Events

“สทิงพระ” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำของสงขลา บนพื้นที่คาบสมุทรอันอุดมสมบูรณ์

ดารณี  เสือเย๊ะ

 

คำนี้ที่ดูเหมือนไร้ความหมาย แต่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมชีวิตของครูไพฑูรย์ ศิริรักษ์มาอย่างยาวนาน คุณครูท่านนี้เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนชาวบก และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้โหนดนาเลเป็นที่รู้จักแก่คนภายนอก ท่านได้เสียสละเวลาเดินทางจากอำเภอสทิงพระ เพื่อไขข้อข้องใจให้กับคณะทำงานเรา ที่เวทีวิชาการ “การขับเคลื่อนและทิศทางการพัฒนาอนาคตของสงขลา” ซึ่งจัดในโรงแรมตัวเมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หลังจากเสร็จสิ้นเวทีในวันนั้นคุณครูยังเชิญคณะทำงานไปสัมผัสบรรยากาศโหนดนาเลที่บ้านของคุณครูอีกหนึ่งวัน ด้วยแววตาแห่งความหวังและตั้งใจของคุณครูต่อความพยายามทำให้ชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระอยู่รอดให้ได้ ในช่วงฤดูกาลที่พายุทุนนิยมโลกาภิวัตน์กำลังโหมกระหน่ำ จึงทำให้เราเข้าใจคำว่าโหนดนาเลกระจ่างมากขึ้น

คุณครูอธิบายให้เห็นถึงเมืองสทิงพระที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เป็นเมืองแห่งอารยธรรมของทั้งจังหวัดสงขลาและพัทลุง อีกทั้งยังปรากฏว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมอย่างมาก ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เป็นฐานความมั่นคงทางอาหารด้านคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ไม่ให้มีการเข้ามาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินเสีย ครูไพฑูรย์เน้นย้ำให้เห็นว่าภูมิปัญญาของชุมชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องของปากท้อง ดังนั้นการทำเรื่องโหนดนาเลจึงเป็นการทำให้ชาวชุมชนอยู่รอดได้บนฐานของการทำเศรษฐกิจของชุมชน

 

สทิงพระ

 

แล้วโหนดนาเลคืออะไร ?

“โหนด” คือตาลโตนด เป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตการเกษตรของคนไทยตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ตาลโตนดมีทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีการขยายพันธุ์โดยการนำมาปลูกในพื้นที่การเกษตรทั่วทุกภาค โดยเฉพาะบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลามีต้นตาลโตนดมากกว่าสามล้านต้นซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนต่างๆของต้นตาลโตนดสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายและคุ้มค่า ปัจจุบันวิถีโหนดได้รับความสนใจ มีการพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับโหนดมากขึ้น มีกลุ่มอาชีพที่แปรูปผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ และสร้างรายได้มากขึ้น และเมื่อราคาน้ำผึ้งราคาสูงขึ้นจากปี๊บละ ๔๐๐-๕๐๐บาท เป็นปี๊บละ ๑,๐๐๐ กว่าบาท ทำให้ผู้ใช้หันกลับมาใช้ผลผลิตจากโหนดมากขึ้น ลดความกังวลเรื่องโหนดสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงส่งผลให้เป็นอาชีพที่มีอนาคต ทำรายได้ให้กับชาวชุมชนสร้างเศรษฐกิจแก่ชุมชนปีละหลายร้อยล้านบาท

“นา” คือการทำนา สภาพที่น่าเป็นห่วงคือ การทำนาแต่ละปีต้องอาศัยน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ปีไหนฝนตกดีก็ทำนาได้ ปีไหนน้ำแล้งก็ไม่เพียงพอต่อการทำนา จึงไม่ได้ผลผลิต ปีไหนฝนตกมากน้ำท่วมขังนานเข้าข้าวก็เน่าเปื่อย เป็นอย่างนี้มาช้านาน วิถีอาชีพการทำนาของที่จึงทำแต่เพียงพอกิน และเหลือเก็บมากกว่าทำนาเพื่อขายข้าว

“เล” คือวิถีเล ยังมีสภาพที่ดีกว่าการทำนา เพราะยังเป็นรายได้พอเพียงยังชีพหากเทียบกับในอดีตเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านที่ประชากรในรอบลุ่ม’เลสาบสงขลายังมีจำนวนน้อย ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมยังมั่งคั่งสมบูรณ์ดี เนื่องไม่มีการทำเกษตรเคมี ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ไม่มีวิถีบริโภคนิยม

กล่าวได้ว่าโหนดนาเลคือการนำภูมิปัญญาของชาวชุมชน โดยชาวชุมชน เพื่อให้ชาวชุมชนสามารถอยู่รอดได้ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้วิถีโหนดนาเลจะยังไม่ได้ช่วยชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระยืนด้วยลำแข้งตนเองอย่างทันตา แต่ก้าวย่างเล็กๆนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ชาวเมืองสทิงพระสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง

 

สทิงพระ

 

ครูไพฑูรย์ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า การพัฒนาเมืองบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยวเพียงศูนย์การเรียนรู้ฯของคุณครูเท่านั้น ยังมีเครือข่ายๆที่ทำหลากหลายประเด็น อาทิเช่น เรื่องสวัสดิการชุมชน เรื่องอาหาร และเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะเดียวกันการทำงานพัฒนาเมืองสทิงพระก็ไม่ได้แยกขาดจากการพัฒนาเมืองสงขลา ดังที่ครูไพฑูรย์เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า การพัฒนาเมืองสทิงพระเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเมืองสงขลาด้วยเช่นกัน ดังเช่น ชาวชุมชนที่นี่เคยส่งสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่ชาวเมืองสงขลา และหาดใหญ่ ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม นั่นจึงทำให้ต้องย้อนกลับมามองว่า การพัฒนาเมืองอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างของการพัฒนาเมืองสทิงพระ คือการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของเมืองตนเอง ที่ไม่เพียงให้ประชากรในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้เท่านั้น แต่ยังเสริมเติมสิ่งที่เมืองอื่นๆขาดได้ด้วย

 

 

• AUTHOR

 


ดารณี  เสือเย๊ะ

รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
 

Related Posts