Cities Reviews

เมืองรังสิต นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

 

เนื่องด้วยเทศบาลนครรังสิตมีความต้องการเป็น “นครแห่งคุณภาพชีวิตในปี 2562” ตามที่ได้ระบุวิสัยทัศน์นี้ไว้ในแผนพัฒนาสามปี (2560-2562) การจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ โดยครอบคลุมทั้งในด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาประชากรในพื้นที่เขตเทศบาลนครรังสิตมีจำนวนจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ส่งผลให้ปัจจุบันนครรังสิตก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ดังนั้น การวางแผนเพื่อการพัฒนาคุณภาพพร้อมทั้งการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในภารกิจของเทศบาลนครรังสิตที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตพร้อมกับการเป็นเมืองที่เติบโตอย่างไม่หยุดหยุ่น

 

พัฒนาการความเป็นเมืองของนครรังสิต

            รังสิตในอดีต ช่วงเริ่มต้นการบุกเบิก พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ผู้คนยังไม่สามารถเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน การตั้งถิ่นฐานคงมีอยู่บ้างอย่างกระจาย ต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาทุ่งหลวงพื้นที่แถบนี้ให้เจริญขึ้น ให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ขุดคลองรังสิต–ประยูรศักดิ์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรได้ทำนา ทำสวนและได้ขุดคลอง หลังขุดทำให้มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณทุ่งรังสิตมากขึ้น สาเหตุที่มีคนอพยพเข้ามาในเขตรังสิตมากขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกข้าว ประกอบกับความเชื่อมั่นในระบบชลประทานแบบใหม่นี้ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ทำให้มีคนสนใจเข้ามาทำนากันมากขึ้น ตลอดจนมีการผลักดันไพร่และทาสที่เป็นอิสระให้เข้าไปทำงานยังพื้นที่การเกษตรใหม่แห่งนี้อีกด้วย บริเวณทุ่งรังสิตจึงเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่รกร้าง กลายเป็นบริเวณที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้น

            รังสิตเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตลอด จวบจนกระทั่งยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อรังสิตอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความเป็นเมือง คือ การพัฒนาการคมนาคมทางบก การเกิดขึ้นของถนนพหลโยธิน ในฐานะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ประกอบกับผลจากการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ก่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นบนถนนสายนี้อย่างแพร่หลาย อาทิ โรงงานทอกระสอบ ปั่นด้าน ทอผ้า ย้อมผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ไปจนถึงอุตสาหกรรมเคมี เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อรังสิตอย่างมาก โดยได้มีการเพิ่มของประชากรในพื้นที่ทุ่งรังสิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอำเภอคลองหลวงและอำเภอธัญบุรีที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณคลองหนึ่งและประชาธิปัตย์ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการประกอบอาชีพ ชาวนาเริ่มหันมาเป็นแรงงานในโรงานอุตสาหกรรม พร้อมกับการเกิดการขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัยมากขึ้น

          ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้รังสิตกลายเป็นเมือง คือ ที่ตั้งรังสิตไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ประกอบกับมีเส้นทางคมนาคมสะดวกและอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง นอกจากการลงทุนทางอุตสาหกรรมแล้ว รังสิตยังเกิดการลงทุนทางด้านพาณิชยกรรมต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่สถานศึกษาขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ บ้านที่อยู่ในเมืองชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพมหานครมีราคาสูงมาก ในบริเวณทุ่งรังสิตจึงเกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก เกิดบ้านจัดสรรในพื้นที่มากมาย รองรับความต้องการของประชาชนที่ย้ายบ้านเรือนออกไปอยู่ตามชานเมือง

            ในปัจจุบัน โซนรังสิต กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ไม่แพ้กรุงเทพมหานคร ราคาที่ดินสูงมาก อาจเรียกว่าเป็นทำเลทองอีกแห่งหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยผู้คนทั้งจากทั่วทุกสารทิศ เข้ามาทำงาน มาซื้อบ้าน รังสิตเป็นศูนย์รวมของการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัยชื่อดัง โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่  โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง ในอนาคตยังจะมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง ยิ่งทำให้รังสิตจะเมืองที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพที่ 1 ภาพมุมสูงบริเวณพื้นที่ในเขตรังสิต

ที่มา Google (2562)

ความเป็นเมืองในเขตเทศบาลนครรังสิต

            นครรังสิตได้รับการยกระดับจากเทศบาลเมืองเป็นเทศบาลนครเมื่อ พ.ศ.2554 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลประชาธิปัตย์ทั้งตำบล มีเนื้อที่รวม 20.8 ตารางกิโลเมตร โดยเทศบาลนครรังสิตเป็นส่วนหนึ่งในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิตได้จัดให้มีการจัดตั้งชุมชนย่อยทั้งหมด 81 ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น[1] เนื่องจากพื้นที่เขตนครรังสิตมีความเจริญอย่างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดปทุมธานี จากสถิติจำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครรังสิต พบว่า ในปี 2560 มีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่เทศบาลนครรังสิตตามทะเบียนบ้าน 79,766 คน[2] และมีจำนวนที่อยู่อาศัย 54,404 หลังคาเรือน[3] ทั้งนี้ สถิติดังกล่าวยังไม่นับรวมประชากรแฝงที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่โดยไม่ได้ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่อย่างถูกต้องจำนวนมาก โดยหากดูจากความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร จะพบว่าอำเภอธัญบุรีเป็นแหล่งที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในจังหวัด โดยเมื่อพิจารณาถึงจำนวนห้องพักซึ่งเป็นแหล่งที่พักอาศัยของประชากรแฝงในจังหวัดปทุมธานี พบว่าประชากรแฝงที่มีจำนวนอยู่มากที่สุดอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองรังสิต[4] เนื่องด้วยนครรังสิตเป็นพื้นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม ตลาดขนาดใหญ่ มีสถานีขนส่ง เส้นทางรถไฟสายสีแดง และที่สำคัญคือมีมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาชั้นนำของภาครัฐและเอกชน[5]

ภาพที่ 2 อาณาเขตเทศบาลนครรังสิต

 ที่มา: วิกิพีเดีย (2562)

 

สถานการณ์ด้านสุขภาพคนเมืองที่กำลังเผชิญอยู่

            จากการจัดอันดับอัตราป่วยและอัตราป่วยตายจากโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อจังหวัดปทุมธานีต่อประชากรแสนคน ปี พ.ศ.2559 (แผนภาพที่ 2) จะสังเกตได้ว่า มีจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานสูงถึง 6,617.4 และ 3,201.3 รายต่อแสนคน โดยมีอัตราการป่วยตายจากโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.1 และ 4.7 ตามลำดับ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่เพียง 392.2 รายต่อแสนคน แต่กลับมีอัตราป่วยตายจากโรคนี้สูงถึงร้อยละ 8.1 อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาข้อมูลอีกหนึ่งชุดจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิตที่แสดงอัตราผู้ป่วยรายใหม่เปรียบเทียบระหว่างประชากรในจังหวัดปทุมธานีและเทศบาลนครรังสิต ปีงบประมาณ 2560 (แผนภาพที่ 3) พบว่า อัตราประชากรในเขตเทศบาลนครรังสิตที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมีจำนวนมากกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมดในจังหวัดปทุมธานี

ภาพที่ 3 แสดงการจัดอันดับอัตราป่วยและอัตราป่วยตายจากโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อจังหวัดปทุมธานีต่อประชากรแสนคน ปี พ.ศ.2559

ที่มา: กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต

 

ภาพที่ 4 แสดงอัตราผู้ป่วยรายใหม่จังหวัดปทุมธานีและเทศบาลนครรังสิต ปีงบประมาณ 2560

ที่มา: กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต

 

            เทศบาลนครรังสิต กำลังเผชิญปัญหาและสถานการณ์ความท้าทายที่สำคัญไม่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ  คือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้อายุ ในส่วนของข้อมูลผู้สูงอายุ จะพบว่า ในปี 2560 เขตเทศบาลนครรังสิตมีจำนวนผู้สูงอายุสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจำนวน 11,141 คน คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของประชากรทั้งหมดในเขตเทศบาลนครรังสิต[6] ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่า เทศบาลนครรังสิตได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอาจกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในไม่ช้า[7] หากพิจารณาจากอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ จะพบว่า อัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิตอยู่ที่ 1 : 4.65 นั่นหมายความว่า ประชากรวัยทำงานเกือบทุกทุก 5 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากที่กล่าวมาในข้างต้น กระบวนการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีต่อผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ทางเทศบาลนครรังสิตให้ความสำคัญ โดยเน้นไปที่การส่งเสริมและฟื้นฟูเพื่อลดการเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครรังสิตนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จากผลการสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครรังสิตปี 2560 มีเป้าหมายการสำรวจผู้สูงอายุจำนวน 11,141 คนตามข้อมูลที่ได้รับจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สำรวจได้ 5,284 คน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเพื่อความสะดวกในการดูแลและทั่วถึง โดยใช้เกณฑ์การแบ่งประเภทจากกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ (Activities of Daily Living) เพื่อบริการผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิงทั้ง 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มติดสังคม เน้นการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อชะลอความเสื่อม และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน
  2. กลุ่มติดบ้าน เน้นการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ภาวะทุพพลภาพ และเพิ่มศักยภาพใน การพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุ
  3. กลุ่มติดเตียง เน้นป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ  ประคับประคองอาการเจ็บป่วย รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านจิตใจเพื่อให้มีลมหายใจสุดท้ายที่สงบสุข

ดังนั้น จากการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุระหว่างปี 2556, 2557 และ 2560 พบจำนวนผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิง ดังนี้

 

ภาพที่ 5 แสดงจำนวนผู้สูงอายุประเภทต่างๆ ปี 2556 ปี 2557 ปี 2560

 

ปี 2556

ปี 2557

ปี 2560

สำรวจทั้งหมด

453

4,384

5,284

ระดับ 1 ติดสังคม

-

3,760

4,645

ระดับ 2 ติดบ้าน

-

123

124

ระดับ 3 ติดเตียง

-

57

61

ที่มา: กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครรังสิต

 

จุดเริ่มต้นและแนวคิดการพัฒนาสุขภาวะคนเมือง

          เนื่องด้วยเขตเทศบาลนครรังสิตมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น  ทำให้มีภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้  รวมถึงการเตรียมตัวเพื่อรองรับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วน สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ซึ่งโดยปกติ ชมรมผู้สูงอายุทั้ง 11 ชมรมจะมีการพบปะกันประจำเดือนละ 1 ครั้ง แต่ท่านนายกฯ เล็งเห็นว่าการให้ผู้สูงอายุพบกันเดือนละ 1 ครั้งอาจจะไม่พอ  ผนวกกับเทศบาลนครรังสิตได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาผู้สูงอายุผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ จึงเกิดความคิดในการจัดทำโรงเรียนขึ้นเพื่อสร้างแกนนำในการดูแลผู้สูงอายุโดยผู้สูงอายุเป็นภารกิจแรก ๆ นำแกนนำผู้สูงอายุแต่ละชมรมมาพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองและขับเคลื่อนชมรมเองได้  โรงเรียนผู้สูงอายุจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สร้างแรงกระตุ้น สร้างความจรรโลงใจ และการรวมกลุ่ม สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมและการมีจิตสาธารณะ  รวมถึงการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ได้แก่ กลุ่มติดบ้านและติดเตียง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

การพัฒนาผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต

          การพัฒนาผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต มีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานขึ้นอยู่กับผู้สูงอายุทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม : สร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ

         โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิตก่อตั้งเมื่อปี 2557 โดยเริ่มจากโครงการห้องเรียนผู้สูงอายุ สอนการเขียนโครงการ การรวมกลุ่ม และการทำงานร่วมกันแทรกเข้าอยู่ในหลักสูตร มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้  พัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ  ให้มีภาวะผู้นำ มีความรู้ ทักษะ ความสามารถในการบริหารจัดการชมรม ดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรม  เมื่อผู้สูงอายุที่เข้าร่วมมีความรู้ก็สามารถนำความรู้นั้นกลับไปบริหารจัดการชมรมของตัวเองได้

          ในปี 2558 จึงได้พัฒนาไปสู่การเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิต ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานเทศบาลนครรังสิต ชั้น 11 ห้องนิลุบล ผู้เรียนเป็นบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีชื่ออยู่ในเขตเทศบาลนครรังสิตและมีความประสงค์จะเรียนจำนวน 65 คนต่อรุ่น มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเรียนปีละ 2 เทอม เทอมละ 4 เดือน ทุกวันพุธ เวลา 9.00-12.00 น. การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิต  ทำให้วัตถุประสงค์จึงมีการเปลี่ยนไปตามคุณลักษณะผู้เรียน คือ

  1. พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียนได้
  2. เพิ่มทักษะการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการจริงภาคสนามกับชมรมผู้สูงอายุ
  3. พัฒนาจิตอาสาในชุมชน

 

หลักสูตรการเรียน

         เนื้อหาในหลักสูตรไม่ใช่การเรียนด้านวิชาการ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนมีความน่าสนใจและเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจวิธีการดูแลตนเองและเข้าใจสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป  ในการเรียนแต่ละชั่วโมงจะมีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้จักกันมากขึ้น มีการระดมความคิดเห็นและการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุในด้านความกล้าแสดงออก  ในส่วนของการพัฒนาจิตอาสา จะมีการรวมตัวการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ล้างห้องน้ำ กวาดลานวัด แยกขยะในชุมชน เลี้ยงอาหารผู้พิการ เป็นต้น หรือทุกวันพุธจะมีการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข  ผู้สูงอายุจะมาเป็นจิตอาสาในการช่วยเหลือการฉีดวัคซีนให้เด็ก หรือการย่างไก่ให้สุนัขที่ศูนย์พึ่งพิงสุนัขคลอง 12

หลักสูตรการเรียน ประกอบไปด้วย 4 ชุดการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 116 ชั่วโมง ดังต่อไปนี้

  • ชุดการเรียนรู้ที่ 1 ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ (42 ชั่วโมง)  เป็นการให้ความรู้เรื่องโรค การดูแลสุขภาพกาย จิตใจ การออกกำลังกาย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การใช้ยาและสมุนไพร และเรื่องโภชนาการ
  • ชุดการเรียนรู้ที่ 2 ผู้สูงอายุในสังคมที่เปลี่ยนแปลง (44 ชั่วโมง)  ผู้สูงอายุจะได้เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย การปรับตัวในสังคมไทย สิทธิผู้สูงอายุ กฎหมาย พินัยกรรมชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญา จิตอาสา อาเซียน ประวัติศาสตร์ชาติไทย ค่านิยม หน้าที่ พลเมืองไทย การออม และการเตรียมความพร้อม
  • ชุดการเรียนรู้ที่ 3 เทคโนโลยีการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ (12 ชั่วโมง)  เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้ Facebook และ Line สำหรับการสื่อสาร เพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นถึงประโยชน์ของเครื่องมือสื่อสารและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ชุดการเรียนรู้ที่ 4 การเรียนรู้ตามอัธยาศัย (16 ชั่วโมง)  เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากเนื้อหาด้านวิชาการ เป็นกิจกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การส่งเสริมอาชีพ ทำขนมไทย คุกกี้  กิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา เช่น พระมาเทศนาธรรมรวมถึงสอนหลักการดำรงชีวิต นั่งสมาธิ  กิจกรรมนันทนาการ  งานคหกรรมและงานประดิษฐ์

 

การบริหารจัดการในห้องเรียน

         ภายในห้องเรียนมีแกนนำในการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกัน คล้ายกับการบริหารห้องเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ประกอบด้วย หัวหน้าห้อง รองหัวหน้าห้อง นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ และเหรัญญิก  ก่อนเริ่มการเรียนการสอน  มีการเคาะระฆังเพื่อส่งสัญญาณเข้าเรียน  หลังจากนั้นมีการสวดมนต์ ร้องเพลงประจำโรงเรียนผู้สูงอายุ และออกกำลังกายพร้อมกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ  ซึ่งจะมีผู้สูงอายุนำสวดมนต์และออกกำลังกายที่มีภาวะผู้นำและกล้าแสดงออก หลังจากร่วมกิจกรรมไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ 

หลังจบการศึกษา : ส่งเสริมพื้นที่สาธารณะให้เกิดการรวมกลุ่ม

           เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ จะมีพิธีมอบวุฒิบัตรโดยท่านนายกฯ  และมีพิธีรับน้องใหม่แก่ผู้สูงอายุในรุ่นถัดไป  มีการรวมกลุ่มกันหลังจบหลักสูตรตามความสนใจและความถนัดของแต่ละคนและมีการจัดพื้นที่การแสดงให้กับผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถ  เช่น รำวง รำไทย ไลน์แดนซ์ โยคะ บางคนไปเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุหรือให้บริการแก่ผู้ที่มาใช้บริการที่เทศบาลฯ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยมีการอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง หรือจัดรายการวิทยุชุมชน เรียนภาษาอังกฤษ ร้องคาราโอเกะ นั่งสมาธิ  เป็นต้น  ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคต้อกระจกประจำปี  รวมถึงมีการปรับสภาพแวดล้อมพื้นที่สาธารณะให้เหมาะสมและเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ  เช่น  ทางลาด ห้องน้ำ บันไดภายในและภายนอกอาคาร เป็นต้น

  • กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านและกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง : นวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพา

         ในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง เทศบาลนครรังสิตได้ทำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล  สร้างอุปกรณ์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริงสำหรับผู้สูงอายุ มีทั้งหมด 3 นวัตกรรม

  1. ชุดควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านด้วยรีโมท ได้แก่ ปุ่มปิด-เปิดพัดลม ไฟ โทรทัศน์ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ภายในบ้านของผู้ป่วยที่มือใช้การได้
  2. รีโมทส่งสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากบ้านใดมีความประสงค์ต้องการรีโมทส่งสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉิน  ซึ่งจะมีการพูดคุยกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการทำงานของรีโมท หากผู้ป่วยกดปุ่ม สัญญาณจะดังขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน
  3. ระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน : โครงการ SOS เป็นโครงการต่อยอดเนื่องจากรีโมทส่งสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉินซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สามารถใช้ได้เฉพาะในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ไม่สามารถขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยกู้ชีพหรือโรงพยาบาลได้ โครงการ SOS จึงเกิดขึ้น เป็นโครงการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้าน เมื่อผู้ขอความช่วยเหลือโทรศัพท์เข้ามายังศูนย์กู้ชีพ เบอร์โทรและข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยจะแสดงผลบนหน้าจอของศูนย์รับสัญญาณ จากนั้นจึงส่งรถพยาบาลมาให้ความช่วยเหลือต่อไป

         นอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงแล้ว เทศบาลนครรังสิตสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นบางอย่าง พร้อมด้วยการสร้างบุคลากรจำนวนหนึ่งเพื่อไปเยี่ยมและดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ดังนี้

  • บริการรถรับ-ส่ง ไปโรงพยาบาล ผ่านการจัดตั้งมูลนิธิ “สุขเสรี” สำหรับรับ-ส่งผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง
  • ให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียง ที่นอนลม ไม้ค้ำยัน ฯลฯ
  • การสร้าง care giver และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุตามสภาพและความจำเป็น ซึ่ง care giver ต้องผ่านการอบรม 120 ชั่วโมงตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข  โดยปกติจะอบรมโดยวิทยากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ต้องผ่านการอบรม 2 วัน และฝึกปฏิบัติ 2 วัน โดยหลักสูตรของเทศบาลนครรังสิต และมีวุฒิบัตรรับรองการผ่านหลักสูตรการอบรม
  • เยี่ยมบ้านและนวดฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยติดเตียง โดยพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย และมีการปรับสภาพบ้านของผู้ป่วยเพื่อความสะดวกและความปลอดภัย โดยมีการสำรวจและประเมินการติดตั้งตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละบ้าน 

กลไกความร่วมมือในการพัฒนาผู้สูงอายุของเทศนครนครรังสิต

            กลไกการจัดการเมืองสุขภาวะในแต่ละกลุ่มผู้สูงอายุ เทศบาลนครรังสิตเป็นกลไกหลัก ที่คอยประสานทำงานร่วมกับเครือข่ายกลไกต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดังนี้

  • โรงเรียนผู้สูงอายุ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากแกนนำผู้สูงอายุจากชมรมทั้ง 11 ชมรมทั้งหมด 2 รุ่น จำนวน 110 คน ดำเนินการโดยเทศบาลนครรังสิตเป็นหลักในการจัดหาวิทยากรมาอบรมให้แก่ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อทำการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์และสถานที่แก่ผู้สูงอายุ
  • โครงการนวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง โครงการนวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนด้านงบประมาณ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี สร้างอุปกรณ์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริงในพื้นที่เขตเทศบาลนครรังสิต  โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ในการช่วยเหลือการประดิษฐ์และติดตั้งอุปกรณ์ให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
  • การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณะสุข สำหรับหลักสูตรอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต ดำเนินการร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ. ศศิพัฒน์ ยอดเพชร และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ

 

แหล่งที่มาของงบประมาณ

            งบประมาณในการดำเนินงานด้านสุขภาพผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต ส่วนใหญ่ใช้งบประมาณของเทศบาลเป็นหลัก นอกเหนือจากงบประมาณเทศบาล ยังมีงบประมาณจากเครือข่ายส่วนอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนด้วย เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุบางส่วนมาจากการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในส่วนของโครงการนวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและการปรับสภาพบ้านของผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ส่วนหนึ่งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากยังมีงบบางส่วนจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  และงบประมาณที่ได้รับจากการบริจาคจะนำไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ประกอบกิจกรรมของผู้สูงอายุ

 

ผลการดำเนินงาน/ความสำเร็จ

             หลังจากที่กลุ่มผู้สูงอายุสำเร็จหลักสูตรจากโรงเรียนผู้สูงอายุแล้ว ทำให้พวกเขามีพัฒนาการทั้งทางด้านวิชาการ ความรู้ทั่วไป รวมไปถึงทักษะอื่น ๆ ในการดำเนินชีวิต มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพฤติกรรมที่ดีขึ้นหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน แกนนำของชมรมหรือชุมชนมีภาวะผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และพวกเขายังได้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่แก่บุตรหลานหรือคนในชุมชน พร้อมประยุกต์ความรู้ที่ได้รับในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและความสามัคคีในกลุ่มในการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น การล้างห้องน้ำ การกวาดลานวัด การแยกขยะในชุมชน หรือการจัดเลี้ยงอาหารผู้พิการ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดจิตอาสาในผู้สูงอายุ ซึ่งบางคนได้ผันตัวเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง  โดยผู้สูงอายุจิตอาสานั้นมีส่วนช่วยลดสถิติการร้องเรียนเรื่องการบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพลง ลดความไม่เข้าใจ และลดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ถือได้ว่าเป็นสื่อกลางในการเชื่อมเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนผู้มาใช้บริการได้เป็นอย่างดี สามารถทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมได้ จนกลายเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ ที่มีคณะศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

          ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของเทศบาลนครรังสิตสามารถการันตีด้วยผลงานและรางวัลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2551 ระดับภาคกลาง รางวัลชมเชยเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ขนาดใหญ่ ประจำปี 2552 โล่รางวัลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ประจำปี 2555 รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2556 นอกจากนี้ในปี 2559 ยังได้รับประกาศนียบัตรเพื่อแสดงว่าผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิตเป็นผู้นำการบริหารโรงเรียนผู้สูงอายุ และส่งเสริมการนำหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ จากพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ และยังได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2559 รางวัลที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ประเภทโดดเด่น พร้อมใบประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจำนวน 8 ล้านบาท จาก ดร.วิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

 

ปัจจัยความสำเร็จ

  1. นโยบายคณะผู้บริหาร เทศบาลนครรังสิต คณะผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมถึงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อผู้สูงวัย
  2. งบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง เทศบาลนครรังสิตได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิตในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนผู้สูงอายุดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เจ้าหน้าที่สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีใจในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มาใช้ทำกิจกรรมที่เทศบาลฯ จัดให้อย่างเต็มที่  และตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอย่างสม่ำเสมอ
  4. วิทยากรมีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้ วิทยากรปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และทักษะที่ได้รับการถ่ายทอด สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
  5. เครือข่ายภายในและภายนอก การมีเครือข่ายที่เข้มแข็งทำให้การประสานงานเพื่อการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครรังสิต
  6. การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนมีส่วนในการวางแผนยุทธศาสตร์ สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ผลักดันการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

 

แผนการดำเนินงานด้านสุขภาวะในอนาคต

  1. พัฒนาโครงการ SOS โดยร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบสัญญาณที่ผู้สูงอายุสามารถปรึกษาและขอความรู้เกี่ยวอาการเจ็บป่วยหรือการดูแลสุขภาพทางไกลผ่านระบบ Video Conference ได้
  2. สร้างศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งที่ 6 เพื่อครอบคลุมงานบริการทั้งหมด เช่น มีบริการ Day Care รับฝากผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ไม่มีคนดูแลในช่วงกลางวันโดยมีอาสาสมัครเป็นผู้ดูแล มีศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์สำหรับผู้สูงอายุ มีห้องกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับชมรมผู้สูงอายุไว้ดำเนินกิจกรรม พื้นที่สำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาหลังเลิกเรียน เพื่อให้เอื้อและเชื่อมโยงคนทุกวัย

 

[1] กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต, สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน (ออนไลน์), แหล่งที่มา: http://www.fundrangsit.com/index.php/main/content/, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.

[2] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560, ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=13&statType=1&year=60, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.

[3] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560, ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_disp.php, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.

[4] สราวุธ กลิ่นกุสุม และ ศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ช่างเรียน. ประชากรแฝงกับคุณภาพชีวิต กรณีศึกษา เทศบาลนครรังสิต. วารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิต. 12,1. (มกราคม 2559): 85.

[5] Niphaporn Niamprayun, Rangsit City เมืองแห่งการเรียนรู้: Silicon Valley ของจังหวัด (ออนไลน์), 5 กุมภาพันธ์ 2562, แหล่งที่มา:  http://meawniphaporn.blogspot.com/2018/03/rangsit-city-silicon-valley.html.

[6] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560, ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=13&statType=1&year=60, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.

[7] องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts