Events

“ปาดังฯ-จังโหลน” เมืองชายแดนที่มีชีวิตชีวา มูลค่ามหาศาลเศรษฐกิจสองดินแดน ไทย-มาเลย์

นวลปรางค์ ขัติยศ

 

จังหวัดสงขลามีด่านพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย จำนวน ๓ ด่าน ประกอบด้วย ๑) ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ๒) ด่านศุลกากรสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ๓) ด่านศุลกากรบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คณะทำงานแผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (นพม.) เลือกที่จะเข้าไปสำรวจพื้นที่เศรษฐกิจเมืองชายแดนตั้งแต่วันแรกเมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดสงขลา โดยเดินทางไปยังด่านพรมแดนในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นสองด่านการค้าที่มีมูลค่าสินค้าเข้าออกเป็นอันดับที่สองของประเทศไทย

ประชากรของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีจำนวนประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน นับถือศาสนาพุทธประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน นับถือศาสนาอิสลามประมาณ ๓๕,๐๐๐ คน ที่เหลือเป็นศาสนาอื่นๆ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาใต้กับภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร แต่ก็มีหมู่บ้านที่ประชาชนอพยพมาจาก จังหวัดปัตตานีประมาณ ๑,๐๐๐ คนที่ใช้ภาษายาวีเป็นหลักในการสื่อสาร

ด่านแรกตั้งอยู่ในหมู่บ้านไทย-จังโหลนที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่สุดทางหลวงหมายเลข ๔ ชายแดนมาเลเซีย ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ ๖๐ กิโลเมตร และติดกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ด่านจังโหลน หรือด่านศุลกากรสะเดา ด่านชายแดนนี้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในนาม “ด่านนอก” ถือเป็นด่านสำคัญในการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างไทยกับมาเลเซีย นักท่องเที่ยวมาเลเซียนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหาดใหญ่และสามารถขับรถข้ามแดนได้ โดยจะแวะช็อปปิ้งที่ตลาดและ Duty free ได้ ถือเป็นด่านที่อำนวยความสะดวกให้แก่ชาวมาเลเซีย เพราะมีโรงแรมหลายแห่งตั้งอยู่ริมถนนบริเวณด่าน มีแผงจำหน่ายสินค้า ส่วนนักท่องเที่ยวไทยก็นิยมขับรถข้ามไปยังฝั่งมาเลเซีย เพราะมีห้างสรรพสินค้าปลอดภาษีต่างๆ เช่น บุหรี่ เหล้า น้ำหอม ช็อกโกแลต เสื้อผ้า แว่นตา กระเป๋า พอถึงช่วงวันหยุดติดกันหลายวันจะมีรถติดยาวเหยียด

 

ปาดังฯ-จังโหลน

 

ด่านชายแดนสะเดามีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล สูงที่สุดของด่านชายแดนทุกด่าน ยกเว้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ชนิดสินค้าที่นำเข้าจำนวนมากจากมาเลเซียผ่านด่านแห่งนี้ ก็เช่น ฮาร์ดดิสก์ เมมโมรีการ์ด ซีพียู ส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ วงจรอิเลคทรอนิกส์ ยางสังเคราะห์ เครื่องสูบลม เป็นต้น ส่วนชนิดสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทย ได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางผสม ไม้ยางแปรรูป ถุงมือยาง แผ่นไม้อัด และซีพียู ส่วนใหญ่ไทยจะได้ดุลการค้า คือมูลค่าการส่งออกมากกว่านำเข้า

เมื่อรถตู้พาเราแล่นผ่านหมู่บ้านจังโหลน เราพูดคุยกันว่าที่นี่ไม่น่าจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆบริเวณชายแดนแล้ว แต่กำลังเติบโตเป็นเมืองขนาดย่อมที่รองรับนักท่องเที่ยวทั้งจากไทยและมาเลเซีย เคยได้ข้อมูลมาว่า ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนของชาวมาเลเซีย ซึ่งเดิมทีนั้นล้วนมุ่งตรงสู่หาดใหญ่เป็นหลัก สายตาของเราจับจ้องไปที่ตึกอาคารสองข้างของถนน เป็นประจักษ์พยานสำคัญอย่างหนึ่งว่า จังโหลนกำลังกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา อีกทั้งรถบรรทุกหลายคันจอดเรียงแถวกันเพื่อผ่านเข้าออกด่านชายแดน ก็เป็นอีกหนึ่งคำอธิบายว่า จังโหลนชุมชนเล็กๆบริเวณชายแดนนั้นเป็นเพียงภาพในอดีต เพราะวันนี้จังโหลนคือ เมืองๆหนึ่งของสงขลาไปเรียบร้อยเสียแล้ว

 

ปาดังฯ-จังโหลน

 

จากนั้นเดินทางไปด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ เป็นด่านศุลการทางบกอยู่ติดเขตแดนไทยกับสหพันธรัฐมาเลเซีย อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐเปอร์ลิส สหพันธรัฐมาเลเซีย หากนำรถส่วนตัวไป ให้เริ่มจากอำเภอสะเดาจะห่างออกไปเพียง ๑๑ กิโลเมตร ด่านปาดังเบซาร์จะอยู่ซ้ายมือก่อนถึงตลาดปาดังเบซาร์ ครั้งแรกตั้งขึ้นเป็นด่านตรวจปาดังเบซาร์ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ถูกกำหนดให้เป็นด่านพรมแดนของท่ากรุงเทพฯ ตามกฎกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงกำหนดขึ้นเป็นด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ตามกฎกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยได้ใช้สถานที่ของสถานีรถไฟร่วม (สถานี ๑) ปาดังเบซาร์ ซึ่งอยู่ในดินแดน ของประเทศมาเลเซียเป็นที่ทำการด่านฯตามสัญญาระหว่างรัฐบาลสหพันธรัฐมลายู กับรัฐบาลสยาม ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเดินรถไฟ ระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับเมืองกลันตัน ไทรบุรี เปอร์ลิส และสหพันธรัฐมลายู ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้สร้างอาคารที่ทำการด่านฯ ขึ้นบนพื้นที่ ๑๗.๓๖ ไร่ ซึ่งเป็นที่เช่าจากสุขาภิบาลตำบลปาดังเบซาร์ และในปีงบประมาณ ๒๕๓๘ กรมศุลกากรได้อนุมัติให้ปรับปรุง อาคารที่ทำการด่านฯ คลังสินค้า ลานตรวจสินค้า และบ้านพักข้าราชการ ให้มีความเหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวปริมาณงานของด่านฯ ให้มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดสงขลา ระบุว่า ด่านปาดังเบซาร์มีมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้าราว ๒ แสนล้านบาทต่อปี เมื่อรวมกับด่านสะเดา หรือที่เรียกว่า "ด่านนอก" จะมีมูลค่ารวมปีละกว่า ๕ แสนล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ รองจากด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯเลยทีเดียว โดยมูลค่าการค้าสูงกว่าด่านแม่สอด จังหวัดตาก ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และด่านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกด่าน ทั้งนี้หากนับเฉพาะด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันมีทั้งหมด ๙ ด่าน คือ ด่านศุลกากรสตูล ด่านศุลกากรวังประจัน จังหวัดสตูล ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา ด่านศุลกากรบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ด่านศุลกากรเบตง จ.ยะลา ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และด่านศุลกากรตากใบ จ.นราธิวาส

 

ปาดังฯ-จังโหลน

 

จากการเดินทางสำรวจเมืองชายแดนสงขลา ทำให้มีข้อสังเกตว่า นอกจากเมืองชายแดนกำลังเผชิญภาวะวิกฤติเรื่องความแออัดของสถานที่และปัญหาการจราจร ตัวอย่างเมืองชายแดนบริเวณด่านจังโหลน อ.สะเดาเป็นภาพสะท้อนที่ดี ของเมืองชายแดนวันนี้และในอนาคต ที่ไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่ติดขอบแดนอันไกลโพ้นขาดการพัฒนาอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ที่คึกคักคลาคล่ำด้วยผู้คนและสร้างโอกาสให้กับทั้งนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว แรงงานต่างชาติ ที่ต่างเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ สัญจรและขนส่งสินค้าอย่างสะดวก อย่างไรก็ตามมุมสะท้อนกลับที่ต้องตระหนักและรับมือของผู้บริหารจัดการเมืองกับปัญหาที่ตามมาคือ การกลายเป็นแหล่งมั่วสุม การขยายตัวของเมืองที่ขาดการจัดการ เกิดเป็นแหล่งสลัมใหม่ในเมือง เกิดปัญหายาเสพติด รวมถึงการค้ามนุษย์ ที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนใหญ่โครงการพัฒนาเมืองชายแดนหลายโครงการมุ่งเน้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาลงทุน ดังนั้น จึงเป็นคำถามของคณะทำงานฯว่า เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองชายแดนอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีนโยบายและแผนการพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเมืองที่ดี และไม่มุ่งหวังเพียงแต่เพิ่มมิติการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว

 

 

 

• AUTHOR

 

 


    นวลปรางค์ ขัติยศ

    รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
 

Related Posts