Events

การพัฒนารูปแบบและกลไกหมู่บ้านจัดสรรสุขภาวะ

 

             สำนักงานป้องกันกรมควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ได้เรียนเชิญวิทยากรจากศูนย์ของเรา คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ไปบรรยายเรื่อง   การพัฒนารูปแบบและกลไกหมู่บ้านจัดสรรสุขภาวะ : การพัฒนารูปแบบหมู่บ้านจัดสรรสุขภาวะ ยกระดับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรค ในหมู่บ้านจัดสรรเขตเมือง  ในการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างระบบและกลไกหมู่บ้านจัดสรรสุขภาวะ ที่จัดโดยสำนักงานป้องกันกรมควบคุมโรคที่ 6 วันที่ 14 มกราคม 2563 ณ โรงแรมรัตนชล อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 

            คุณณัฐธิดา ได้บรรยายเกี่ยวกับภาพรวมของจุดเริ่มต้น และพัฒนาการของหมู่บ้านจัดสรรในประเทศไทย กลไกเดิมในการจัดการส่วนกลางและสาธารณูปโภคของบ้านจัดสรร  สภาพสังคมและความท้าทายด้านสุขภาวะของหมู่บ้านจัดสรร ที่เผชิญปัญหาคล้ายกับชุมชนเมืองทั่วไป และปัญหาเฉพาะของหมู่บ้านจัดสรร ที่มีความท้าทายเรื่องสุขภาพที่มาจากผู้เช่าต่างถิ่น และปัญหาการอยู่เป็นปัจเจกของผู้คน ทำให้ทำงานลำบาก  ทั้งนี้ได้นำเสนอ ต้นแบบหรือรูปแบบการพัฒนาระบบสนับสนุนหมู่บ้านจัดสรรสุขภาวะ  ที่ได้ไปศึกษามา 3 กรณีศึกษา คือ ชุมชนรอบพื้นที่อุตสาหกรรม อำเภอแหลมฉบัง จ.ชลบุรี หมู่บ้านไวท์เฮาส์ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธาน และหมู่บ้านพฤกษา ในตำบลบางคูรัด จ.นนทบุรี ซึ่งทั้ง 3 กรณีศึกษานี้มีกลไกที่ช่วยให้เกิดสุขภาวะบ้านจัดสรรได้ แต่ละแห่งมีกลไกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งทำงานในรูปแบบคณะกรรมการหมู่บ้าน การมีเอกชนนำ และทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ  รวมไปถึงการทำงานแบบจิตอาสา  แม้จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกแห่ง ล้วนแต่มีผลลัพท์ที่ดีในการจัดการสุขภาวะคนในหมู่บ้านจัดสรร ทั้งเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง การออกกำลังกาย การจัดทำฐานข้อมูล  การเกิดชุมชนเกื้อกูล เป็นต้น 

          ในส่วนท้ายของการบรรยาย มีการรวบรวมแหล่งที่มาของงบประมาณในการดูแลสุขภาวะหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งแหล่งเงินมีหลายแหล่งมาก เช่น งบประมาณของท้องถิ่น เงินบริจาคจากลูกบ้าน จากสสส. จากกองทุนสุขภาพตำบล (สปสช.) งบประมาณ csr ของบริษัทเอกชน รวมไปถึง งบประมาณจากโครงการพิเศษของรัฐบาล ฯลฯ  งบประมาณมีหลายแห่ง ทั้งนี้ พื้นที่หรือหมู่บ้านต้องมีภาพใหญ่ของการทำงาน และปรับการของบประมาณให้สอดคล้องกับเรื่องที่ตนเองทำและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงบประมาณได้  

        สำหรับหัวใจของการสร้างระบบและกลไกในการจัดการหมู่บ้านจัดสรรสุขภาวะนั้น  ควรระเบิดจากภายใน เป็นความต้องการของคนในพื้นที่เอง เริ่มด้วยคนในหมู่บ้านหรือท้องถิ่นเอง  ต้องสร้างกลุ่มคนทำงานก่อน รักบ้านรักเมือง มีเมืองนิยม เสียสละทำงานเพื่อบ้านของตนเอง ควรศึกษาและเข้าใจพื้นที่ของตนเอง (สภาพสังคม เศรษฐกิจ ทุนทางสังคม หน่วยงานในพื้นที่) เริ่มทำร่วมกับคนที่เห็นด้วย เปิดใจ ทำกลุ่มเล็กๆ ในขณะลูกบ้านก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย ควรเลือกทำประเด็นที่ถนัดก่อน ทั้งการทำงานด้านสุขภาพ (ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู) และงานสิ่งแวดล้อม เมื่อสำเร็จแล้วค่อยขยายไปด้านอื่นๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของลูกบ้าน และสร้างกำลังใจให้กลุ่มตนเอง ต้องทำงานเครือข่ายและเชื่อมโยงหน่วยงานอื่นๆ (ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หน่วยงานสาธารณสุข) ดึงท้องถิ่นเป็นพันธมิตรสำคัญ ผลักดันจนเป็นนโยบายของท้องถิ่น  ท้ายที่สุดแล้ว ระบบและกลไกต้องเลือกปรับและประยุกต์ตามบริบทพื้นที่ตัวเอง

Related Posts