Cities Reviews

แนวโน้มเมืองสุขภาวะของไทย (Trend in Thai Wellness cities)

           จากรายงาน 2019 Global Wellness Trends Report ได้อธิบายแนวโน้มสุขภาพของคนทั่วโลก ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ศูนย์ศึกษามหานครและเมืองจึงได้ลองนำแนวคิดจากรายงานดังกล่าวมาสำรวจเมืองของไทย จำนวน 10 เมือง ได้แก่ เมืองป่าตอง เมืองแม่มอก จังหวัดลำปาง เมืองอุดรธานี เมืองเชียงราย เมืองทุ่งสง เมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองยะลา เมืองตรัง และเมืองหนองป่าครั่ง ว่าเมืองของไทยเหล่านี้มีแนวโน้มเข้าใกล้เมืองสุขภาวะดีได้มากเพียงใด และมีประเด็นใดที่เมืองของไทยให้ความสำคัญ โดยเราได้ปรับตัวชี้วัดบางอย่างให้เข้ากับบริบทของเมืองไทย ใช้ตัวชี้วัดเมืองสุขภาวะที่ครอบคลุมสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ และสุขภาวะทางสังคม 9 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านการรีไซเคิลและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ด้านการปฏิบัติธรรม และกิจกรรมฝึกจิตในเมือง
  3. ด้านการส่งเสริมสถานที่ที่มีความเป็นธรรมชาติ
  4. ด้านการมีแหล่งอาหารปลอดภัย
  5. ด้านการมีธุรกิจเพื่อสังคมและสุขภาพในเมือง
  6. ด้านการมีสถานที่ออกกำลังกายในเมือง
  7. ด้านการมีขนส่งสาธารณะที่สะดวกและปลอดภัยในเมือง
  8. ด้านการมีกลุ่มทางสังคมและกลุ่มจิตอาสาในเมือง
  9. ด้านการมีแหล่งเรียนรู้ของเมือง

           ผลการสำรวจพบว่าโดยภาพรวมเมืองทั้ง 10 เมืองให้ความสำคัญและตื่นตัวในการพัฒนาเมืองสุขภาวะให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งด้านหลักๆ ที่เมืองทุกเมืองให้ความสำคัญ คือ ทุกเมืองสนใจรีไซเคิลและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมุ่งสร้างและให้ความสำคัญกับการออกแบบสถานที่ออกกำลังกายในเมือง ส่วนประเด็นอื่นๆ นั้นขึ้นอยู่กับความโดดเด่นและความสนใจของแต่ละเมืองที่จะเน้นให้ความสำคัญ รายละเอียดเมืองสุขภาวะของไทยจากการสำรวจ มีข้อค้นพบ ดังนี้

 

  1. เมืองมีการรีไซเคิลและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

           ปัญหาการจัดการขยะเป็นความท้าทายสำหรับทุกเมือง เมืองที่มีการจัดการที่ดีย่อมส่งผลให้สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย เป็นเรื่องน่ายินดีที่พบว่าขณะนี้หลายเมืองในประเทศไทยให้ความสำคัญและมีแนวทางจัดการกับปัญหาขยะที่เกิดขึ้นผ่านการริเริ่มโครงการที่สร้างสรรค์และยั่งยืน จากการสำรวจพบว่าทุกเมืองมีการดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านการจัดการขยะผ่านวิธีการและนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น การนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ทดแทน การใช้วัสดุรีไซเคิล การริเริ่มธนาคารขยะในชุมชน การส่งเสริมการคัดแยกขยะจากต้นทาง การปฏิเสธการใช้พลาสติกและโฟม ที่สำคัญคือการพยายามสร้างความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการและการดำเนินงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้

           เมืองทุ่งสง เป็นเมืองต้นแบบที่มีความโดดเด่นเรื่องการจัดการขยะภายใต้แนวคิดที่ว่าขยะทุกประเภทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เกิดเป็นโครงการ “พลิกถุงพลิกโลก” ที่สามารถแก้ปัญหาขยะในชุมชนได้อย่างครบวงจร ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาล โรงเรียน และครัวเรือน โดยเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะให้กับพนักงานเทศบาล แล้วจึงถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่โรงเรียนและครัวเรือน เกิดเป็นภาคีเครือข่ายระหว่างชุมชน นอกจากนี้ ยังได้สร้างโรงผลิตขยะ RDF[1] เพื่อจัดการขยะพลาสติกในชุมชน และมีการผลิตถ่านอัดแท่งจากขยะประเภทไม้และกะลามะพร้าว นำขยะทั้งสองประเภทนี้มาเผาเพื่อทำเป็นถ่านและนำถ่านที่ได้มาแปรรูปเป็นถ่านอัดแท่งเพื่อจำหน่ายหารายได้เข้าสู่ชุมชนต่อไป

           เมืองยะลา มีแนวคิดในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการรีไซเคิลผ่านโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในชุมชน ประกอบไปด้วย สถานศึกษาจำนวน 31 แห่ง ชุมชน 40 ชุมชน  เครือข่ายสถานประกอบการ และกลุ่มหญ้าแฝกเทศบาลนครยะลา นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานภายในเทศบาลยังได้มีการดำเนินการการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คิดเป็นจำนวนเงินจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรถึง 779,541.20 บาท และมีการทำ MOU การลด ละ เลิก การใช้พลาสติกและโฟมบรรจุอาหารกับหน่วยงานต่าง ๆ อันได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สถานประกอบการ 9 แห่ง และหน่วยงานราชการภายในเทศบาล 8 หน่วยงาน รวมถึงมีการรณรงค์การใช้ถุงผ้าลดโลกร้อนในชุมชนโดยมีบริษัทยะลาเซเว่นเป็นผู้ให้เงินสนับสนุน

           เมืองป่าตอง มีขยะจากมะพร้าวจำนวนมาก จึงได้ทำปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าว นำเปลือกของมะพร้าวออก ใช้ตัวเส้นใยที่ได้มาฝอยให้เป็นขุย แล้วนำไปหมักเพื่อให้เกิดเป็นปุ๋ยอินทรีย์

           เมืองเชียงราย มีมหาวิทยาลัยวัยที่สามและศูนย์การเรียนรู้กระจายอยู่ทั่วเมือง ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละศูนย์ มีกระบวนการจัดการขยะเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนรู้เสมอ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุโซนที่ 4 และ 5 มีกิจกรรมการนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นของใช้ ทั้งยังมีการนำขยายสู่ชุมชนใกล้เคียงด้วย

           เมืองกาฬสินธุ์ ริเริ่มกิจกรรมการคัดแยกถุงพลาสติกในชุมชนของกลุ่มคนรักถุง โดยนำถุงพลาสติกที่คัดแยกได้มาล้างแล้วจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นเม็ดพลาสติกต่อไป เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับถุงพลาสติกและลดปริมาณขยะถุงพลาสติก

           อีกหนึ่งเมืองที่มีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ได้แก่ เมืองอุดรธานี ที่โดดเด่นในกระบวนการจัดการ ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย สร้างแหล่งเรียนรู้เส้นทางสีเขียวร่วมกับชุมชนโดยได้สร้างฐานการเรียนรู้ในชุมชน 7 ฐาน มีกิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละบริบทของชุมชน เช่น  ร้าน 0 บาท ที่เป็นการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ลดค่าครองชีพ การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยการทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมัก กิจกรรมฌาปนกิจ 0 บาท นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้เป็นค่าฌาปนกิจ รวมถึงการคัดแยกขยะในครัวเรือนโดยมีศูนย์รับซื้อและรับบริจาคขยะในร้านค้าโรงเรียน เป็นการบริหารโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์และปรับตัวเข้ากับบริบทของชุมชนได้

ภาพที่ 1 ภาพกิจกรรมของนักเรียนภายใต้โครงการ “พลิกถุงพลิกโลก” ของเทศบาลเมืองทุ่งสน

ที่มา : เทศบาลเมืองทุ่งสง

  1. เมืองสุขภาวะทางใจ มีการปฏิบัติธรรม และกิจกรรมฝึกจิตในเมือง

          การส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีสุขภาวะดีไม่ได้หมายถึงเพียงสุขภาพกายที่แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย จากการสำรวจพบว่าทุกเมืองมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการปฏิบัติธรรมและการฝึกจิตในเมืองอย่างสม่ำเสมอ มีรูปแบบกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันเนื่องจากพื้นฐานของสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ กิจกรรมทางศาสนาจึงสอดคล้องกับวิถีของชาวพุทธเป็นหลัก เช่น การปฏิบัติธรรมในวันพระและวันสำคัญ การจัดอบรมธรรมะ กิจกรรมบวชสามเณร เป็นต้น พบว่ามีเมืองจำนวน 3 เมือง ที่มีการจัดกิจกรรมด้านการปฏิบัติธรรมและการฝึกจิตที่น่าสนใจ ได้แก่ เมืองยะลา ที่โดดเด่นเรื่องความหลากหลายทางศาสนา เมืองเชียงราย ที่จัดกิจกรรมฝึกจิตเพื่อผู้สูงอายุในมหาวิทยาลัยวัยที่สาม และเมืองอุดรธานีที่ดึงกิจกรรมฝึกจิตเข้าสู่พื้นที่เมืองเพื่อให้คนเมืองสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น 

          เมืองยะลา แม้เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เทศบาลนครยะลาก็สามารถผลักดันให้เกิดกิจกรรมฝึกจิตและกิจกรรมทางศาสนาที่มีความหลากหลายเพื่อรองรับสมาชิกในชุมชนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน ทำให้สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมตามศาสนาที่ตนเองนับถือ รวมถึงมีกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะ  ที่จัดขึ้นเพื่อให้พนักงานเทศบาลสามารถหมุนเวียนกันเข้าวัดฟังธรรม ถวายภัตตาหาร และทำบุญในช่วงวันพระ  

          เมืองอุดรธานี มีความโดดเด่นในด้านการส่งเสริมให้มีกิจกรรมการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมือจากหลายกลุ่ม เช่น การอบรมวิปัสสนากรรมฐาน การอบรมสมาธิ และการฟังธรรม ความน่าสนใจของการจัดกิจกรรมในเมืองอุดรธานีอยู่ที่การสร้างพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มในชุมชนสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้ มีการจัดกิจกรรมฟังธรรมโดยกลุ่มธรรมในเมืองที่โรงแรม เป็นการเพิ่มพื้นที่การเข้าถึงกิจกรรมพัฒนาจิตใจให้คนในเมือง รวมถึงการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ธรรมปุเนติ (โกเอ็นก้า)

 

ภาพที่ 2 กิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะที่วัดศรีพัฒนาราม

ตำบลยุโป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา  

 

ที่มา : http://www.yala1.go.th

  1. เมืองที่ส่งเสริมสถานที่ที่มีความเป็นธรรมชาติ

           พื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์แล้วยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองอีกด้วย เปรียบเสมือนได้กับปอดของเมือง จากการสำรวจพบว่า ทุกเมืองจากทั้ง 10 เมืองมีสถานที่ที่มีความเป็นธรรมชาติหลายแห่งแตกต่างกันไป แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ สถานที่ธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองนั้น ๆ เช่น ชายหาด แม่น้ำ ลำคลอง ป่าไม้ และอุทยานต่าง ๆ และพื้นที่สีเขียวที่สร้างขึ้นใหม่โดยเทศบาล ได้แก่  สวนสาธารณะต่าง ๆ  เมืองเชียงราย ยะลา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เป็นเมืองที่มีวิธีการดำเนินการส่งเสริมเสริมพื้นที่สีเขียวที่โดดเด่นกว่าที่อื่น ๆ ดังนี้

           เมืองยะลา มีสวนสาธารณะในเมืองมากถึง 7 แห่ง เป็นสถานที่ออกกำลังกาย จัดกิจกรรม และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน ภายใต้แนวคิดสวนล้อมเมืองของเทศบาลนครยะลา รวมถึงได้ริเริ่มโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการป่าร่มเมืองเพื่อเป็นโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าริมแม่น้ำปัตตานี และนโยบายปลูกต้นไม้ปีละหมื่นต้นเพื่อผลักดันให้เมืองยะลาเป็นนครแห่งสวน

           เมืองอุดรธานี เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายรูปแบบ เช่น ทะเลบัวแดง บ้านคำชะโนด อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภูฝอยลม หนองประจักษ์ หนองบัว หนองสิม เป็นต้น ความโดดเด่นของเทศบาลเมืองอุดรคือการดำเนินงานภายใต้การสร้างความร่วมมือกับกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยที่เทศบาลมีความตื่นตัวในการสื่อสารกับกลุ่มคนทุกกลุ่มในเมืองอยู่เสมอ ทำให้สมาชิกในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของสถานที่ทางธรรมชาติที่มีอยู่และเกิดเป็นความร่วมมือในการจัดการดูแลพื้นที่สีเขียวในเมือง

           เมืองเชียงราย ได้สร้างศูนย์การเรียน 5 โซน โดยศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุโซนที่ 3 ชุมชนดอยสะเก็น ได้สร้างควมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ดำเนินการโดยชุมชนเพื่อพัฒนาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพป่าในเมือง ส่งเสริมพื้นที่ทางธรรมชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และยกระดับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังได้ดัดแปลงพื้นที่ทางธรรมชาติให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการพัฒนาจุดชมวิวต่าง ๆ จากพื้นที่ป่าในเมืองจนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

           เมืองกาฬสินธุ์ ได้พัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองให้สมาชิกในชุมชนมีพื้นที่สีเขียวที่ตอบสนองต่อความต้องการ มีสวนสาธารณะแก่งดอนกลางเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมือง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ จึงเป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้แก่สมาชิกในชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งพักอาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ด้วย

 

ภาพที่ 3 สวนสาธารณะหนองสิม จังหวัดอุดรธานี

ที่มา : http://www.udoncity.go.th

 

  1. แหล่งอาหารปลอดภัย

           เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาหารที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปในปัจจุบันมักไม่ได้รับมาตรฐานความสะอาดและมีสารเคมีเจือปน เมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว สารเคมีเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกายและอาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคในภายหลัง เทศบาลเมืองต่าง ๆ จึงได้ริเริ่มการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยเพื่อให้สมาชิกในชุมชนมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จากการสำรวจพบว่าทุกเมืองมีการดำเนินการให้สมาชิกในชุมชนมีแหล่งอาหารที่ดีในการบริโภคผ่านการดำเนินการออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การประเมินคุณภาพอาหารตามร้านขายอาหาร การสร้างเครือข่ายการเกษตรกรรมปลอดสารพิษ การสร้างเครือข่ายการเกษตรอินทรีย์ มีเมืองสามเมืองที่มีวิธีการที่โดดเด่นในการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแก่คนในชุมชน ได้แก่ เมืองอุดรธานี เมืองแม่มอก และเมืองเชียงราย ทั้งสามเมืองนี้ มีรูปแบบของตนเองในการตอบสนองกับความต้องการของชุมชน

          เมืองอุดรธานี มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ต้องการผลักดันให้เกิดการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารปลอดภัยแก่คนในชุมชน ได้แก่ กลุ่มตลาดร่มเขียวเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันจัดตั้งแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษแก่ผู้ที่สนใจ ตลาดนี้จะจัดขึ้นสัปดาห์ละสองครั้งตามพื้นที่สาธารณะในเมือง อีกหนึ่งกลุ่ม คือ Young Smart Farmer เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเกษตรและได้นำวิธีการจัดการใหม่ ๆ มาใช้ในการทำการเกษตร มีการผลิตผลผลิตอินทรีย์และผักปลอดสารพิษ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรปลอดภัยเป็นกลุ่มจัดหาและจัดจำหน่ายผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรที่ใช้ระบบการตรวจทานความปลอดภัยแบบ PGS[2] โดยทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมานี้ เป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ชาวเมืองอุดรธานีมีทางเลือกสำหรับแหล่งอาหารที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

           เมืองแม่มอก มีกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย ประกอบไปด้วยสมาชิกเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ กระเทียมอินทรีย์ ถั่วเหลืองอินทรีย์ และสมุนไพรอินทรีย์ จำนวน 61 คน กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์นี้เคยได้ผ่านการตรวจประเมินจากสภาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ไทยมาแล้ว ทำให้เมืองแม่มอกสามารถสร้างผลผลิตอินทรีย์เพื่อจำหน่ายและบริโภคได้เป็นจำนวนมาก

          เมืองเชียงราย มีแนวทางการส่งเสริมอาหารปลอดภัยโดยการเปิดพื้นที่แหล่งจำหน่ายผลผลิตผักปลอดสารในชุมชนและสถานที่ราชการ รวมถึงมีการใช้ทุนของชุมชนเองสร้างพื้นที่เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ให้สร้างแหล่งอาหารปลอดภัยด้วยตนเอง เช่น ชุมชนฮ่องลี่ ชุมชนป่างิ้ว ชุมชนป่าตึงริมกก ชุมชนแม่กรณ์ ชุมชนสันป่าก่อเหนือ ชุมชนดอยทอง และชุมชนดอยสะเก็น

ภาพที่ 4 กลุ่ม Young Smart Farmer

ที่มา : www.facebook.com/pg/ysfudonthani

 

  1. ธุรกิจเพื่อสังคมและสุขภาพในเมือง

          แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจ แต่ธุรกิจเพื่อสังคมและธุรกิจเพื่อสุขภาพเป็นกลุ่มธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยชี้วัดได้ว่าเมืองนั้น ๆ เป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี จากการสำรวจพบว่าทุกเมืองมีกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมและธุรกิจเพื่อสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่างกัน กลุ่มธุรกิจที่เป็นที่นิยมมาก ได้แก่ ธุรกิจนวดแผนไทยและสปา ธุรกิจนวดแผนไทยพบมากที่ป่าตอง กาฬสินธุ์ ยะลา ตรัง และหนองป่าครั่ง ธุรกิจสปาพบที่ทุ่งสงและร้อยเอ็ด นอกจากนี้ยังพบว่ามีเมืองบางเมืองจากทั้ง 10 เมืองที่สำรวจ มีกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมและธุรกิจเพื่อสุขภาพที่มีความคิดริเริ่มและการจัดการที่น่าสนใจ เป็นการรวมกลุ่มที่ในรูปแบบธุรกิจที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและตอบสนองกับความต้องการของคนในสังคม เช่น

          เมืองแม่มอก  ใช้โมเดลธุรกิจของชุมชน (Community enterprise) จัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุและสร้างกลุ่มนักบริบาลผู้สูงอายุเพื่อเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน และสร้างรายได้จากการให้บริการผู้สูงอายุในชุมชนอื่นในลักษณะการจ้างงาน โครงการนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีลูกค้าทั้งจากครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงและโรงพยาบาลที่ต้องการผู้ช่วยพยาบาล ทำให้มีรูปแบบการจ้างงานนักบริบาลที่หลากหลาย เช่น รายวัน รายเดือน แก้ไขการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างการจ้างงานให้คนในเมืองด้วย   

           เมืองอุดรธานี มีความตื่นตัวของภาคประชาชนสูงและมีกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย ในเมืองอุดรธานีมีการรวมกลุ่มทางสังคมหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มมาดีอีสานที่ทำงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม บ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคม และการร่วมออกแบบเมือง กลุ่ม UDID : อุดรดี เราดี ที่ต้องการสื่อสารและนำเสนอแง่มุมที่ดีของเมืองอุดรธานี กลุ่ม UDMVD : อยู่ดีไม่ว่าดี เป็นกลุ่มนักออกแบบที่มุ่งทำงานด้านการออกแบบชุมชน กลุ่มหนังสือพาไป เป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่รักการอ่านหนังสือ ส่งเสริมกิจกรรมด้านหนังสือในอุดรธานี และกลุ่มป้องกันเด็กจมน้ำตายที่ต้องการสร้างเสริมทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำอย่างปลอดภัยให้กับเยาวชน ซึ่งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่หลากหลายเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนในเมืองอุดรธานี

           เมืองหนองป่าครั่ง มีธุรกิจนวดแผนไทยเป็นธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมือง มีชมรมนวดแผนไทยที่เปิดให้บริการในเมือง เปิดบริการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ นวดเพื่อฟื้นฟูสภาพ สปา อบซาวน์น่า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายในชมรมมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีกลุ่มตัวกลางคอยบริหารจัดการ ทั้งสถานที่และจัดหาลูกค้ารวมถึงการให้โบนัสและพาหมอนวดไปเที่ยวต่างประเทศ

           เมืองยะลา มีกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพที่โดดเด่น ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแพทย์แผนไทยและธุรกิจแพทย์แผนจีนหลายแห่ง ซึ่งเป็นทางเลือกสุขภาพของสมาชิกในชุมชนนอกจากการแพทย์สมัยใหม่

 

ภาพที่ 5 การให้บริการนวดแผนไทยโดยสมาชิกชมรมนวดแผนไทยหนองป่าครั่ง

  1. สถานที่ออกกำลังกายในเมือง

          การออกกำลังกายดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่แท้จริงแล้วการบริหารจัดการพื้นที่ออกกำลังกายของเทศบาลส่งผลต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายของสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างมาก การมีสถานที่ออกกำลังกายที่ดีส่งผลให้คนในเมืองมาออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น จากการสำรวจเมือง 10 เมือง  พบว่า ทุกเมืองมีสถานที่ออกกำลังกายไว้ให้บริการชาวเมืองที่หลากหลาย ในรูปแบบสนามกีฬาชนิดต่าง ๆ ฟิตเนส และสวนสาธารณะ แต่เมืองที่โดดเด่นที่สุดในการสร้างสถานที่ออกกำลังกายให้คนในเมืองอยู่ที่เมืองยะลา

           เมืองยะลา มีความหลากหลายด้านการส่งเสริมสถานที่ออกกำลังกายให้แก่สมาชิกในเมือง มีการสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมจารูนอก เป็นสนามฟุตบอลหญ้าเทียมแหงแรกของประเทศไทย มีการสอนฟุตบอลให้เด็กและเยาวชนกว่า 30 ทีม สร้างสนามแบตมินตัน (สนามโรงพิธีช้างเผือก) มีจำนวน 9 สนาม ซึ่งเป็นสนามที่ใหญ่ของภาคใต้ รวมถึงสนามกีฬาอื่น ๆ เช่น สนามกีฬากลางจังหวัดยะลา สนามกีฬาจารูพัฒนา สวนน้ำ สวนสุขภาพใรสวนสาธารณะเทศบาลนครยะลา สนามตะกร้อ (ตลาดสดผังเมือง 4) ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และโรงยิมขนาดใหญ่ที่สามารถบรรจุผู้ชมได้ 4,000 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมีเลนจักรยาน เป็นช่องทางการให้บริการสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานในเมือง มีการจัดกิจกรรม “ปั่นแลนิบง ยลเมืองยะลา” จัดโดยเทศบาลนครยะลาร่วมกับ เนชั่น ไบค์ ไทยแลนด์ มีผู้เข้าร่วมปั่นจักรยานทั้งสิ้น รวม 5,500 คัน ซึ่งเป็นสถิติจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมปั่นมากที่สุดในประเทศไทย ของเนชั่น ไบค์

ภาพที่ 6 สนามหญ้าจารู สเตเดียม จังหวัดยะลา

ที่มา : www.mainstand.co.th

 

  1. ขนส่งสาธารณะที่สะดวกและปลอดภัยในเมือง

            การขนส่งสาธารณะในเมืองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนดีขึ้น เมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีหมายถึงเมืองที่มีความพร้อมที่จะรองรับการพัฒนาอื่น ๆ ผลการสำรวจทั้ง 10 เมือง พบว่าทุกเมืองมีระบบการขนส่งสาธารณะที่คล้ายคลึงกัน เป็นระบบการขนส่งพื้นฐานที่ให้บริการสมาชิกในชุมชนและนักท่องเที่ยว เช่น รถสามล้อเครื่อง รถสองแถว และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีบางเมืองที่มีการบริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น รถแท็กซี่ รถแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi) ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะในเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้ทั้งหมด

          ในขณะที่ระบบการขนส่งสาธารณะในเมืองที่อยู่ต่างจังหวัดยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก เนื่องจากขาดผู้ลงทุน เมืองอุดรธานีเป็นเมืองแรกที่กล้าเปลี่ยนโฉมระบบขนส่งสาธารณะในเมือง โดยได้ริเริ่มโครงการ City Bus (บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด) เป็นการเริ่มต้นให้ภาคเอกชนลงทุนและดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยการใช้รถบัสปรับอากาศที่เป็นสมาร์ทบัส สามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถและประเมิณเวลาในการเดินทางได้ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยเส้นทางการวิ่งของสมาร์ทบัสนี้ มีเส้นทางที่ครอบคลุมตัวเมือง และสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้สะดวกอีกด้วย นับได้ว่าเป็นการริเริ่มการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะในเมืองที่มีประสิทธิภาพสูง

ภาพที่ 7 รถบัสให้บริการ ภายใต้โครงการ City Bus เมืองอุดรธานี

ที่มา : www.busandtruckmedia.com

 

  1. กลุ่มทางสังคมและกลุ่มจิตอาสาในเมือง

          การสร้างสังคมที่น่าอยู่ ไม่ได้เกิดจากการทำงานของท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีความร่วมมือจากภาคประชาชนในรูปแบบการรวมกลุ่มทางสังคมและกลุ่มจิตอาในเมือง จากการสำรวจพบว่าทุกเมืองมีการรวมกลุ่มทางสังคมและกลุ่มจิตอาสาในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มจิตอาสาพัฒนาชุมชน กลุ่มจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม การรวมกลุ่มอาชีพ กลุ่มชมรมต่าง ๆ ในชุมชน เป็นต้น โดยจากทั้งหมด 10 เมืองที่ได้ทำการสำรวจ ทางศูนย์ศึกษามหานครและเมืองพบว่ามีทั้งหมด 4 เมือง ที่มีกลุ่มทางสังคมที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ ดังนี้

           เมืองแม่มอก มองว่าการพัฒนาที่ดีต้องดำเนินการควบคู่ไปกับจิตสำนึกรักบ้านเกิด จึงมีการรวมตัวกันในชื่อชมรมแม่มอกหลั่นล้าอีโคโนมี ที่ดำเนินการพัฒนาอาชีพให้นักบริบาลผู้สูงอายุ เกิดการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการจากการปฏิบัติจริง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนตำบลแม่มอก รวมถึงเป็นพื้นที่เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายโดยใช้ทุนและศักยภาพ ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเป็นตัวตั้ง เป็นการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาบ้านเมืองทั้งเศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม

           เมืองอุดรธานี มีการรวมกลุ่มที่ต้องการทำงานสังคมด้านต่าง ๆ หลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มวิ่งด้วยกัน เป็นกลุ่มที่ทำงานด้านส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันของสังคมกับผู้พิการ โดยสนับสนุนให้มีพื้นที่และลดความรู้สึกแปลกแยกสำหรับกลุ่มคนพิการในชุมชน กลุ่มเมตตารักษ์ และวงเบาใจ ทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และกลุ่มดูแลเด็กโรคมะเร็ง ทำงานร่วมกับครอบครัวของเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ขับเคลื่อนให้กลุ่มเด็กเหล่านี้มีความรู้สึกในด้านบวก มีความหวัง และมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็งที่กำลังเผชิญอยู่

           เมืองยะลา เป็นอีกเมืองที่มีการรวมกลุ่มกันโดยต้องการเสริมสร้างความเข้าใจในสิทธิและบทบาทของสมาชิกในชุมชน เช่น สภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครยะลา ส่งเสริมการพัฒนาเด็กให้ทั้งด้านคุณภาพชีวิต ภาวะเป็นผู้นำ คุณธรรม จริยธรรม และสภาสตรี เพื่อให้พัฒนาทักษะทางอาชีพส่งเสริมความเป็นแกนนำ สร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิ์ของสตรี ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ภาพที่ 8 พิธีมอบใบประกาศนักบริบาล ระดับสูง ชมรมแม่มอกหลั่นล้าอีโคโนมี

ที่มา : facebook แม่มอกหลั่นล้าอีโคโนมี

  1. แหล่งเรียนรู้ในเมือง

           ศูนย์การเรียนรู้ในเมืองมีความสำคัญกับสมาชิกในชุมชนมาก เพราะเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้และพัฒนาตนเอง จากการสำรวจพบว่าทุกเมืองมีการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในเมืองที่เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง เช่น ห้องสมุด โรงเรียนผู้สูงอายุ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมและภูมิปัญญาในชุมชน โดยสามารถสังเกตได้ว่าแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ล้วนสะท้อนกับองค์ความรู้ที่มีในชุมชนและความต้องการของสมาชิกในชุมชน มีเมืองจำนวน 3 เมือง ที่มีการจัดการแหล่งการเรียนรู้ในเมืองที่น่าสนใจ ดังนี้

           เมืองอุดรธานี ได้สร้างท้องฟ้าจำลองในเมืองขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และ ดาราศาสตร์ สำหรับ เด็ก เยาวชน และ ประชาชนในเมืองอุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวทางด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับดาราศาสตร์ ผ่านการชมภาพยนตร์ และโปรแกรมการดูดาวในโดมท้องฟ้าจำลอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาดูงานยังท้องฟ้าจำลองที่ห่างไกล มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของเมืองที่หลากหลาย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เมือง เทศบาลนครอุดรธานี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียง ศูนย์วัฒนธรรมไทยจีน/ศาลเจ้าปู่ย่า และศูนย์ศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (โฮจิมินห์)

           เมืองเชียงราย เมืองเชียงรายมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุเป็นสำคัญ เกิดเป็นมหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการจัดหลักสูตรตามอัธยาศัยให้แก่นักศึกษากลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 8 หลักสูตร และ14 รายวิชา และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง และผู้พิการ นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุทั้ง 5 โซน เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับในการจัดการเรียนการสอนให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากรในการจัดการเรียน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผ่านการวิเคราะห์ต้นทุนในชุมชน

            เมืองยะลา มีแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรมได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้ยะลา TK Park เป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และเทศบาลนครยะลา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เกิดความใฝ่รู้และสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ดี  และสวนสร้างสรรค์หรรษาที่เป็นสวนแห่งการเรียนรู้ตามธรรมชาติอย่างสนุกสนานและท้าทาย ฝึกให้ผู้ใช้บริการเกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างมิติสัมพันธ์  สร้างเสริมสุขภาพพลานามัย  ทำให้ผู้เรียนปรับตัวเข้ากับ สังคมและสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี 

 

ภาพที่ 9 มหาวิทยาลัยวัยที่สามนครเชียงราย

 

บทสรุปทิศทางและข้อค้นพบเมืองสุขภาวะของไทย

           จากผลการสำรวจทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าทิศทางของการพัฒนาเมืองสุขภาวะจากเมือง 10 เมือง มีทิศทางการพัฒนาค่อนข้างหลากหลายตามแนวคิดของผู้บริหารและบริบทพื้นฐานเมืองนั้น ๆ จุดที่น่าสังเกตคือเมืองส่วนใหญ่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมาก ทุกเมืองมีการดำเนินการเพื่อลดปัญหาขยะในชุมชน และมีหลายเมืองที่มีการดำเนินการที่โดดเด่นและยั่งยืน รวมถึงด้านการรวมกลุ่มทางสังคมและจิตอาสา มีการเกิดการรวมกลุ่มทางสังคมที่หลากหลาย การรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนเหล่านี้ช่วยส่งผลดีต่อสุขภาวะในด้านอื่น ๆ ของเมืองด้วย เนื่องจากกลุ่มทางสังคมและจิตอาสาเหล่านี้เป็นกำลังที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชน รวมถึงช่วยส่งเสริมงานของเทศบาล ส่วนในด้านอื่น ๆ เช่น การขนส่งสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ภายในเมือง ยังเป็นด้านที่ไม่ได้รับความสนใจในการพัฒนามากนัก มีเพียงบางเมืองที่พัฒนาสุขภาวะในทั้งสองด้านนี้อย่างจริงจัง เมืองส่วนใหญ่ยังไม่มีความตื่นตัวมากดังเช่นในด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ พบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งทั้งสามองค์ประกอบนี้ ช่วยส่งเสริมให้โครงการต่าง ๆ ประสบความสำเร็จและสร้างประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

[1] RDF หรือ Refuse Derived Fuel คือ การนำขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปและการจัดการ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์, 2558)

[2] ระบบการรบรองแบบมีสวนร่วม Participatory Guarantee Systems (PGS) เป็นระบบการ รบรองคุณภาพที่มุ่งเน้นการรับประกันคุณภาพในท้องถิ่น โดยการรบรองเกษตรกรผู้ผลิตขึ้นยู่กับกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความไว้ใจ  สังคมเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนความรู้ (PGS, 2561)

 

 

 

 

• AUTHOR

 


มณฑิภรณ์  ปัญญา

ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 



Related Posts