
ณัฐธิดา เย็นบำรุง
แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (นพม.) ดำเนินงานภายใต้ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีความสนใจด้านการพัฒนาเมืองสุขภาวะ ได้สนับสนุนให้มีนักวิจัยเรื่องการพัฒนาเมืองในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงความเป็นเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค จัดประชุมเวทีวิชาการเรื่อง “นวัตกรรมการพัฒนาเมืองและมหานคร” เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและนวัตกรรมการพัฒนาเมืองและมหานครยุคใหม่ของไทยสู่เมืองสุขภาวะ และจัดให้มีการนำเสนอความก้าวหน้างานวิจัย และให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาเมืองให้ข้อเสนอแนะต่องานวิจัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยให้สมบูรณ์ มีความเหมาะสม สอดคล้องและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองสุขภาวะมากยิ่งขึ้น
พัฒนาการความเป็นเมืองลำปาง
เปิดงานด้วยการชวนพูดคุยถึงพัฒนาความเป็นเมืองในลำปาง ที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ และการขับเคลื่อนเมืองโดยการอนุรักษ์การกองต้า นำชวนคุยกับ คุณกิติศักดิ์ เฮงษฏีกุล วิศวกรอาวุโส กรมชลประทาน ผู้ซึ่งมีประสบการณ์และแกนหลักในการขับเคลื่อนเมืองและพัฒนากาดกองต้าในลำปาง ได้ถ่ายทอดภาพความสวยงามของลำปางตั้งแต่สมัยอดีต อธิบายภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนลำปาง พร้อมกับประสบการณ์การขับเคลื่อนกาดกองต้าให้กลายเป็นถนนคนเดินที่เต็มไปบ้านสถาปัตยกรรมแบบพม่า ยุโรป ในสมัยอดีต พร้อมทั้งอธิบายพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเมืองลำปาง จนถึงวันนี้ที่ลำปางกลายเป็นเมืองมหานครของภาคเหนือ มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อวันเป็น 5 เที่ยวต่อวัน มีภาคธุรกิจเข้าลงทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แม็คโค โลตัส เซ็นทรัล โรบินสัน บิกซี โฮมโปร ก่อกระแสที่ทำให้กระทบร้านค้าท้องถิ่น ชุมชนเปลี่ยน ซึ่งจะการล่มสลายของเมืองเก่า ด้วยเหตุนี้คุณกิติศักดิ์จึงมีข้อเสนอถึงการอนุรักษ์เมืองลำปาง จากการเข้ามาของทุนนิยามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ควรมีการจัดโซนนิ่งอนุรักษ์เมืองเก่า มาตรการรักษาอาคาร ซึ่งบางอาคารมีความสำคัญระดับประเทศ และการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น ย้ายสายไฟลงดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ระบบจราจรที่เอื้อต่อคนสัญจร การอนุรักษ์เมืองเก่าจะช่วยให้เรื่องราว ตำนาน ประวัติศาสตร์ ยังคงอยู่เป็นเสน่ห์ต่อไป หากเมืองเราต้องก้าวไปข้างหน้า
นำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยพื้นที่เมืองในประเทศไทย
ช่วงต่อมา เป็นการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าของนักวิจัย ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ โดยแผนงานฯ สนับสนุนให้มีวิจัยการพัฒนาเมืองในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยมีพื้นที่ที่ศึกษาคือ เชียงใหม่ ปัตตานี สงขลา อีสานกลาง(ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์) สงขลา ชุมชนเมืองเอก ม.รังสิต และนครปฐม เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกของความเป็นเมืองที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาทางออกสำหรับการพัฒนาเมืองในอนาคตของแต่ละพื้นที่ การนำเสนอรายงานความก้าวหน้าครั้งนี้ เพื่อให้แสดงข้อมูลถึงความก้าวหน้าในงาน และให้ผู้ทรงคุณวุฒิให้ประเมินงานและให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาในการวิจัยต่อไป โดยมีลำดับการนำเสนอดังนี้
1. พื้นที่เชียงใหม่
การศึกษาความเป็นเมืองในเชียงใหม่ ได้นำเสนอผ่านหัวข้อ อนาคตของเมืองเชียงใหม่ : .ในการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยภาคประชาสังคม โดยคุณสามารถ สุวรรณรัตน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอความก้าวหน้าเกี่ยวกับพัฒนาความเป็นเมืองเชียงใหม่จากอดีตที่ผ่าน (จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2504 จนถึงปัจจุบัน โดยสามารถสรุปเนื้อหาการนำเสนอคือ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ดำเนินไปในจากดำริการพัฒนาของกษัตริย์ ต่อมาขับเคลื่อนโดยนโยบายรัฐสยาม ลดอำนาจเจ้าผู้ครองนคร จนมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เชียงใหม่ถูกพัฒนาให้เป็นหลักของภูมิภาคทางภาคเหนือ จึงเกิดการเจริญเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็วมาก จนเริ่มมีการตั้งคำถาม และต่อต้าน จากกลุ่มคนรักท้องถิ่น กลายเป็นประเด็นของการขับเคลื่อนของภาคประชาคมอย่างน่าสนใจ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้วิจัยจะทำการศึกษาต่อในอนาคต
2. พื้นที่สายบุรี จังหวัดปัตตานี
พื้นที่สายบุรี เป็นพื้นที่ศึกษาที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม เน้นการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเมือง ภายใต้ชื่อโครงการจัดการความรู้อนาคตเมืองสายบุรี โดยคุณอานัส พงษ์ประเสริฐ ประธานกลุ่มสายบุรี looker และคุณณายิป อาแวบือซา สถาปนิกชุมชน ที่ต้องการใช้สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ของท้องถิ่น ดึงใจคนให้กลับมาอยู่ร่วมกันได้ หลังจากเกิดเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้นำเสนอถึงที่มา เหตุผลในการทำงานของกลุ่มสายบุรี looker ที่เป็นกลุ่มช่างภาพที่เห็นเรื่องราวความสวยงามของสถาปัตยกรรม ศิลปะ วิถีชีวิตที่น่าสนใจของสายบุรี ดึงจุดเด่นเหล่านี้ผลักดันให้คนสายบุรีรักและภูมิใจในท้องถิ่น รวมทั้งกลับมารักกันเหมือนเดิมอีกครั้ง นำเสนอกิจกรรมที่เคยทำ นำเสนอสถาปัตยกรรมสวยๆ เช่น คฤหาสน์พิพิธภักดี วังพิพิธภักดี สถาปัตยกรรมที่สวยงามแบบมาลายู และแผนการดำเนินงานในอนาคตที่ต้องการรวบรวมองค์ความรู้ของสายบุรีในมิติประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดในการพัฒนาขับเคลื่อนเมืองต่อไป
3. พื้นที่จังหวัดสงขลา
แผนงานนพม. ให้การศึกษาอนาคตพื้นที่สงขลา ด้วยโครงการจัดเวทีวิชาการเพื่อการจัดการความรู้อนาคตสงขลา โดย ดร. สินาด ตรีวรรณไชย และคณะ เนื่องจากการพัฒนาอนาคตเมืองสงขลานั้น มีหลายมิติที่ต้องให้ความสำคัญ การจะพัฒนาอนาคตเมืองสงขลาได้ จึงต้องมีการจัดการความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยได้นำเสนอความรู้ที่ได้สกัดจากการจัดเวทีวิชาการ คือ การนำเสนอโครงการของกรมเจ้าท่าในการขุดลอกทะเลสาบสงขลาและรื้อถอนเครื่องมือประมง ตามแนวร่องน้ำ เนื่องจากประมงในทะเลสาบสงขลาลดลง ทางชาวประมงจึงพยายามเพิ่มเครื่องมือให้ได้ผลผลิตเต็มแนวชายฝั่ง แต่ยังมีข้อวิจารณ์ถึงเรื่องทิ้งตะกอนและเงินชดเชยการรื้อถอน โดยใช้งบประมาณถึง 1,379 ล้านบาท โดยผู้วิจัยได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า โครงการที่ใช้งบประมาณที่สูงมากขนาดนี้ แต่ผลทางปฏิบัติกลับทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ได้ออกโครงการผ่านการสำรวจความคิดเห็นประชาชนและเครือข่ายของสงขลา ซึ่งด้วยงบประมาณสูง หากนำไปพัฒนาเมืองด้านอื่นที่ผ่านกระบวนการร่วมกัน จะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับอนาคตของสงขลาได้มาก ซึ่งคณะผู้วิจัยจะศึกษาต่อถึงทุนทางสังคมของสงขลา เพื่อพัฒนาเป็นทางเลือกการพัฒนาเมืองจากทุนของตนเอง
4. พื้นที่อีสานกลาง (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์)
พื้นที่อีสานกลาง ศึกษาการพัฒนาเมืองในหัวข้อ สถานะทุนทางสังคมที่สะท้อนความเป็นอีสานในชุมชนเมืองและบทบาทในการเสริมสร้างเมืองที่มีเอกลักษณ์และยั่งยืน โดย ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยผู้วิจัยสนใจได้นำเสนอถึงประเด็น การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นเมืองในปัจจุบันของเมืองต่างๆ ที่คล้ายกันหมด ซึ่งคณะผู้วิจัยต้องการค้นหาทุนทางสังคมที่ยึดโยงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่ยังคงเหลืออยู่ในอีสาน เพื่อนำสู่แนวทางการพัฒนาเมืองอีสานได้ ผู้วิจัยนำเสนอทุนทางสังคมที่เหลืออยู่ในแต่ละจังหวัด ที่ร้อยเอ็ดมีกลุ่มทำปลาร้าบอง กลุ่มเลี้ยงไก่ที่ยังมีการใช้ภูมิปัญญาและเป็นสร้างเครือข่ายทางสังคมเชื่อมโยงไปภาคอื่นๆ ที่ขอนแก่น โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ เป็นโครงการที่เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อบริหารจัดการชุมชน ที่มหาสารคามชุมชนโพธิ์ศรีที่ยังมีการทำข้าวเม่า และชุมชนใกล้วัดมหาชัยที่ยังคงทำปลาร้าบองมีความเกื้อกูลกันอยู่ ที่กาฬสินธุ์ มีกลุ่มปลูกผักของชุมชนดอนสวรรค์ สะท้อนพลังเครือข่าย ทุนทางสังคมเหล่านี้จะคอยเชื่อมผู้คนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งต่อไปทีมวิจัยจะศึกษาถึงข้อเสนอแนะแนวทางกำหนดนโยบายพัฒนาเมืองบนฐานของทุนทางสังคม
5. พื้นที่ชุมชนเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต
พื้นที่ชุมชนเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต ศึกษาการพัฒนาเมืองในหัวข้อ การพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัย : ชุมชนเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต โดยพ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล อาจารย์วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ชุมชนเมืองเอกเป็นชุมชนที่มีปัญหาเนื่องจากการก่อตั้งของมหาวิทยาลัย เพราะจำนวนคนเยอะขึ้นมาก แต่ยังไม่มีการจัดการ โดยใช้แนวคิดการสร้างเมืองมหาวิทยาลัยในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนอปัญหาของชุมชนเมืองเอกไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสาธารณูปโภค ขยะ การคมนาคม พร้อมกับนำเสนอตัวอย่างแนวคิดเมืองมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น เมืองโบโลญญา เมืองมหาวิทยาลัยในประเทศอิตาลี เมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ เป็นต้น โดยมีแผนการศึกษาต่อไปคือ หากลไกทางกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์หาข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาชุมชนเมืองเอกในฐานะเมืองที่มีมหาวิทยาลัยก่อตั้งอยู่
6.พื้นที่จังหวัดนครปฐม
แผนงาน นพม. สนใจการความเป็นเมืองของนครปฐม โดยต้องการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองนครปฐมในหลายๆมิติ เพื่อพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยในการแก้ไขเมืองต่อไป ในหัวข้องานวิจัย ความเป็นเมืองของจังหวัดนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง โดยผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนำเสนอข้อมูลการเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่างๆ กับจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และนำเสนอความเป็นเมืองในจังหวัดนครปฐม ซึ่งพบความน่าสนใจหลายอย่างเช่น เป็นเมืองเก่าแก่ เป็นเมืองแห่งการศึกษา (มีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง) มีภาคอุตสาหกรรมอาหารขับเคลื่อนเมือง ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกิดหอพักขึ้นจำนวนมาก โดยอนาคตของนครปฐมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในพื้นที่เครือข่ายสร้างรถไฟฟ้าจากกรุงเทพ ขยายตัวของโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลที่ศึกษามาเหล่านี้จะสามารถนำไปพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาเมืองนครปฐมต่อไป เช่น การศึกษาหาความเหมาะสมพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางด่วน (BRT) หรือการพัฒนาเป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็นต้น
การนำเสนองานวิจัย ของแต่ละพื้นที่ แต่ละบริบท และการเจาะลึกถึงประเด็นที่แตกต่างกัน ผู้ทรงคุณวุฒิมีข้อเสนอที่หลากหลายตามบริบทของพื้นที่ และประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้คณะวิจัยนำไปแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม พร้อมแนะนำประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับงานวิจัย เพื่อให้คณะผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมให้กับงานของตัวเองได้
การพัฒนาเมืองกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ในช่วงท้ายของการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีการถกประเด็นถึงการทำวิจัยการพัฒนาเมือง และการพัฒนาท้องถิ่น โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้ความเห็นว่า หลายพื้นที่เข้าสู่เข้าเป็นเมืองเยอะมาก ประเทศไทยเริ่มมีเมืองใหญ่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ภูเก็ต อุดรธานี ชลบุรี เป็นต้น และขณะนี้เรามีเมืองที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใหม่ๆ โดยเฉพาะเมืองที่ดูดประชากรจากต่างประเทศเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น แม่สอด แม่สาย ระนอง สมุทรสาคร เนื่องจากได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งเป็น cross country migration เราควรทำวิจัยถึงความเป็นเมืองลักษณะนี้ให้มากขึ้น
การพัฒนาเมืองกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิถกประเด็นการพัฒนาเมือง ที่มีจุดร่วมของของการพัฒนาคือการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ซึ่งวันนี้เมืองไทยกำลังให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นค่อนข้างมาก แต่ไม่สามารถกระจายอำนาจไปได้อย่างแท้จริง เพราะวันนี้ระบบคิดยังมาจากส่วนกลาง แม้จะมีการประชุมหารือ แต่เป็นแค่การประชุมแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ไม่อำนาจในการตัดสินใจอย่างแท้จริง และในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นตามหลักการกระจายอำนาจ เช่น การทำแผนพัฒนา ฯ ส่วนกลางมักสั่งให้ทำเสร็จภายใน 7 วัน ทั้งๆที่กว่าจะได้หนึ่งแผนต้องผ่านกระบวนการมากมาย ซึ่งผลที่ออกจึงเป็นแผนพัฒนาที่ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมมากพอ โดยจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเคารพในความเป็นท้องถิ่น ให้เกิดอิสระจัดการตัวเองได้ ควรเปิดโอกาสให้พลังท้องถิ่นเติบโต หน้าที่ส่วนกลางควรเป็นเปิดพื้นที่ พร้อมดันทรัพยากรให้กับท้องถิ่น เพื่อไปจัดการตัวเอง
ท้ายสุด รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักคิดของกระบวนการมีส่วนร่วม โดย World bank เคยวิจารณ์กระบวนการทำงานของรัฐไทย คือเป็นลักษณะของกระบวนการ “DAD” โดย D ตัวแรกคือ Decision หมายถึงส่วนกลางได้คิดและตัดสินใจโครงการทุกอย่างไว้หมดแล้ว ตัวที่สอง A ย่อมาจาก Announce จากนั้นค่อยออกเป็นกฎระเบียบต่างๆ D ตัวสุดท้ายย่อมาจาก Defense คือ เมื่อมีปัญหาก็จะมีข้อแย้งเกี่ยวกับโครงการของตัวเองเสมอ ซึ่งเป็นกระบวนการที่รัฐทำทุกอย่างเอง โดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ภาคประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งในทางกลับกันรัฐไทยควรเปลี่ยนกระบวนการการทำงาน จากระบบ “DAD” เป็นระบบ “SCPAL” ซึ่ง S ตัวแรกย่อมาจาก study คือก่อนจะทำโครงการต่างๆ ต้องมีการทำวิจัยหาข้อมูลก่อน ต่อมาตัว C ย่อมาจาก consult คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด (Stakeholder) ต่อมาตัว P ย่อมาจาก participation คือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยไม่ใช่เพียงแค่จัดประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น แต่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจ (final decision)ตัว A ต่อมาคือ announce จากนั้นค่อยประกาศออกเป็นกฎระเบียบต่อไป และตัวสุดท้าย L ย่อมาจาก liberalization การกระจายอำนาจให้แต่ละส่วนไปดำเนินการต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุด คือการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนร่วมการตัดสินใจ เพราะเป็นจุดสำคัญในการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
• AUTHOR |
|
|
ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต |