Events

“คลองแดน” คืนชีพเมืองเก่า สืบย้อนถึงความรุ่งเรืองในอดีต

ดารณี  เสือเย๊ะ

 

ทุกวันเสาร์ตลาดน้ำคลองแดนคือสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เดินทางเข้ามาชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง และเลือกซื้อเลือกทานอาหารของชาวตลาดน้ำคลองแดนกันอย่างคึกคัก สร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง เราได้เดินทางมาตลาดน้ำแห่งนี้สองวันติดต่อกัน วันแรกเราเดินทางไปสังเกตการณ์ตลาดน้ำคลองแดนพร้อมกับบรรยากาศฝนพรำๆ ขณะที่สองฝั่งคลองมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศเดินขวักไขว่อย่างไม่กลัวสายฝน วันต่อมาเราได้ไปพูดคุยกับครูสายันห์ ชลสาคร ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านไม้ ที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นบ้านไม้โบราณไว้ ภายในตัวบ้านนอกจากเป็นที่พักโฮมสเตย์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ข้าวและของเก่าแก่ ที่ผู้คนอาจลืมเลือนไปแล้ว คุณครูต้องการสืบสานที่แห่งนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ จากนั้นเราเดินทางไปวัดแห่งหนึ่งใกล้ๆคลองแดน ท่านเจ้าอาวาสพาเราเยี่ยมชมความเก่าแก่ของวัดและพระพุทธรูปที่มีอายุหลายร้อยปีอีกหลายองค์ ท่านพูดถึงความสัมพันธ์ของชาวพุทธบริเวณคลองแดนที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชุมชนแถบคลองแดน จากการเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้

คลองแดน

ในอดีตตลาดน้ำแห่งนี้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ผลอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะการตัดเส้นทางการคมนาคมทางบกทำให้คลองแดนเงียบเหงามานานถึงเกือบ 40 ปี ตลาดน้ำคลองแดนเกิดขึ้นจากการฟื้นฟูชุมชน เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงในวิถีชีวิตผู้คนในอดีต ที่ไม่ได้ถูกแบ่งแยกโดยหลักเขตแดนของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เส้นแบ่งที่ไม่อาจขวางกั้นนี้ ทำให้คลองแดนโลดแล่นขึ้นมาไม่เพียงผ่านจินตภาพจากผู้ทำงานฟื้นฟูชุมชน แต่ยังมาจากการเข้ามามีส่วนร่วมของชาวชุมชนด้วย คนเหล่านี้ต้องการเห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของผู้คนที่เคยมีมาแต่อดีต การฟื้นฟูตลาดน้ำคลองแดนจึงไม่เพียงแต่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาโดยไร้ราก แต่เป็นการต่อฐานรากที่เคยลืมเลือนไปให้ฟื้นตื่นขึ้นมา

คลองแดนเป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนระหว่างจังหวัดสงขลา (ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด) กับ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ตำบลรามแก้ว อำเภอหัวไทร) จึงมีชื่อว่า “คลองแดน” ในอดีตที่นี่เป็นแหล่งการค้าขายสำคัญของเมืองชายแดน และเป็นทางแยกของเส้นทางการคมนาคมทางน้ำระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย (ทะเลหลวง) จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เมื่อปี 2406 พบว่ามีการตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่นบริเวณสามแยกแนวบรรจบสามคลอง ที่ประกอบด้วย คลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง ความเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมทำให้ผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากที่นี่ เนื่องจากมีการตัดผ่านของถนนหมายเลข 408 เมื่อปี 2516 การคมนาคมทางน้ำก็ลดความสำคัญลงไป

 

คลองแดน

 

คลองแดนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูชุมชนภายหลังจากการขยายตัวของเมือง ที่ได้แปรเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไป เป็นการฟื้นฟูชุมชนที่เชื่อมร้อยให้เห็นถึงความเป็นชุมชนพี่น้องที่อยู่ร่วมกันบนฐานของความผูกผันกันมาตั้งแต่ในอดีต เราได้เห็นการร่วมไม้ร่วมมือกันของชาวชุมชนในการจัดการด้านเศรษฐกิจของตลาดคลองแดนเอง เพื่อจะให้ชาวชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้ในวิถีของการพัฒนาของทุนนิยม แต่เส้นทางของชุมชนก็ต้องเผชิญกับบททดสอบการพัฒนาทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นความท้าทายใหม่คือ ชาวชุมชนแห่งนี้จะสามารถปรับตัวและดำรงอยู่บนเส้นทางการพัฒนานี้ เพื่อผ่านบททดสอบนี้ต่อไปอย่างไร

 

 

• AUTHOR

 


ดารณี  เสือเย๊ะ

รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts