พงศกร ขวัญเมือง : มุมมองและประสบการณ์การฟื้นคลอง ฟื้นย่าน ฟื้นเมืองเพื่ออนาคตของกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร เมืองขนาดใหญ่ที่มีซับซ้อนและมีแง่มุมหลากหลาย และมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอในเรื่องความล้มเหลวของการพัฒนาเมืองทั้งที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครกลับเป็นเมืองที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนโยบายฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต ที่มีแกนนำกรุงเทพมหานคร ร่วมกับหลายหน่วยงานหลายภาคส่วน ฟื้นคลอง ฟื้นย่านต่างๆ จนมีรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการฟื้นคลอง 3 คลอง อย่างคลองหลอด คลองโอ่งอ่าง และคลองผดุงกรุงเกษม ทำให้ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาเมืองมากมาย กรุงเทพมหานครเองก็เริ่มจะเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองบ้างแล้ว พวกเขาทำได้อย่างไร ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ได้รับเกียรติจากคุณพงศกร ขวัญเมือง อดีตโฆษกของกรุงเทพมหานคร มาเล่าประสบการณ์ผ่านทางออนไลน์ ในฐานะเป็นผู้ที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนฟื้นคลอง ฟื้นย่านของกรุงเทพฯ จะมาช่วยไขกุญแจถึงประสบการณ์ที่สำคัญของการพัฒนาฟื้นคลองและการพัฒนาเมืองที่ผ่านมา และอะไรคือสิ่งที่ผู้นำและผู้ปฏิบัติของเมืองต่างๆ ควรเรียนรู้
ภาพ คุณพงศกร ขวัญเมือง
แนวคิดหรือไอเดียของนโยบายฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต ของกรุงเทพมหานครมาจากอะไร
นโยบายฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคตเป็นนโยบายของอดีตผู้ว่าอัศวิน ขวัญเมืองที่ต้องการพัฒนาย่านต่างๆ ต้องยอมรับว่าในคนรุ่นผมนั้นจะเห็นว่ากรุงเทพมหานครกระจัดกระจาย ที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครสำหรับผมส่วนใหญ่ก็จะเป็นห้าง เป็นสถานที่ที่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่เวลาฟังคนสมัยก่อนเขาเล่าให้ฟังว่าเขามีที่เดินเที่ยวที่สะอาด เห็นคลองสะอาดใส บางคนก็บอกว่าเคยจับกุ้งในแม่น้ำเจ้าพระยาหรือจับกุ้งในคลอง อันนี้เราก็คิดภาพไม่ออกนะครับ แต่ว่าอดีตผู้ว่าอัศวิน ท่านบอกว่าอยากจะฟื้นคืนสิ่งดีๆ กลับมา และอยากจะเชื่อมย่านต่างๆ เพราะว่าเขายอมรับว่าในย่านต่างๆ นั้นขาดการเชื่อมต่ออย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางสัญจรทางน้ำ อย่างเช่น คลองผดุงกรุงเกษมก็ดี หรือคลองแสนแสบก็ดี ในอดีตคลองได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นการคมนาคมและการป้องกันข้าศึก แต่ในปัจจุบันคลองกลายเป็นแค่คลองระบายน้ำ ซึ่งไม่ได้ระบายน้ำด้วย เราแค่ทิ้งน้ำเฉยๆ นี่เป็นแนวคิดที่ถูกละเลย เพราะสมัยก่อน “คลองเป็นหน้าบ้าน” เพราะคนสัญจรทางน้ำ แต่ตอนนี้คลองกลายเป็นหลังบ้าน กลายเป็นแค่ที่ทิ้งน้ำ ไม่ใช่ที่ระบายน้ำ เพราะว่าคลองที่อุดตันมีเยอะมาก อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการพัฒนาย่านต่างๆ ให้เกิดศักยภาพ โดยย่านจะมีทั้งหมด 5 ย่านที่สำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต
ย่านที่หนึ่ง คือ ย่านของการแพทย์และการเดินทาง คือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ย่านที่สอง คือ ย่านเมืองเก่า คือในส่วนของคลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง และคลองรอบคูเมืองเดิม อย่างคลองหลอด เป็นพื้นที่สามชั้นที่รวมกันเป็นย่านเมืองเก่า
ย่านที่สาม คือ ย่านธุรกิจ คือบริเวณพื้นที่สีลม
ย่านที่สี่ คือ ย่านเมืองใหม่ เป็น Central business district (CBD) ใหม่ คือบริเวณย่านพระราม 9
ย่านที่ห้า คือ ย่านชุมชน บริเวณฝั่งธนบุรีตรงคลองสาน ตรงอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นโครงการที่เราต้องการที่จะทั้งฟื้นเมืองให้กลับมาดีขึ้น ต้องการเชื่อมย่าน และทำให้ในอนาคตนั้นมีพื้นที่ที่ให้คนหย่อนใจ ไม่ใช่ว่าทุกคนไม่รู้จะไปไหนก็ไปแต่ห้าง ตอนนี้ก็มีหลายย่านที่ทำสำเร็จไปบางส่วนแล้วครับ ซึ่งอยู่ในนโยบายของกรุงเทพมหานคร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าอยากให้ผู้บริหารในปัจจุบันสานต่องานต่อไปครับ
ความคืบหน้าการพัฒนาย่านต่างๆ เป็นอย่างไร
เริ่มทีละย่านนะครับ ย่านแรกที่จะพูดถึงคือบริเวณย่านศูนย์การแพทย์และการพาณิชยกรรม ตรงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ย่านนั้นเรามีการคุยกันแล้วที่จะเริ่มโครงการ แต่ยังไม่ได้เริ่มครับ และพอเปลี่ยนผู้บริหารเมืองชุดใหม่ ทำให้ไม่ได้พัฒนาย่านนี้
ย่านเมืองเก่านั้น คืบหน้าและทำได้เยอะแล้ว ตั้งแต่คลองโอ่งอ่าง พัฒนาเข้าสู่เฟสที่ 2 หรือ 3 แล้วครับ เฟสที่หนึ่งที่ได้รับความสำเร็จไปแล้ว ทุกคนทราบอยู่แล้วว่ามันประสบความสำเร็จเยอะมาก ในส่วนของคลองผดุงกรุงเกษมก็เสร็จในเฟสที่หนึ่งเรียบร้อย คลองหลอดก็เสร็จแล้วตั้งแต่แรกๆ เลยครับ นี่ก็เป็นส่วนที่สำเร็จแล้ว
ส่วนของเป็นย่านเมืองใหม่ คือส่วนของถนนสีลมก็ได้มีการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว และมีการเชื่อมไปยังคลองช่องนนทรี ซึ่งในสมัยของท่านผู้ว่าอัศวินนั้นเสร็จในเฟสที่หนึ่ง แต่ตอนนี้ก็เข้าใจว่าทางท่านผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการต่อในการพัฒนาย่านนั้น ดังนั้นจึงค่อนข้างเสร็จไปเยอะ รวมถึงถนนพระราม 1 ด้วย
ในย่านเมืองใหม่ตรงนั้น ในย่านพระราม 9 จะยังไม่ค่อยได้คืบหน้ามากนัก จะมีแค่การปรับปรุงไปได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนของย่านชุมชน เราก็ได้ทำเสร็จตั้งแต่สวนที่ติดกับคลองโอ่งอ่าง ที่เขาเรียกว่า สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ตรงนั้นก็แล้วเสร็จในสมัยท่านผู้ว่าอัศวิน และย่าน CDP (Census-Designated Place) บริเวณคลองสานก็เริ่มมีการพัฒนา ดังนั้นจึงยังเป็นโครงการที่มีการทำมาอย่างต่อเนื่องนะครับ เรียกได้ว่าเสร็จไปประมาณ 30% แต่ปัจจุบันก็ยังคิดว่าอาจจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมในบางโครงการ เพราะว่าต้องยอมรับว่าหลายโครงการต้องใช้เวลาในการพัฒนา
สิ่งที่สำคัญคือถ้าเกิดเราย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว และบอกว่าจะพัฒนาคลองในกรุงเทพมหานครให้สะอาดและสามารถใช้ทำกิจกรรมได้ ฟังดูเป็นเรื่องตลกสำหรับหลายๆ คน อย่างตัวผมเอง ผมเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในช่วงม.ต้น ภาพที่ผมเห็นในบริเวณอย่างคลองหลอด คือคลองเป็นที่ปัสสาวะของคนไร้บ้าน แล้วเขามายืนปัสสาวะกัน ขับรถไปโรงเรียนเห็นทุกวัน สกปรกมาก แม้กระทั่งคลองโอ่งอ่างนะครับ ตัวผมยังไม่รู้เลยว่าบริเวณนั้นเป็นคลอง ผมเคยไปสะพานเหล็กแต่ไม่รู้ว่าคือคลองนะครับ ดังนั้น ถ้าเกิดเราย้อนไปพูดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ดูเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่น่าจะทำได้ แต่สิ่งที่เราทำได้กว่า 30% นั้น ทำให้คนเชื่อว่ามีโอกาสจริงๆ มีโอกาสที่กรุงเทพฯ จะเป็นเหมือนเมืองอัมสเตอร์ดัมที่เป็นเมืองแห่งคลอง ที่เราเรียกว่า เวนิสตะวันออก เรามีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น มีโอกาสที่จะเป็น River Walk ได้ แล้วก็มีโอกาสที่เป็นแบบหลายๆ เมืองที่เขามีคลองที่ดี ที่ไม่ใช่แค่ที่ทิ้งน้ำ แต่เป็นที่ที่คนสามารถมาใช้ในการสันทนาการได้ ใช้ในการเดินทางได้ และเป็นที่ที่คนเห็นก็มีความสุขได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราสร้างทางสว่างให้เกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
คลองของกรุงเทพฯ มีเรื่องราวและความสำคัญอย่างไร
เราต้องนึกภาพย้อนไปช่วงก่อน พ.ศ. 2425 ตอนช่วงพระเจ้าตากสินมาก่อตั้งกรุงธนบุรี ก็จะมีเมืองอยู่ฝั่งพระนครส่วนหนึ่ง เมืองหลวงอยู่ฝั่งธนบุรี ตามหลักการสร้างเมือง เวลาที่จะสร้างเมืองก็ต้องมีการขุดคูคลองล้อมรอบ หนึ่งเพื่อป้องกันข้าศึก สองคือไว้สัญจร แล้วตรงฝั่งกรุงธนบุรีก็จะมีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นไว้ แต่ฝั่งพระนครที่ในตอนนั้นยังไม่ได้เป็นเมืองใหญ่มากก็ต้องมีคลองเหมือนกัน เขาก็เลยมีการขุดที่เรียกว่า คูเมืองเดิม แต่พวกเราอาจจะไม่คุ้น ชื่อที่เรียกง่ายๆก็คือ คลองหลอด อันนั้นคือเป็นคูเมืองเดิมที่เราเริ่มสร้าง
พอเปลี่ยนมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 ได้มีการย้ายเมืองหลวงมา ย้ายจากกรุงธนบุรีมาอยู่กรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือบริเวณที่เขาเรียกว่า วัดพระแก้ว นะตรงนั้น พอเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการขุดคูเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือบริเวณคลองโอ่งอ่าง และอีกหลายคลองตรงนั้น จนไล่ไปจนถึงบริเวณแถววัดบวรนิเวศวิหารเลยครับ คือยาวไปออกตรงบริเวณนั้นเลย ซึ่งตรงนั้นก็คือคูเมืองที่เขาขุดขึ้นมา เสร็จแล้วพอเมืองเริ่มใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 คนเขาเริ่มมองว่าตัวเมืองใหญ่ไปแล้ว คือจะกระจุกอยู่แค่บริเวณพื้นที่ตรงปัจจุบันนี้ หรือก็คือสะพานผ่านฟ้า ไม่ได้แล้ว จึงมีการขุดคูเมืองใหม่ หรือก็คือบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคูเมืองใหม่ที่มีการพัฒนามาให้เมืองจริญมากขึ้น จนเลยสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้วเพราะว่าการขุดคูเมืองก็ไม่ได้เอาไว้กั้นข้าศึกอะไรมากและการสัญจรก็เริ่มมีรถยนต์แล้ว คลองก็เลยมีความสำคัญน้อยลงในเรื่องของคูเมือง
พอเราเล่าถึงประวัติศาสตร์นี้ แม้ว่าคลองเหล่านี้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากๆ แต่ว่าในช่วงรุ่นอายุรุ่นผม ช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นความสำคัญของคลองเหล่านั้นเลยครับ เราเห็นเป็นแค่ที่ทิ้งน้ำ อย่างคลองหลอดก็ดี คลองโอ่งอ่างก็ดี หรือแม้แต่คลองผดุงกรุงเกษมก็ดี กลายเป็นแค่ที่ทิ้งน้ำครับ การสัญจรก็ไม่ได้ใช้เลย เราก็เลยมีการคิดกันว่า ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาพื้นที่นี้ได้ การมองนโยบายสาธารณะกับหลักการมองธุรกิจเขาบอกว่าให้มองเหมือนกัน ก็คือ การมองว่าเราต้องการเห็นภาพอะไรในอนาคต อย่ามองว่าทำอะไรแล้วจะดีแค่นั้น แต่ต้องมองจินตนาการภาพให้เห็นชัด ซึ่งตอนนั้นท่านผู้ว่าบอกว่าท่านอยากเห็นภาพแบบนี้ ภาพที่คลองดีขึ้นทั้ง 3 คลอง เพราะคลองทั้งหมดเป็นคลองประวัติศาสตร์ทั้งหมดและมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ดีได้เหมือนต่างประเทศ
แต่ละคลองมีแนวคิดการพัฒนาและดำเนินการอย่างไร
ภาพ คลองหลอดหลังพัฒนา
คลองหลอด
เริ่มต้นจากการพัฒนาคลองหลอดก่อน ในตอนนั้นใครเห็นก็บอกว่า ทำไม่ได้ สกปรกมาก แล้วคลองก็เป็นอย่างนี้มานานมากแล้ว ตัวผมปีนี้อายุ 30 ปี ผมเห็นมาตลอดแน่นอน คือสกปรก สภาพที่มันไม่ดี เราก็เริ่มทำจนคลองหลอดกลับมาสะอาดได้ แต่คลองหลอดนี้ไม่ได้รับรางวัลอะไรนะครับ เพราะว่าเป็นคลองที่เราทำเรื่องความสะอาดและเรื่องการปรับสภาพคลองให้มันดีขึ้นแค่อย่างเดียว
ภาพ คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง
เราก็เลยมาดูในพื้นที่คลองถัดไปนั่นคือรอบคูเมืองชั้นที่สอง ตรงบริเวณคลองโอ่งอ่าง แต่ตอนนั้นเขาไม่ค่อยเรียกกันว่าคลองโอ่งอ่าง แต่คนจะรู้จักในชื่อว่า "สะพานเหล็ก" แล้วสภาพในตอนนั้นที่น้ำมันไม่สามารถที่จะระบายออกได้ เพราะต้องเข้าใจว่าในเมืองนั้นเวลาการระบายน้ำออกจะต้องระบายออกผ่านคลอง แต่ตรงสะพานเหล็กคือจุดกั้นน้ำและน้ำไม่สามารถที่จะออกไปตรงบริเวณใต้สะพานพระปกเกล้าหรือสะพานพุทธได้เลย ทำให้กรุงเทพน้ำท่วม เพราะน้ำระบายออกไม่ได้
ดังนั้น เราจึงมีการพัฒนา เราเข้าไปคุยกับผู้ค้าและให้มีการรื้อย้ายออก เพราะว่าบริเวณที่ติดอยู่นอกคลองนั้นเป็น Mega Plaza พอดี เขาขายได้ แต่บริเวณคลองตรงนี้เราขอคืน พอเราทำการรื้อย้ายขอคืนพื้นที่แล้ว เราก็สามารถระบายน้ำออกได้แล้ว จึงมีการพูดกันว่า “จะให้มันเป็นแค่เขื่อนกั้นน้ำหรอ” เราก็เลยมาคิดกันว่าถ้าเราลองทำให้เป็นโครงการที่มากกว่าแค่คลองใสสะอาด เราก็ลองมาทำโครงการดู เราก็ไปดูต่างประเทศนะครับ ซึ่งก็มีหลายประเทศที่เขาพัฒนาย่านต่างๆ ให้เป็นย่านศิลปะ เราก็เลยลองจับคู่กัน ตอนนั้นสภาพทางกายภาพเสร็จแล้ว เราเลยไปลองคุยกับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ชื่อว่ากลุ่ม Happening, กลุ่มคุณโอ๋ ฟูตอง, กลุ่ม Street Art หลายๆ กลุ่ม และยังมีอีกเยอะเลยนะครับ นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ผมนึกออก ก็เลยบอกเขาว่ามาช่วยผมหน่อย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เขาก็ไปจับคู่กับชาวบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านก็ออกเงินให้กลุ่มเหล่านี้มาช่วยทาสีและกลุ่มเหล่านี้ก็คิดเงินในราคาถูกนะครับ คิดแค่ค่าสีเองครับ จนเกิดเป็นพื้นที่ street art
พอ street art เสร็จแล้ว ต่อมาเราก็คิดว่า ถ้ามาดูศิลปะอย่างเดียวมันก็กระไรอยู่รึเปล่า อย่างที่ลอนดอนหรือปารีส ที่ลอนดอนก็มีที่ Leicester Square และ Trafalgar Square ที่จะมีศิลปินเขามาออกเปิดหมวกกัน หรือที่ปารีส บริเวณพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) แต่เมืองไทยเรานั้นไม่มีพื้นที่เปิดหมวก การแสดงเปิดหมวก ดนตรีเปิดหมวก กิจกรรมเปิดหมวกให้เด็กไทยได้แสดงศักยภาพเพื่อที่เขาจะได้เป็นศิลปิน ดังนั้น เราต้องเป็นพื้นที่พัฒนาศิลปินด้วย ก็ให้คนที่เขาอยากมาแสดงศักยภาพเข้ามาได้เลย มาเปิดหมวกแสดงความสามารถเลย คุณอยากแสดงอะไรแสดงเลย พอเราเห็นว่าคนเริ่มเยอะแล้ว มีทั้งศิลปินเปิดหมวก มีทั้งคนมาดูงานศิลปะ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเขาเหล่านั้นก็เสียสละเยอะ ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เราก็เลยบอกกับคนที่อยู่บริเวณนั้นว่า เอาอย่างนี้พวกเรามาฟื้นฟูย่านนี้กัน ให้เขามาขายของกัน ที่กลายเป็นร้านดังมันก็มีเยอะมากเลยนะครับ จนกลายเป็นย่านของกินย่านหนึ่งไปแล้ว อันนี้ก็เป็นความสำเร็จที่ว่า ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ที่เรายังสามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวของคลองได้ ทั้งในด้านการสัญจรที่แม้ตรงนั้นอาจจะไม่ได้สัญจรกันแบบจริงจัง แต่ก็เป็นพื้นที่พายเรือให้คนได้มาทำกิจกรรมกันได้ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจที่ให้คนยังสามารถขายของได้ และเรื่องของศิลปะหรือเรื่องของศิลปินที่เขาก็สามารถมาพัฒนาศักยภาพได้ เราก็ได้รับรางวัลค่อนข้างเยอะเลยครับที่คลองโอ่งอ่าง เยอะมากๆ
ภาพ เรือไฟฟ้าบนคลองผดุงกรุงเกษม
คลองผดุงกรุงเกษม
พอเราทำคลองโอ่งอ่างเสร็จแล้ว เราจะทำคลองไหนต่อ แต่ในส่วนของเมืองเก่าใน 5 ย่านนั้นคลองถัดไปที่สำคัญคือ คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองที่มีศักยภาพมากกว่าคลองหลอดและคลองโอ่งอ่าง เนื่องจากสภาพของคลองที่มีความกว้างมากกว่านะครับ ดังนั้นเราก็เลยมองเห็นถึงศักยภาพเรื่องการคมนาคม เราจึงได้เริ่มโครงการวิ่งเรือไฟฟ้าตั้งแต่บริเวณหัวลำโพงไปจนถึงวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ทำให้จุดนั้นสามารถให้คนขึ้นไปชมเรือรอบกรุงได้ ตอนนี้ก็จะมีเรือไฟฟ้าให้คนสามารถใช้สัญจรได้ เพราะว่าต้องยอมรับว่าพื้นที่บริเวณนั้นรถค่อนข้างติด แต่ว่าเรือไฟฟ้าค่อนข้างสะดวก เรื่องคมนาคม การเดินทางที่ลงทุนต่ำที่สุดก็คือการเดินทางโดยเรือ เราเคยถูกเรียกว่า เวนิสแห่งตะวันออก แต่เรากลับนึกไม่ออกว่าอะไรคือเวนิสแห่งตะวันออก อย่างที่อัมสเตอร์ดัมเขามีการเดินทาง 2 อย่างที่สำคัญคือเรื่องของจักรยานและคลอง เรือของเขาเดินทางสะดวกมาก ถ้าเราจะเดินทางด้วยรถนั้นเราต้องมีการตัดถนนก่อน ต้องใช้เงินเยอะมาก แถมยังต้องซื้อรถอีก และต่างคนก็ต่างเดินทาง ยังมีเรื่องของมลภาวะอีกด้วยนะครับ หรือการเดินทางผ่านรางซึ่งลงทุนสูงแน่นอน การปักหมุด การเวนคืนที่ดิน การนำรถไฟมาวิ่งและการลงทุนอื่นอีกมาก แต่การเดินทางเรือ สิ่งเดียวที่ต้องลงทุนก็คือการลงทุนซื้อเรือ จึงเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุดในการที่พัฒนาเป็นเส้นทางหนึ่ง พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ เหมือนการสร้างรถไฟฟ้าบนคลอง
เรื่องศักยภาพของคลองผดุงกรุงเกษม ในเมื่อคลองมันกว้างและไหลผ่านหลายพื้นที่ เราเลยอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่เป็นทั้งสวน เป็นแบบสวนในเมือง (City garden) และเป็นพื้นที่ที่คนสามารถสัญจรได้ ก็เลยเริ่มตั้งแต่บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมครับ พอทำเสร็จเฟสแรกก็ได้รับรางวัลก่อนเลยครับ ล่าสุดในเฟสที่สองเพิ่งเห็นว่าทางท่านผู้ว่าชัชชาติได้นำไปทำต่อ มีการรื้อย้ายในส่วนของผู้ค้าตรงนั้น ทำให้สามารถเดินทางสัญจรได้มากขึ้น นี่เป็นความสำเร็จสำหรับคลองผดุงกรุงเกษมที่เราอยากให้เป็นคลองแห่งการคมนาคม เป็นคลองแห่งการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นคลองแห่งการค้าขาย
ในแง่การออกแบบคลองผดุงกรุงเกษม เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ขอเรียกว่า "กรุงเก่า" แล้วกัน ต้องมีการขออนุญาตหลายหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานหนึ่งก็คือกรมศิลปากร นี่ก็เป็นส่วนที่ต้องมีภาคส่วนอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ก็คือกรมศิลปากรที่จะคอยดูเรื่อง "แบบ" แต่ว่าการออกแบบในโครงการนี้เราได้รับความร่วมมือจากทางท่านกชกร วรอาคม ท่านมาช่วยออกแบบโดยไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรให้ เพราะว่าตัวผู้ออกแบบเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลค่อนข้างเยอะ และเป็นรางวัลระดับโลก อย่าง TIME 100 NEXT เป็นต้น ด้วยผลงานการันตีนี้แต่ท่านก็มาช่วยออกแบบให้ฟรี คือเราก็ไม่สามารถหาผู้ที่มีชื่อเสียงมากกว่านี้ได้ในประเทศไทยแล้ว ถือเป็นความโชคดีของกรุงเทพมหานครมากๆ
โครงการขนาดใหญ่ มักทำงานกับหลายภาคส่วน การฟื้นฟูคลองมีการออกแบบการทำงานอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง
โครงการฟื้นฟูคลองของกรุงเทพมหานคร มีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อยู่ประมาณ 5 กลุ่มครับ กลุ่มแรกคือกลุ่มของการเมือง กลุ่มที่สองคือกลุ่มของฝ่ายประจำ กลุ่มที่สามคือกลุ่มของภาคเอกชน กลุ่มที่สี่คือกลุ่มของหน่วยงานรัฐอื่นๆ กลุ่มที่ห้าคือกลุ่มของภาคประชาสังคม ค่อนข้างมีบทบาทเด่น อย่างอย่างในโครงการคลองผดุงกรุงเกษมนั้น ด้วยความที่ต้นไม้เป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างเก่ามาก แล้วก็เรามีปัญหาเรื่องการตัดต้นไม้ตลอด เพราะว่าทางกทม. ในสมัยก่อนเราตัดเหี้ยนตลอด เราก็เลยเชิญกลุ่มที่ต่อต้านการตัดต้นไม้อย่างกลุ่ม BIG Trees เข้ามาร่วมงานด้วย แล้วก็มีกลุ่มคนรักคลอง, กลุ่ม Accessibility Is Freedom และกลุ่ม Friendly Design กลุ่มนี้ก็จะมาช่วยออกแบบอารยสถาปัตย์ครับ กลุ่มอาศรมศิลป์, กลุ่ม We! Park, กลุ่ม UDDC และมีอีกเยอะมากครับ
การทำงาน ก็จะเริ่มจากกลุ่มการเมือง กลุ่มที่ตัดสินใจในภาพนโยบายทุกอย่าง กลุ่มที่สองคือกลุ่มฝ่ายประจำ ข้าราชการประจำเขาจะคอยดำเนินการ เขาเรียกว่า execution คือการนำไปสู่การปฏิบัติ ตรงนี้จะเป็นงานของฝ่ายประจำ ซึ่งก็จะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ในส่วนของ กทม. ก็คงไม่มีปัญหาอะไรเพราะว่ามีผู้บริหารที่เป็นฝ่ายประจำก็คือท่านปลัดกทม. ในการดูแลควบคุม แต่กลุ่มที่สาม กลุ่มที่สี่ กลุ่มที่ห้า จะเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย มีประเด็นแตกต่าง ไม่ได้เห็นด้วยตามฝ่ายการเมืองทุกอย่างเหมือนฝ่ายข้าราชการประจำ กลุ่มที่สามคือภาคเอกชน ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมมากๆ ยิ่งโซนไหนมีห้างสรรพสินค้า โรงแรมต้องให้พวกเขามามีส่วนร่วม กลุ่มที่สี่คือกลุ่มหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในฐานะ กทม. เป็นหน่วยงานท้องถิ่นก็จริง แต่เป็นท้องถิ่นที่มีอำนาจน้อยถ้าเปรียบเทียบกับท้องถิ่นอื่น อย่างคลองผดุงกรุงเกษมเลยครับ บริเวณข้างบนไล่ลำดับลงมา เสาไฟฟ้า สาธารณูปโภค เป็นของกระทรวงมหาดไทย หรือก็คือการไฟฟ้าและการประปา ส่วนทางเดินก็เป็นของกทม. ในส่วนของเขื่อนก็เป็นของกรมเจ้าท่า พอลงข้างใต้ในภาพรวมก็ของกรมศิลปากร กลุ่มสุดท้ายคือภาคประชาสังคม กลุ่มภาคประชาสังคมครับ ก็อย่างคลองผดุงกรุงเกษม ตรงบริเวณหัวลำโพงจะมีพื้นที่ที่มีการขนส่งสินค้ากันเยอะ คนเหล่านี้ก็ต้องให้เขามีส่วนร่วมด้วย
ดังนั้นแล้วห้าภาคส่วนที่สำคัญจะต้องมีคนที่ขับเคลื่อนก็คือฝ่ายการเมืองคอยเป็นตัวแทนในการพูดคุยของทั้งห้ากลุ่ม แต่ทุกคนก็จะมีหน้าที่ในการที่จะดำเนินการแตกต่างกันไป สุดท้ายแล้วถ้าห้าภาคส่วนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น สามารถที่จะช่วยกันพัฒนาได้ โครงการเหล่านี้ก็จะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างจริงจังนะครับ หากเป็นนโยบายแล้ว แล้วการเมืองเปลี่ยน ก็เปลี่ยนแค่กลุ่มเดียว ส่วนภาคส่วนอื่นๆ ที่เหลือก็สามารถที่จะดำเนินการได้ต่อครับ
หลายกลุ่มมีวาระหรือประเด็นของตนเอง ทำอย่างไรให้ให้กลุ่มต่างๆ มองเห็นตรงกลางร่วมกัน
ผมจะขออนุญาตเล่าเป็นข้อเท็จจริงเลยนะครับ ต้องขอเรียนว่าในกลุ่มของพี่น้องข้าราชการนั้นส่วนมากพวกเขาจะตอบตกลงการทำงานอยู่แล้ว เพราะว่าข้าราชการตามหน้าที่ของเขาแล้วคือเขามีหน้าที่ในการทำให้สิ่งที่เป็นนโยบายทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการที่ข้าราชการตอบตกลงตลอดเวลา เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามจะดีหรือไม่ดีอย่างไรเขาก็ตอบตกลงหมดเลย โดยบางครั้งอีกสามภาคส่วนอาจจะตอบปฏิเสธ เราเลยจำเป็นต้องดึงเอากลุ่มเหล่านี้เข้ามาร่วมงานให้ครบครับ เพราะถ้าถามแค่ในกลุ่มของข้าราชการแล้ว ต้องเรียนตามตรงครับว่าจะทำดีหรือไม่ดีอย่างไรเขาก็พร้อมจะดำเนินการให้ ตราบใดที่สิ่งเหล่านั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย
ทั้งนี้ก็เป็นไปตามหลักนโยบายสาธารณะ ข้าราชการมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายทางการเมืองที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าสิ่งนั้นท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะมีการยึดโยงกับประชาชน แต่ข้าราชการนั้นจะไม่มีสิ่งที่ยึดโยงกับประชาชนเลย สิ่งเดียวที่ยึดโยงได้ใกล้ที่สุดกับประชาชนก็คือกลุ่มการเมือง จึงทำให้ข้าราชการควรทำตามนโยบายของฝ่ายการเมือง
สำหรับภาคประชาสังคมกับภาคธุรกิจ หลายอย่างเขาก็จะมีข้อเรียกร้องเข้ามาเยอะ จากประสบการณ์จริงนะครับ การที่เรา Include them in the room คือเราให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องนั้นด้วย สุดท้ายแล้วก็มีทางออกหมดครับ อย่างเรื่องคลองโอ่งอ่างที่เป็นจุดที่เขาเรียกว่า ไม่มีจุดตรงกลาง (middle ground) เลยนะครับ เพราะว่าต้องรื้อผู้ค้าออก ดังนั้นเขาต้องไม่พอใจอยู่แล้ว แต่เราก็ได้แต่ว่าต้องอธิบายเขาว่า ทำไม มีเหตุผลอะไรบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ยอมให้รื้อ แต่บางเรื่องนะครับอย่างการที่เราไปรื้อเลยโดยไม่ให้เขามีส่วนรู้เห็น เขาก็จะมีการต่อต้านที่รุนแรง แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลดแรงต่อต้านได้และบางสิ่งอาจจะทำได้ดียิ่งขึ้นด้วยซ้ำ อย่างคลองโอ่งอ่างก็จะเห็นได้ว่าตอนแรกชาวบ้านแถวนั้นเขาไม่เอาด้วยเลย เพราะว่าที่สะพานเหล็กนั้นเขายังเห็นภาพว่าสินค้าขายดีอยู่แล้ว หมายถึงชาวบ้านข้างๆ นะครับ ไม่ใช่คนที่รุกล้ำ เขาก็บอกว่า "คนก็มาเดินสะพานเหล็กอยู่นี่" แต่พอปัจจุบันเราทำเสร็จแล้ว ให้เขาย้อนกลับไปเป็นสะพานเหล็กเขาก็ไม่เอาแล้ว เพราะว่าปัจจุบันดีกว่ามากนะครับ
การเมืองที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้การสานต่อโครงการพัฒนาคลอง หรือโครงการพัฒนาอื่นๆ เป็นไปได้มากน้อยอย่างไร
นี่เป็นเหตุผลที่เราถึงทำโครงการให้เป็นภาพใหญ่ เพราะว่าต้องยอมรับว่าในด้านการเมืองนั้น นักการเมืองนั้นเข้ามาแล้วก็ออกไป แต่ถ้าเกิดมีนโยบายที่ดีอยู่ นโยบายนั้นจะสามารถอยู่ต่อได้ นี่คืออีกสาเหตุที่ว่าไม่ว่าจะเฟสอื่นๆ ในคลองผดุงกรุงเกษมได้เดินหน้าต่อและคลองโอ่งอ่างได้เดินต่อ เพราะสุดท้ายแล้วเป็นสิ่งดีๆ ที่ประชาชนได้รับ ผมเชื่อว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนที่จะยกเลิกโครงการดีๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแง่ลบกว่าเดิม แต่บางคนก็อาจจะเดินทางช้าสักหน่อย เพราะต้องยอมรับว่าผู้บริหารแต่ละคนก็มีแนวทางที่ต่างกัน อย่างบริเวณย่านกรุงธนบุรีก็ดี บริเวณย่านของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือที่เราเรียกว่าย่านพาณิชยกรรมก็ดี ตรงนั้นก็จะมองในมุมต่างกันก็อาจจะมีแนวทางที่แตกต่างกัน แต่ว่าอย่างที่บอกครับว่า สุดท้ายแล้วผมก็ต้องใช้คำว่า นี่ไม่ใช่โครงการของผู้ว่าอัศวินหรอกครับ นี่คือโครงการของกรุงเทพมหานคร ที่เราคิดว่าฝ่ายประจำเขาได้ทำการศึกษาและทำการดำเนินการไปแล้วและได้รับผลการตอบรับที่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าอัศวินหรือผู้ว่าชัชชาติ ผมก็เชื่อว่าทุกโครงการเหล่านี้ก็จะยังดำเนินการต่อไปครับ
อุปสรรคใหญ่ที่ต้องก้าวข้ามในการที่จะฟื้นคลองโบราณ คิดว่าถ้าหากว่าเมื่องอื่นๆ ในไทย เขาคิดจะนำไปฟื้นคลองเก่าของเขา เขาต้องตระหนักถึงเรื่องอะไรบ้าง
ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด มีสองเรื่องนะครับ เรื่องแรกคือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องคุยกับเขาให้เข้าใจว่าเพราะอะไรเราถึงจะต้องการทำอย่างนั้น ต้องมีภาพให้เขาเห็นชัดเจนเลยนะครับว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ให้เขาได้มีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด อย่างในกรณีคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมเรามีการพูดคุยกับประชาชน (public hearing) ไม่ต่ำกว่า 100 ครั้งนะครับ
ในส่วนที่สองคือเรื่องที่จะต้องมีการวางแผนให้ดี เพราะว่าการพัฒนาหลายๆ อย่างต้องมีศิลปะด้วยครับ การจะไปสร้างที่กั้นน้ำอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ ผู้ว่าฯ ท่านอื่นๆ เมื่อก่อนพัฒนาไว้เยอะมาก แต่ว่าขาดความเป็นศิลปะ เป็นแค่แบบโทรมๆ คนเลยไม่นิยม เลยต้องใช้ศิลปะเหล่านี้ครับ ดังนั้น ภาพที่เราวางแผนในอนาคตจะต้องชัดเจน ถ้าเกิด อบต. หรือ อปท. สักที่หนึ่งอยากจะพัฒนาคลองเอง ท่านต้องบอกให้ได้ว่าพื้นที่คลองนี้จะเป็นเหมือนหรือคล้ายคลองอะไร อย่างน้อยเท่านั้นก็ยังดีครับ ถ้าไม่มีจินตนาการหรือภาพอื่นๆ คลองก็จะกลายเป็นแค่ที่ระบายน้ำ ซึ่งในต่างจังหวัดมีเยอะมากและยาวมากเลยนะครับ ดังนั้นสิ่งนี้ต้องมีสิ่งที่เป็นมากกว่าการแค่เป็นเขื่อนกั้นน้ำหรือที่กั้นคลองครับ
ในฐานะนักนโยบายสาธารณะ กระบวนการนโยบายสาธารณะของการทำโครงการฟื้นคลองนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดคืออะไร แล้วกระบวนการของประเทศไทยต่างจากต่างประเทศอย่างไร เราควรเน้นตรงขั้นตอนไหนเป็นสำคัญ
ผมว่ามีความสำคัญทุกอย่าง แต่ว่าถ้าสำหรับผมที่ศึกษานโยบายสาธารณะมา ความจริงแล้วผลการศึกษาส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่จะชี้วัดได้ทุกอย่าง เพราะว่าผลการศึกษาบางครั้งพอทำมาจริงๆ อาจจะไม่ดีก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือคนที่จะเป็นหัวหน้าโครงการหรือเป็นผู้ที่ออกนโยบาย เขาต้องมองเห็นภาพในอนาคต อย่างถ้าธุรกิจเขาบอกว่าคนที่จะรวยอย่าขายของแค่ว่าวันนี้ว่าคนจะซื้ออะไรเยอะ แต่ต้องมองภาพว่าอีก 10 ปีโลกจะเป็นอย่างไรแล้วทำธุรกิจตามนั้นดักไว้ ในเรื่องของนโยบายสาธารณะก็เช่นกัน ยกตัวอย่างในสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะเห็นชัด คือ ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอย่างลีกวนยูในสมัยตอนที่แบ่งแยกมาจากมาเลเซีย ตรงพื้นที่บริเวณอ่าวมารีน่าตอนนั้นเป็นบึงโคลนอยู่ แต่อีก 20 ปีใครจะคิดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนมาเยอะที่สุด เป็นแหล่งเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งที่ทำให้คนลงทุนมากที่สุด ทุกวันนี้ที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลก โรงแรมที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น เมื่อกลับมาที่สิ่งที่ผมบอกคือ หนึ่งก็คือตัวผู้บริหารต้องมองเห็นว่าภาพที่คุณจะทำเป็นอย่างไร คุณอาจจะไม่ได้อยู่จนเห็นสิ่งนั้นนะครับ แต่คุณต้องวางนโยบายที่เป็นเส้นวิสัยทัศน์ไว้ในอนาคต
ส่วนที่สองก็คือ เรื่องของการดึงคนมามีส่วนร่วมก่อนออกแบบ อันนี้ข้อสำคัญ การมีส่วนร่วมนั้นสำคัญมากกว่า เพราะเป็นการรับฟังนะครับ อย่างที่ผมบอกว่าเราเจอใครอยากมีส่วนร่วมให้มาเลย ให้มาช่วยกัน แล้วก็บางโครงการที่ขาดเรื่องนี้ทำให้มีปัญหา และอย่างที่สามคือการที่จะทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจริง อาจจะฟังดูง่าย แต่เป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลยนะครับ เพราะว่าบางทีเรามีวิสัยทัศน์แล้ว เรารู้แล้ว แต่เราทำไม่ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหา ดังนั้นทั้งสามกระบวนการนี้ถือว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุด แต่ว่าก็สำคัญที่สุดเช่นกัน แต่ถ้าถามผมว่าให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงเป็นวิสัยทัศน์ ที่ต้องมองให้เห็นว่าในอนาคตเราจะเป็นอย่างไรครับ และอย่างอื่นๆ ก็จะดำเนินการตามมา
• AUTHOR |
|
นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com |