Events

เมืองลำปาง เมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง เดินทางล่องเหนืออีกครั้ง เพื่อศึกษาดูงานเมืองลำปาง เมืองที่มีประวัติศาสตร์แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต โดยมีวิทยากรชาวลำปางแท้ๆ คุณทนงศักดิ์ วิกุล อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ นำศึกษาดูงานครั้งนี้ ท่ามกลางการพัฒนาเมืองที่มองไปข้างหน้า ลำปางเป็นหนึ่งเมืองที่ยังไม่ละทิ้งประวัติศาสตร์ และยังคงมีกระบวนการอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปัตยกรรม ฟื้นฟูเมืองให้กลับคืนสู่อดีต ควบคู่ไปกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านเศรษฐกิจ น่าสนใจกับเมืองลำปางที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา” นั่นจะเป็นเช่นไร คณะศึกษาดูงานจะร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกับการดูงานในครั้งนี้

 

เริ่มต้นที่วัดปงสนุก

คณะทำงานเริ่มต้นที่แรก โดยการเข้าศึกษาแนวคิดและขบวนการการอนุรักษ์วัตถุโบราณ ที่วัดปงสนุก จนได้รับคัดเลือกจากองค์การ UNESCO ให้ได้รับรางวัล Award of Merit จากโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation การมีส่วนร่วมการอนุรักษ์โดยชุมชนดีเด่น เราได้รับเกียรติจากอาจารย์อนุกูล ศิริพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมกิจการนักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง ผู้นำชุมชนปงสนุก เป็นมัคคุเทศน์พาเราให้รู้จักของโบราณในวัดปงสนุก และแนวคิดการอนุรักษ์ของชุมชน

 

 

อาจารย์อนุกูลเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในชุมชนปงสนุกว่า เริ่มจากการที่ชาวบ้านบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ (รูปที่ 1) ซึ่งมีอายุกว่า 500 ปี เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่รวบรวมไว้ทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน พม่า ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่างพระสงฆ์กับชุมชน ผู้นำชุมชน ช่างฝีมือท้องถิ่น และนักวิชาการ ใช้เวลาในการอนุรักษ์ประมาณ 5 ปี ใช้เงินประมาณ 1 ล้านกว่าบาท จากการบริจาค ทอดผ้าป่า กฐินของชาวบ้าน ซึ่งการอนุรักษ์ บูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์วัตถุโบราณ ของสำคัญ ทุกอย่างของชุมชนปงสนุก

เมื่อชุมชนเริ่มหันมาสนใจการอนุรักษ์วัตถุโบราณของชุมชน ทำให้เกิดการสำรวจวัดปงสนุก ซึ่งทำให้ได้พบกับของสำคัญที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม มากมายภายในวัด อาจารย์อนุกูลจึงพาคณะทำงานไปยังพิพิธภัณฑ์ของวัด ที่ได้นำของสำคัญที่ได้ค้นพบ มาจัดแสดงให้ได้ชม ซึ่งเกิดจากกระบวนการอนุรักษ์ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปไม้ ธงช้างเผือกขนาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 6 คัมภีร์โบราณ อายุ 150 ปี ภาพถ่ายโบราณ ถ้วยโหลโอชามมากมาย โดยมีการทำทะเบียนของโบราณไว้ทุกชิ้น อาจารย์อนุกูลพาเราให้เห็นถึงของสำคัญอีกมากมายในวัด ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปไม้ เสาหงส์ ซุ้มประตูโขง ภาพพระบฎ เขียนเรื่องพระเวนสันดรบนผ้าและกระดาษสา หีบธรรมโบราณที่บรรจุคัมภีร์ 7000 กว่าฉบับ ชมเสาหลักเมืองเสาแรกของลำปาง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ บริเวณศาลากลาง (หลังเก่า) ในปัจจุบัน

ความน่าสนใจของวัดปงสนุก ไม่ใช่เพียงแค่การมีของสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แต่เป็นแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์ของชุมชน เช่น วิธีการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานของวิหารพระเจ้าพันองค์ จะใช้วิธีการบูรณะซ่อมแซมเป็นของใหม่เทียบคู่กับของโบราณที่เคยทำมาอยู่แล้ว ผสมผสานกัน  จะเห็นได้ว่าลายของเสาจะมีของใหม่ที่ปรับปรุง เทียบคู่ของเก่าที่มีมาแต่โบราณ สะท้อนวิธีคิดที่ต้องการอนุรักษ์ของดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ พร้อมกับให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงลายโบราณที่แท้จริงเทียบคู่กับของใหม่ได้

อาจารย์อนุกูลอธิบายต่อว่า จุดเด่นที่สำคัญของแนวคิดการอนุรักษ์ชุมชนปงสนุก คือ ของโบราณทุกชิ้นต้องสามารถนำมาใช้ได้จริง ให้จับต้องได้ และที่สำคัญคือใช้ในการประกอบพิธีกรรมได้ ที่นี่จะให้ของโบราณทุกอย่างยังคงมีการถูกใช้อยู่คู่กับวิถีของชุมชน ด้วยแนวคิดเช่นนี้จึงมี การสร้างของเลียนแบบของเก่าขึ้น และปลุกเสกผ่านพิธีกรรมต่างๆ ตามโบราณ เพื่อให้ของสิ่งนั้นสามารถใช้ได้จริง ทำให้ไม่เสียดายหากของจริงจะต้องพังไป เพราะมีของทดแทนเสมอ

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ทำให้ชุมชนปงสนุกให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างของเลียนแบบของโบราณขึ้นเกือบทุกชิ้น เพื่อทดแทนของเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลอกภาพภาพพระบฎ การสร้างพระพุทธรูปไม้ให้เหมือนของเดิม การลอกคัมภีร์โบราณ ด้วยเทคโนโลยีไมโครฟิล์ม และด้วยวิธีของคนพื้นเมืองที่ใช้วิธีการคัดลอกด้วยลายมือ ใช้เทคโนโลยีควบคู่กันไปกับการอนุรักษ์แบบโบราณ เพื่อให้ภาษา พิธีกรรมไม่เลือนหายจากชุมชน ทำให้ชุมชนมีทั้งของจริงโบราณ และของเลียนแบบที่ผ่านการปลุกเสกทางพิธีกรรม สามารถนำเอาไปใช้ได้จริง ให้คนภายนอกยืมจัดแสดงโชว์ได้ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็นำกลับมาเก็บไว้ที่วัดเหมือนเดิม จนหลายคนมักบอกว่าของโบราณวัดปงสนุกเสมือนกับพิพิธภัณฑ์ที่เคลื่อนที่ได้

การอนุรักษ์ของชุมชนวิธีนี้ได้ เป็นเพราะชุมชนใช้ความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน การนับถือผี ศรัทธาในพิธีกรรม จึงใช้ความเชื่อเช่นนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ของโบราณทุกชิ้น เมื่อมีการเคลื่อนย้ายต้องทำพิธีกรรมขอขมา บอกผีเจ้าวัด หรือการสร้างของเลียนแบบต้องมีการทำพิธีขอขมาของเก่า เมื่อสร้างแล้วต้องปลุกเสกพิธีกรรม ต้องได้รับการกรวดน้ำ มีคณะศรัทธาเจ้าภาพถวายกลับมาที่วัด ฉะนั้นของทุกชิ้นจึงไม่ใช่ของปลอม แต่เป็นของจริงที่ผ่านกระบวนการพิธีกรรมของคนโบราณเช่นเดียวกัน

การศึกษาดูงานที่วัดปงสนุกจากการบอกเล่าของอาจารย์อนุกูล ทำให้คณะทำงานได้เห็นของโบราณมากมายที่ผ่านขบวนการอนุรักษ์ของชุมชน แต่เหนือสิ่งอื่นใด คณะทำงานได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการอนุรักษ์ของโบราณของชุมชนที่นี่ ที่แตกต่างจากการอนุรักษ์ที่อื่นอย่างยิ่ง เพราะที่อื่นที่มักจะทำให้ของโบราณต่างๆ เป็นของต้องห้าม จับต้องไม่ได้ มีไว้เพียงแค่ตั้งแสดงให้คนดูเท่านั้น แต่ชุมชนแห่งนี้ไม่คิดเช่นนั้น เพราะของโบราณคือของมาพร้อมกับวิธีคิด ความเชื่อดั้งเดิมของคนโบราณ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ฉะนั้นของโบราณทุกชิ้นควรจะมีชีวิต ถูกใช้ต่อไปในพิธีกรรม หรือประโยชน์อื่นๆ ไปพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยใหม่ เพื่อให้ของสิ่งนั้นยังคงอยู่ในวิถีชีวิตคน ไม่ใช่เป็นเพียงของโบราณที่ไม่สามารถทำอะไรได้ เสมือนคนชราที่ได้ตายจากเราไปแล้ว ซึ่งหลายที่ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ และเมื่อของถูกนำไปใช้ ต้องมีการสึกหรอ ผุพัง แต่แนวคิดแบบดั้งเดิมของชุมชนในการสร้างของขึ้นมาทดแทน จึงเป็นวิธีคิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ให้ของชิ้นนั้นยังคงสามารถถูกใช้ได้ต่อผ่านพิธีกรรม ผ่านความศรัทธาเช่นเดิม ไม่ใช่เพียงแค่มีไว้ให้คนรุ่นหลานมาเยี่ยมชม เฉกเช่นนี้จะทำให้ของโบราณยังอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ซึ่งวิธีอนุรักษ์เช่นนี้น่าจะเป็นจุดหมายสูงสุดของการอนุรักษ์ และสามารถทำให้เกิดผลทางการอนุรักษ์ได้อย่างแท้จริง

 

ต่อด้วยกาดกองต้า

คณะทำงานได้เลี้ยวรถเข้ามาดูอีกมุมหนึ่งของเมืองลำปาง ที่ไม่ใช่วัด แต่เป็นย่านสถานที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ของการเข้ามาค้าขายของชาวต่างชาติ นั่นก็คือ “กาดกองต้า” จากข้อมูลเบื้องต้นได้อธิบายว่ากาดกองต้าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีความเป็นมายาวนาน โดยในอดีตถือได้ว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง ด้วยภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดกับแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าที่รุ่งเรืองในอดีต จนดึงดูดให้ทั้งพ่อค้า นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจบริเวณนี้อย่างมากมาย ซึ่งหลักฐานของความรุ่งเรืองนั้นแสดงออกผ่านบ้านเรือนที่อยู่ในบริเวณชุมชนกาดกองต้า ล้วนเป็นบ้านเรือนที่มีความสวยงาม และเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ของต่างชาติ แบบจีน แบบพม่าเรียงรายเป็นไปหมดสองข้างทาง แต่ภายหลังเส้นทางคมนาคมและการค้าก็ได้เปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบก เพราะมีการตัดถนน ตัดรถไฟมากขึ้น และมีความสะดวกรวดเร็วกว่า ส่งผลให้ชุมชนกาดกองต้าซบเซาลง

อย่างไรก็ตาม กระแสการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าก็ได้พัดเข้าสู่ชุมชนกาดกองต้า จนมีการริเริ่มปรับปรุงและบูรณะอาคารบ้านเรือนในอดีตที่เริ่มทรุดโทรม ให้กลับมาสวยงามอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเห็นว่าอาคารเหล่านี้เป็นมรดกอันล้ำค่าที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ในปัจจุบัน ตลอดจนมีการจัดตั้งถนนคนเดินขึ้นในชุมชนกาดกองต้า (รูปที่ 2) เพื่อเป็นพื้นที่หนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเป็นที่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชาวเมืองลำปางอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้คณะทำงานได้เข้าเยี่ยมชมอาคารเก่าหลังหนึ่งของชุมชนกาดกองต้า เป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีความสวยงาม เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบบ้านของพม่า อาจารย์ทนงศักดิ์ วิกุล ชาวลำปางแท้ๆ ได้อธิบายประวัติความเป็นมาของบ้านหลังนี้ให้เราฟังว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของ “หม่องโง่ยซิ่น” คหบดีชาวพม่าที่อยู่ภายใต้การบังคับของอังกฤษ และทำงานในนามของบริษัท Bombay-Burma ที่ได้สัมปทานป่าไม้ใน จ. ลำปาง อีกทั้งยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่ที่ดูแลคนในบังคับอังกฤษทั้งหมดที่อยู่ที่นี่ หรือที่เรียกว่า “กัปปิตัน” ทั้งนี้ในอดีตพื้นที่ จ. ลำปางมีชาวยุโรปมาอาศัยอยู่มากมาย เช่น จากฮอลันดา อังกฤษ เป็นต้น ทำให้นอกจากที่หม่องโง่ยซิ่นจะดูแลกิจการค้าไม้แล้ว ก็ยังทำการค้ากับคนต่างชาติด้วย กล่าวคือ สินค้าทั้งหมดตั้งแต่ปูนซีเมนต์ เหล็ก หิน เครื่องบริโภคที่เป็นของยุโรปนั้น หม่องโง่ยซิ่นจะเป็นผู้ค้าขาย บริเวณหลังบ้านหม่อยโง่ยซิ่นในอดีตเป็นท่าเรือ เพื่อขนส่งไม้ ข้างล่างเป็นโกดังเก็บไม้ บ้านหลังนี้จึงเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำการค้าด้วย

บ้านหลังดังกล่าวอายุประมาณ 100 ว่าปี โดยสร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2446 และเคยได้รับการบูรณะ 2 ครั้ง คือ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ใช้งบประมาณ 270,000 บาท และ ปี พ.ศ. 2547 ใช้งบประมาณ 300,000 บาท ปัจจุบันมีผู้ดูแลบ้านเพียงคนเดียว คือ คุณสำรวย สะใภ้ลูกหลานของบ้านหม่องโง้ยซิ่น โดยลูกหลานที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงย้ายไปอยู่ที่แคนนาดา จะกลับมาเยี่ยมปีละครั้ง ในอดีตบ้านหลังนี้ไม่เปิดให้เข้าชม แต่ภายหลังมีการฟื้นฟูชมชนกาดกองต้าขึ้นมาแล้วก็ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม โดยภายในบ้านยังมีนิทรรศการเล็กๆ ที่บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาและรายละเอียดต่างๆ ของอาคารเก่าที่มีอยู่ในชุมชนกาดกองต้าทั้งหมดสำหรับผู้ที่สนใจ และกลายเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่จัดร้านให้เข้ากับบรรยากาศของร้าน เพื่อให้คนได้เข้ามาแวะพัก และชื่นชมความสวยงามของบ้านด้วย

 

แวะชมบ้านพักและอาคารสำนักงานหลุยส์ ตี. เลียวโนแวนส์

ก่อนจะไปที่อื่น คณะทำงานได้แวะเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์อีกหนึ่งที่ นั่นก็คือ บ้านพักและอาคารสำนักงานหลุยส์ ตี. เลียวโนแวนส์ ลูกชายแหม่มแอนดา แฮเรียท เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษของโอรสและธิดาของรัชกาลที่ 4 ผู้มีชื่อเสียงจากนวนิยามเรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยามนั่นเอง ซึ่งหลุยส์ ฯ เป็นเจ้าของบริษัท หลุยส์ ตี เลียวโนแวน ธุรกิจค้าไม้ที่เข้ามาตั้งสำนักงานที่ลำปาง เพื่อทำธุรกิจค้าไม้ร่วมกับคนลำปาง ซึ่งความเก่าแก่ของบ้านหลังนี้ร่วมร้อยกว่าปี รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมีความเป็นตะวันตกอย่างสวยงาม รวมถึงสำนักงานที่ยังคงความเก่าแก่ได้ดี ทั้งๆที่สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ที่อธิบายถึงการเข้ามาทำธุรกิจของชาวต่างชาติในลำปางได้เป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนในรูปแบบของสถาปัตยกรรม

แต่กลายเป็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงบ้านและสำนักงานร้าง ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง ไม่มีใครเข้ามาดูแล หรือทำการอนุรักษ์เลย ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามของสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่หากมีการอนุรักษ์จะนำไปสู่เรื่องราวอีกมากมาย ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วิธีคิดของคนต่างชาติในลำปาง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากที่บ้านและสำนักงานหลังนี้เป็นเพียงแค่บ้านร้าง ที่กำลังผุพังไปตามกาลเวลา

 

จบที่วัดป่าฝาง

ปิด Trip การศึกษาดูงานที่วัดป่าฝาง ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง ที่คุณกิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล นายช่างชลประทานอาวุโส ภาคประชาสังคม ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนฟื้นฟูกาดกองต้า ได้แนะนำและทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในการอธิบายเรื่องราวความสวยงาม สิ่งพิเศษ รวมทั้งในข้อคิดเกี่ยวกับมุมมองในการศึกษาความเป็นเมือง คุณกิติศักดิ์ เล่าว่าวัดนี้เป็นวัดพม่า มีความโดดเด่นที่เจดีย์สีทองบรรจุพระบรมสาริกธาตุที่อัญเชิญจากพม่า มีวิหารและอุโบสถที่สร้างด้วยความประณีต ที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นพม่าไว้อย่างดี วัดนี้สร้างโดยหม่องส่วยอัต เอ.ติ.แอม ลูกชายของหม่องโง้ยซิ่น สุวรรณอัตถ์ เศรษฐีเจ้าของบ้านสวยในกาดกองต้าที่เราเพิ่งแวะชมมา ส่วนใหญ่วัดในลำปางเป็นวัดแบบพม่า เนื่องจากคนพม่าที่ตามนายห้างฝรั่งเข้ามาทำงานในลำปาง ได้สะสมความมั่งคั่งกว่า 50 ปี มักจะแสดงออกถึงความมั่งคั่งของตนเองด้วยการสร้างวัด ให้มีวัดประจำตระกูลของตนเอง เฉกเช่นเดียวกับหม่องโง้ยซิ่น ผู้เป็นพ่อได้สร้างวัดชัยมงคลตรงข้ามกับวัดป่าฝางไว้เช่นเดียวกัน

 

 

ความพิเศษที่น่าสนใจของวัดนี้ที่คุณกิติศักดิ์ อยากให้คณะศึกษางานได้เรียนรู้ คือ วัดนี้มีการสร้างอนุสรณ์สถานจารึกผู้สร้างวัด และมีการตั้งของอนุสรณ์สถานให้แก่หม่องส่วยอัต เอ.ติ.แอม ของควีนวิคตอเรียของอังกฤษได้สร้างเพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัยให้กับหม่องส่วยอัต เอ.ติ.แอม ผู้เคยทำประโยชน์ให้กับอังกฤษในประวัติศาสตร์ โดยอนุสรณ์นี้มีการจารึกถึง 4 ด้าน 4 ภาษา มีภาษาไทย พม่า ล้านนา และภาษาพื้นเมือง ด้วยกัน

การให้คณะศึกษางานเรียนรู้อนุสรณ์สถานในวัดนี้นั้น ในมุมมองการศึกษาเมืองของคุณกิติศักดิ์ มีความสำคัญยิ่ง โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ สถานที่สำคัญที่ต้องไปเรียนรู้ คือ พิพิธภัณฑ์ ตลาด มหาวิทยาลัย และที่สำคัญคืออนุสรณ์สถาน และสุสานของประเทศนั้น เพราะมีการจารึกชื่อบุคคลที่ไม่ใช่เชื้อสายกษัตริย์ ผู้ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้เราได้รู้จักรากเหง้า ตัวตน ประวัติศาสตร์ ของเมืองนั้น ซึ่งได้ผ่านเรื่องราว ความเป็นมาที่อธิบายตัวตนของเมืองได้ และที่สำคัญเพื่อเป็นการรำลึกถึงความดีของสามัญชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอีกด้วย

อีกครั้งสำหรับการล่องเหนือของแผนงาน FURD กับลำปางครั้งนี้ ทำให้คณะทำงานได้เห็นคุณค่าและประวัติศาสตร์ของลำปาง ที่ปัจจุบันแม้มีการพัฒนาความเป็นเมืองไปข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเมืองลำปาง เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน วัดวาอาราม สถาปัตยกรรมต่างๆ คงอยู่ให้เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่หากเข้ามาศึกษา เยี่ยมชมลำปาง จะพบว่า ลำปางไม่ใช่เพียงแค่เมืองที่มีแต่ศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนา ที่เราเข้าใจ หากสถานที่หลายอย่างได้แสดงให้เห็นว่าในอดีต ลำปางเป็นเมืองแห่งความหลากหลายของวัฒนธรรม หรือมีความเป็น “นานาชาติ” มากมายเต็มไปหมด ทั้งพม่า จีน และชาวต่างชาติตกที่เข้ามาค้าขายในลำปาง สะท้อนถึงความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจในอดีตเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาดูงานในลำปางครั้งนี้ทำให้คณะศึกษาได้เห็นภาพที่ต่างออกไป และเห็นมุมของความเป็นเมืองที่หลากหลายของลำปางได้ดียิ่ง

 

 

ที่มาภาพ:
https://th.tripadvisor.com/LocationPhotoDirectLink-g303911-d7340298-i129160645-Wat_Pong_Sanuk_Temple-Lampang_Lampang_Province.html
https://pattamafreedoms.wordpress.com/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88/%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2/
https://pantip.com/topic/31620343

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต

Related Posts