
ชาธิป ตั้งกุลไพศาล นักธุรกิจรุ่นใหม่กับบทบาทการพัฒนาเมือง
ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ได้ลงพื้นที่เมืองสมุทรสาคร เข้าสัมภาษณ์พูดคุยกับ คุณ ชาธิป ตั้งกุลไพศาล นักธุรกิจรุ่นใหม่ อดีตประธานกลุ่ม YEC จังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่ YEC จังหวัดสมุทรสาคร ได้ก่อตั้งขึ้น พร้อมกับกลุ่ม yec ทุกจังหวัดในประเทศไทย มาจากนโยบายของหอการค้าไทย คาดหวังว่า กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ จะได้มีโอกาสเข้ามาช่วยหรือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดได้ และที่สมุทรสาคร คุณชาธิป ตั้งกุลไพศาล ทำให้ภาคเอกชน มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจเมืองอย่างเป็นรูปธรรมได้
คุณชาธิปเล่าให้ฟังว่า คนจากภาคเอกชนเก่งๆ มีจำนวนมากในจังหวัด แต่ไม่มีโอกาสหรือช่องทางในการที่จะได้ใช้ความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ทำงานผ่านกลไกของหอการค้า ซึ่งตนเองเป็นรองประธานหอการค้า และได้มีโอกาสเป็นประธาน yec จังหวัดสมุทรสาครรุ่นที่ 2 ได้รับมอบหมายจากหอการค้าในการทำงานระดมทุน และทำถนนคนเดิน ที่งานผ่านไปด้วยดี ทำให้ได้รับความไว้วางใจในการทำงานในฐานะของการค้าและ yec
หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครได้รับนโยบายจากหอการค้าไทย และรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งทุกโครงการ ฯ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการการทำงาน ระหว่างภาครัฐ หัวหน้าส่วนต่างๆ ในจังหวัด หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการหลายอย่างที่คุณชาธิป มีโอกาสนั่งประธานการประชุมและขับเคลื่อนโครงการ ทำให้เกิดผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นรูปธรรม เช่น โครงการ1 สหกรณ์ 1 หอการค้า จึงเลือกพัฒนาเกลือ เนื่องจากราคาตกต่ำมาก ได้เข้ามาแปรรูป และพัฒนาสินค้า วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร เข้าไปสอนชาวบ้าน ทำให้แปรรูปเกลือเป็นเกลือสปา จากกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เพิ่มขึ้นเป็นกิโลละ 700-800 บาท และให้ภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดช่วยกันอุดหนุน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น ของบมาปรับปรุงอควาเรียม ซึ่งกำลังจะถูกปิด ให้ซ่อมแซมและเปิดรองรับการท่องเที่ยวอีกทั้งทำท่องเที่ยวชุมชน (1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน ) ตั้งคณะกรรมการย่อยให้ทุกอำเภอ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทุกอำเภอ โดยตอนนี้มีความคืบหน้าที่อำเภอบ้านแพ้ว ในส่วนของบริษัทประชารัฐ ภาคเอกชนเองก็มีบทบาทนำ พัฒนาเครื่องเบญรงค์ ดอนไก่ดี ให้จากเป็นเครื่องตกแต่งในบ้าน ให้ปรับเป็นของใช้ในครัวเรือน สร้างยอดขายที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่รอการพัฒนาอยู่
ปัจจัยในความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเพราะความสามารถส่วนบุคคล การทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างยืดหยุ่น การมีผลงานเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความไว้วางใจของทุกฝ่าย การใช้สื่อสนับสนุนการทำงาน และการมีส่วนร่วมในการวางยุทธศาสตร์จังหวัด และร่วมกำหนดงบประมาณของหัวหน้าส่วนต่างๆ ในจังหวัด ที่นำงบมาคุยกัน และวางแผนร่วมกันได้
ณ ตอนนี้ ภาคเอกชนมีกลไกการมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง พัฒนาจังหวัด ด้วยกลไกเดิมคือ ผ่านหอการค้าจังหวัด และกลไกใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมา ผ่านกลุ่ม yec อย่างไรก็ตาม กลุ่ม yec ในหลายจังหวัดยังไม่มีโอกาสหรือได้รับความไว้วางใจให้แสดงบทบาทและความสามารถของตัวเองมากเท่าที่ควร จึงอยากเปิดโอกาสให้กลุ่มภาคเอกชนมีบทบาทมากกว่านี้ เพราะการทำงานเป็นกลุ่มก้อน เครือข่ายทางสังคม แบบที่ไม่เป็นกลุ่มที่เคร่งจนเกินไป แบบหลวมๆ ก็ช่วยทำให้แต่ละกลุ่มดึงทรัพยากร และความถนัดของตนเองมาใช้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากจังหวัดทำได้ ก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจเมืองไปได้มาก