Cities Reviews

HatYai : Healthy City Co-Design โครงการเมืองหาดใหญ่ : เมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม

 

 

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ร่วมกับ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะสถาปัตย์ มทร.ศรีวิชัย ได้ริเริ่มการพัฒนาเมืองสุขภาวะแนวทางใหม่ด้วยแนวคิด Healthy City Co-Design ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนในหลายศาสตร์ เพื่อมุ่งสร้างเมืองสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีที่ตอบโจทย์คนในเมือง 

 

นำร่องการพัฒนาเมืองด้วยแนวทางดังกล่าว ที่เมืองหาดใหญ่เป็นเมืองแรก ในโครงการ HatYai : Healthy City Co-Design ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการประชุมทำความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับเทศบาลนครหาดใหญ่และตัวแทนภาคประชาสังคม กลุ่มคลองเตยลิงก์ ณ ห้องประชุมสำนักการศึกษา เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยผู้เข้าร่วมประชุม มีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะทำงานของเทศบาลนครหาดใหญ่ ภาคประชาสังคมเมืองหาดใหญ่ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง คณะทำงานของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 (สสส.)  คณะอาจารย์จากคณะสถาปัตย์ มทร.ศรีวิชัย  

 

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ได้นำเสนอ หลักการของ Healthy City Co-Design ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือหลายภาคส่วน (ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย เอกชน และชุมชน) ที่มาร่วมคิดร่วมแบ่งปันทรัพยากร ออกแบบเมืองสุขภาวะซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน

  1. สุขภาวะสังคม (Healthy Society)
  2. สุขภาวะทางเศรษฐกิจ (Healthy Economy)
  3. สุขภาวะทางกายและจิต (Healthy mind and body)
  4. สุขภาวะทางสิ่งแวดล้อม (Healthy Environments)

อาจารย์จิฬา แก้วแพรก อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มทร.ศรีวิชัย เสริมว่า จุดเด่นของกระบวนการทำงาน คือ การแบ่งกลุ่ม 5-7 กลุ่ม ทุกกลุ่มจะมีเจ้าหน้าที่เทศบาล ตัวแทนชุมชน และนักศึกษาทำงานร่วมกัน เพื่อออกแบบเมืองสุขภาวะ โดยกำหนดพื้นที่ออกแบบคือ คลองเตยและชุมชนรอบข้าง ในเมืองหาดใหญ่ เริ่มจากแบ่งกลุ่มลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ จากนั้นร่วมกันออกแบบเมืองสุขภาวะ (Conceptual Design & Schematic Design) และคัดเลือกผลงานที่โดดเด่น เพื่อหารูปแบบและแนวทางใหม่ในการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเมืองที่เหมาะสม  ทั้งหมดเป็นกระบวนการเรียนรู้และสร้างคนรุ่นใหม่  (Active Learning) รวมไปถึงการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยให้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นและชุมชนด้วย

 

ในส่วนของเมืองหาดใหญ่ คุณสิทธิศักดิ์ ตันมงคล จากกลุ่มสถาปนิกพัฒนาเมือง Songkhla Urban Lab ในฐานะผู้นำภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนพัฒนาเมืองหาดใหญ่มาหลายปี และกำลังพัฒนาเมืองหาดใหญ่เข้าสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มประชาสังคมหาดใหญ่เองมีการตื่นตัวและพยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในมิติต่างๆ โดยเลือกพัฒนาพื้นที่ คลองเตย เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า "คลองเตยลิงก์" เพื่อให้คลองเตยได้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิต แผนที่วัฒนธรรม จัดเวทีเสวนาเรื่องเมืองอย่างต่อเนื่อง และจัดทำ workshop เพื่อพัฒนาอาชีพให้คนหาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งการทำงานของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาถือได้ว่า ได้สร้างกลุ่มผู้นำของชุมชน จนเป็นเครือข่ายการพัฒนาของหาดใหญ่ ซึ่งตรงนี้เป็นฐานสำคัญในการที่โครงการ Healthy City Co-design จะเข้ามาร่วมทำงานพัฒนาเมืองหาดใหญ่ด้วยกันได้

 

ในส่วนของเทศบาลนครหาดใหญ่ นำโดย รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ  รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ มองว่า เทศบาลนครหาดใหญ่เองก็มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองสีเขียว เมืองน่าลงทุน ซึ่งทางเทศบาลนครหาดใหญ่เองก็มีความพยายามจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวหลายจุดในเมือง เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมทำโครงการ Healthy city co-design ร่วมกับศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย พร้อมให้ความเข้าร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ข้อมูล และการให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมคิด ร่วมออกแบบกับชุมชนและมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

 

พร้อมกันนี้ คุณเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาท้องถิ่น ให้ข้อคิดเห็นที่จะช่วยให้ความร่วมมือเป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น ประเด็นแรก  การพัฒนาเมืองไม่ว่าจะทิศทางใดก็ตาม ต้องสร้างจิตสำนึกให้คนหาดใหญ่รักหาดใหญ่ ให้คนสนใจความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของเมือง ประเด็นที่สอง การทำงานกับชุมชนต้องขับเคลื่อนเรื่องอาชีพ การพัฒนาเมืองสุขภาวะนอกเหนือจากการมีส่วนร่วมแล้วต้องนำไปสู่การสร้างอาชีพในทาง Wellness ให้ได้ ประเด็นที่สาม กลุ่มคลองเตยลิงก์ได้กิจกรรมร่วมกับชุมชนมาหลากหลาย ทำให้มีตัวอย่างกิจกรรม หรือแนวทางความร่วมมือที่ดีและมีเครือข่ายกับชุมชนดีมาก ควรต่อยอดและทำงานร่วมกัน ประเด็นสุดท้าย การออกแบบ (Design) เมืองสุขภาวะควรออกแบบเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอกด้วย

การประชุมทำความเข้าใจเริ่มต้นโครงการเมืองหาดใหญ่ : เมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้ ทุกฝ่ายมีความคาดหวังที่ต้องการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้กลายเป็นตัวอย่างเมืองสุขภาวะ และพร้อมให้ความร่วมมือในการทำงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การออกแบบร่วมของหลายภาคส่วนในครั้งนี้ (Co-design) จะช่วยให้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนหาดใหญ่ให้ดีขึ้น

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts