About Us

เราคือใคร



        ในสภาวะปัจจุบันการเคลื่อนย้ายของผู้คน ทุน เทคโนโลยีได้อย่างเสรีมากขึ้นได้นำมาสู่การเพิ่มและขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ใน ค.ศ. 2010 ข้อมูลจากสหประชาชาติได้แสดงให้เห็นว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จำนวนผู้อยู่อาศัยในเมืองมีมากกว่าชนบท

        เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองแล้วจะพบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่ได้มีเพียงผู้ที่มีทะเบียนราษฎร์เท่านั้น หากแต่ยังประกอบไปด้วยประชากรแฝงกลุ่มอื่นๆ เช่น แรงงานต่างด้าว นักท่องเที่ยว ฯลฯ การดำรงอยู่ของประชากรที่หลากหลายได้นำมาซึ่งการร่วมใช้ทรัพยากรในเมือง ในแง่หนึ่งสภาพดังกล่าวก็ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความขัดแย้งเชิงพื้นที่เกี่ยวกับทรัพยากร เช่น ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ การแย่งชิงน้ำและพลังงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร การจราจรที่แออัด เป็นต้น

        นอกจากต้องรับมือกับการกระจุกตัวของผู้คนในเขตเมืองแล้ว ประเด็นเรื่องความสำคัญของเมืองในแง่ของเศรษฐกิจ เนื่องจากเมืองนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ ทั้งประเด็นปัญหาและความสำคัญของเมืองจึงไม่ควรถูกละเลย เป็นโจทย์หนึ่งที่ท้าทายสำหรับการวางแผนและพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนในปัจจุบัน

        จากปรากฏการณ์และปัญหาเบื้องต้นได้นำมาสู่การวางแผนเพื่อการพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ โดยเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาจากระดับประเทศสู่การพัฒนาในระดับเมือง ส่งเสริมให้ท้องถิ่นที่อาศัยทุนที่ได้สั่งสมมาแต่เดิม เช่น ทุนทางวัฒนธรรม เป็นต้น หรือประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากเมืองอื่นๆ มาพัฒนากลายเป็นศักยภาพเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น สร้างสรรค์นโยบายให้เมืองได้ดำรงอยู่และจัดการปัญหาในสภาพการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งส่งเสริมให้เมืองมีขีดความสามารถในด้านเศรษฐกิจที่พร้อมสำหรับการแข่งขันทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกันเมืองก็ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนอีกด้วย

 

        ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มีอายุย่างเข้าปีที่ 3 ก่อตั้งขึ้นจากดำริของศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ด้วยความปรารถนาที่ต้องการให้เป็น ศูนย์แห่งการเรียนรู้ ศึกษาวิจัย จัดการองค์ความรู้การพัฒนาเมืองของไทย เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ เชื่อมประสานเครือข่ายการพัฒนาเมือง จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำการพัฒนาเมือง ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนาเมือง และเชิดชูยกย่องผู้นำหรือผู้สร้างบ้านแปลงเมือง เพื่อให้เกิดความภูมิใจและเป็นพลังสร้างสรรค์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคตสืบไป

        ตลอดช่วงเวลาของการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ได้ริเริ่มโครงการเมืองดีเด่น โดยผู้นำของเมืองที่มีผลงานสร้างสรรค์เมืองเป็นที่ประจักษ์ จะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับมอบรางวัลจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในวันรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มจัดทำโครงการ แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง หรือที่เรียกชื่อย่อว่า FURD โลโก้ของแผนงานฯ ยังได้สื่อถึงความเป็นแผนงานฯและทิศทางการทำงานได้อย่างชัดเจน โดย F U R D ที่ปรากฏในโลโก้นั้นเป็นอักษรย่อของ Future Urban Development เมื่อพิจารณาถึงสีโลโก้ที่ปรากฏสีเขียวสื่อถึงการงอกงามตามธรรมชาติ และสีน้ำตาลสื่อความหมายถึงผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ เป็นการคาดหวังที่ต้องการเห็นการพัฒนาเมืองที่ไม่เพียงรุดหน้าในทางวัตถุเท่านั้น หากยังต้องใส่ใจถึงการพัฒนามิติอื่นๆไปพร้อมกัน เพื่อมุ่งสู่เมืองที่สมดุล สร้างความสุขแก่ผู้คนอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้คนในเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้นำ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเมืองและอนาคตที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและมีสุภาวะ

        นอกจากนี้ ที่ตัวอักษร D ของโลโก้นั้นถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้าย “ลูกยางนา” เพื่อสื่อความหมายถึงความสามารถในการเจริญงอกงามในยามที่เมล็ดลูกยางทอดลงบนผืนดิน การเติบโตดังกล่าวเปรียบเสมือนกับการทำงานของแผนงานฯ ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมือง มุ่งมั่นหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้จากงานวิจัยสู่สังคม ด้วยความเชื่อมั่นถึงศักยภาพของท้องถิ่น ที่แต่ละแห่งนั้นอุดมไปด้วยความรุ่มรวยในมิติต่างๆอันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ทางแผนงานฯยังขอร่วมเชิดชูความรักความภาคภูมิใจในท้องถิ่น ให้ผลิหน่อจากผืนดินของท้องถิ่น ก่อนเบ่งบานเป็น “ผู้สร้างบ้านแปงเมือง” ที่แกล้วกล้า ให้ร่มเงาและควาผาสุกกับผู้คนในที่แห่งนั้น



ขอขอบคุณ