
เมืองยะลา กับทางออกแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมือง
ณัฐธิดา เย็นบำรุง
ยะลา เมืองศูนย์กลางในสามจังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่ายะลาจะเป็นหนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ที่เผชิญปัญหาความไม่สงบ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาเมืองยะลาได้ เทศบาลนครยะลา ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่น มีโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ Yala Bird City ที่สร้างเอกลักษณ์และเศรษฐกิจเมืองยะลา รวมถึงการสร้างเมืองสีเขียว มีสวนสาธารณะทั่วเมือง รวมถึงโครงการสร้างสมานความสามัคคีในพื้นที่ เช่น โครงการออร์เคสต้า เทศบาลนครยะลา แม้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของยะลาขึ้นอยู่กับผลผลิตทางเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันราคาตลาดค่อนข้างตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา และลองกอง ทำให้เมืองยะลากำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชนลดลง
ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ร่วมกับ วิทยาลัยวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร และเทศบาลนครยะลา จัดประชุมระดมสมอง เพื่อหาทางออกปัญหาเศรษฐกิจเมืองยะลา และการวางแผนเมืองยะลาให้มีเศรษฐกิจเชื่อมต่อกับภูมิภาค ในฐานะเมืองชายแดนสามจังหวัดภาคใต้
ความท้าทายเมืองยะลา[1]
- ปัญหาเศรษฐกิจในเมือง
ยะลากำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหม่ ดังเห็นได้จากผลผลิตมวลรวมของจังหวัดยะลาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตมวลรวมของยะลาปี 2553 อยู่ที่ 51,182 ล้านบาท ปี 2554 อยู่ที่ 57,658 ล้านบาท ปี 2555 อยู่ที่ 49,559 ล้านบาท ปี 2556 อยู่ที่ 44,030 ล้านบาท ปี 2557 ลดเหลือ 39,477 ล้านบาท หากเอาปี 2557 ลบด้วยปี 2553 หมายถึงรายได้ของจังหวัดหายไปประมาณ 16,000 ล้านบาท
หากพิจารณารายได้ประชาชาติต่อหัวของยะลา ยะลามีรายได้ประชาชาติต่อหัวลดลง โดยในปี 2554 คนยะลามีรายได้เฉลี่ย 132,540 บาทต่อคนต่อปี ปี 2555 เหลือ 111,000 บาทต่อคนต่อปี ปี 2556 เหลือ 100,000 บาทต่อคนต่อปี ปี 2557 เหลือ 89,000 บาท ต่อคนต่อปี
โครงสร้างเศรษฐกิจหลักของยะลา เศรษฐกิจยะลาขึ้นอยู่กับสินค้าเกษตรกรรม คือยางพาราและผลไม้ เมื่อราคายางตกต่ำ ทำให้รายได้ของคนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หากเราลองไปเปรียบกับจังหวัดใกล้เคียงเช่น ปัตตานี มียางพาราและมีผลไม้ไม่ต่างกับยะลา แต่สิ่งภูมิศาสตร์ปัตตานีติดกับทะเล ทำให้มีการทำประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนนราธิวาส เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับยางพาราและผลไม้เช่น แต่มีการทำงานประมงเช่นกัน และมีด่านการค้าชายแดน 3 ด่าน คือ ตากใบ บูเก๊ะตา และสุไหงโก-ลก ด้วยความเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์นี้ ทำให้เศรษฐกิจยะลาตกต่ำลงมาก
- การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคมนาคม
ยะลาจะเป็น เมืองเดียวในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีรถไฟเข้ามาถึงกลางเมือง เนื่องจากยะลาเป็นเมืองศูนย์กลางของสามจังหวัด หากต้องการเดินทางไปสามจังหวัด ต้องเชื่อมต่อรถในเมืองยะลา แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคมนาคม ปัจจุบันเครื่องบินมีราคาตั๋วที่ถูกกว่ารถไฟ (ตู้นอน)
ในขณะเดียวกัน สมัยก่อนคนไม่นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดี ถนนแคบ อีกทั้งรถยนต์ใช้น้ำมันจำนวนมาก ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีถนนเป็น 4 เลนทั้งหมด รถยนต์ประหยัดน้ำมันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมที่ได้เปรียบของยะลาได้หายไป
สถานการณ์พืชเกษตรในเมือง[2]
- ยางพารา ราคายางตกต่ำมาก เกษตรกรยางพาราค่อนข้างเดือดร้อน อีกทั้งพลังงานทางเลือกจำนวนมาก น้ำมันราคาถูก ส่วนใหญ่เน้นใช้ยางสังเคราะห์ ขณะเดียวกันเกิดพืชทดแทนที่ให้น้ำยางเหมือนยางพารา เพราะฉะนั้นอนาคตยางพาราและเกษตรกรยางพาราค่อนข้างลำบาก
- กล้วยหิน เป็นพื้นที่โดดเด่นจากภูมิศาสตร์ของยะลา (Geographical Indication) ที่ผ่านมามีการส่งเสริมการแปรรูป เป็นกล้วยหินต้ม และการบริโภคที่กว้างขึ้น อีกทั้งได้ส่งออกไปมาเลเซียจำนวนมาก ทำให้กล้วยหินมีราคาสูงขึ้น
- ลองกอง เป็นผลไม้อีกชนิดที่ยะลาผลิตได้จำนวนมาก เทศบาลเคยช่วยเกษตรกรขายในลักษณะ CSR โดยเทศบาลรับประกัน ให้บริษัทเอกชนต่างๆ ซื้อ เช่นโรงแรม การจัดสัมมนา เป็นต้น ทว่าเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเท่านั้น
ทางออกแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมืองยะลา
- เกษตรกรต้องก้าวทันเทคโนโลยี และปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
คุณสุพจน์ ได้สะท้อนคำนิยามของคำว่าเกษตรได้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อพูดถึงการเกษตรแล้ว อาชีพเกษตรกรกว้างมาก เกษตรกรนั้นรวมถึงทุกกระบวนการขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการเตรียมการ การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว การดูแลรักษา กระบวนการแปรรูป และการตลาด คนไทยเราไม่เคยคิดเรื่องแปรรูป ไม่มีโอกาสคิด ผมเลยคิดเรื่อง ตลาดของพวกเรา (Our market) ที่สามารถตั้งราคาขายเอง เราสามารถประยุกต์ใช้กับหลายๆอย่าง ไม่ขัดกับโลกความเป็นจริง เรามีของทุกอย่างเพื่อขาย ทำไมเราถึงขายไม่ได้ เป็นเพราะการขนส่ง คนกลาง หรืออะไรหลายๆอย่าง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง มีการส่งทางไปรษณีย์ เราต้องดูจุดร่วมก่อนว่าทำไมเราถึงขาดดุล เราต้องอุดทีจะประเด็นไป อีกอย่างไม่ต้องเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน เราทำเป็นโมเดลให้ดูว่า เราทำสิบไร่ได้เท่าไหร่ สร้างตัวอย่างให้เขาเห็นภาพ แล้วมีการปลูกผังเด็กรุ่นใหม่ ทุกคนถนัดไม่เหมือนกัน เกษตรกรรุ่นใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องขุดดินเหมือนพ่อแม่อีกต่อไป
- การสร้างแบรนด์และบรรจุภัณฑ์
ดร.วราพร ลักษณลม้าย กล่าวว่า การติดต่อกับเกษตรกรในจังหวัด เกษตรกรจะต้องปรับตัวให้ก้าวทันกับยุคสมัย เช่นแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นต้น อีกทั้งการทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตมากยิ่งขึ้น การแปรรูปลองกอง ซึ่งอาจทำเป็นชาลองกอง เป็นต้น ส่วนบรรจุภัณฑ์ซึ่งอาจต้องใส่เรื่องราว สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้
- ผลิตภัณฑ์ก็ต้องมีคุณภาพ
รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การผลิตในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากเดิม ปัจจุบันเป็นการผลิตยุคที่สองคือ การผลิตที่ถึงตรงผู้บริโภค (consumer to consumer) โดยตรงได้ ซึ่งการผลิตที่เปลี่ยนไปเช่นนี้จะมีประโยชน์กับเทศบาลฯ ได้ โดยเทศบาลฯ เป็นตัวกลาง ทำมาตรฐาน (standardization) ให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง ให้ท้องถิ่นทำคิวซีเอง
ณ ขณะนี้ อาจจะคิดโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ เนื่องจากเสี่ยง เพราะไม่มีความหลากหลาย ควรสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆด้วย เช่น มังคุด ทดแทนกัน เพราะภาคใต้สมัยก่อน ปลูกยางพารา และการปลูกพริกไทย ถ้าหากราคายางพาราตกต่ำมาก เราสามารถกลับมาปลูกพริกไทยได้ โดยพริกไทยมีการบริโภค 2 ประเภท ได้แก่ ใช้บริโภคทั่วไป และ ใช้ทำยา ซึ่งมีราคา 10 ถึง 100 เท่าของราคาบริโภค โดยที่ไม่ต้องทำจำนวนมาก เป็นแนวคิดของการทำเกษตรสมัยใหม่คือ การทำคุณภาพ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือ ไม่มี standardization ต้องมีองค์ความรู้ว่า ทำอย่างไรไม่ให้มังคุดเป็นแก้ว เป็นต้น
- คนในเมืองแก้ปัญหาได้ดีที่สุด
รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ได้กล่าวสรุปปิดท้ายว่า คนที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจของเมืองยะลาที่ตกต่ำได้ดีที่สุดคือ คนยะลาเอง ทั้งนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องมีการวิจัยเชิงลึก เช่น ปัจจัยเรื่องความไม่สงบ ที่ต้องเทียบระหว่างสามจังหวัดว่า เปอร์เซ็นต์ที่ลดลงยะลาตกเท่ากับจังหวัดอื่นๆหรือเปล่า ถ้าตกมากกว่า แสดงว่าต้องมีปัจจัยอื่นๆประกอบ หากไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงก็อาจแก้ปัญหาไม่ถูกจุด นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในด้วย โดยเฉพาะ สถาบันการศึกษา การสร้างความแข็งแรงให้กับสถาบันการศึกษาในเมือง ซึ่งเมืองที่มีสถาบันการศึกษาจำนวนมาก ก็จะดึงดูดนักศึกษาให้มาอาศัยอยู่จำนวนมาก มีการใช้จ่ายปีหนึ่งเป็นจำนวนมหาศาล อีกทั้งมีทุนจากภาครัฐอีกด้วย
[1] ข้อมูลจาก คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา
[2] ข้อมูลจาก คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา
• AUTHOR |
|
|
นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com |