Cities Reviews

เมืองกับโรคระบาด : ได้เวลา “คิดใหม่” ในการพัฒนาเมือง

    ณัฐธิดา เย็นบำรุง

 

        “เมืองกำลังป่วยหนัก” เป็นคำอธิบายลักษณะเมืองใน ค.ศ. 2020 เมื่อโรคโควิด 19 ระบาดไปทั่วโลก สร้างความเสียหายและสะเทือนให้วิถีชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไป เมืองจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างไรในการรับมือกับวิกฤต บางทีอาจถึงเวลาที่โรคระบาดครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งให้เราได้มีโอกาสทบทวนแนวทางการพัฒนาเมืองอีกครั้ง และที่สำคัญบทเรียนของเมืองท่ามกลางวิกฤตในประเทศไทยที่ผ่านมาเปิดโอกาสในเราได้เรียนรู้ เห็นความท้าทายและโอกาสอย่างไร

 

เมือง : ศูนย์กลางการกระจายโรคระบาด

            ในวันที่โลกกลายเป็นเมืองมากขึ้น แน่นอนว่าเมืองเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการรวมตัวของผู้คนขนาดใหญ่ เมืองจึงเป็นพื้นที่แห่งความหวัง โอกาสและการแสดงออกถึงนวัตกรรมและความเจริญ แต่ใน  ค.ศ. 2020 การเกิดโรคระบาด โควิด 19 ทั่วโลก ที่มาของโรคระบาดดังกล่าวนั้นยังไม่มีที่สรุป แต่เมืองที่มีความหนาแน่นของผู้คนได้กลายเป็นตัวเร่งการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว เพราะกิจกรรมของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนไม่สามารถหลีกหนีหรือเว้นระยะห่างกันได้ เราใช้รถสาธารณะที่แน่นในทุกเช้า เราพบเจอคนมากมายในที่ที่ทำงาน เมืองจึงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งโลกสามารถเคลื่อนย้ายผู้คนได้อย่างรวดเร็วผ่านเครื่องบิน ยิ่งทำให้การแพร่เชื้อจากต่างประเทศมาในประเทศ จากเมืองใหญ่แพร่กระจายไปยังเมืองรอง เมืองของภูมิภาค ไปจนถึงหมู่บ้านชนบทขนาดเล็กได้อย่างรวดเร็ว

            ประเทศไทย 10 อันดับเมืองที่มีผู้ป่วยติดโควิด 19 มากที่สุด ล้วนแต่อยู่ในเมืองขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา สมุทรปราการ ชลบุรี ปัตตานี สงขลา เชียงใหม่ ปทุมธานี เฉพาะในกรุงเทพ มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้เชื้อทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค. 2563)[1] 

 

 

 ภาพ ช่วงเช้าในสถานีมักกะสัน[2]

 

 

วิถีชีวิตคนเมืองแบบใหม่ในภาวะโรคระบาด

            โรคระบาดโควิด 19 ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมคนเมืองให้แตกต่างจากเดิม ในเมืองของไทย ผู้คนเกิดความระแวดระวัง ไวรัสโควิด19 จากการใกล้ชิดคนและการสัมผัสสิ่งของรอบตัว วิถีชีวิตของคนเมืองจึงเข้าสู่วิถีการสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น ลดการเผชิญหน้าแบบ face to face รักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานมากขึ้น เช่น การทำงานและประชุมจากที่บ้าน ซื้อของผ่านออนไลน์ ใช้เงินสดให้น้อยลง  และพฤติกรรมที่ส่งผลถึงเมือง คือ การหลีกเลี่ยงใช้รถสาธารณะ ลดการเข้าห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ รวมถึงพื้นที่ที่สาม เช่น co- working space ร้านกาแฟ ทั้งหมดนี้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนเมืองจะอยู่ในสภาวะเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น

            วิถีชีวิตคนในเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะเมืองในยุโรป เมื่อต้องถูกจำกัดการเคลื่อนไหวของคน ทำให้เปลี่ยนจากการใช้รถสาธารณะ มาสนใจการปั่นจักรยานและการเดินเท้าบนถนนมากขึ้น ถือว่าเป็นวิถีใหม่ที่ดีต่อเมือง อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเกิดขึ้นโรคระบาด พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปจะเปลี่ยนช่วงสั้นๆ เท่านั้น เมื่อโรคระบาดหายไปแล้ว ผู้คนก็จะกลับมาใช้วิถีชีวิตเช่นเดิมอย่างรวดเร็ว[3] เพราะธรรมชาติผู้คนยังต้องการความสะดวกสบาย ยังต้องการวิถีชีวิตการรวมกลุ่ม และการเกิด covid 19 ก็คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น

 

โอกาสในการคิดใหม่ (Rethink) แนวทางการพัฒนาเมือง

            ย้อนประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดในเมือง การปรับตัวของเมืองในแต่ละยุคสมัยไม่ได้แตกต่างกัน มีการทำความสะอาดเมือง กักกันผู้คน เน้นให้อยู่บ้าน และหลังจากเกิดโรคระบาด เมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปทุกครั้ง อย่างในศตวรรษที่ 19 เกิดโรคระบาดอหิวาตกโรคในยุโรป โดยเฉพาะเกิดในเมืองที่หนาแน่นและสกปรก เป็นที่มาของการปฏิรูปด้านด้านสาธารณสุขและการวางผังเมือง ส่งเสริมการสร้างสวนสาธารณะพื้นที่ในเมือง[4] อันเป็นแนวคิดสร้างเมืองที่นำมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เมืองหลังโควิด 19 จึงเป็นโอกาสที่ต้องการ “การคิดใหม่” หลายเรื่อง กระบวนทัศน์การพัฒนาเมืองแบบเดิม อาจจะไม่ตอบโจทย์เมืองที่เผชิญวิกฤตอยู่ตลอด แล้วอะไรบ้างที่น่าคิดใหม่

            เรื่องที่หนึ่ง เมืองที่ส่งเสริมระยะห่างที่ดี เราต้องหามาตรการและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการป้องกันสุขภาพในกิจกรรมสาธารณะ เช่น คอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ ร้านนวด co-working space ต้องมีกำหนดระยะห่าง การตรวจไข้ การจำกัดการทำกิจกรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่รัฐแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานประกอบการด้วย เป็นวิถีชีวิตใหม่ที่เราต้องยอมรับและเคร่งครัดในวินัย ที่สำคัญเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้คนเริ่มหันมาเดินหรือปั่นจักรยานมากขึ้น ควรมีการปรับผังเมือง หรือโครงข่ายของถนน เร่งพัฒนาทางกายภาพ อย่างเมืองในยุโรปก็ใช้โอกาสนี้ออกแบบนโยบายสนับสนุนการไม่ใช่รถ เช่น เมืองโบโกต้า เพิ่มช่องทางจักรยานให้มากขึ้น รวมถึงเมืองเบอร์ลิน และปูดาเปสต์ ก็สร้างเลนส์จักรยานชั่วคราว เป็นต้น เมืองเหล่านี้คาดหวังว่า แนวโน้มพฤติกรรมเช่นนี้จะไม่ใช่ระยะสั้น และนโยบายการจัดการเมืองแบบนี้จะทำได้ในระยะยาว[5]  

            เรื่องสอง ทบทวนแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบกระชับ (Compact City) เป็นแนวคิดการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมความหนาแน่นที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างสูง ให้เมืองขยายตัวน้อยที่สุด ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งอยู่อาศัย ทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ เพราะเชื่อว่าการสร้างเมืองที่มีลักษณะกระจายๆ มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ต้นทุนการกระจายนั้นสูงขึ้น ในแง่หนึ่งการพัฒนาเมืองแบบนี้ดีต่อการจัดการ การลดต้นทุน สะดวก แต่เมืองที่กระชับมากๆ เริ่มออกอาการปัญหาให้เห็น  การกระจุกตัวของผู้คนที่มากเกินไป ก็ทำให้เกิดมลพิษจากรถยนต์จำนวนมาก ปัญหาขยะ เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด เราอาจจะต้องมองหาวิธีคิดรูปแบบใหม่ๆ บ้าง เช่น การพัฒนาเมืองหลายศูนย์กลาง (Polycentric) และเชื่อมด้วยระบบขนส่งที่ดี เพื่อกระจายตัวของประชากร และจะช่วยให้เกิดการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ชานเมืองที่มีศูนย์กลางของเมืองได้ด้วย

 

 

ภาพ รูปแบบต่างๆ ของการพัฒนาเมือง[6]

 

            เรื่องที่สาม การพัฒนาเมืองในเชิงป้องกันและส่งเสริมสุขภาพมากว่าการรักษาสุขภาพ เปลี่ยนมุมมองเรื่องสุขภาพของคน อันที่จริงเมืองมีผู้คนที่สุขภาพดี ร่างกายปกติ จำนวนมากกว่าคนเจ็บป่วยมาก ดังนั้น เมืองก็ควรจะมุ่งนโยบายที่ทำให้คนมีสุขภาพดี ยิ่งแข็งแรงมากขึ้นและทำให้มีจำนวนมากที่สุด ทุ่มงบประมาณเน้นให้มีการป้องกันสุขภาพมากกว่ามุ่งรักษาสุขภาพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเชิงรับ ที่เน้นแต่การสร้างโรงพยาบาล ตัวอย่างรูปธรรมเมืองในประเทศไทยมีจำนวนมากในการพัฒนาเมืองแบบป้องกันสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เน้นสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย เน้นทำกิจกรรมสาธารณะ เช่น เมืองยะลา สร้างเมืองแห่งสวน ที่มีสวนสาธารณะกว่า 6 แห่งในเมือง มีศูนย์ออกกำลังกาย สนามกีฬาขนาดใหญ่ ก่อตั้งชมรมออกกำลังกายมากมาย เช่นเดียวกับเมืองพนัสนิคมที่มีพื้นที่ออกกำลังกายเพียงพอ ส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดขยะ สร้างเมืองแห่งต้นไม้ รวมถึงเมืองคาร์บอนต่ำ ลดการใช้รถยนต์ เมืองนนทบุรี สร้างศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเช่นเดียวกับเมืองเชียงราย สร้างมหาวิทยาลัยวัยที่สามให้ผู้สูงอายุมาเรียน ทำกิจกรรมร่วมกัน ในเมืองอุดรธานี จัดพื้นที่สาธารณะให้ภาคประชาสังคม ชุมชน เอกชน ได้มีเวทีหรือกิจกรรมที่ทำร่วมกันหนาแน่นตลอดทั้งปี นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเมืองในไทยมีจำนวนมากที่มีแนวคิดการพัฒนาเมืองในลักษณะนี้  เราควรส่งเสริมให้มีเมืองแบบนี้ให้มากขึ้น ซึ่งต้องพัฒนาร่วมกับด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย การพัฒนาเมืองลักษณะนี้ไม่ได้มีผลทีดีในระยะสั้น แต่เป็นการพัฒนาที่เน้นคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

 

ภาพ การออกกำลังกายในบริเวณศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในเมืองนนทบุรี[7]

 

            เรื่องที่สี่ แหล่งอาหารของเมือง ในวิกฤตของเมืองแต่ละครั้ง  อาหารเป็นปัจจัยสำคัญ หลายเมืองใหญ่ของต่างประเทศ เกิดวิกฤตการขาดแคลนวัตถุดิบในการทำอาหาร สินค้าไม่มีขายในซูเปอร์มาเก็ต ผัก หมู แพงมากขึ้น ในเมืองไทย เรายังไม่เผชิญวิกฤตอาหาร เมืองที่ผลิตสินค้าเกษตรยังคงส่งสินค้าอย่างขะมักเขม้น สินค้าในซูเปอร์มาเก็ตมีเติมอย่างเพียงพอกับความต้องการ เป็นจุดแข็งของประเทศไทยในฐานะครัวของโลก แต่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ก็ต้องอาศัยวัตถุดิบจากเมืองอื่น เราน่าจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นและก่อผลที่ดีในระยะยาว ทุกเมืองควรพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหาร เป็นความอยู่รอดทางอาหารของเมือง แนวคิดต่างๆ ในการสร้างแหล่งอาหารในเมืองน่าจะควรหยิบมาผลักดันและปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ทั้งแนวคิด urban agriculture อย่างโครงการสวนผักคนเมืองที่ส่งเสริมการทำเกษตรในที่ว่างของชุมชน การเกษตรแบบแนวดิ่ง (Vertical Farm) ที่เหมาะกับการทำเกษตรในตึกสูง ส่งเสริมให้ครัวเรือนมีผักสวนครัว  และที่สำคัญ การส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน เมื่อห้างขนาดใหญ่ปิดชั่วคราว ร้านขายสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตร  ร้านของชำหรือโชห่วย ร้านเหล่านี้เป็นแหล่งพึ่งพิงที่ดี หล่อเลี้ยงคนในชุมชน แต่ปัจจุบันเริ่มมีน้อยลง เพราะแข่งขันทุนใหญ่ไม่ไหว เราควรปกป้องให้ร้านเหล่านี้ยังอยู่ได้ มีหลายแนวทาง ที่น่าลองพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น จำกัดเวลาซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ให้มีเวลาเปิดน้อยลง เพื่อให้คนบริโภคร้านขนาดเล็ก การตั้งซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ให้ห่างกันอย่างน้อย 20 กิโลเมตร เป็นต้น (ในประเทศไทย นโยบายนี้คงเป็นไปได้ยากในเมืองขนาดใหญ่ เพราะเต็มไปด้วยซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมาก แต่น่าจะทำได้ในเมืองขนาดเล็ก) พัฒนาร้านขนาดเล็กให้มีมาตรฐาน สะอาด อีกทั้งจำกัดสินค้าบางอย่างให้มีขายเฉพาะร้านขนาดเล็ก เพื่อให้มีสินค้าที่แตกต่างจากห้างขนาดใหญ่ เป็นต้น

 

ภาพ การขายของชำในเมืองปัตตานี[8]

 

            เรื่องที่ห้า การคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนจนเมือง หรือกลุ่มเปราะบางในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รับมาตรฐาน อยู่ในสลัม ชุมชนแออัด หรือแม้กระทั่งไม่มีที่อยู่อาศัย พวกเขามีความจำเป็นที่ต้องยอมเสี่ยงเผชิญการติดโรค เพราะต้องหารายได้ ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ พวกเขามีศักยภาพเอาตัวรอดจากวิกฤตของเมืองได้น้อย แต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในเมือง นโยบายการจัดการเมืองควรนำประเด็นคนเปราะบางในเมืองมาพิจารณาเสมอ ว่าจะพัฒนาพวกเขาในด้านสาธารณสุขอย่างไร ให้เขามีความสามารถในการปกป้องและดูเองตนเอง เขาสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับการพัฒนานโยบายทางด้านเศรษฐกิจด้วย การเกิดวิกฤตแต่ละครั้ง พวกเขาขาดรายได้ ตกงาน ตอกย้ำความเปราะบาง เขาได้รับข่าวสารหรือการเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องรีบทบทวนเพราะพวกเขาเองก็เป็นแรงงาน เป็นผู้บริโภค เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจเมืองเช่นเดียวกัน 

          เรื่องที่หก เมืองที่รับมือวิกฤตได้ดี คือเมืองที่มีความยืดหยุ่น (Resilience City) วิกฤตของเมืองไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด ภัยพิบัติ การก่อการร้าย จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เมืองที่จะผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ได้ ต้องเป็นเมืองที่มีความยืดหยุ่น ปรับสภาพรับมือได้ไว ความยืดหยุ่นมีหลายมิติ มิติ ความสามารถจัดการของภาครัฐ ที่ต้องออกมาตรการรับมือกับวิกฤตอย่างรวดเร็ว ฉับไว เช่น เมืองอู่ฮั่นสร้างโรงพยาบาลภาคสนามรับรองผู้ป่วย 1000 เตียงภายใน 10 วัน มาตรการปิดเมือง ห้ามคนเข้า-ออก การจัดส่งอาหารตามบ้านอย่างรวดเร็ว เป็นต้น มิติสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ก็ต้องทำได้เร็ว ในประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดีในมิตินี้ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ในการจัดหาสถานที่กักกันของคนไทยที่กลับจากต่างแดน (State Quarantine) ปรับใช้โรงแรมจากภาคเอกชน แปลงเป็นสถานที่กักกันคนกว่า 1200 แห่งทั่วประเทศ ในอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติความยืดหยุ่นที่สำคัญมาก คือ  ความยืดหยุ่นของภาคสังคม ประชาชน ที่ปรับตัว เปลี่ยนแปลงรับมือได้ไวกับวิกฤต ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดในการผ่านพ้นวิกฤตของเมืองเลยก็ได้

 

“ภาคสังคม – ชุมชน” ของไทย ในการรับมือวิกฤตโควิด 19

            ปรากฏการณ์โรคโควิด19 ในประเทศไทย มีบทเรียนที่น่าสนใจที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของภาคสังคม-ประชาชนมากยิ่งขึ้น ภาคสังคม- ชุมชนในทีนี้คือ อาสาสมัคร หรือกลุ่มจิตอาสาในแต่ละเมือง ที่เข้ามาร่วมมือช่วยเหลือในเมืองของตนเอง ทั้งสนับสนุนในด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับแรงกระแทกจากภาคเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยภาคสังคมที่มีบทบาทในช่วงวิกฤตโควิด 19 นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ จิตอาสาที่มีการจัดตั้งโดยสถาบันต่างๆ และจิตอาสาอย่างเป็นธรรมชาติของผู้คนในเมือง

            กลุ่มที่ 1 กลุ่มจิตอาสาที่มีการจัดตั้ง การจัดการของสถาบันต่างๆ ได้แก่ 

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมจากกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ ในเมือง ปัจจุบันประเทศไทยมี อสม. กว่า 1,040,000 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ ในช่วงเกิดโควิด 19 กลุ่มอสม. ทำหน้าเชิงรุกเคาะประตูบ้านทุกหลังคาเรือนที่ตนเองรับผิดชอบ เพื่อมองหาผู้เข้าข่ายติดเชื้อ ทำให้สามารถหากลุ่มคนเสี่ยงติดเชื้อเข้ารับการรักษากว่า 2000 คน[9]
  • กลุ่มจิตอาสาพระราชทาน จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศเพื่อทำงานจิตอาสาพัฒนาชุมชน โดยหน่วยราชการในพระองค์ 904 ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในช่วงการเกิดโรคละบาด โควิด 19  กลุ่มจิตอาสาพระราชทาน ร่วมช่วยกันบรรจุสิ่งของพระราชทาน มอบให้แก่ชุมชนแออัด ผู้ยากไร้ คนพิการในกรุงเทพมหานคร จำนวน 642 ชุมชน กว่า 130,000 ครัวเรือน[10]
  • กลุ่มพระสงฆ์ ตามสังกัดของวัดทั่วประเทศ ร่วมตั้งโรงทานแล้ว 914 แห่ง ขยายโรงทานเคลื่อนที่ในชุมชน แจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มช่วยเหลือคนไทยในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 มีประชาชนได้รับความช่วยเหลือวันละ 274,000 คน ขณะที่วัดไทยในต่างประเทศก็ได้จัดตั้งโรงทานเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือคนไทยและชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 และผู้ที่มีฐานะยากจน[11]

 

 

ภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขกำลังตรวจไข้ตามบ้านต่างๆ[12]

 

            กลุ่มที่ 2 กลุ่มจิตอาสาอันเป็นธรรมชาติ ไร้การจัดตั้งหรือจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ คือ กลุ่มประชาชนคนทั่วไปที่มีจิตใจที่ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่ต่างคนต่างเข้ามาช่วยเหลือตามกำลังที่ตนเองมี ทั้งการบริจาคเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากให้กับโรงพยาบาลในเมือง จัดทำหน้ากาก Face shield บริจาคตามสถานที่ต่างๆ การแจกอาหาร แจกเงิน แก่ผู้ยากไร้ในเมืองตนเองทั่วประเทศ และก่อตั้งโครงการต่างๆ จำนวนมาก ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น  บริการสั่งอาหารร้านขนาดเล็กในชุมชน ในชื่อ Local bkk จัดตั้งโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในกทม. ที่พบว่าร้านอาหารขนาดเล็กในชุมชนกำลังจะปิดตัวลงเพราะลูกค้าน้อย จึงอาสาเป็นตัวกลาง ให้ลูกค้าสั่งอาหาร จ่ายเงิน ผ่านไลน์ และให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในชุมชนตะเวนซื้ออาหารร้านต่างๆ นำไปส่งที่บ้าน ให้ร้านในชุมชนมีรายได้มากขึ้น ,  ตู้แบ่งปันอาหาร ในชื่อ “ตู้ปันสุข” ตู้สำหรับการบริจาคอาหาร ของใช้ที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ตกงาน ขาดรายได้ จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งไว้เพียง 5 ตู้ใน กทม. ปัจจุบันมีการขยายการจัดตู้ปันสุขไปทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 1,105 ตู้ เฉพาะที่กทม. มี 155 ตู้ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พ.ค. 2563)[13], โครงการข้าวสารแลกอาหารทะเล ความร่วมมือของเกษตรกรภาคอีสาน และชาวประมงในภาคใต้ ได้ทำโครงการข้าวสารแลกอาหารทะเล สนับสนุนการจัดส่งด้วยเครื่องบินจากกองทัพอากาศ โดยข้าวสาร 16 กิโลกรัม สามารถแลกปลาสด 10 กิโลกรัม แก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารจากภาวะโควิด 19 เป็นต้น 

         

 

 ภาพ การทำงานของกลุ่ม Locall.bkk[14]

 

            ในส่วนของภาคเอกชนเอง ที่มักโดนวิพากษ์ และโดนครหากับการเอาเปรียบสังคมต่างก็ทำหน้าที่ตอบแทนสังคม ช่วยเหลือเมืองของตนเอง และเป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่มีทุนทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้สามารถขับเคลื่อนโครงการใหญ่ๆ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี เช่น เมืองต่างๆ มีการบริจาคโรงแรม อพาร์ตเมนต์ ให้บุคลากรทางการแพทย์พักฟรี บริษัท CP สร้างโรงงานหน้ากากอนามัยฟรี แจกบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วประเทศ บริษัท SCG สร้างนวัตกรรมชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring) บริษัท สยามพิวรรธน์ เปิดพื้นที่ฟรี ช่วยเหลือผู้ประกอบการ และบริษัทจำนวนมากทั่วประเทศได้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขของเมืองในครั้งนี้ ปรากฏการณ์การมีส่วนร่วมโดยถ้วนทั่วของภาคเอกชน ภาคสังคม- ประชาชน ทั้งจากกลุ่มจิตอาสาที่จัดตั้งและจิตอาสาธรรมชาตินั้น ทำให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมขึ้นมามากมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเมืองได้

 

“คน” และ “เมือง” คือ แกนหลัก (Core) ของการรับมือวิกฤตประเทศ

            แม้เมืองจะกลายเป็นพื้นที่เร่งการแพร่กระจายของโลก ในขณะเดียวกัน เมืองเองก็เป็นหน่วยหลักของการแก้ไขปัญหาโรคระบาด การส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา เป็นแนวทางที่ดีเพราะคนในเมืองนั้นจะมีความเข้าใจในเรื่องปัญหาของตนเองได้ดี ดังที่เราได้เห็นผลสำเร็จจากการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดของประเทศไทย มีอำนาจในการออกคำสั่งและบริหารพื้นที่อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้แต่ละเมืองเกิดการแข่งขันมาตรการการควบคุมโรคที่เหมาะสมตามบริบทของตนเอง ลดปริมาณผู้ติดเชื้อลงไปได้มาก

            เราพูดเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนกันมามากมาย เรามีโมเดลการพัฒนาเมืองหลายแบบ แต่แกนสำคัญของการพัฒนาเมืองและการรับมือกับวิกฤตเมืองอยู่ที่ “การพัฒนาคน” เพราะการพึ่งพาเชิงระบบการจัดการที่ดีของหน่วยงานรัฐนั้นไม่เพียงพอ แต่ความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรอยู่ที่แต่การมีส่วนร่วม และการเสียสละ การช่วยเหลือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคสังคม-ชุมชน -ประชาชน ซึ่งเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (compassionate animals) เป็นทุนทางสังคมของเมือง (Social Capital)  ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เมืองเกิดความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว รับมือกับทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในอนาคตได้  

            แม้ว่าการอยู่ในเมืองใหญ่ ผู้คนวิถีชีวิตปัจเจกมากขึ้น แต่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนในอนาคต ภาคสังคม ชุมชนต้องนำ sense ของวิถีชีวิตแบบชนบทมาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ในเมืองด้วย วิถีของการรวมกลุ่ม (Collectivism) การสนใจผู้อื่น จิตใจที่เสียสละ การช่วยเหลือ และการดูแลซึ่งกันและกันในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ในขณะที่ภาครัฐเองควรหันมาลงทุนทางสังคม ปลุกเร้าให้กลุ่มต่างๆ ให้มีบทบาทนำในการพัฒนาและแก้ไขวิกฤตของเมืองมากขึ้น อีกทั้งเปิดช่องทางและงบประมาณสนับสนุนให้ภาคสังคม ประชาชนได้มีโอกาสทำสิ่งดีๆ ให้กับพื้นที่ ให้คนกลายเป็นรากฐานที่ดีของเมือง 

 

 อ้างอิง

[1] ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

[2] ที่มาภาพ : ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 2562

[3] สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์.(2563). 5 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”.สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 จาก https://tdri.or.th/2020/04/new-normal-in-post-covid-world/

[4] Jill L Grant.(2020). What cities can learn from lockdown about planning for life after the coronavirus pandemic. Retrieved  May 12,2020 , from https://theconversation.com/what-cities-can-learn-from-lockdown-about-planning-for-life-after-the-coronavirus-pandemic-136699

[5] Enrique Dans.(2020).What Do We Want Our Cities To Look Like After The Pandemic?. Retrieved  May 12,2020 , from https://www.forbes.com/sites/enriquedans/2020/04/26/what-do-we-want-our-cities-to-look-like-after-the-pandemic/#2e95f873188d

[6] ที่มาภาพ : https://www.quora.com/What-is-polycentricity-What-are-the-books-that-will-help-me-to-know-more

[7] ที่มาภาพ : ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 2562

[8]  ที่มาภาพ : ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 2562

[9] ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

[10] สำนักข่าวผู้จัดการ.(2563). ในหลวง-พระราชินี โปรดเกล้าฯ ให้เชิญถุงยังชีพพระราชทานมอบชุมชนแออัดในกว่า 1.7 แสนครัวเรือน.สืบค้นวันที่ 12 พ.ค. 2563 จาก https://mgronline.com/uptodate/detail/9630000035501

[11] สำนักข่าว TPBS.(2563).วัดทั่วไทยตั้งโรงทานแล้ว 914 แห่ง ช่วยคนไทยสู้ COVID-19.สืบค้นวันที่ 12 พ.ค. 2563 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/292386

[12] ที่มาภาพ : https://www.thaipost.net/main/detail/64503

[13] Supakit  Kulchartvijit.(2563).ยอดตู้ปันสุข ต้านภัยโควิด-19 ทั่วประเทศ.สืบค้นวันที่ 15 พ.ค. 2563 https://www.facebook.com/bank.kulchartvijit

[14] ที่มาภาพ :  https://www.facebook.com/LocallThailand/

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts