้ มองได้อีกอย่างว่า “โควิดกำลังให้โอกาสใหม่กับประเทศไทยอยู่”    

 

โอกาสในวิกฤตโควิด 19 คืออะไร

            เราต่างตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อการท่องเที่ยวพึ่งไม่ได้แล้ว คุณวีระศักดิ์ เองก็ตั้งคำถามนี้เช่นกัน เมื่อการท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้งราว 2-3 ปี หากเหตุการณ์การระบาดทั่วโลกจบลงด้วยดี และระหว่างนั้นประเทศไทยจะทำอย่างไรดีกับเศรษฐกิจของตนเอง คุณวีระศักดิ์มองในแง่ดีว่า การเกิดโควิด ทำให้เราต้องตื่นตัว และมีเวลากลับมาย้อนคิดใหม่ ทำใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจ โดยให้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน อยู่ 3 แนวทาง คือ 

 

  1. เศรษฐศาสตร์ภาคการบริบาล : ทางรอดและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน

           คุณวีระศักดิ์ มองภาพ ความอยู่รอดของชุมชนไทย ว่า ไม่ใช่เพราะชุมชนแห่งนั้นมีทัศนียภาพสวยงาม แต่เป็นเพราะ “การใส่ใจดูแลกันและกัน” ต่างหากที่จะช่วยให้ชุมชนอยู่รอด  การใส่ใจกันและกันนี้เป็น Smart city ในความหมายใหม่ เพราะ Smart city ใน 10 ปีที่ผ่านมา มักหมายถึง การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเมือง มี 4g 5g รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบินจำนวนมาก แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ smart ที่สุด smart ที่สุดนั้นคือการที่คนไม่ทิ้งกัน ดูแลกันและกัน ซึ่งชุมชนทำมานานกว่าเมืองใหญ่มาก ในอดีตการดูแลซึ่งกันและกันถูกวิเคราะห์ว่า เป็นเพียงทางรอดของชุมชนในการสู่กับตลาดทุน เพื่อไม่ให้สูญเสียความเป็นตัวเองของชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนไม่แตกสลาย แต่ในวันนี้ การดูแลกันและกันนั้น ไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมทางสังคม แต่จะสามารถเป็นฐานในการสร้างเศรษฐกิจได้ด้วย หรืออาจเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์ภาคการบริบาล” พวกเขาค้นเจอผู้ป่วยติดเตียง ค้นเจอผู้สูงอายุที่ติดเตียง พวกเขาจะสร้างนวัตกรรมที่จะดูแลกันและกัน ไม่ได้ด้วยเงิน แต่ด้วยน้ำใจและพลังเท่าที่มี ทำให้คนจะไม่ถูกหลงลืมอีกต่อไป ก่อนจะแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเป็นรายได้ สร้างอาชีพคนดูแลคนแก่ เป็นต้น

          การกลับเข้าสู่พื้นที่จังหวัด เกิดขึ้นมากมาย เพราะคนรู้ว่าแหล่งงานในเมืองหวังพึ่งไม่ได้ พวกเขาเคยหวังพึ่งโรงงาน ก็พึ่งไม่ได้ เมื่อหันมาพึ่งภาคบริการ บัดนี้เห็นแล้วว่าภาคบริการเองก็หวังพึ่งไม่ได้  พวกเขาไม่ได้คิดว่าเขาจะกลับไปบ้าน เพื่อรอกลับมาเมืองใหญ่ วันนี้เขาคิดว่าเขาจะทำอะไรกับพื้นที่ต่างหาก ซึ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยการผลิตที่สำคัญอาจจะเป็น “การมีกันและกัน” โอกาสจากโควิดครั้งนี้  ทำให้เราเห็นโอกาสจากเศรษฐศาสตร์ภาคบริบาล คนหนุ่มสาว ที่กลับไปอยู่ท้องถิ่น พัฒนาอาชีพจากต้นทุนสิ่งที่เราไม่เคยได้มาก่อนก็เป็นได้

 

  1. การเพิ่มเวลาของเมือง สร้างเศรษฐกิจด้านสุขภาพ

           ในประเด็นต่อมา คุณวีระศักดิ์ เสนอ แนวทางใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน จากการที่คุณวีระศักดิ์ได้วิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของคนไทย พบว่า อัตราการขอใช้ไฟฟ้าของไทยไม่เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีการสำรองไฟฟ้าล้นเกินไปถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งบางครั้งโรงไฟฟ้าบางแห่งต้องดับเครื่อง หากเป็นเช่นนี้ คุณวีระศักดิ์จึงขอเสนอว่า ให้นำไฟฟ้าส่วนเกินนั้นมาสร้างเวลาใหม่ของชุมชนเมือง ให้ไฟสว่างในเวลากลางคืนมากขึ้น แนวคิดนี้เป็นไปได้หรือไม่นั้นต้องพัฒนากันต่อไป เพราะเป็นข้อเสนอใหม่ ไม่เคยมีใครคิดหรือทำมาก่อน

          เมื่อไฟฟ้าสำรองเหลือ กอรปกับสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คนไทยบริโภคยาสูบลดลง บริโภคสุราลดลง คนกำลังห่วงใยสุขภาพมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นคนไทยไม่ได้ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น  ถ้าเราสามารถทำให้แสงสว่างในเมือง ในชุมชนเพิ่มมากขึ้น น่าจะทำให้คนออกกำลังกายเพิ่ม เราจะเห็นการทำกิจกรรมของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ลานวัดหรือลานสถานที่ในเมืองที่กลางวันมีแต่รถจอด กลางคืนไม่มีการทำประโยชน์ ถ้าหากรัฐสนับสนุนไฟฟ้าแสงสว่าง สัก 2-3 ชั่วโมง จะช่วยเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะของสังคมไปได้ เพราะถึงอย่างไรในกลางวันคนไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ได้ เนื่องจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ต้องรอตอนเย็น หากเราเพิ่มไฟ เพิ่มเวลาได้ ในการทำให้พื้นที่สาธารณะกลับมาให้มีชีวิตชีวา เราจะได้เศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจภาคชุมชน เศรษฐกิจสุขภาพ ซึ่งต้องเป็นสุขภาพที่เน้นด้านการป้องกันสุขภาพไม่ใช่เน้นที่การรักษาสุขภาพ ซึ่งลงทุนไม่มาก แต่ได้ผลคุ้มค่าแน่นอน ทั้งในทางสุขภาพและต่อยอดเป็นเศรษฐกิจได้  

 

  1. เรื่องราวการท่องเที่ยวชุมชนแนวใหม่ : ไทยเที่ยวไทยเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน

           ประเด็นสุดท้าย คุณวีระศักดิ์ เสนอประเด็นการท่องเที่ยวชุมชน ที่ควรจะเป็นท่องเที่ยวชุมชนแนวใหม่ ที่แตกต่างจากท่องเที่ยวชุมชนแบบเดิม เมื่อก่อน ท่องเที่ยวชุมชน คือนำเสนอชุมชนที่มีมุมสวย แต่ท่องเที่ยวชุมชนแนวใหม่ ควรนำเสนอแบบใหม่ ว่าไม่จำเป็นที่ชุมชนนั้นต้องมีมุมสวย เพราะความสวยอาจทำให้คนไปเที่ยวแค่ครั้งเดียว แต่อัตลักษณ์ของชุมชน ที่พวกเขามีวิถีชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างงดงาม ชุมชนยังรักกัน ทำงานด้วยกัน ไม่ทิ้งใคร ขายวิถีชีวิตชุมชนที่ว่าพวกเขามีกระบวนการใช้ทรัพยากรอย่างไรในพื้นที่ของเขา การรับถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อนหน้าของเขา รวมไปถึงเขาดูแลกันอย่างไร เขาออกกำลังกายอย่างไร เขามีนวัตกรรมบริบาลกันอย่างไร การเกษตรทำอย่างไร กิจกรรมกลางคืนและกิจกรรมตอนเช้าของชุมชนนั้นเป็นอย่างไร ให้คนไทยด้วยกันไปเรียนรู้  เราจะได้คนที่พร้อมไปนอนที่ต่างจังหวัดเพราะต้องเรียนรู้ทั้งวิถีชีวิตกลางวันและกลางคืน เพราะฉะนั้น ไทยเที่ยวไทย มีความหมายที่ขยายได้กว้างมาก แนวคิดไทยเที่ยวไทยเข้าใจวิถีชีวิตชุมชนนั้น จะทำให้คนไทยออกไปนอนค้างในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นเพื่อเข้าใจชุมชนนั้น เมื่อเราสามารถเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนแล้วจะทำให้ต่อยอดได้ว่าเราควรจะสนับสนุนชุมชนในเรื่องอะไร เช่น เรื่อง เกษตรกรรม เมืองควรสั่งสินค้าจากชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ เป็นต้น

           กล่าวโดยสรุป สาระสำคัญของคุณวีระศักดิ์พยายามจะชี้ให้เห็นว่าเราจะสร้างเศรษฐกิจใหม่จากทุนชุมชนของไทยได้ และวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนไทยและของโลกต่อจากนี้ คือ การให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมกันๆ การมองหาวิธีตอบโจทย์เรื่องสุขภาพแนวใหม่ ซึ่งคือ การมีอาหารที่ดี การดูแลกันและกัน การอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนทำมาอย่างยาวนาน เราควรใช้โอกาสจากโควิด 19 หยุดและเปลี่ยนวิธีคิด ให้หันมาสนใจสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน และที่สำคัญการสนใจวิถีชีวิตชุมชนให้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือ "เรื่องราวใหม่ของชุมชน" (New Story) ที่จะเป็นทุนทรัพยากรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต  ให้เกิดเศรษฐกิจด้านสุขภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจชุมชน  คุณวีระศักดิ์ ปิดท้ายด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า

 

“ผมเชื่อว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแค่ว่าเรายังไม่ได้จัดการทดลอง ปฏิบัติกับจริง

เรามีทางเลือกที่มากมาย แต่ทางเลือกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

ไม่ต้องรอใครเริ่ม เริ่มที่ตัวเราเอง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด”

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts