Events

เมืองชายแดนไทย : แนวคิด มุมมองและข้อเสนอเพื่อการพัฒนา

อดีตเอกราชทูตสมปอง สงวนบรรพ์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำงานการทูตในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศพม่า และกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย ท่านจึงให้ความสนใจกับเมืองชายแดนเป็นพิเศษ จึงได้ทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ท่านได้ศึกษา เก็บข้อมูลในพื้นที่ และใช้ประสบการณ์วิเคราะห์และให้แง่มุมแง่คิดเกี่ยวกับเมืองชายแดน ทั้งในการด้านการศึกษาและในด้านการพัฒนาให้กับศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ในหัวข้อเรื่อง เมืองชายแดนไทย : แนวคิด มุมมองและข้อเสนอเพื่อการพัฒนา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 

 

ในอดีต ชายแดนเป็นเพียงแนวติดต่อ ไม่มีพรมแดน เช่น สองข้างแม่น้ำโขง เป็นการเชื่อมลาวกับไทย ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน หรือเป็นเส้นเขตแดนที่ชัดเจน อาณาจักรต่าง ๆ เช่น อยุธยา ล้านช้าง ล้านนา ศรีวิชัย พุกาม เมืองแป หงสาวดี  มีเขตอาณาซ้อนกันอยู่อย่างไม่ชัดเจน  อยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือกเข้ากับฝ่ายไหน เป็นคนของใคร ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของท้องถิ่น หรือเจ้าผู้ครองนครว่าเข้มแข็งเพียงไร  ในยุคหลังสงครามเย็น ชายแดนเริ่มมีเขตแดนชัดเจนตามแนวคิดของฝรั่ง ชายแดนต้องมีเส้นเขตที่ชัดเจน คือเกิดมาพร้อมกับแนวคิดรัฐชาติ ทำให้ประเทศแยกออกจากกัน สะท้อนให้เห็นว่า ในยุคก่อนชายแดนทำให้ประเทศเชื่อมเข้าหากัน แต่ยุคหลัง ชายแดนคือการกั้นประเทศออกจากกัน 

ทฤษฎี แนวคิดเมืองชายเเดน มีนักวิชาการชาวฟินแลนด์ชื่อ Anssi Paasi[1]  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชายแดน ให้แนวคิด ทฤษฏีในการมองเมืองชายแดนไว้หลายแง่ เช่น 

  1. การมองชายแดนในแง่ของสถาบัน และเขตแดน มองว่าชายแดนเป็นตัวที่แบ่งแยกประเทศ มองว่าเชื่อมหรือว่ากั้นก็ได้
  2. การมองชายแดนในแง่ว่าเป็น research object คือมองชายแดนในแง่ของกระบวนการด้วย ไม่ใช่การมองเมืองชายแดนแบบเขตแดน มาพร้อมกับแนวคิดรัฐชาติ สิ่งที่เขาอธิบายเพิ่มเติม เมืองชายแดนในฐานะที่เป็น research object เป็นกระบวนการ ต้องมีกลไกในเรื่องการเปิดแดน การขนส่งสินค้า การควบคุม การอำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นคุณลักษณะของชายแดนที่เป็นเหมือนกันหมดทุกที่
  3. ชายแดนเป็นสหวิทยาการการศึกษา สัมพันธ์กับวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์เมืองชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เมืองชายแดนไทยมีความสัมพันธ์แบบทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจะไม่ดีนัก แต่ความสัมพันธ์ในระดับข้างล่างยังคงดีมาก  ความสัมพันธ์ระดับประชาชนก็ยังค้าขายสัมพันธ์กัน  เดินทางไปมาระหว่างกัน ในยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์เมืองชายแดนพัฒนามาเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านดำเนินไปท่ามกลางความขัดแย้ง พอยุคหลังสงครามเย็น ความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินไปท่ามกลางความร่วมมือที่มากขึ้น มันเกิดขึ้นทั้งสองด้าน

ข้อเสนอทางนโยบายในการพัฒนาเมืองชายแดน จากประสบการณ์การทำงานและการเก็บข้อมูลตลอดที่ผ่านมา เมืองชายแดนไทยมีศักยภาพมาก ทำให้มีข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนเมืองชายแดนไทย กล่าวคือ ควรจัดโครงสร้างการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เช่น ตั้งกระทรวงชายแดน สร้างยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน ยุทธศาสตร์เฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเป็นยุทธศาสตร์พิเศษสำหรับแต่ละประเท และส่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศไปอยู่ที่ชายแดน  ดังเช่น การทำงานของกรมท่าซ้าย กรมท่าขวาในอดีต เราเห็นกระทรวงต่างๆ ส่งคนจากส่วนกลางไปทำงานที่ภูมิภาค แต่ที่ผ่านกระทรวงไม่ได้คิดเรื่องนี้

 

[1]Anssi Paasi (2011). A border Theory : An Unattainable Dream or A Realistic Aim for Border Scholars.  The Ashgate Research Companion to Border Studies.

London, Ashgate

Related Posts