Events

ชีวิตในเมืองใหญ่ที่พึงปรารถนา สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

 

ความเป็นเมืองในวันนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการหลั่งไหลของประชากรที่เข้ามาในเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นความสำคัญของประเด็นในการศึกษาความเป็นเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะวิถีชีวิตคนเมืองใหญ่ ภายใต้ความกดดัน ความเปลี่ยนแปลง ขบวนการเปลี่ยนแปลงของเมือง การเคลื่อนย้ายของผู้คน สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดมีการแข่งขันกันหลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตคนเมือง โดยเฉพาะกับคนบางกลุ่มคนที่มีจำนวนไม่น้อยเลยในอนาคต อย่างคนพิการและผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมือง ได้รับผลกระทบกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ด้วยที่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ ซึ่งปัจจุบัน เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เป็นกลุ่มประชากรที่ต้องดูแลโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ และคนพิการจำนวนอีกจำนวนมาก จะสามารถใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลามความเป็นเมืองใหญ่ เมืองจะรับมือในการดูแลคนสองกลุ่มนี้อย่างไร เพราะทุกคนมีสิทธิ์ เสรีภาพ ที่จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม งานเสวนาครั้งนี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนการออกแบบเมืองของคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปเมืองให้เอื้อต่อคนสองกลุ่มนี้ได้ ดำเนินรายงานเสวนาโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน

 

สถานการณ์ผู้สูงอายุในเมืองใหญ่

คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ความเป็นเมืองในอนาคตที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร โดยนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความเป็นเมืองจากสำนักงานพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN - HABITAT) ซึ่งระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า ประชากร 2 ใน 3 ของ ASEAN จะมีการย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในมหานคร คาดการณ์ประชากรที่อาศัยในมหานครในอาเซียน คือ กรุงเทพมหานคร จะมีผู้คนประมาณ 30 ล้านคน กัวลาลัมเปอร์จะมีผู้คนเป็น 6 ล้าน สิงคโปร์ประมาณ 10 ล้านคน จาการ์ตาประมาณ 100 ล้านคน และกรุงมะนิลาประมาณ 30 ล้าน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปัจจุบัน

นอกจากนี้ได้นำเสนอข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค (UNESCAP) คาดการณ์ว่าในปี 2557 จะมีประชากรอาศัยในเขตเมืองประมาณ 54 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2593 อีก 36 ปีข้างหน้า จะมีประชากรในเขตเมืองถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ 44 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างจีน และอินเดีย จะมีประชากรย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ด้วยการขยายตัวของเมืองที่มากขึ้นเช่นนี้ จะทำให้เกิดสภาวะของการเข้าสู่ความทันสมัย มีความต้องการทรัพยากรมากขึ้น ผู้คนมีความเป็นปัจเจก ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองมากขึ้น อีกทั้งวิถีชีวิตจะมีความเร่งรีบมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ในระหว่างที่ความเป็นเมืองที่กำลังขยายเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยเช่นเดียวกัน จาก พ.ศ. 2548 – 2557 ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเพิ่มขึ้นไปสู่ 15 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความเป็นเมืองที่มีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ได้ย้ายเข้าสู่เมืองมากขึ้น ตามลูกหลานเข้ามา ทำให้ผู้สูงอายุในเมืองจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แม้มีการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุมากกว่าแต่ก่อนมาก แต่ยังไม่ถือได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ เพราะสังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบคาดการณ์ไว้อีกประมาณ 15 ปี ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณ 17 ล้านคน โดยเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด เป็นสังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งการที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นนี้ เป็นเรื่องทีท้าทายอย่างมากเกี่ยวกับแผนที่จะรองรับและบริหารจัดการกับสังคมที่กำลังจะแปรเปลี่ยนไป

 

 

ปัญหาผู้สูงอายุในเมืองใหญ่

คุณสมบัติ ภัทรดิลก ประธานสมาพันธ์ผู้สูงอายุกรุงเทพ กลุ่ม 10 ชี้ให้เห็นว่าในเมืองใหญ่ ยังไม่มีการวางผังเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ได้วางแผนจัดการเมืองที่เอื้อเฟื้อต่อผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดปัญหากับผู้สูงอายุมากมาย มีปัญหาห้องน้ำสาธารณะ ที่หาได้ยากมาก แม้กระทั่งคนปกติยังไม่สามารถหาได้ จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีห้องน้ำที่เอื้อให้สำหรับคนผู้สูงอายุ หรือปัญหาระบบขนส่งมวลชน รถประจำทางยังใช้บันไดที่สูง ปัญหาสะพานลอยสูงชันทำให้ผู้สูงอายุที่ข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้ยาก ที่สำคัญคือทางม้าลาย ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุที่มีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างช้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องป้ายบอกทาง กล้อง CCTV ที่ยังมีน้อย ป้ายรถเมล์ไม่มีหลังคา ไม่มีที่นั่ง และที่สำคัญปัญหาการไม่มีสวนสาธารณะที่เพียงพอ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการพบปะ และออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

 

สถานการณ์และปัญหาคนพิการในเมืองใหญ่

คุณณธกมล รุ่งทิม กรรมการมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย อธิบายให้เห็นสถานการณ์คนพิการในเมืองใหญ่อย่างเห็นภาพว่า คนพิการในเมือง มีวิถีชีวิตที่พึ่งระบบขนส่งมวลชนได้ลำบากมาก โดยเฉพาะรถประจำทางเพราะไม่เอื้อให้กับคนพิการแม้แต่น้อย จึงต้องพึ่งบริการรถแท็กซี่เสมอ ซึ่งบางคนมีค่าใช้จ่ายแท็กซี่ ไปกลับจากที่ทำงานถึงวันละ 400 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วคนพิการอยากขึ้นรถประจำทางมาก เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายมาก แต่ก็ไม่สามารถขึ้นได้ เพราะระบบไม่เอื้อให้ขึ้นได้ กลายเป็นว่าคนพิการต้องแบบรับค่าใช้จ่ายการเดินทางจำนวนมาก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วระบบสาธารณะควรมีการออกแบบเพื่อรองรับทุกคน เรื่องฟุตบาทเช่นเดียวกัน ทางไม่เรียบ ไม่มีทางขึ้น หรือมีก็มักจะสูงชันมาก หรือปัญหาเรื่องการหาที่อยู่อาศัย ซึ่งหาได้ยากมาก เพราะไม่เอื้อต่อคนพิการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาหนักที่ทำให้คนพิการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ยากลำบากมาก

ที่สำคัญปัญหาของคนพิการโดยเฉพาะคนหูหนวกในเมืองใหญ่ แม้ว่าเขาอาจจะสามารถใช้ชีวิตบนฟุตบาท หรือเคลื่อนไหวไม่ลำบากเท่าคนพิการประเภทอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ เขาไม่สามารถเจรจาสื่อสารกับผู้อื่น หรือมีโอกาสได้รับข้อมูลต่างๆ น้อยกว่าคนอื่นมาก ยกตัวอย่างคือช่วงน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพ มีข่าวด่วน การเตือนภัยต่างๆ มากมายจากสื่อ แต่ไม่มีตัวหนังสือ หรือล่ามภาษามือ ทำให้เขาเสียเปรียบที่จะได้รับข้อมูล แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการนำเสนอของมูลของสื่อ ยังไม่หลากหลายพอที่จะสื่อสารกับคนทุกกลุ่มได้

ด้าน ดร.อันธิกา สวัสดิศรี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในการออกแบบเมืองเพื่อรองรับกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ เพราะสองกลุ่มนี้มี speed ในการชีวิตที่ช้ากว่าคนทั่วไป ท่ามกลางเมืองที่มีความแออัด ทุกคนรีบเร่ง รถขับเร็ว แต่การออกแบบเมืองในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์ speed การใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มได้ โดยเฉพาะเรื่องการข้ามถนน ซึ่งจากงานวิจัยที่เคยทำ เมื่อไหร่ที่คนพิการก้าวออกจากบ้าน เขาไม่สามารถใช้ชีวิตในการควบคุมของตนเองได้ ต้องขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือของคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นแท็กซี่ บนฟุตบาทข้ามถนน และไม่สามารถขึ้นรถประจำทางได้ แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมยังไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่มาตรฐาน ซึ่งจริงๆแล้วมีการออกแบบเมืองจากต่างประเทศที่ใช้แนวคิด Inclusive city เมืองที่นับรวมทุกคน จะสามารถช่วยให้เรื่องการออกแบบเมืองให้สามารถรองรับคนทุกกลุ่มได้ ในด้านกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายด้านคนพิการและผู้สูงอายุไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น แต่ทั้งนี้การบังคับใช้ทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะบทลงโทษ ที่ไม่กำหนดในการบังคับได้ดีมากพอ

 

การบริหารจัดการเมืองคนพิการและผู้สูงอายุที่ผ่านมา

คุณศิริวรรณ อธิบายเกี่ยวกับการทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตในเมืองของผู้สูงอายุที่ผ่านมาว่า รัฐมีแผนแม่บทผู้สูงอายุแห่งชาติระยะยาวปี พ.ศ. 2545-2564 มีการติดตามประเมินผลโครงการ อยู่เสมอ และการประเมินครั้งล่าสุด เมื่อปี 2555 เกี่ยวกับการประเมินสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สนามบิน สถานีขนส่ง ตลาดสด ศาสนสถาน สวนสาธารณะ ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ในด้านปริมาณที่ยังไม่มากพอ แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้สร้างอาคารที่ต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายและคนพิการ หลายอาคารมีทางลาด มีที่จับ มีห้องน้ำ แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน บางที่ชันเกินไป สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการสภาพแวดล้อมในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งหลายฝ่ายต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกมาก ไม่ใช่ออกแบบตามกฎหมาย แต่ต้องสร้างให้สามารถใช้ได้ มีมาตรฐานอย่างเหมาะสมที่แท้จริง

แต่ทั้งนี้หลายฝ่ายได้พยายามแก้ไขปัญหา และมีความก้าวมากยิ่งขึ้น เช่น องค์กรพิทักษ์ผู้สูงอายุ ที่พยายามทำงานร่วมกับท้องถิ่น เพื่อสร้างต้นแบบของพื้นที่ท้องถิ่นที่ออกแบบอย่างเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตในชุมชน อย่างพื้นที่ตำบลหนองตองพัฒนา อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ทำงานประสานกับมหาลัยเชียงใหม่ ประสานกับพื้นที่กับผู้นำท้องถิ่น สร้างหมอบ้านออกแบบอาคารที่ถูกต้องและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ และเด็กได้

ความเป็นเมืองที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งมีประชากรผู้สูงอายุขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าเป็น “สึนามิประชากร” โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐจะจัดการอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย สามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active ageing) ได้เพราะผู้สูงอายุหลายคนยังมีความรู้ความสามารถ มีพลัง เป็นกำลังสำคัญกับประเทศได้อีกมาก

สำหรับการดำเนินงานของภาครัฐในการดูแลคนพิการ คุณณธกมล อธิบายว่า รัฐได้พยายามสร้างโอกาสต่างๆให้คนพิการค่อนข้างมาก จัดสรรเบี้ยยังชีพให้กับคนพิการ 500 บาทต่อเดือน พยายามจัดหางานให้คนพิการ มีกฎหมายบังคับให้มีโควต้าการจ้างงานคนพิการ มีระบบสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรียนฟรีถึงปริญญาตรี แต่ทั้งนี้แม้จะมีสิ่งเหล่านี้มากเพียงใด แต่คำถามคือ เราเรียนฟรีได้ แต่เราไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้ ไม่มีหนังสืออักษรเบลสำหรับคนพิการ นั่นหมายถึง เรามีสิทธิ์ แต่เราไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องแก้ไขเพิ่มเติม ทำอย่างไรให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ์โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าคนอื่น

 

ข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาการบริหารจัดการเมืองสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ

คุณณธกมล ทิ้งท้ายในการบริหารจัดการเมืองสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ว่าวิธีการของรัฐในวันนี้ยังคงแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และยังไม่เอื้อต่อคนพิการที่แท้จริง แม้มีการจัดรถเมล์ให้คนพิการ แต่ก็ไปแค่บางที่และส่วนใหญ่คือโรงพยาบาล สะท้อนให้เห็นว่าเรายังมองคนพิการเป็นคนป่วยที่ต้องดูแลอยู่เสมอ และในวันนี้คนพิการมีสิทธิ์ออกความคิดเห็นมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีสิทธิ์ในการตัดสินใจ ซึ่งจริงๆ แล้ว สัดส่วนในคณะกรรมการระดับชาติในการบริหารและออกแบบเมือง ควรมีสัดส่วนผู้แทนจากทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพื่อที่จะได้ออกแบบได้สำหรับทุกคนจริงๆ หรือแม้กระทั่งสัดส่วนของงบประมาณที่ควรจัดสรรสำหรับทุกกลุ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นเมืองทำให้คนมีความเป็นปัจเจกสูง ทุกคนเร่งรีบ และเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิถีชีวิตคนเมืองแบบนี้ได้ ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างช้าลงได้ ฉะนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ควรมีการออกแบบเมืองที่ให้คนพิการรอคอยความช่วยเหลือคนอื่น ควรออกแบบเมืองให้คนพิการช่วยเหลือตนเองได้ เพราะเราไม่ใช่คนป่วย เราสามารถดำเนินชีวิตของเราได้ ควรทำความเข้าใจว่าคนพิการไม่ได้หมายความว่าต้องการระบบที่พิเศษมากกว่าคนอื่น แต่อยากให้ทำความเข้าใจว่าคนทุกคนไม่เหมือนกัน มีข้อจำกัดต่างกัน ฉะนั้นการออกแบบเมืองให้หลากหลายรูปแบบ เพื่อที่จะได้รองรับคนทุกกลุ่มได้ ใครที่สะดวกแบบไหนจะได้สามารถเลือกใช้ชีวิตได้

นอกจากนี้ ดร.อันธิกา มีประเด็นทิ้งท้ายว่า การออกแบบอาคารเพื่อผู้สูงอายุหรือคนพิการ เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงขึ้น เพราะความพิเศษที่มากกว่าห้องธรรมดา ในแง่ของต้นทุนด้านราคา อาจจะไม่คุ้มทุน และถ้ามองในด้านต้นทุนมนุษย์ มันคุ้มมาก ที่สามารถออกแบบอาคารหรือห้องพักสำหรับคนทุกกลุ่มได้ใช้ชีวิตเหมือนกัน นอกจากนี้รัฐคงยังเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนออกแบบเมืองทั้งหมด เพราะเราเสียภาษีให้กับรัฐ จึงมีความคาดหวังตรงนี้สูง ประเด็นสำคัญคือ อยากให้รัฐอย่ามองคนพิการเป็นคนป่วย อย่ามองว่าเขาผลิตอะไรไม่ได้ แต่อยากให้มองผู้พิการให้ฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพียงแค่ว่าคนทั่วไปมีสวัสดิการอะไร คนพิการและผู้สูงอายุควรได้สวัสดิการที่เท่าเทียบเช่นเดียวกัน

จากการเสวนา สภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่ในวันนี้ยังคงไม่ตอบโจทย์ให้รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้ โดยเฉพาะด้านกายภาพ ถนน ฟุตบาท และที่สำคัญระบบขนส่งมวลชนที่ไม่เอื้อให้การเดินทางของคนทุกกลุ่มได้ การรองรับและการบริหารจัดการเมืองให้พึงปรารถนาสำหรับคนสองกลุ่มนี้ ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องทัศนคติของคนในสังคม ที่ยังมองคนกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนน้อยในสังคม บริการหลาย อย่างจึงรองรับเพียงแค่คนทั่วไป หรือรองรับแต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานที่ดีเพียงพอในการใช้งาน และที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่คนป่วย ไม่ต้องการการช่วยเหลือ เขาต้องการการพึ่งตนเอง และอยากให้ถูกมองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่อยากมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนอื่น ฉะนั้นเมืองใหญ่ที่พึงปรารถนา ควรเป็นการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง และเป็นเมืองที่มีหลากหลายรูปแบบให้คนได้ดำเนินชีวิตตามความสะดวกของตนเอง และที่สำคัญท่ามกลางความเร็วในการใช้ชีวิตของคนต่างกัน เมืองต้องถูกออกแบบและมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยมากที่สุดด้วย

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต

 

Related Posts