
ดารณี เสือเย๊ะ
จังหวัดสงขลามีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตามจำนวนประชากรของจังหวัดสงขลาจัดอยู่ในลำดับที่หนึ่งของภาคใต้ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดก็สูงสุดของภาคมาโดยตลอด สงขลาเป็นหนึ่งในสองจังหวัดภาคใต้ที่มีเทศบาลนคร 2 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยเทศบาลนครสงขลา และเทศบาลนครหาดใหญ่
ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดเวทีสนทนา “การขับเคลื่อนและพัฒนาอนาคตนครสงขลา” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรม บีพี สมิหลาบีช จังหวัดสงขลา นำโดยศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานที่ปรึกษา และทีมงาน ขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีสนทนาในวันนี้มีทั้งกลุ่มคนทำงานจากสถาบันการศึกษา และจากเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองสงขลา
เมืองสงขลา : มุมมองที่หลากหลายของการพัฒนาเมือง
เมืองในท้องถิ่น
ความเป็นเมืองที่จำกัดขอบเขตเพียงตัวเมืองในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง คงไม่สามารถอธิบายให้เห็นการเติบโตของเมืองที่หลากหลายในท้องถิ่นได้ แต่ความเติบโตของเมืองในท้องถิ่นก็จำเป็นต้องมีองค์ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สอดรับกัน ผศ.ดร. บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เสนอเรื่องการให้ความสำคัญกับความรู้ผังเมือง ซึ่งเป็นสหสาขาวิชา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสาขาวิชาอื่น ขณะเดียวกันหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ด้านผังเมือง เพื่อการวางแผนพัฒนาพื้นที่เมืองในท้องถิ่นให้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งรับหน้าที่ทำงานเรื่องผังเมืองเองด้วย
ตัวอย่างการพัฒนาเมืองท้องถิ่นของสงขลาที่ชัดเจน มาจากการเล่าเรื่องของครูไพฑูรย์ ศิริรักษ์ ผู้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนชาวบก อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา คุณครูทำเรื่องวิถีโหนดนาเลและพบว่าชาวชุมชนมีภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้กำลังทำหลักสูตรการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชุมชนเองสทิงพระเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารด้านคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอีกทั้งเป็นพื้นที่มีตาลโตนดมากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนครูไพฑูรย์ต้องการให้คนในพื้นที่ภาคภูมิใจตนเอง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตนเองให้ได้ ครูไพฑูรย์เสนอว่าคนที่จะทำงานชุมชนต้องเข้าใจวัฒนธรรมชุมชน และชีพจรชุมชน ชุมชนนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

การฟื้นฟูชุมชนและเมืองเก่า
เมื่อหัวข้อการสนทนามาถึงแนวทางการพัฒนาเมืองเก่า ดร. จเร สุวรรณชาต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติการฟื้นฟูชุมชนและเมืองเก่าสงขลาเล่าให้เห็นถึงการเข้ามาทำงานด้านอนุรักษ์ โดยเฉพาะการทำวิจัยเรื่องฟื้นฟูชุมชนและเมืองเก่าเพราะเป็นการทำงานที่ “ได้บุญ” และได้ช่วยเหลือชาวชุมชนที่เดือนร้อนอาจารย์จเรทำทั้งเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้(tangible cultural heritage) เช่น ตึกอาคารด้านสถาปัตยกรรมทั้งในเมืองสงขลาและต่างอำเภอที่สำคัญท่านได้เน้นย้ำความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณี (intangible cultural heritage) ซึ่งได้นำเรื่องเหล่านี้เข้ามาฟื้นฟูชุมชน ดังเช่น ประสบการณ์ทำงานที่ชุมชนคลองแดน การนำภูมิปัญญาเรื่องมโนราห์เข้ามาช่วยสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและ
ผู้ใหญ่ ประเด็นสำคัญในเรื่องการพัฒนาเมืองที่สำคัญ ดร.จเรกล่าวว่าการรักษาเมืองเพียงแค่เรื่องกายภาพคงไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเรื่องศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต เพื่อให้เมืองมีความมีชีวิตชีวา
คนด้อยโอกาสกับการพัฒนาเมือง
คนหลากหลายกลุ่มทุกชนชั้นอาศัยอยู่ในเมือง กล่าวได้ว่าในทุกเมืองอาจเป็นหนึ่งในศูนย์รวมของคนที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด และคนที่ยากจนที่สุด การอยู่ร่วมกันของคนเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นการอยู่ “แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนคนละโลก” แต่นั่นอาจกล่าวเกินเลยไป เราพบว่าความจริงแล้วการพึ่งพาอาศัยกันของคนทั้งสองกลุ่มยังเห็นได้ชัดเจน แต่สิ่งที่น่าจะมุ่งมองต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนในเมือง โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย อีกทั้งทำอย่างไรจึงจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น
ดร. โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เคยวิจัยเรื่องสวัสดิการกับคนด้อยโอกาสในเมืองสงขลา คือ กลุ่มคนสลัม โดยกล่าวถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรในสลัมจากเดิมเป็น “คนฝั่งบก”เสียเป็นส่วนใหญ่ตอนนี้คนที่อยู่ในสลัมเป็นคนต่างถิ่นและแรงงานข้ามชาติดร.โสภิณวาดภาพเมืองสงขลาไว้ว่า อยากเห็นทั้งภาพในอดีตของสงขลาซึ่งเคยเป็นเมืองที่น่าอยู่ และสิ่งที่ควรจะเป็นของเมืองสงขลา นั่นก็คือทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองสงขลาดีกว่าที่เป็นอยู่
เมืองในทะเลสาบสงขลา
“ทะเลสาบสงขลาเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่ง” ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์กล่าวถึงความน่าสนใจต่อทะเลสาบสงขลาในช่วงต้นของเวทีสนทนานี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเวทีหลายท่าน ทั้งที่เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับชาวชุมชนรอบทะเลสาบ และหลายท่านเกิดและเติบโตบริเวณทะเลสาบแห่งนี้ วันนี้สถานการณ์รอบทะเลสาบสงขลา รวมถึงทิศทางการพัฒนาเมืองที่กินอาณาเขตหลายอำเภอในสงขลา และอีกสองจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อควรจะเป็นอย่างไร
รศ.ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาวิจัยทะเลสาบสงขลามาก่อน เพราะเห็นว่ายังขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้อย่างมาก โดยวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์กายภาพพร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตคนด้วย อาจารย์สมบูรณ์ยกตัวอย่างการทำสระพังที่เป็นภูมิปัญญาของชาวชุมชนแถบสทิงพระ สระพังเป็นการสร้างพื้นที่น้ำจืดบนพื้นที่น้ำเค็ม เพื่อต้องการมีแหล่งน้ำจืดในการอุปโภคและบริโภคไว้ตลอดทั้งปี อาจารย์สมบูรณ์ให้ข้อคิดเห็นว่าทะเลสาบสงขลาจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืนและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ ต้องงดงามด้วยธรรมชาติเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มเรื่องวัฒนธรรมเข้าไปส่วน ขณะที่ ผศ. กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เรียนรู้ทะเลสาบสงขลาเชิงนิเวศน์และทราบว่าทะเลสาบแห่งนี้มีความพิเศษเฉพาะตัว ทะเลสาบสงขลาเสมือนเป็นปอด ฤดูฝนมีผักตบชวาแพร่ไปทั่วทะเลสาบ ฤดูร้อนน้ำเค็มมาผักตบตายไป เห็นความสำคัญการใช้ประโยชน์ของคนรอบทะเลสาบที่หลากหลาย แต่มีความพยายามใช้ประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่จึงควรมีการจัดการให้ดี

ภาคประชาสังคมกับความเคลื่อนไหวเมืองเก่าของสงขลา
จากกิจกรรมเล็กๆในเมือง ได้ผลิดอกออกผลกลายเป็นการฟื้นฟูเมืองสงขลาของกลุ่มเครือข่าย คุณรังษี รัตนปราการ นายกสมาคมภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมกล่าวถึงความเป็นมาก่อนก่อตั้งเป็นสมาคม เวลานั้นมีกิจกรรมสมโภชศาลเจ้า บริเวณถนนนางงาม มาโดยตลอด และมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากจึงคิดว่าควรมีกิจกรรมอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อส่งเสริมการรักบ้านรักเมืองให้กับคนสงขลา ช่วงแรกเริ่มมีการริเริ่มจัดงานเสวนาชาวบ้าน จัดงานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีการตอบรับดีมาก ทำให้อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากขึ้น จึงตัดสินใจเปลี่ยนสถานภาพจากชมรมมาเป็นสมาคมเมื่อปี 2556 นายกสมาคมฯต้องการให้เมืองสงขลามีความเป็นระเบียบมากกว่าที่เป็นอยู่ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงจะสามารถดึงดูดนักเที่ยวที่มีคุณภาพได้
คุณสืบสกุล ศรีสุขหนึ่งในภาคีคนรักเมืองสงขลากล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของเมืองสงขลาในทุกยุคของการเปลี่ยนแปลง มักจะต้องมาพร้อมการทำลายความสวยงามของเมืองไม่มากก็น้อย คุณสืบสกุลยกตัวอย่างการเดินทางไปมะละกา ซึ่งพบเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ขณะเดียวกันหากเทียบเคียงกับสงขลา สงขลาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ามะละกา และน่าจะสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาท่องเที่ยวได้ดีกว่ามะละกาอีกด้วย
วันวาน วันนี้ และวันต่อไปของสงขลา
อดีตของเมืองสงขลา
เมืองของสงขลามีการย้ายศูนย์กลางอยู่หลายครั้ง ดังที่ครูไพฑูรย์ ศิริรักษ์ เล่าถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์เมืองสงขลาเมืองสงขลาว่า ไม่ได้อยู่เฉพาะเขตเมืองในปัจจุบัน แต่ยังหมายถึงเมืองสทิงพระ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เป็นเมืองแห่งอารยธรรม และมีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนี้ติดต่อสัมพันธ์กับอินเดียและอาหรับ และพัฒนาเป็นชุมชนเมืองบริเวณคาบสมุทรสทิงพระประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-18 เรียกว่า "เมืองสทิงพาราณสี" หรือเมืองสทิงพระ ชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ ได้พัฒนาเป็นชุมชนโบราณกระจายอยู่หลายชุมชน ที่สำคัญได้แก่ ชุมชนโบราณสทิงพระ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณบ้านจะทิ้งพระ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
เมื่อเมืองสทิงพระเสื่อมอำนาจลง ได้เกิดเมืองพัทลุงขึ้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาที่บางแก้วประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 และเกิดเมืองสงขลาทางด้านฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 พัฒนาการของเมืองสงขลาได้เริ่มต้นอย่างแท้จริงประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-24 โดยมีศูนย์กลางการปกครอง 3 แห่ง ได้แก่ เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง มีการติดต่อสัมพันธ์กับชนชาติต่างๆ ที่หลากหลายวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมไทย จีน มลายู และตะวันตก เป็นต้น วัฒนธรรมเหล่านี้ได้ผสมผสานหล่อหลอมวิถีชีวิตผู้คน จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ตกทอดเป็นมรดกของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จวบจนถึงปัจจุบัน
ส่วน คุณรังษี รัตนปราการให้ภาพเศรษฐกิจเมืองสงขลาในอดีตว่า เดิมการคมนาคมในสงขลาต้องเดินทางด้วยเรือ ทำให้สงขลาเป็นจุดศูนย์กลางการค้าข้าว ข้าวสามารถเลี้ยงคนได้ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนทางใต้ขายข้าวไปถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ พอมีการสร้างถนน ส่งผลให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจย้ายไปที่หาดใหญ่ ที่เมืองสงขลาจึงมีเพียงเรือประมงจอดเทียบ ซึ่งได้สร้างปัญหามลภาวะให้กับทะเลสาบ
ปัจจุบันและอนาคตของเมืองสงขลา
วันนี้สงขลาเป็นอย่างไร และอยากให้เมืองสงขลาเป็นอย่างไรในอนาคต ภาพของเมืองสงขลาได้มีการแต่งแต้มจากกลุ่มคนทำงานพัฒนาเมืองที่หลากหลาย ดร.จเร พูดถึงการพัฒนาเมืองสงขลาในปัจจุบันว่า เดิมนั้น function เมืองสงขลาคือ เมืองแห่งการศึกษาและศูนย์กลางราชการ แต่ขณะนี้เมืองสงขลากำลังตอบโจทย์นี้หรือไม่ ปัจจุบันโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป โดยมีประชากรแฝงมากขึ้นอาจารย์จเรเคยทำเรื่อง green city โดยแบ่งเป็นเมืองหาดใหญ่ทำงานด้าน waste management ส่วนเมืองสงขลาทำเรื่องนิเวศน์นาคร เนื่องจากเมืองสงขลาใช้พลังงานไม่มาก จึงส่งเสริมให้ลดการใช้คอนกรีตในเมือง ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเก่าเป็นลำดับแรกรวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ปัญหาคือเรื่องตัวชี้วัด ที่ใช้เรื่องพลังงานเป็นหลัก เมื่อนำมาปฏิบัติในระบบราชการยังไม่เข้าใจ จึงหาตัวชี้วัดของ UNESCO บางส่วนมาใช้ เช่น เรื่องมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องได้และไม่ได้ ปัญหาคือเป็นงานที่ต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐมาก ตอนนี้ทำเรื่อง old town เครือข่ายตื่นตัวมาก
การทำงานพัฒนาเมืองที่มีกลุ่มทำงานอย่างหลากหลาย ทำให้คุณสืบสกุล ศรีสุข หนึ่งในคณะทำงานภาคีรักเมืองสงขลาเสนอให้มี “คนนั่งหัวโต๊ะ” เพื่อให้มีหลักและเป้าหมายร่วมกันในการทำงานขณะนี้คุณสืบสกุลและคณะกำลังเคลื่อนไหวให้เมืองสงขลาเป็น “Songkhla First China Town”เพื่อดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเยี่ยมชมเมืองสงขลาให้มากขึ้น
การพัฒนาเมืองสงขลาด้วยการชูความเป็นสงขลาในอดีตคงไม่ได้หมายถึงการทำให้เมืองสงขลามีเพียงกลุ่มคนชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอว่าถ้าทำเมืองสงขลาเป็นเมืองมรดกโลกต้องเชื่อมโยงให้เห็นความหลากหลายของชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นจีน อาหรับ อินเดีย มาเลย์ซึ่งเป็นเมืองแบบ cosmopolitan และตั้งข้อสังเกตว่าสงขลาถือเป็นเมืองที่มีคนมีชื่อเสียงระดับประเทศจำนวนมาก ทำไมจึงไม่สามารถทำโครงการพัฒนาเมืองอย่างที่ควรจะเป็นได้

คำถามที่ ศ.ดร. เอนกทิ้งท้ายไว้นี้ ผศ.ดร. บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ตอบว่าเกิดจากโครงสร้างทางการเมืองแข็งตัวมากๆ ทำให้มีการกำกับมาแล้วว่าใครทำอะไร ตรงไหน และเห็นว่างานพัฒนาเมืองสงขลา ไม่ควรเป็นการพัฒนาเพียงเขตพื้นที่ แต่ต้องเป็นกลุ่มพื้นที่ที่ข้ามหลายจังหวัด ซึ่งทำให้ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ สงขลามีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ที่เป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรม จึงไม่สนใจความคิดเห็นของคนในท้องถิ่น กลุ่มเครือข่ายควรศึกษาทำแผนเพื่อการพัฒนาสงขลาก่อนจะดีกว่าหรือไม่และรวมตัวกันเคลื่อนไหวมากกว่ารอรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว
อาจารย์บุษบงยกตัวอย่างหนังสือเชียงใหม่ 700 ปี:การฉลองวันเกิดเมือง การพัฒนาเมืองกับ การปกครองท้องถิ่น เขียนโดยอาจารย์ธนศวร์ เจริญเมืองที่ตั้งคำถามกับการฉลองวันเกิดเชียงใหม่ 700 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีเฉลิมฉลองวันเกิดเมืองเกียวโต 1,200 ปี ที่ให้คนท้องถิ่นเป็นคณะทำงานหลักและตั้งคณะทำงานเพียง 5-6 คนก่อนการจัดงานถึง 5 ปี งานดังกล่าวมีคำขวัญคือ tradition & creation ซึ่งหมายถึงสืบสานประเพณี สรรสร้างปัญญาและจินตนาการโครงการต่างๆจะให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพถึง 70 % ที่เหลือเป็นรัฐบาลกลางทำการจัดงานครั้งนี้แบ่งงานออกเป็น 2 ด้านได้แก่
1. ด้านวัฒนธรรมและสันทนาการ คือ ประวัติศาสตร์ต่างๆของเมือง คล้ายกับที่สงขลากำลังทำ
2. ด้านวัตถุ ทำด้านโครงสร้างพื้นฐาน 18 โครงการ ดังเช่น
• ก่อสร้างเมืองวิทยาศาสตร์คันไซ เชื่อม 3 เมืองคือ เกียวโต นารา และโอซาก้า ไม่มุ่งเฉพาะแต่เมืองเกียวโตที่เดียว ศูนย์วิจัยนี้กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม วิชาการ และองค์กรสาธารณะ
• สร้างสวนสาธารณะอุเมะโคจิ มีพื้นที่ 40 ไร่ ให้บริการประชาชนทุกฤดูกาลเป็นงานของเทศบาล
• สร้างสวนโอกาซากิ
• ปรับปรุงสถานีรถไฟหลัก และสร้างบ้านพักขนาดใหญ่ในเมือง ให้ท้องถิ่นทำ
• รื้อฟื้นสถานีรถไฟ
• สร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่
• สร้างทางหลวงสายใหม่ ทำร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่น
• สร้างสวนวิจัยเกียวโต
• สร้างศูนย์แสดงสินค้าเกียวโต
• ปรับปรุงแม่น้ำลำคลอง
• ปรับปรุงท่าเรือ
• สร้างศูนย์ประชุมประชากรเกียวโต
• สร้างพิพิธภัณฑ์เกียวโตแห่งใหม่
• สร้างศูนย์วิจัยนานาชาติ ด้านญี่ปุ่นศึกษา
• AUTHOR |
|
|
รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |