Events

เมืองร้อยเอ็ด เมืองแห่งน่าอยู่และยั่งยืน

ทีมวิจัยศูนย์ศึกษามหานคร ได้ลงพื้นที่เมืองร้อยเอ็ดครั้งแรก ไปที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เนื่องจากร้อยเอ็ดเป็นหนึ่งในเมืองที่ทางเราได้เลือกถอดบทเรียน จากโครงการการถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะ เพื่อเป็นแนวทางให้กับเมืองอื่นๆ ของไทย เราเดินทางไป วันที่ 22-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นเวลา 2 วัน ทีมวิจัยได้พบกับผู้คนมากมาย และได้พูดคุยแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะกับ เจ้าหน้าที่ของเทศบาล หลากหลายฝ่ายที่มาให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ รวมไปถึงได้คุยกับคนในชุมชนเมืองร้อยเอ็ด ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการได้รับบริการที่ดี การเรียนรู้ตลอด 2 วันของเรา ทำให้เห็นว่าร้อยเอ็ดมีประเด็นการพัฒนาที่น่าสนใจดังนี้  

 

 

ร้อยเอ็ด เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน 
 
 
เราได้พูดคุยกับ ดร.วัฒนพงษ์ ชิตทรงสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการการถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะของไทย
ร้อยเอ็ดเป็นเมืองที่ได้รับรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2564 อะไรทำให้เมืองแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่าสิ่งแวดล้อมยั่งยืน การพูดคุยกับ ดร.วัฒนพงษ์ ทำให้เราเห็นถึงวิสัยทัศน์ของเทศบาลในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และทำอย่างยิ่งจริงจัง
 
รูปธรรมที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ดำเนินการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มีหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพื้นที่สีเขียว ดูแลบึงพลาญชัยใจกลางเมือง การปลูกต้นไม้ให้เมือง ปรับภูมิทัศน์เมืองด้วยการย้ายชุมชนแออัดที่บุกรุกที่ดินรอบคูเมืองให้ย้ายออกโดยไร้ข้อขัดแย้ง การทำความสะอาดเมือง และการกำจัดขยะที่แทบจะไม่มีขยะตกทิ้งในเมือง
 
สิ่งที่เราสัมผัสได้ทันทีของการเยือนร้อยเอ็ด คือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ทุกถนนมีความสะอาด ไร้ถังขยะ แทบจะไม่มีเศษขยะในเมือง หลายเมืองของไทยให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดของเมือง แต่ต้องยอมรับว่าโดยส่วนมากเราจะยังไม่รู้สึกว่าเมืองของไทยสะอาดมากนัก ความสะอาดและความเป็นระเบียบ ทำให้คนในเมือง คนนอกเมืองรู้สึกได้ถึงความน่าอยู่ของเมือง
 
อะไรทำให้ร้อยเอ็ดทำเมืองได้สะอาด ภูมิทัศน์ดี มีพื้นที่สีเขียว เป็นเพราะการบริหารจัดการที่ดี การมีพนักงานดูแลทำความสะอาดกว่า 50 คน บริหารให้ทำความสะอาดตามจุดต่างๆ ของเมืองอย่างครอบคลุม การตอบสนองทันทีของการร้องเรียนของประชาชนหากมีที่ใดมีปัญหาผ่านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และการมีส่วนร่วมที่คนในเมืองร้อยเอ็ด ช่วยกันดูแลความสะอาดของเมือง
 
 
 
ร้อยเอ็ด เมือง Zero Waste 
 
ปัญหาขยะล้นเมือง จัดการไม่ได้ กำจัดไม่ทัน หลายเมืองต้องกองไว้แบบนั้น รอวันย่อยสลายไปทั้งที่แทบจะไม่ย่อยเลย ปัญหาที่่มาพร้อมกับความเป็นเมืองแบบนี้ ไม่สร้างปัญหาเท่าไหร่นักกับเมืองร้อยเอ็ด
 
เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ตั้งเป้าให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นเมือง zero waste เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมือง ทีมของเรามีโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับตัวแทนชุมชนจันทร์เกษม ในเมืองร้อยเอ็ด และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เกี่ยวกับการกำจัดขยะ เริ่มตั้งแต่ขยะต้นทาง เทศบาลจะแจกถังดำเพื่อให้ชุมชนใส่ขยะเปียก ติดตั้งถังขนาดใหญ่เพื่อให้ชุมชนนำขยะเปียกมาทิ้งรวมกัน จากนั้นก็นำไปทำปุ๋ยเพื่อใส่ให้ต้นไม้ในเมือง ชุมชนเองก็ตั้งผ้าป่าขยะรับซื้อขยะรีไซเคิลของคนในชุมชน ขยะบางส่วนจึงถูกแยกจากชุมชนแล้ว
 
ในส่วนขยะที่เหลือนั้น เราได้พูดคุยกับ คุณพรชัย ตรีบุญเมือง ผู้อำนวยการกองช่องสุขาภิบาล เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลฯ มีการของบส่วนกลางมาสร้างโรงงานจัดการขยะ ให้ขยะจากเมืองร้อยเอ็ดและอปท. ใกล้เคียง 9 แห่งสามารถนำมาทิ้งได้ โดยโรงจัดการขยะนี้สามารถเปลี่ยนขยะที่เราทิ้งๆ กันเป็น แปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) ทำข้อตกลงขายให้กับบริษัทเอกชนที่รับซื้อ ทำให้เมืองร้อยเอ็ดแทบจะไม่มีขยะตกค้างในเมือง ขยะทุกประเภทมีทางออกและกำจัดได้
 
ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากคนปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกำจัดขยะ คือ การคัดแยกขยะจากต้นทางสำคัญที่สุด ร้อยเอ็ดเองต้องขยายทำความร่วมมือต่อไป การคัดแยกยังทำได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนขยะ และการมีโรงกำจัดขยะ จะไม่มีประโยชน์ใดหากไม่สามารถมีบริษัทมารับซื้อขยะ rdf ออกไป โรงกำจัดขยะก็จะเป็นเพียงแค่สถานที่ทิ้งขยะเหมือนทุกแห่ง สิ่งสำคัญ คือการที่เราสามารถหาทางออก การสลาย การเปลี่ยนรูป ให้กับขยะทุกประเภท และนำออกไปให้ได้
 
 
 
 
 
ร้อยเอ็ดกับการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง 
 
 
ร้อยเอ็ดเป็นเมืองมีผู้คนมีหลากหลายมาอาศัยอยู่ หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มแรงงาน ซึ่งพวกเขาต้องการที่พักอาศัยที่ราคาถูก ใกล้แหล่งงาน แต่ที่พักใจกลางเมืองนั้นหายาก ทำให้มีการบุกรุกที่ดินตั้งถิ่นฐาน ตั้งชุมชนริมคลองกลางเมือง อาศัยอยู่มากว่า 30 ปี กลายเป็นชุมชนแออัดกลางเมือง
เราได้พูดคุยกับชุมชนบ้านมั่นคงพัฒนา และกองสวัสดิการสังคมของเทศบาลร้อยเอ็ด พบว่า เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดต้องการปรับภูมิทัศน์เมือง แก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเหล่านี้ แต่การให้ชาวบ้านย้ายออกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เทศบาลฯ จึงร่วมมือกับ พอช. และการเคหะแห่งชาติ เข้าพูดคุยกับชุมชนให้มีการย้ายออก โดยเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้เช่าที่บริเวณหนึ่งที่ห่างออกจากตัวเมืองร้อยเอ็ดประมาณ 5 กิโล และให้ พอช.และการเคหะเข้ามาสร้างบ้าน สร้างสาธารณูปโภค ทำกระบวนการให้ชุมชนแออัดในเมืองเดิม ได้ผ่อนบ้านและมีที่อยู่อาศัยรองรับ โดยแหล่งที่อยู่ใหม่ สำหรับครัวเรือนใดที่ยากจนมาก ไม่สามารถผ่อนบ้านได้ เทศบาลฯ ได้สร้างบ้านให้กลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ฟรี จูงใจให้ย้ายมา ผู้คนจึงทยอยย้ายมา โดยผ่านความขัดแย้งน้อยมาก
 
ปัจจุบันจะมีการสวัสดิการดูแล มีสนามเด็กเล่น มีการสร้างศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนเขต 3 ให้กับชุมชนใหม่ ที่เทศบาลเพิ่มการดูแลสุขภาพประชาชนให้ใกล้บ้านมากที่สุด การเจ็บป่วยเบื้องต้นรักษาฟรี มีหมอ พยาบาลมาดูแล เกิดปากต่อปาก และเริ่มมีการย้ายมามากขึ้น พวกเขาก็จะได้อยู่แบบถูกกฎหมาย มีชุมชนชัดเจน มีการพัฒนาและดูแลไม่แตกต่างชุมชนอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีชุมชนแออัดหลงเหลือในเมือง หากมีผู้ที่ไม่ยอมย้าย ก็จะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อไป และนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ของความพยายามแก้ไขและพัฒนาคนจนในเขตเมือง ที่ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
 
 
การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม: หอโหวด 101 
 
ทีมวิจัยได้เข้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และสำนักการศึกษา ในเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองบนฐานวัฒนธรรมของเมืองร้อยเอ็ด ว่ามีหลักคิดและวิธีการอย่างไร
 
เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และคนร้อยเอ็ด มีความภูมิใจในผลงานรูปธรรม ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเมือง คือ การสร้างหอชมเมืองรูปทรงโหวด หรือที่รู้จักในนาม "หอโหวด 101" หอชมเมืองแห่งนี้สำคัญอย่างไรกับเมืองร้อยเอ็ด
 
เป็นที่รับรู้กันว่าที่ผ่านมา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองทางผ่าน ไม่ใช่เมืองที่มีจุดเด่นดึงดูดมากพอให้คนแวะมาท่องเที่ยวได้ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจึงต้องการสร้าง Landmark ของเมือง เพื่อดึงดูดผู้คนให้มาจับจ่ายในเมืองร้อยเอ็ด จึงได้ทำการออกแบบ "หอโหวด101" ที่มีความโดดเด่นในการนำโหวด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของคนร้อยเอ็ดมาเป็นแบบอาคาร เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและคนร้อยเอ็ด ใช้ความพยายามอย่างมากในการเสนอของบจากส่วนกลางเพื่อมาสร้างหอแห่งนี้ จนในที่สุดก็ทำสำเร็จ หอโหวดแห่งนี้เสร็จราว พ.ศ. 2563
 
ผ่านมาไม่นาน กลับกลายเป็นว่าหอโหวดแห่งนี้สร้าง impact ให้กับเมืองมหาศาลกว่าที่คาดไว้ หอโหวดแห่งนี้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เรื่องโหวดของเมืองร้อยเอ็ด วิวชมเมืองที่สวยงาม มีการอันเชิญพระธาตุไว้บนสุดของอาคาร ให้คนมากราบไหว้ พักผ่อน หลายโซนสามารถจัดงาน ซื้อของฝากที่เป็นของท้องถิ่น และยังมีหลักคิดสำคัญในฐานะเมืองสุขภาวะว่า การจัดงานต่างๆ ในหอโหวด ต้องปลอดเหล้าและบุหรี่ 100%
มีคนร้อยเอ็ด นักท่องเที่ยว และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา หน่วยงานต่างๆ เข้ามาชมหอแห่งนี้เกือบ 2 ล้านคนแล้ว จนวันนี้รายได้ของหอโหวดสามารถมีกำไร เลี้ยงดูตนเองได้ และยังนำรายได้ที่เหลือ มาพัฒนาดูแลบึงพลาญชัย สวนรอบข้างให้สวยงามอย่างต่อเนื่องด้วย เรียกได้ว่า ร้อยเอ็ดทำให้คนหยุดพักในเมืองได้แล้ว โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ก็ได้รับผลจากหอโหวดแห่งนี้
 
อาจเรียกว่า หอโหวด101 เป็นโครงการที่ทำแล้วตอบโจทย์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรมเมือง ด้านการศึกษา และสร้างเอกลักษณ์ให้กับเมืองร้อยเอ็ดบนอัตลักษณ์ของเมืองที่ชัดเจน เกิดภาพจำเป็นแบรนด์ของเมืองไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า "ความกล้า" "การคิดนอกกรอบ" "ความพยายาม" "ความรักเมือง" เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมืองแห่งนี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts