Cities Reviews

เมืองชายแดนไทย : แนวคิด มุมมองและข้อเสนอเพื่อการพัฒนา

อดีตเอกอัครราชทูตสมปอง สงวนบรรพ์[1] เรื่อง

ณัฐธิดา เย็นบำรุง เรียบเรียง

มณฑิภรณ์ ปัญญา ถอดความ

 

         อดีตเอกราชทูตสมปอง สงวนบรรพ์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำงานการทูตในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศพม่า และกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย ท่านให้ความสนใจกับเมืองชายแดนเป็นพิเศษ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดยอาศัยตำรา หนังสือ เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้ประสบการณ์เพื่อทำการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ พร้อมทั้งให้ข้อคิดเกี่ยวกับเมืองชายแดน ทั้งในการด้านการศึกษาและในด้านการพัฒนาให้แก่ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

          ท่านทูตสมปองเล่าเริ่มด้วยการเล่าเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวว่า ในสมัยยังเป็นนักศึกษา ไม่เห็นความสำคัญของชายแดน และไม่ชอบเรียนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่จำเป็นต้องเรียน ในสมัยนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่เรียนเกี่ยวกับประเทศอเมริกาและยุโรปมากกว่า เพราะอิทธิพลของประเทศตะวันตกเข้าครอบงำโลกมานาน แต่ในวัยที่โตขึ้นและผ่านประสบการณ์การทำงาน ทำให้เห็นความสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย และตระหนักถึงความสำคัญของชายแดนมีมากขึ้น

          ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกมีชายแดนมากขึ้น เพราะประเทศเอกราชเกิดใหม่จำนวนมาก ปัจจุบันมีชายแดนเกิดขึ้นโลกนี้ 300 กว่าชายแดน มีกลุ่มวัฒนธรรมชายแดนกว่า 800 กลุ่มทั่วโลก มีภาษาในบริเวณชายแดนถึง 4,000 ภาษา คาดว่าชายแดนไทยมีภาษาอย่างน้อย 70-80 ภาษา  อีกทั้งมีวัฒนธรรมชนเผ่าหลายร้อยชนเผ่า

 

การเกิดชายแดนและแนวคิดรัฐชาติ

            ในอดีต ไม่มีพรมแดนหรือเขตแดนที่ชัดเจน เพราะไม่มีการแบ่งแยก เช่น สองข้างแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่คนลาวกับคนไทยใช้ร่วมกัน ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน หรือแบ่งเป็นเส้นเขตแดนที่ชัดเจน อาณาจักรต่าง ๆ เช่น อยุธยา ล้านช้าง ล้านนา ศรีวิชัย พุกาม เมืองแปร หงสาวดี  มีเขตอาณาซ้อนกันอยู่โดยไม่มีเขตแดนชัดเจน  อยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือกเข้ากับฝ่ายไหน เป็นคนของใคร ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของท้องถิ่น หรือเจ้าผู้ครองนครว่าเข้มแข็งเพียงไร  ในยุคหลังสงครามเย็น เริ่มมีเขตแดนชัดเจนตามแนวคิดของตะวันตก ชายแดนต้องมีเส้นเขตที่ชัดเจน คือเกิดมาพร้อมกับแนวคิดรัฐชาติ ทำให้ประเทศแยกออกจากกัน อาจถือได้ว่าในยุคก่อนชายแดนทำให้ประเทศเชื่อมเข้าหากัน แต่ยุคหลัง ชายแดนคือการกั้นประเทศออกจากกัน 

           ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้แสดงทัศนะต่อเรื่อง ชายแดนในอดีต ว่าสมัยก่อนความสัมพันธ์ของรัฐมันไม่เท่าเทียมกัน เช่น ลาว กัมพูชา จะขึ้นต่อสยาม ขึ้นต่อเวียดนาม ซึ่งทั้งหมดก็ไปขึ้นต่อจีนด้วย เส้นเขตชายแดนจะชัดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าศูนย์กลางมีอำนาจเพียงใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแผนที่และอาณาเขต เป็นการปกครองที่เปรียบเสมือนแสงไฟที่จุดที่ศูนย์กลาง ถ้าสว่างมาก ๆ อำนาจก็ไปได้ไกล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขียนไขมันด้อยกำลังลง พระราชอาณาเขตก็หมดลง เมื่อมีเส้นเขตแดนที่ชัดเจนในยุคหลังครามเย็น การเกิดแนวคิดรัฐชาติ ทำให้เกิดพาสปอร์ต (Passport) สมัยก่อนไม่มีพาสปอร์ต  คนข้ามไปมาหาสู่กัน ค้าขายกัน ยกตัวอย่าง ชายฝั่งมะริด ทวาย ตะนาวศรี ไทยใช้เป็นทางออกทะเล แต่ว่าต้นรัตนโกสินทร์ มะริด ทวาย ตะนาวศรี ไปอยู่พม่าแล้ว ไทยยังเอาของไปลง หรือ มะละแหม่งกับแม่สอด และสุโขทัย สมัยอดีต สุโขทัยนำสินค้าไปลงเรือที่มะละเหม่ง  พอมีชายแดนทำให้คิดว่าสุโขทัยกับมะละเหม่งไกลกัน แสดงให้เห็นว่าในสมัยอดีตชายแดนไม่ได้เป็นเส้นกั้น ไม่ได้แบ่งกับเขาชัดเจน  ตอนหลังเมื่อเขตแดนชัดเจน มีรัฐชาติ ทำให้เกิดปัญหาระหว่างชายแดน เช่น ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยมาพร้อมกับชายแดน  แผนที่มาพร้อมกับแนวความคิดรัฐชาติ กลุ่มชาติพันธ์ในชายแดนเลยกลายเป็นชนกลุ่มน้อย

 

ทฤษฎี แนวคิดเมืองชายเเดน

          มีนักวิชาการชาวฟินแลนด์ชื่อ Anssi Paasi[2]  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชายแดน ให้แนวคิด ทฤษฏีในการมองเมืองชายแดนไว้หลายแง่  

  1. การมองชายแดนในแง่ของสถาบัน และเขตแดน ถือว่าชายแดนเป็นตัวที่แบ่งแยกประเทศ โดยเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่เชื่อมต่อ หรือเส้นกั้นเขตแดน
  2. การมองชายแดนในแง่ว่าเป็น research object คือถือว่าชายแดนเป็นกระบวนการ (ไม่ถือว่าชายแดนเป็นเส้นเขตแดน ที่มาพร้อมกับแนวคิดรัฐชาติ) เขาอธิบายว่า พื้นที่ชายแดนในฐานะที่เป็น research object เป็นกระบวนการ ที่ต้องมีกลไกในเรื่องการเปิดปิดพรมแดน การขนส่งสินค้า การควบคุม การอำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นคุณลักษณะของชายแดนที่เป็นเหมือนกันหมดทุกที่
  3. ชายแดนเป็นสหวิทยาการการศึกษา สัมพันธ์กับวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ
  4. ชายแดน สามารถศึกษาในแง่ของพื้นที่ได้ (spatial scale) กล่าวคือ ชายแดนมีความพิเศษ ไม่เหมือนส่วนอื่นๆ ของประเทศ เมื่อพิจารณาในทางภูมิศาสตร์ ชายแดนเป็นชายขอบ หากมองเมืองชายแดนเชิงพื้นที่ ทำให้มองเห็นชายแดนในมุมมองที่กว้างขึ้น สามารถพิจารณาได้ว่าเมืองชายแดน เป็นพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเส้นชายขอบแบบที่เข้าใจกัน
  5. เมืองชายแดนมีทุกอย่างในตัวเอง หมายความว่าเมืองชายแดนสามารถทำได้เองทั้งหมด เช่น เมืองชายแดนของไทยมีทุกอย่าง เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่ได้เป็นทางการ เช่น แม่สอด สามารถจัดการทุกอย่างได้ด้วยตนเอง มีอำนาจในตัวของมันเอง ส่วนกลางไม่ได้เป็นคนสร้างเมืองแห่งนี้
  6. ไม่ควรถือว่าชายแดนอยู่เฉพาะตามเขตแดน แต่ชายแดนมีอยู่โดยทั่วไป เช่น social power องค์กรอินเตอร์เน็ตข้ามประเทศ ข้ามจังหวัด สัญญาณไวไฟก็เป็นชายแดน หรืออะไรที่ต้องมีการข้ามไป ทุกที่สามารถเป็นชายแดนได้ เช่น มหาชัย กรุงเทพ หรือเมืองชายฝั่ง เมื่อมองในแง่นี้ จะเห็นว่าเราไม่มีแผ่นดินใหญ่แผ่นดินหลัก (mainland) จะพบว่าชายแดนมีอยู่ทุกที่
  7. ชายแดนอีกแง่หนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมของมนุษย์ เช่น เราไปรุกล้ำในป่า

 

ภาพ งานวิจัย เรื่อง A Border Theory: An Unattainable Dream or a Realistic Aim for Border Scholars?

 

ทีมา www.routledgehandbooks.com

 

ความสัมพันธ์เมืองชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

           เมืองชายแดนไทยมีความสัมพันธ์แบบทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางการเมืองไม่ดีนักในบางเวลา แต่ความสัมพันธ์ในระดับข้างล่างยังคงดีมาก ความสัมพันธ์ระดับประชาชนก็ยังค้าขายสัมพันธ์กัน  เดินทางไปมาระหว่างกัน ในยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์เมืองชายแดนได้พัฒนาเรื่อยมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านดำเนินไปท่ามกลางความขัดแย้ง พอยุคหลังสงครามเย็น ความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินไปท่ามกลางความร่วมมือที่มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง

  • เมืองชายแดนภาคอีสาน ไทย - ลาว

        เมืองชายแดนระหว่างประเทศไทย ลาว มีความสัมพันธ์ที่ดี คนลาวพูดภาษาไทยได้ ไปมาหาสู่ได้ง่าย การข้ามไปเวียงจันทร์ ทำได้ไม่ยาก แม้กระทั่งในอดีต ยุคสมัยสงครามเย็น บรรยากาศการเมืองอาจจะไม่ดีนัก เพราะลาวอยู่ภายใต้คอมมิวนิสต์  แต่คนท้องถิ่นไม่ได้รังเกียจความเป็นลาว โดยปกติเราก็ไปมาหาสู่กันตลอด ตั้งแต่ทางเหนือลงมาตั้งแต่อุบลราชธานี มีกลไกเดียวที่ทำให้เรามีปัญหาอยู่เรื่อย คือ นปข. หรือหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง และอุดมการณ์ต่างกันก็ทำให้แตกต่างกันอยู่บ้าง ในยุคนั้นคนอีสานมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนเวียดนามที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สงครามเดียนเบียนฟู เพราะถือว่าคนเหล่านั้นมาแย่งการทำมาหากิน 

         ชายแดนไทย-ลาว มีการไหลเวียนของผู้คนตลอด แต่ที่ผ่านมาเรือข้ามฟากมีน้อย เป็นอุปสรรคสำคัญของการเคลื่อนไหวผู้คนและสินค้า เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นได้เริ่มมีความคิดทำสะพานเชื่อมหากัน โดยออสเตรเลียสร้างสะพานให้ เป็นสะพานมิตรภาพไทย ลาว (หนองคาย - เวียงจันทน์) เป็นแห่งแรก (พ.ศ. 2537) หลังจากนั้นได้มีการสร้างสะพานเชื่อมกับลาวเพิ่มขึ้น จนตอนนี้มีถึงสี่สะพาน ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย ลาว (มุกดาหาร-สุวรรณเขต 2547) สะพานมิตรภาพไทย ลาว (นครพนม - ท่าแขก 2554) และสะพานมิตรภาพไทย ลาว (เชียงของ - ห้วยทราย 2556) เพราะฉะนั้นความรู้สึกทางชายแดนของไทย-ลาวจึงใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

  • เมืองชายแดนภาคใต้ ไทย-มาเลเซีย

       ไทยมีมูลค่าค้าขายที่สูงมากกับมาเลเซีย แต่ด่านไทย มาเลเซีย ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชม. ไทยกับมาเลเซียเพิ่งเริ่มมาเปิดชายแดน 24 ชั่วโมงในเดือนกรกฎาคม 2019 เมื่อเปิดแล้วยังต้องพิจารณาว่าจริง ๆ แล้วใครได้ประโยชน์มากกว่า อันที่จริงก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เพราะคนและรถขนส่งสินค้าเสร็จก็สามารถกลับได้ สามารถนำเงินไปใช้ในประเทศต้นทางได้ ไม่ต้องค้างในประเทศปลายทาง เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับมาเลเซีย มีการไปมาหาสู่ที่คึกคักที่สุด การค้าขาย การแต่งงานระหว่างสองฝ่าย

 

  • เมืองชายแดนภาคเหนือ ไทย - พม่า

        ความสัมพันธ์พม่าไทยในชายแดน อาจไม่สดใสและมีความห่างเหินมากกว่าสองชายแดนใต้และอีสาน ส่วนหนึ่งเพราะภูมิศาสตร์ของประเทศ เป็นเทือกเขา ภูเขายาวมาก แม้จะมีช่องเขาให้คนไปมาหาสู่กัน แต่ช่องด่านไม่เยอะมาก ทำให้คนไปมาหาสู่กันลำบาก ทั้งนี้ เหตุผลหลักสำคัญที่ทำให้ชายแดนไทย -พม่า มีปัญหามากกว่าที่อื่นๆ คือพม่ามีชนกลุ่มน้อยตามบริเวณพรมแดนหลายกลุ่มที่ยังไม่ลงรอยกับฝ่ายรัฐบาล ยังมีการสู้รบอยู่ ซึ่งมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ายังไม่ดีนัก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชายแดนไทย-พม่า เป็นไปได้ดีมาก ทั้งที่เมืองแม่สอด เมืองระนอง เมืองแม่สาย เศรษฐกิจแม่สอดใหญ่กว่าเศรษฐกิจตากอย่างมาก คนพม่าและไทยค้าขายกันเป็นอย่างดี มีการค้าการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะแม่สอดอยู่ห่างจากย่างกุ้งโดยใช้เวลาเดินทางแค่ 8-10 ชม. ทำให้คนจากย่างกุ้งนิยมมาแม่สอดจำนวนมาก และสินค้าไทยถูกส่งไปขายยังย่างกุ้งผ่านเส้นทางนี้

ข้อเสนอทางนโยบายในการพัฒนาเมืองชายแดน   

            จากประสบการณ์การทำงานและการเก็บข้อมูลตลอดที่ผ่านมา เมืองชายแดนไทยมีศักยภาพมาก ทำให้มีข้อเสนอเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ และข้อเสนอด้านการบริหารจัดการแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนเมืองชายแดนไทย ได้แก่

  1. กำหนดยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน เฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ คือ ต้องเป็นยุทธศาสตร์พิเศษสำหรับแต่ละประเทศ หรือแต่ละพื้นที่ชายแดน
  2. ในทางบริหาร อาจพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศไปอยู่ที่จังหวัดชายแดน, สร้างหน่วยงานที่ครอบคลุมทุกมิติของพื้นที่ชายแดน งานยุทธศาสตร์ชายแดนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ งานยุทธศาสตร์เมืองชายแดนควรมองถึงการระหว่างประเทศด้วย กระทรวงการต่างประเทศของไทยจึงต้องทำงานร่วมกับภูมภาคด้วย ดังเช่น การทำงานของกรมท่าซ้าย กรมท่าขวาในอดีต หรือ ควรจัดโครงสร้างการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เช่น ตั้งกระทรวงชายแดน
  3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีบทบาทของชายแดนตัวเอง ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน การดูแลประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ทำจากปักกิ่ง ให้แต่ละมณฑลดูแลพื้นที่ต่างประเทศ เป็นการใช้ชายแดนที่ใกล้พื้นที่นั้น ๆ ทำงานในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เช่น ให้กวางสีสนใจอาเซียน ให้กวางตุ้งสนใจประเทศไทย ใช้ชายแดนทำงานการต่างประเทศและความมั่นคง มอบให้มณฑลบริเวณใกล้ชายแดนทำงาน
  4. พื้นที่ชายแดน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถแยกออกจากการพัฒนาของรัฐได้ การพัฒนารัฐต้องเอาเรื่องชายแดนมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ เมืองไทยที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีพลังดึงดูดแรงงานจากประเทศที่มีเศรษฐกิจด้อยกว่า ไทยเองขาดแคลนแรงงานระดับล่าง แต่การนำแรงงานต่างชาติมาทำงานในประเทศก็เกิดปัญหาโรคระบาด อาชญากรรม ฯลฯ ทำให้มีแนวคิดสนับสนุนให้สร้างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่บริเวณชายแดนเลย เพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาส่วนลึกของประเทศ จึงควรให้ประเทศไปลงทุนชายแดน เพื่อให้เขากลับประเทศต้นทางทุกวัน อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่ของไทยยังไม่ดีพอที่จะดึงดูดคนส่วนกลางให้ไปทำงานด้วย ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคเพื่อให้แนวคิดนี้เป็นจริงได้
  5. การพัฒนาเมืองชายแดน จะต้องนำไอทีเข้ามาใช้ เพราะชายแดนเป็นบริเวณที่ที่มีการควบคุม และอำนวยความสะดวก การค้า การเคลื่อนไหว ถ้าใช้ไอทีเข้ามาทำได้ จะทำให้เมืองพัฒนาได้ดีขึ้น

 

บทสรุปการศึกษาและพัฒนาเมืองชายแดน

            จากที่ศึกษามาพบว่า ชายแดนในยุคก่อนกับยุคใหม่ มีหน้าที่ต่างกัน และมีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนกัน ชายแดนในยุคใหม่ตีเส้นเขตแดนที่ชัดเจน ในลักษณะกั้นประเทศมากกว่าการเชื่อมประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างเมืองชายแดนสองฝั่งแปรเปลี่ยนไป เกิดทั้งประโยชน์และปัญหามากมาย โดยเฉพาะชายแดนทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา ทำให้เรารู้สึกห่างไกลกันมากขึ้น

            ณ วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองชายแดนไทยกับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเมืองชายแดนที่มีลักษณะพิเศษ มีความคึกคัก (dynamism) ของการเชื่อมโยงระหว่างกันได้ดีทุกชายแดน มีการค้า การลงทุนขนาดใหญ่ มีชีวิตชีวา ต่างจากชายแดนอื่นๆ ในโลก เช่น ชายแดนยุโรป ที่เป็นเพียงเขตแดนเส้นกั้นระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ไม่หลากหลายมิติเหมือนกับชายแดนไทย ฉะนั้น จึงทำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิชาการและนักนโยบายของประเทศต้องคิดและพัฒนาเมืองชายแดนของไทย เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ

            อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนพัฒนาเมืองชายแดนก็ไม่อาจทำได้ง่าย หรือทำได้เหมือนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เนื่องจากเมืองชายแดนมีมิติที่หลากหลาย และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศเป็นหลัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ต้องตอบสนองทั้งสองฝ่าย และส่วนที่ทำให้เมืองชายแดนพัฒนาได้ช้า เพราะส่วนใหญ่มักเป็นเพราะระเบียบวาระของแต่ละประเทศไม่ตรงกัน  ผลประโยชน์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แม้ว่าเป้าหมายจะพัฒนาเหมือนกัน นอกจากผลประโยชน์ของชาติแล้ว ยังขึ้นกับผลประโยชน์ของท้องถิ่น  หลายครั้งไม่อยากให้มีความร่วมมือ เพราะเสียเปรียบ รวมถึงเรื่องรูปแบบของรัฐที่แตกต่างกัน เช่น รัฐรวมศูนย์หรือสมาพันธรัฐ  ก็ย่อมส่งผลให้การร่วมมือระหว่างชายแดนเป็นไปได้ยากด้วย

            การศึกษาและการพัฒนาเมืองชายแดน ยังต้องตามให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ในวันที่โลกมาถึงในยุค GLOBALIZATION ซึ่งเป็นยุคที่ไร้พรมแดน ความเป็นเขาเป็นเราของพื้นที่เมืองชายแดนอาจลดลง กระบวนการตรงนี้ เมืองชายแดนในแง่ของการศึกษาสามารถเป็นสหวิทยาการได้อีกมาก พร้อมๆ กับในยุคนี้ แนวคิดชาตินิยม และแนวคิดแบบขวากลับมาอีกครั้ง จึงมีปรากฏการณ์แบบ BREXIT ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึง ช่วงหนึ่งชายแดนจะเริ่มไร้พรมแดน ทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็เปลี่ยนเป็นยุคประเทศยึดผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลักอีกแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทั้งนักวิชาการและฝ่ายปฏิบัติการต้องเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาเมืองชายแดนท่ามกลางกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

[1] คณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และกรรมการกำกับทิศทางสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ

[2]Anssi Paasi (2011). A border Theory : An Unattainable Dream or A Realistic Aim for Border Scholars.  The Ashgate Research Companion to Border Studies.London, Ashgate

 

 

 

• AUTHOR

 



ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ติดต่องาน nuttida.e@gmail.com





มณฑิภรณ์  ปัญญา

ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts