
อุกฤษฏ์ เฉลิมแสน
เกริ่นนำ
“หากไม่ตั้งใจมา คงมาไม่ถึงเมืองยะลานะคะ” คำทักทายของชาวเมืองยะลาท่านหนึ่ง หลังจากคณะแผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (นพม.) เดินทางมาถึงหอประชุมของเทศบาลนครยะลาเพื่อเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้บริหารเมือง เจ้าหน้าที่เทศบาล และชาวเมืองยะลา ราว 30 ท่าน แน่นอนว่า เธอคงไม่ได้หมายถึงอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์ที่ขวางกั้น แต่น่าจะหมายถึงดังที่ทราบโดยทั่วกันว่า เมืองแห่งนี้เป็นพื้นที่จุดเสี่ยงของความรุนแรงในเขตชายแดนใต้ ที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนาน และเพิ่งครบรอบ 11 ปี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา
แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (นพม.) ภายใต้ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานนครยะลา ในหัวข้อเรื่อง “ยะลาวันนี้สู่ความเป็นเมืองสิงคโปร์แห่งที่ 2 ในอนาคต” ระหว่างในที่ 16 – 18 มกราคม 2558 โดยการจัดงานครั้งนี้มี คณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ เจ้าหน้าที่แผนงานฯ และนักวิจัยเข้าร่วม
คณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานฯ และท่านยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ นายแพทย์ ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ คุณทนงศักดิ์ วิกุล คุณสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ คุณวรวรรณ อาภารัตน์ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้จัดการแผนงานฯ เจ้าหน้าที่แผนงาน นอกจากจากนั้น ยังมีนักวิจัยของแผนงานฯในพื้นที่ภาคใต้คือ อ.ดร. สินาด ตรีวรรณไชย และ อ. กฤตยา สังข์เกษม
การตั้งหัวข้อเรื่องประชุมที่ท้าทายจากการรับรู้ของคนนอกพื้นที่ว่า เมืองยะลามีความเกี่ยวโยงอย่างไรกับความเป็นเมืองสิงคโปร์แห่งที่ 2 เพราะถือเป็นการเปรียบเทียบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในดินแดนอุษาคเนย์ ในขณะที่เมืองยะลากำลังเผชิญกับความรุนแรงในพื้นที่ และส่งผลให้นักลงทุนต่างตระหนักถึงเงื่อนไขของสถานการณ์ในพื้นที่ แต่หากเป็นผู้ติดตามข่าวสารการพัฒนาเมืองยะลา ก็อาจเห็นถึงความเป็นไปได้จากการเติบโตของเมืองยะลาในวันนี้และความเป็นไปได้ในอนาคต อีกทั้งหากย้อนไปในอดีตเมืองยะลาซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของเทศบาลนครยะลา ก็เคยยกระดับจากการเป็นเทศบาลเมืองยะลามาเป็นเทศบาลนครยะลานับตั้งแต่ปี 2538 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเมืองยะลามีความรุ่งเรืองนับตั้งแต่ในอดีตแล้ว เพียงแต่ในช่วงที่เกิดความรุนแรงอาจส่งผลให้การพัฒนาเมืองยะลาหยุดชะงักไปในระยะหนึ่ง
แม้ความรุนแรงในเมืองยะลาจะยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ก็จำเป็นที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา หนึ่งในกำลังสำคัญของการสร้างเมืองยะลาในสถานการณ์ของความขัดแย้ง นากยกเทศมนตรีท่านนี้ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ ที่เคยปูพื้นฐานของการพัฒนาเมืองยะลานับตั้งแต่ท่านร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ ที่กรุงเทพฯเมื่อเดือนกันยายน 2557 จนทำให้คณะทำงานแผนงานฯ จัดให้มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดยะลาในเวลาต่อมา
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาให้เหตุผลถึงการมุ่งหวังที่จะพัฒนาเมืองยะลาให้เป็นสิงคโปร์แห่งที่ 2 เนื่องเพราะเมื่อเริ่มต้นรับตำแหน่งนายกเทศมนตรี เห็นแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลให้ประเทศก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับแถวหน้าของโลก ดังนั้นจึงตั้งใจว่าจะสร้างเมืองยะลาให้เป็น education hub เพราะมีสถาบันการศึกษาในเทศบาลนครยะลาทุกระดับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง โจทย์ในการสร้างเมืองจึงเน้นไปที่การทำให้คนอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างสันติ ก่อนที่จะเดินต่อไปข้างหน้า
เยาวชนคือ กุญแจสำคัญของการสร้างเมือง “กลุ่มเยาวชนต้นกล้า” ของเทศบาลนครยะลา เกิดขึ้นจากแนวคิดพยายามสร้างสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะนายกเทศมนตรีเกรงว่า หากไม่ปลูกสำนึกให้เข้าใจถึงภาระหน้าที่ของเทศบาลที่พึงมีต่อประชาชน ประชาชนจะเข้าใจภาระหน้าที่เทศบาลไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นจึงนำไปสู่การสร้าง “ค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น” เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีค่านิยมร่วมกันคือ การรักบ้านเกิด เมื่อเด็กเข้าค่ายเยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น สิ่งแรกคือการละลายพฤติกรรมเยาวชน เพื่อให้ความแตกต่างของเยาวชนจางลงไปและสามารถอยู่ร่วมกันได้ จากนั้นคือการเรียนรู้ภารกิจของเทศบาล โดยเทศบาลจะส่งตัวแทนจากหน่วยงาน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชน พร้อมกันนั้นเยาวชนก็จะได้เรียนรู้ภาระหน้าที่ของนายกเทศมนตรี และสุดท้ายก็จะต้องตอบคำถาม 2 ข้อ ได้แก่ 1) หากท่านเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาคนต่อไป ท่านจะสร้างเมืองแห่งนี้อย่างไร และ 2) ในฐานะที่เป็นเยาวชน อยากนำบ้านเมืองไปสู่สันติสุขอย่างไร
สร้างชุมชน สร้างเมือง
การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในเขตเทศบาลนครยะลา อาจมีข้อแตกต่างจากความเข้มแข็งของชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ เพราะชุมชนที่นี่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นลำดับแรก ความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ความรุนแรงได้นำไปสู่ความเข้มแข็งของชาวชุมชน เทศบาลนครยะลามีชุมชนทั้งสิ้น 40 แห่ง โดยมีประชากร 61,563 คน (ตามทะเบียนบ้าน) ซึ่งถือเป็น “ตาสับปะรด” ชั้นเยี่ยมที่ช่วยระแวดระวังการก่อเหตุความรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
การมีส่วนร่วมของชาวชุมชนจึงไม่ใช่เป็นการกะเกณฑ์เพื่อให้คนเข้าร่วม แต่เป็นการมีส่วนร่วมที่เป็นตัวชี้วัดถึงชีวิตและทรัพย์สินของชาวชุมชนไปพร้อมๆกัน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมโครงการอาสาสมัครพิทักษ์ชุมชน หรือชุดปฏิบัติการ (ชป.) ให้มีการตรวจตรา ดูแลรักษาความปลอดภัยในชุมชน โดยชาวชุมชน โครงการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) สร้างเครือข่ายการระวังภัยผ่านวิทยุภาคประชาชน หรือ “วิทยุเครื่องแดง” และเร่งผลักดันนโยบายรวมถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีการแก้ปัญหาเป็นระบบอย่างจริงจังเพื่อให้เทศบาลนครยะลากลับคืนสู่สันติสุขโดยเร็วที่สุด ให้ชุมชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลซึ่งกันและกัน
นอกเหนือจากนี้แล้ว เทศบาลยังได้ทำงานเชิงลึกกับชุมชน เพราะชุมชนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ทั้งทางด้านแนวความคิด ค่านิยม สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เทศบาลจึงให้ความสำคัญในการสืบค้นถึงปัญหาของชุมชนที่กำลังประสบอยู่ และนำไปสู่โครงการพัฒนาชุมชนที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ เกิดโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน จนพัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ กระทั่งสามารถดูแลสุขภาวะของตนเองได้
สร้างสวน สร้างเมือง
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลากำลังพัฒนาให้ยะลามีลักษณะของ “สวนล้อมเมือง” หรือ “นครแห่งสวน” ลมเย็นๆในยามเช้า หรือเวลาพลบค่ำในเมืองยะลา นับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองยะลา ให้ประชาชนได้มีพื้นที่ออกกำลังกายและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การสร้างสวนในเมืองยะลา นับเป็นการเสริมเติมความสวยงามให้แก่ผังเมืองในอีกด้านหนึ่ง ดังที่ได้รับสมญานามว่า “เมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดของประเทศไทย” พื้นที่ของเขตเทศบาลนครยะลาประมาณ 19 ตารางกิโลเมตร มีถนนกว่า 400 สาย ที่ตัดเชื่อมต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นใยแมงมุมและมีวงเวียนซ้อนกัน 3 วงคล้ายกับเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ถนนทุกสายมุ่งไปสู่วงเวียนหลักเมือง อีกส่วนหนึ่งตัดกันเป็นตารางหมากรุก คล้ายกับเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
สร้างเศรษฐกิจ สร้างเมือง
ความไม่สงบในพื้นที่เมืองยะลา ส่งผลให้องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน ต้องเร่งสร้างความมั่นใจ และชี้นำทิศทางของสังคม เพื่อพลิกฟื้นความมั่นใจจากทุกภาคส่วน และฟื้นชีวิตเมืองยะลาให้กลับมา การพยายามสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ทำให้กลุ่มชน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา สามารถร่วมใช้ประโยชน์พื้นที่แห่งนี้ ได้นำไปสู่โครงการ “ยะลอห์บาซาร์” (Yaloh Bazaar) บนถนนวิภากุล เนื้อที่ 10 ไร่ รายล้อมด้วยย่านการค้า ชุมชน ศูนย์กลางทางราชการ ศูนย์กลางทางการศึกษา รวมถึงศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของเมืองยะลา
ขณะนี้แบบของโครงการยะลอห์บาซาร์ ค่อนข้างมีความพร้อม จากกระบวนการออกแบบที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวเมืองยะลาทุกกลุ่ม เพื่อร่วมออกแบบให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนใต้ เป็นอีกหนึ่งแหล่งสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ที่สำคัญคือ การเสริมสร้างเศรษฐกิจในเขตเทศบาลนครยะลาให้ฟื้นกลับมามีชีวิตชีวา เพราะได้ต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ชาวยะลา ซึ่งกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และมีการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสมาชิกกันมากขึ้น
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาได้กล่าวในตอนท้ายถึงความพยายามจัดตั้งบริษัทของเทศบาล เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาถือหุ้น แล้วนำทรัพย์สินของเทศบาลโอนเข้ามาอยู่ในบริษัทแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ตลาด สวนสาธารณะ สินค้าและผลิตภัณฑ์ของเมืองยะลา โดยมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากนี้ การตั้งบริษัทของเทศบาลยังสามารถดึงคนเก่งกลับมาทำงานในท้องถิ่นได้มากกว่าที่เป็นอยู่
เทศบาลนครยะลา ต้นแบบการปฏิรูปประเทศด้วยท้องถิ่น
ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชื่นชมเทศบาลนครยะลา ที่เป็นต้นแบบสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้วยท้องถิ่น และหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆได้ถือเป็นแบบอย่าง ประเทศจะเจริญรุดหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นการลงพื้นที่ของคณะแผนงานฯในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามาศึกษาเรียนรู้ต้นแบบที่สำคัญของการพัฒนาเมืองโดยท้องถิ่น มาเรียนรู้จากประสบการณ์ ทฤษฎี อารมณ์ความรู้สึกจากเมืองยะลา ท้องถิ่นควรเป็นผู้นำในการพัฒนาในเชิงพื้นที่ (area base) เพราะใกล้ชิดกับประชาชน และที่สำคัญองค์กรท้องถิ่นก็ไม่ได้เป็นองค์กรเฉพาะกิจ เพราะฉะนั้นจึงทราบปัญหาของประชาชนมากกว่าหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค
ศาสตราจารย์ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวเสริมว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะมีนโยบายการสร้างพื้นที่การพัฒนาขนาดใหญ่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และบทบาทขององค์กรส่วนท้องถิ่นจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ขณะนี้กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนา เช่น 3 จังหวัด 5 - 6 จังหวัด อาจรวมเป็นพื้นที่หนึ่ง คล้ายกับการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีผู้ว่าการมณฑล ขณะที่สภามณฑลอาจประกอบขึ้นจากกลุ่มนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานที่รู้จักพื้นที่ของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อจะระดมความคิดความเห็นและนำเสนอต่อไปว่าภาค มณฑล ควรมีทิศทางการพัฒนาอย่างไรในอนาคต ที่สำคัญการรวมจังหวัดในรูปแบบพื้นที่เช่นนี้ มีข้อดีคือ วัฒนธรรมภูมิภาคจะเกิดความรุ่งเรืองไพบูลย์ ความเป็นมลายู จีน ฝรั่ง และไทย จะสามารถอยู่ในพื้นที่ของความเป็นพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับความแตกต่างและหลากหลายได้
ถ้าเป็นไปได้เสนอให้คุณยุวดี คาดการณ์ไกล (ผู้จัดการแผนงานฯ) เชิญนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีที่มีผลงานโดดเด่น เข้ามาร่วมพูดคุยให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนรับฟัง ถึงแม้ข้อเสนอที่ได้อาจไม่แล้วเสร็จสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการปฏิรูปประเทศต่อไป
ต้นแบบของการพัฒนาบ้านและเมือง
นวัตกรรมการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นโดยเทศบาลนครยะลา มีส่วนสำคัญที่ทำให้นักวิชาการที่กำลังศึกษาเรื่องเมืองควรทบทวนตนเองและก้าวให้ทันการพัฒนาเมืองในท้องถิ่น ดังที่คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้จัดการแผนงานฯ เสนอว่า ผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาเมือง จะละเลยแนวทางการพัฒนาของเทศบาลนครยะลาไปไม่ได้ ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ดังนั้นการเดินทางเพื่อมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปเสนอให้หลายๆเมืองได้รับรู้ต่อไป และอย่างน้อยที่สุดคือ การเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองยะลาว่า “ยะลาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”
สำหรับนายแพทย์ ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 7 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการเรียนรู้และการพัฒนาประเทศ ควรเริ่มจากท้องถิ่น เพราะตนเองไม่เคยเชื่อในเรื่องการทำงานที่เน้นเพียงรัฐบาลส่วนกลาง (central government) เพราะคนที่รู้ปัญหาในพื้นที่มากที่สุดคือองค์กรท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมามองระบบการศึกษาพบว่า ผู้เรียนไม่เคยได้ศึกษาภูมิปัญญาของท้องถิ่นเลย การที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ของท้องถิ่น จึงมีส่วนทำให้คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่หลุดจากบริบทแวดล้อมของตนเอง ดังนั้นความรู้พื้นถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างมาก นายแพทย์ ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า จะมีแนวทางใดบ้างที่ทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งต่อไป คล้ายกับคุณทนงศักดิ์ วิกุล อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ที่มองเห็นการพยายามสืบสานประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของคนยะลา ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการช่วยฟื้นเมืองยะลาให้มีชีวิตชีวาต่อไป
บทส่งท้าย
การเดินทางมายังเมืองยะลาด้วยระยะทางที่มากกว่า 1,000 กิโลเมตร พร้อมทั้งเป็นพื้นที่สีแดง ที่มีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังความรุนแรงมาไม่น้อยกว่า 10 ปี อาจทำให้คณะแผนงานฯที่เดินทางมาหวั่นเกรงไม่มากก็น้อย แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนรู้ คณะแผนงานฯก็เห็นถึงศักยภาพของคนในท้องถิ่น ที่มีพลังของความสร้างสรรค์ และลงความเห็นร่วมกันว่า ควรหยิบยกการบริหารเมืองยะลาเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นได้เรียนรู้ หลายท่านที่เดินทางมาร่วมการศึกษาดูงานครั้งนี้ ประทับใจมนตร์เสน่ห์ของเมืองยะลาโดยเฉพาะอัตลักษณ์ของเมืองยะลา ที่พยายามสร้างเมืองบนพื้นฐานของความแตกต่างของกลุ่มชน
ถึงแม้ความรุนแรงในเมืองยะลาได้นำไปสู่การสูญเสียอย่างประมาณค่าไม่ได้ แต่ภาพฝันและจินตนาการใหม่ต่อการสร้างเมืองยะลาของผู้บริหารเมือง และประชาชนชาวเมืองยะลา ก็ทำให้คณะแผนงานฯมองเห็นภาพนั้นร่วมกันว่า เมืองยะลาไม่สามารถมีเพียงกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง เมืองยะลาเป็นเมืองของชาวยะลาทุกคน และเป็นเมืองที่อยู่ร่วมกับความแตกต่างและความหลากหลายได้ ดังเช่น วงออร์เคสตราของเยาวชนชาวยะลา ที่สะกดให้คณะแผนงานฯยืนชื่นชมในระยะประชิด ซึ่งไม่ใช่เพียงเสียงเพลงอันไพเราะที่ขับกล่อม แต่เป็นการสื่อความหมายให้เห็นถึงความกลมเกลียวสมัครสมานสามัคคีของผู้เล่นดนตรี เสมือนภาพจำลองของความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในเมืองยะลา ที่แสดงให้คนภายนอกรับรู้ว่า “ยะลาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”