Workshops

Workshop : การใช้จิตวิญญาณและอัตลักษณ์เมือง เพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจเมืองแบบเกื้อกูลและยั่งยืน



สัมมนาหลักสูตร "ผู้สร้างบ้านแปงเมือง"

 

เรื่อง การใช้จิตวิญญาณและอัตลักษณ์เมือง เพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจเมืองแบบเกื้อกูลและยั่งยืน




          ศตวรรษที่ 21 กล่าวได้ว่าเป็นศตวรรษของเมืองกับความเป็นเมือง จากข้อมูลของสำนักงานประชากรแห่งสหประชาชาติในปี 2010 รายงานว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จำนวนประชากรของโลกอาศัยในเมืองเกินกว่าที่อาศัยในเขตชนบทแล้ว เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองมากกว่า 50% หากเมืองได้รับการจัดการที่ดี เมืองสามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน และการพัฒนาทางสังคม

          ในขณะเดียวกัน เมืองของไทยกลับมีการพัฒนาตามสภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ที่ยังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบการลงทุนขนาดใหญ่ การลงทุนทางอุตสาหกรรม โดยยังไม่สามารถใช้จุดเด่นทางวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานของแต่ละเมืองต่อยอดพัฒนาเป็นเศรษฐกิจได้  นอกจากนี้เมืองส่วนใหญ่ยังพัฒนาโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ต่างคนต่างพัฒนาตามแนวคิดของตนเอง ทำทีละส่วน ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นผลทำให้เมืองพัฒนาแบบขาดอัตลักษณ์ ขาดจิตวิญญาณของเมือง

          ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง จึงออกแบบหลักสูตรอบรมผู้สร้างบ้านแปงเมือง เรื่อง การใช้จิตวิญญาณและอัตลักษณ์เมือง เพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจเมืองแบบเกื้อกูลและยั่งยืน เพื่อให้แนวคิดพัฒนาเมือง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจจากรากฐานวัฒนธรรมของเมือง เน้นการพัฒนาที่ให้ประโยชน์เกิดกับคนหลายกลุ่มเกื้อกูลรับผลประโยชน์ร่วมกัน

 

วัตถุประสงค์  

          การอบรมครั้งนี้มุ่งมั่นว่า ผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของเมืองทั้งในระดับโลกและเมืองในประเทศไทย ได้รับแนวคิดและความรู้ใหม่ในการพัฒนาเมือง และที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเมืองกับนักคิดและผู้มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาเมือง เห็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากต้นทุนของเมือง เพื่อที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาเมืองของตนเองได้ นอกจากนี้หลักสูตรดังกล่าวคาดหวังว่าจะสามารถทำให้เกิดเครือข่ายผู้ทำงานเรื่องเมืองได้ด้วย

 

รูปแบบการเรียนรู้

            รูปแบบการเรียนรู้ ประกอบด้วย

  • การบรรยาย (Lecture) จากประสบการณ์นักคิดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเมือง
  • การแลกเปลี่ยน (Discussion) ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแลกเปลี่ยนตลอดการอบรม กับวิทยากรที่ทำงานความรู้ในเรื่องเมือง
  • การปฏิบัติการ (Workshop) มีการระดมสมอง และนำเสนอเกี่ยวกับพื้นที่เมืองของตนเอง และแผนการพัฒนาพัฒนาเมือง

 

เนื้อหาหลักในหลักสูตร แบ่ง 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 แนวคิดและปรัชญาการพัฒนาเมือง

  • แนวคิดและปรัชญาของการพัฒนาเมือง (เมืองพึ่งตัวเอง ไม่พึงส่วนกลาง การฟื้นฟูจิตวิญญาณของเมือง ผู้สร้างบ้านแปงเมือง การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ภูมิใจในเมืองของตนเอง ฯลฯ)
  • การสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง ด้วยแนวคิดการค้นหาการผูกขาดทางธรรมชาติ (Natural Monopoly) บนฐานทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม  ทำได้อย่างไร การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น ตัวอย่างเมืองที่พัฒนาสินค้าท้องถิ่น วิธีการทำงานในการพัฒนาสินค้า  ฯลฯ)

 

ส่วนที่  2  แนวทางและเครื่องมือการพัฒนาเมือง

          แนวทางและเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ เช่น แนวคิดการทำธุรกิจเกื้อกูลรับผลประโยชน์ร่วมกัน (Inclusive business) แนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) การเปลี่ยนพื้นที่ให้มีมูลค่า สร้างสรรค์ มีความหมายและมีความสุข (Place making) พร้อมด้วยตัวอย่างและประสบการณ์จากเมืองต่างๆ ที่ปฏิบัติจริงหลากหลายเมือง

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ/วิทยากร

  1. ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
  2. คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง
  3. อ.อรอนงค์ นิธิภาคย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  4. อ.ธิป ศรีสกุลไชยรัก อาจารย์ประจำสถาบันอาศรมศิลป์
  5. ผศ.ดร.พิชัย เอื้อมธุรพจน์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์การประกอบการเพื่อสังคม (Selab)
  6. คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ เจ้าของธุรกิจโฮลเทลเพื่อชุมชน
  7. คุณสุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ ผู้นำวิสาหกิจชุมชน Gong Coffee
  8. คุณอภิชญา โออินทร์ นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

 

เมืองที่เข้าร่วม

มีเมืองที่นำโดยนำโดยภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน กว่า 10 เมือง ได้แก่ (เมืองสายบุรี ปัตตานี) (เมืองปราจีนบุรี) (เมืองวงเวียนใหญ่ กรุงเทพ) (เมืองอยุธยา) (เมืองระนอง) (เมืองอุดรธานี) (เมืองตรัง) (เมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช) (เมืองแม่มอก ลำปาง) (เมืองสมุทรปราการ)

 

 

 

 

 

 

 

Related Posts