Cities Reviews

เมืองอุดรธานี วิถีการมีส่วนร่วมบนพื้นที่สาธารณะ

 

พิชัย เอื้อมธุระพจน์ เรื่อง

 

อุดรธานีเป็นหนึ่งเมืองที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในภาคอีสาน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุดรธานีเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่มากนัก อยู่เกือบจะติดกับแม่น้ำโขง เป็นจังหวัดใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานประมาณ 126 ปี อาจไม่ใช่จังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากนัก ด้วยเชิงภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กับเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว ใช้เวลาเดินทางเพียง 50 นาทีเท่านั้น ทำให้อุดรธานีมีการค้าคึกคัก รับคนจากต่างประเทศมากมาย สนามบินที่อุดรธานีเองก็เป็นสนามบินนานาชาติซึ่งเกือบจะเป็นสนามบินที่ใช้ร่วมกันกับ สปป. ลาว มีไฟล์ทบินจำนวนมากในเขตอีสาน

 

 

เมืองใหญ่กับการมีส่วนร่วมของคนเมือง 

           ท่ามกลางความเป็นเมืองใหญ่ มีการลงทุนมากมาย โครงการในเชิงสาธารณูปโภคพื้นฐานในจังหวัดมีมูลค่าสูงมาก อุดรธานีจึงมีศักยภาพของกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ทั้งกลุ่มนักธุรกิจ (หอการค้า) สภาอุตสาหกรรม กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) กลุ่มนักวิชาการในมหาวิทยาลัย กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มชุมชน ฯลฯ  แต่ที่ผ่านมาโดยธรรมชาติ เมื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของขับเคลื่อนงานก็จะมีเพียงแค่กลุ่มตัวเอง กีดกันกลุ่มอื่นโดยปริยาย นอกจากนี้ทุกคนยังมีเงื่อนไขข้อจำกัดของตัวเองโดยเฉพาะการทำมาหากิน ต้องเลี้ยงดูตัวเอง การทำงานเพื่อเมืองก็เป็นไปได้ยาก อุดรธานีได้สร้างโจทย์ใหญ่จะสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในแต่ละภาคส่วนได้อย่างไร โดยที่ทุกคนไม่ติดกรอบบทบาทของตัวเอง จุดร่วมอะไรที่จะทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมโดยที่ถูกกีดกัด หรือรู้สึกว่างานนั้นเจ้าของคือกลุ่มธุรกิจ หรือเกิดจากภาครัฐมักจะทำงานแบบ Top Down หรืองานนี้เป็นเพียงงานของคนรุ่นใหม่ เป็นไปได้อย่างไรที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของคนเมืองมีความเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  

 

สร้างสรรค์ผู้ประกอบการเพื่อสังคม  วิถีใหม่การมีส่วนร่วมของคนเมือง

          จุดร่วมที่ทุกฝ่ายจะเดินไปด้วยกันได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้นำแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นตัวฟันเฟืองในการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยการสร้างหลักสูตรปริญญาโทการประกอบการเพื่อสังคม  ภายใต้สังกัดคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี แนวคิดในการตั้งหลักสูตรนี้ไม่ได้เป็นเพียงสาขาวิชาที่ตอบโจทย์เฉพาะปริญญาโท แต่คาดหวังว่าหลักสูตรนี้จะเป็นตัวกลางในสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยปราศจากเงื่อนไขของกลุ่มต่างๆ

          การทำงานอยู่ภายใต้แนวคิดสร้างการมีส่วนร่วมของคนด้วยกิจการเพื่อสังคม สร้างสรรค์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ธุรกิจท้องถิ่น ดึงการมีส่วนร่วมจากภาครัฐท้องถิ่น และช่วยทำให้ระบบการศึกษาท้องถิ่นได้ใช้งานวิชาการตอบโจทย์การทำงานของพื้นที่ สร้างอัตลักษณ์และออกจากกรอบการศึกษาจากส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมาทุกภาคส่วนทำงานแยกส่วน มหาวิทยาลัยยังมีความเข้าใจเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมไม่มากนัก ธุรกิจท้องถิ่นคิดถึงผลกำไรเป็นหลัก รัฐท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. เทศบาลฯ มีภารกิจของตัวเอง การใช้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเหมือนสินค้าอัตลักษณ์ใหม่ เครื่องมือหรือแนวทางใหม่ ที่จะรวมทุกภาคส่วนให้เข้ากันได้ โดยเฉพาะสามภาคส่วนหลัก ภาคธุรกิจท้องถิ่น รัฐท้องถิ่น มหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกันในการพัฒนาเมืองได้ “ธุรกิจเพื่อสังคม” อาจเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เมืองพัฒนาก้าวข้ามเงื่อนไขที่แต่ละกลุ่มสร้างขึ้นมา อธิบายให้ชัดมากยิ่งขึ้น คือ การสร้างมีส่วนร่วมของคนเมืองโดยให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางผ่านเครื่องมือ Social enterprise

 

 

สู่กลุ่มมาดีอีสาน เชื่อมโยงผู้คนในเมือง

          นอกเหนือจากกลไกมหาวิทยาลัย ในอุดรธานียังเกิดกลุ่มมาดีอีสาน ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในท้องถิ่น  “มาดีอีสาน”  เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมบนพื้นที่สาธารณะ  ทำหน้าที่เชื่อมโยงจุดเล็กๆ คล้ายแม่สื่อให้มาเจอกัน ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในพื้นที่ภาคอีสานเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อเมืองโดยไม่ติดเงื่อนไขใดๆ  พวกเขามุ่งหน้าค้นหารูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น และเริ่มทำอะไรบางอย่างจากจุดเล็กๆ เพื่อช่วยให้ภาพรวมของสังคมดีขึ้น

 

สร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้สร้างแนวคิดใหม่ๆ

เชื่อมโยง พลังความร่วมมือ

สร้างสรรค์ กระบวนการ การประกอบการ

สนับสนุน พื้นที่ ให้ผู้ประกอบการ

 

 

วิถีการรวมตัวบนพื้นที่สาธารณะของคนอุดรธานี

ภายใต้กลไกกลาง ตัวเชื่อมอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และกลุ่มมาดีอีสาน รวมทั้งความร่วมมือสนับสนุนจากท้องถิ่น  ภาคเอกชน ชุมชน เกิดเป็นวิถีการมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และเป็นอัตลักษณ์ของเมือง ทำให้อุดรธานีกลายเป็นเมืองที่โดดเด่นมากในภาคอีสาน เรื่องของการมีส่วนร่วมของคนเมือง อุดรธานีมีการรวมตัวสร้างสรรค์การมีส่วนร่วมในรูปแบบใหม่ๆ ขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ วาระต่างๆ ของเมืองอุดรธานี เช่น

 

  • เวที Social Enterprise Esan Forum

          เมื่อมีคำว่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างวิถีการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ง่ายจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัด Social Enterprise Esan Forum ใหญ่ระดับเมืองที่ใช้ชื่อ “ไป่ นำ กั๋น” ที่แปลว่า ไปด้วยกัน ในประเด็นต่างๆ เช่น

  • ประเด็นธุรกิจกาแฟท้องถิ่น เชิญผู้ประกอบการร้านกาแฟในเมืองอุดรธานีมาร่วมแลกเปลี่ยนกันกับ คุณลี ผู้ก่อตั้งกาแฟอาข่า อามา กันโจทย์ใหญ่ทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถขายกาแฟแล้วไม่แข่งกันเอง เติบโตไปด้วยกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากเหล่าผู้ประกอบการร้านกาแฟให้อุดรธานีจำนวนมาก
  • ประเด็นการท่องเที่ยวชุมชน แลกเปลี่ยนกับคุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike ว่าการท่องเที่ยวชุมชนในอุดรธานีจะขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างไรโดยไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง อีกทั้งชุมชนต้องปรับตัวหรือค้นหาตัวเองอย่างไร เพื่อเข้าสู่การท่องเที่ยวที่พอเหมาะได้
  • ประเด็นการศึกษาในอุดรธานี แลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่จาก Unesco ที่เวียงจันทร์ อุดรธานีต้องการทำเรื่องการศึกษาแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การศึกษาที่มาจากส่วนกลาง

 

  • วิ่งด้วยกัน งานวิ่งครั้งใหญ่ของคนอุดรธานี

            โดยปกติการจัดงานด้วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะกีดกันคนอีกกลุ่มง่ายดาย เช่น เอกชนจัด ชุมชนมาน้อย เป็นต้น จึงสร้างรูปแบบให้คนกลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน คือการรวมผู้ประกอบการขนาดใหญ่จำนวน 23 คน ซึ่งแต่ละคนมีพนักงานตั้งแต่ 10 – 400 คน เป็นเจ้าของธุรกิจระดับท้องถิ่นไปจนถึงเป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อมกับบริษัทกล่องดินสอ กทม. และกรุงไทยแอ็กซ่า จัดงานวิ่งครั้งใหญ่ครั้งแรกในอุดรธานี ด้วยแนวคิด วิ่งด้วยกันทั้งคนพิการ และไม่พิการ วิ่งรอบสวนสาธารณะหนองประจักษ์ พบว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 4,000 คน สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของ แล้วมาด้วยแนวคิดใหม่ที่ใส่ใจหลายกลุ่ม และเดินไปด้วยกัน ก็ทำให้เกิดการรวมตัวที่ปราศจากเงื่อนไขใดใดๆ ได้

  • Udon 2029 เมืองอุดรธานีจะเป็นอย่างไรในอนาคต

จากประสบการณ์การสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน จะพบว่าแต่ละกลุ่มจะมีข้อจำกัดตัวชี้วัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ทางกลุ่มมาดีอีสานจึงลองจัดงาน Udon 2029 อนาคตของอุดรธานี เพื่อให้ทุกกลุ่มไม่ติดกรอบของตัวเอง ซึงการมองอนาคตก็ทำให้ทุกคนสามารถพูดคุยปัญหา และจินตนาการไอเดียสร้างสรรค์ได้เต็มที่  พร้อมกับเข้าใจวิธีคิดของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันมากขึ้น เช่น เด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ รวมถึงการมองเห็นปัญหาและโอกาสของอื่นๆ ในเมืองอุดรธานีมากขึ้น เช่น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือกลุ่มคนที่อยากจะทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน และสิ่งที่ค้นพบก็คือว่า ทุกกลุ่มอยากให้ การพัฒนาเมืองอุดรธานี เป็นเรื่อง “สาธารณะ”  สาธารณะในความหมายในเชิงสังคมที่ต้องการให้พื้นที่การพัฒนาเมืองเป็นพื้นที่ของทุกคนมากกว่าการทีมีไว้เฉพาะคนใดคนหนึ่ง/ ส่วนบุคคล  ซึ่งพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่เปิดทั้งในกายภาพและเชิงระบบความสัมพันธ์

 

 

  • พื้นที่สร้างสรรค์ของคนท้องถิ่น

          เมื่อมีตัวเชื่อมที่ไม่ใช่กลุ่มใดเป็นเจ้าของ อุดรธานีจึงเกิดพื้นที่กลางจัดกิจกรรมสร้างวิถีการมีส่วนร่วมอยู่เป็นประจำ และทำงานหลากหลายเป็นประเด็น เช่น งาน “ผ้าอีแหม่” นำผ้าคนในหมู่บ้านทั้ง 400 หมู่บ้านมาเจอกัน เพื่อมองหาการต่อยอดพัฒนาสินค้าในอนาคต ชวนคุย “อุดร2029” อนาคตอุดรจะเป็นอย่างไร โครงการ “ลงมือทำ” เชื่อมคนในจังหวัด ฯลฯ จนในวันนี้อุดรธานี คนหลากหลายกลุ่มทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคเอกชน เช่น เซ็นทรัลที่จะปรับเปลี่ยน CSR ของตนเองให้กลายเป็น SE เพื่อชุมชนให้มากขึ้น ที่เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ด้วยแนวทางใหม่แบบตามปรัชญาของธุรกิจเพื่อสังคม เกื้อกูลชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม กลายเป็นพื้นที่ที่สามอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคุยกัน ทำให้การมีส่วนร่วมการพัฒนาเมืองที่เป็นนามธรรมเริ่มเป็นเห็นผลเป็นรูปธรรมระดับท้องถิ่นยิ่งขึ้น

 

กลุ่มกิจการเพื่อสังคม และกลุ่มจิตอาสา บานสะพรั่งในอุดรธานี

วิถีการมีส่วนร่วมที่อุดรธานีมีมาตลอด ก่อให้เกิดผลมหาศาลเท่าทวีคูณ (Multiple Affect) เพราะผู้คนที่มาร่วมกันนั้น แต่ละกลุ่มก็มีวาระของตนเอง ที่สามารถในไปต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เมืองได้ จึงเกิดกลุ่มกิจการเพื่อสังคม กลุ่มจิตอาสา ตามความสนใจของตนเองจำนวนมากหลากหลายกลุ่ม บานสะพรั่งในเมือง โดยกลุ่มกิจการเพื่อสังคมเหล่านี้เองที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมและช่วยส่งเสริมให้อุดรธานีเป็นเมืองที่น่าอยู่ ทั้งยังสะท้อนถึงการตื่นตัวของสมาชิกในสังคมที่ต้องการสร้างเสริมเมืองอุดรธานีให้เป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี ยกตัวอย่างกลุ่ม

  • UDMVD: อยู่ดีไม่ว่าดี เป็นกลุ่มนักออกแบบชาวอีสานที่มารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นอีสาน มีรูปแบบคล้ายกับจิตอาสา แต่พยายามใช้แบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) ต้องการใช้ความรู้ในวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสังคม มีงานที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การระบายอากาศในห้องน้ำสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะที่มีระบบการจัดการเรื่องสุขภาวะที่ไม่ดีมากนัก
  • กลุ่มหนังสือพาไป ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องธุรกิจหนังสือ ถึงแม้ว่าเมืองอุดรธานีจะมีการจัดสัปดาห์หนังสือประจำจังหวัดแต่ก็พบว่าธุรกิจหนังสือกำลังลดจำนวนลง ในกลุ่มนี้ยังเชื่อว่าหนังสือสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมได้ จึงได้สร้างเป็นชมรมคนรักหนังสือ (Book Club) ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเริ่มจากในโรงพยาบาล ขยายผลมาสู่โรงเรียน ครอบครัว เพื่อลดปัญหาความรุนแรงและปัญหาครอบครัวด้วย
  • Young Smart Farmer Udonthani (YSF) เป็นกลุ่มผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ของจังหวัดอุดรธานี มีความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่คนรุ่นใหม่มีต่อเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและยกระดับอาหารที่ปลอดภัยส่งให้แก่ครัวไทย
  • กลุ่มวิ่งด้วยกัน เป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมกับกลุ่มวิ่งด้วยกันที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่สี่แล้ว มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้พิการมีความเข้าใจว่าพวกเค้าสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้
  • HAPPY DEATHDAY เผชิญความตายอย่างสงบ ทางกลุ่มได้ประสานงานกับโรงพยาบาลอุดรธานี มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับไปเสียชีวิตที่บ้านเกิดได้ เป็นการทำงานร่วมกันของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มคนทั่วไป
  • กลุ่มพาเด็กที่เป็นมะเร็งออกเที่ยว โดยสืบเนื่องจากกองทุนโรคมะเร็งเด็ก พยายามสร้างความรู้สึกให้เด็ก ๆ ไม่รู้สึกว่ามีชีวิตเพื่อรอความตายเท่านั้น ต้องการสร้างความรู้สึกในแง่บวกว่าทุกคนสามารถหายจากโรคมะเร็งได้

 

 

เป้า = เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ (Changing System)

          ในประเทศอังกฤษ GDP ของประเทศส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจเพื่อสังคม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังร่าง พ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคม แต่เนื้อหาในนั้นกลับตอบโจทย์ธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็ก ฉะนั้น สิ่งที่อุดรธานีกำลังทำเพื่อให้เกิดองค์กรคือคู่ขนานที่เรียกว่า SE Thailand ซึ่งจะเป็นองค์กรหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมเล็กๆ  ร่วมกับม.แม่ฟ้าหลวงและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อพาองค์กรจดทะเบียน MAI  ไม่จำเป็นต้องทำกับบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากท้องถิ่นเปลี่ยนได้ ระดับประเทศก็เปลี่ยนได้ โดยที่เป้าหมายใหญ่คือหวังว่า ระบบเศรษฐกิจที่มีตัวชี้วัดไม่สนใจสังคมก็กำลังจะเปลี่ยนไปด้วย แต่ก็ยังเป็นหนทางที่ยังไกลมาก

 

 

หัวใจสำคัญของวิถีการมีส่วนร่วมของคนในเมืองอุดรธานี

                   ด้วยการใช้ประเด็นใหม่ๆ รูปแบบและเทคนิคต่างๆ สร้างกิจกรรมและพื้นที่กลางใหม่ๆ ดึงการมีส่วนร่วม ทำให้อุดรธานีมีกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนเมืองเกิดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะของเมือง สร้างรูปแบบการรวมตัวใหม่ๆ กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของคนเมืองอย่างไม่รู้จบ เมื่อไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของ แล้วมาด้วยแนวคิดใหม่ที่ใส่ใจหลายกลุ่ม และเดินไปด้วยกัน ก็ทำให้เกิดการรวมตัวที่ปราศจากเงื่อนไขใดใดๆ ได้ ทั้งหมดนี้สะท้อนการทำงานโดยเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมและพยายามปรับตัวให้ทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่จำกัดรูปแบบการบริหารงานไว้ภายใต้กรอบความคิดแบบเดิม แต่ยึดมั่นแนวคิดการร่วมมือกันระหว่างทุกภาค ภายใต้ความคิดที่ว่า ภาครัฐเอื้อ ภาคเอกชนลงมือทำ ภาคการศึกษาเข้ามาเติมเต็ม เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในเมือง

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts