Workshops

TRANG HACKATHON 2018 การคิดอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมและสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ความท้าทายของเมืองตรัง

 

http://www.furd.in.th/knowledge/e-books/view/ykPxWXXYWpKm/

 

 

TRANG HACKATHON 2018

 

การคิดอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมและสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ความท้าทายของเมืองตรัง



จัดโดย
ภาคประชาสังคมตรัง กลุ่ม Intermingle in Trang กลุ่ม Kid+Dee RUTS กลุ่ม The Tree Sleep space

สนับสนุนโดย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย
วันที่ 3-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ The Tree Sleep Space เมืองตรัง



        

           HACK มาราธอนตลอด 30 ชั่วโมง ฝึกการคิดอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมและสร้างสรรค์นวัตกรรมเด็ดๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความท้าทายของท้องถิ่นตรัง ผู้เข้าร่วมจะได้คิดและทำอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้เครื่องมือและฝึกการทำงานเป็นทีมในระยะเวลาที่สั้นกระชับ เหมือนการวิ่งมาราธอนที่มีเส้นทางและเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง ในหัวข้อ
1 การบริโภคและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน 
2 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ 
3 การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 
4 การศึกษาที่เท่าเทียม และ 
5 การจัดการเมืองอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

         ตลอด 30 ชม. มีคนตรังที่รักตรัง สนใจตรังมาร่วมกันหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ นักศึกษา นักออกแบบ สถาปนิก นักวิจัย สายพัฒนา ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ ฟรีแลนด์ มาร่วมกันคิดเพื่อเมือง โดยมีกระบวนการและสอนการใช้เครื่องมือในการคิด ทดลองทำ และนำเสนอ อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมตัวจริงมาช่วยเป็นผู้ให้คำปรึกษา เพื่อให้โครงการมีความเป็นไปได้มากที่สุด การระดมสมอง 30 ชม. ในครั้งนี้ทำให้คนตรังได้ ทดลองสร้างตัวตนแบบง่าย ๆ และคิดโมเดลรูปแบบการดำเนินงาน/โมเดลธุรกิจที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อเมืองตรัง ทั้งหมด 3 โครงการ

 

 



โครงการ After school

 

         ทุกคนต่างต้องการพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ไปรวมตัวกัน สร้างปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกันฉันมิตร แต่เมืองตรังกลับมีพื้นที่ลักษณะนี้น้อยมาก โครงการ After School จึงต้องการเข้ามาเติมเต็มเมืองตรังด้วยการสร้างพื้นที่ให้นักเรียนอายุระหว่าง 15-18 ปี ได้เข้ามาทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนหรือยามว่าง โครงการ After School ไม่ได้มุ่งเพียงสร้างพื้นที่เปล่าๆ ให้เด็กมาอยู่เท่านั้น แต่จะให้บริการสนับสนุนและช่วยเหลือให้เขาได้ทำกิจกรรมที่เขาอยากทำด้วย เช่น ถ้าเขาอยากเล่นสเก็ตบอร์ด เราก็จะหาผู้ฝึกสอนหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางคอยเชื่อมโยงภาคีต่างๆ ให้เกิดการสนับสนุนและความสนใจมาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

         สาเหตุที่กลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่มักมีความสนใจและมีกิจกรรมที่อยากทำอยู่แล้ว แต่เขาแค่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและติดต่อคนที่จะแนะนำและสนับสนุนเขาได้ กอปรกับเมืองตรังก็มีพื้นที่ไม่กี่แห่งที่ตอบโจทย์ความต้องการและเปิดโอกาสให้เขาเข้าไปทำกิจกรรมได้ ทั้งที่เรามักเห็นภาพของลานกิจกรรมและพื้นสาธารณะในต่างประเทศหรือในกรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ เราจึงอยากให้มีพื้นที่ลักษณะนี้เกิดขึ้นในเมืองตรัง กิจกรรมที่ทำ เริ่มต้นด้วยการสร้างลานกิจกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วสอดแทรกกิจกรรมด้านวิชาการ ด้านทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้านกีฬา ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับห้องสมุดเมือง โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือ เยาวชนตรังที่มีความสุขและสร้างสรรค์

 

 



โครงการ Try Local

 

         นักท่องเที่ยวที่มาตรังมีจำนวนมากถึง 1.1 ล้านคนต่อปี และตรังมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 8 พันล้านบาท แต่เงินก้อนนี้กลับเป็นรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวกระแสหลักและไม่กระจายไปถึงมือชุมชน ด้วยในปัจจุบัน เราเล็งเห็นถึงกระแสการท่องเที่ยวชุมชนที่มีมากขึ้น โครงการ Try Local จึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนที่มีศักยภาพและพร้อมเปิดรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมวิถีชีวิต

         ในด้านชุมชน โครงการจะช่วยเตรียมความพร้อมและให้คำปรึกษาแก่ชุมชน ตั้งแต่การจัดฝึกอบรมชุมชนโดยเฉพาะด้านภาษา การออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยว ตลอดจนการควบคุมคุณภาพของการให้บริการ ส่วนในด้านนักท่องเที่ยว เราจะเสนอโปรแกรมการท่องเที่ยวอันมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลายและตรงความต้องการ ให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในการติดต่อประสานกับชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 



 


โครงการ IRICE

 

         แม้ทุกวันนี้เมืองตรังจะเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คุณภาพชีวิตของชาวนาตรังยังไม่ได้รับการยกระดับให้ดีขึ้นเท่าไรนัก เราจึงเกิดความคิดที่อยากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาตรังให้ดีขึ้นผ่านโครงการ iRICE โดยมีจุดประสงค์หลักคือ ต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาด้วยการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันเมืองตรังมีตลาดที่รองรับกลุ่มคนที่ใส่ใจสุขภาพอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ตลาดกรีนชินตา ตลาดหน้า ธ.ก.ส. และจวนผู้ว่าฯ

         ทางโครงการได้ลงไปสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับข้าวตรังแล้วพบว่า พันธุ์ข้าวตรังมีความหลากหลายมาก ทำให้เราเกิดแนวคิดที่จะชูข้าวตรังขึ้นมาเป็นจุดขาย ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่คนตรังนิยมบริโภคข้าวของจังหวัดอื่นให้หันมาบริโภคข้าวที่ปลูกในตรัง คำถามคือ เราจะทำให้ชาวนาตรังมีช่องทางการตลาดสำหรับขายข้าวปลอดสารพิษได้อย่างไร ซึ่งโครงการได้คำตอบออกมาว่า ต้องสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยการทำแฟนเพจบนเฟซบุ๊กเพื่อขายทั้งข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวของตรัง

 

 

 

Related Posts