Events

เมืองเบตง : คนไทยเชื้อสายจีนที่เข้มแข็ง

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

 

แผนงาน นพม. ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานเมืองเบตง เมืองใต้สุดของไทย ได้เรียนรู้เรื่องราวของเมืองเบตงหลากหลายแง่มุม สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือการได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสถึงความหลากหลายของผู้คนที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งวิถีชีวิตที่ยังยึดโยงกับเชื้อชาติ และวัฒนธรรมของตนเองอย่างไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองเบตง โดยบทความนี้จะสะท้อนเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนในเบตง ที่ยังคงรักษาความเป็นจีนไว้อย่างดี จนรวมตัวเป็นสถาบันยึดโยงผู้คนเชื้อสายจีนในเมืองเบตงไว้ด้วยกัน และก่อให้เกิดคุณค่าของผู้คน และมีผลต่อการพัฒนาเมืองเบตงอย่างยิ่ง

เมืองเบตง เมืองท่องเที่ยวสุดชายแดนใต้อันมีเสน่ห์ที่วัฒนธรรม เมืองเบตงเป็นเมืองที่มีความเป็น “สังคมพหุลักษณ์ (Plural societies)” เป็นเมืองที่ประชากรที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ (race) ต่างวัฒนธรรม (Cultural heterogeneous) อาศัยอยู่ในภายการปกครองและเศรษฐกิจเดียวกัน โดยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยที่ไม่มีความขัดแย้งในพื้นที่ต่างจากเมืองอื่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยสภาพสังคมส่วนใหญ่ของเมืองเบตงประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ คือคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งคนไทยมุสลิมและคนไทยเชื้อสายจีนจะมีสัดส่วนค่อนข้างมากกว่าคนไทยพุทธและเป็นคนกลุ่มใหญ่ในเมืองเบตง

แม้เมืองเบตงจะมีความเป็นสังคมพหุลักษณ์ ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีหลายแซ่ในเมืองเบตงยังคงมีวิถีชีวิต ประเพณี ของผู้คนที่แสดงถึงความเป็นจีนไว้เกือบทุกอย่าง รวมภาษาที่ผู้คนใช้สื่อสารกันส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาษาจีน โดยคนจีนในเบตงส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากหลายมณฑลในประเทศจีนกว่าร้อยปีที่ผ่านมา และกลุ่มคนจีนจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาจากประเทศมาเลเซียที่หนีเข้ามาอาศัยในเบตง

ปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนในเบตงมีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็นมูลนิธิหรือสมาคมแล้วถึง 5 องค์กร ประกอบด้วย บำเพ็ญบุญ มูลนิธิ (กวางไส), สมาคมกว๋องสิ่ว เบตง, สมาคมบำรุงราษฎร์ (แต้จิ๋ว) เบตง, สมาคมฮากกา และสมาคมฮกเกี้ยน และทั้ง 5 สมาคมจีนนี้ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ชื่อของมูลนิธิอำเภอเบตง

การมาเยือนเมืองเบตงครั้งนี้ ประเพณีวัฒนธรรมของเมืองเบตงที่ยังคงความเป็นจีนอย่างเข้มแข็งนี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาอย่างยิ่ง โดยช่วงเวลาที่เดินทางไปนั้นเป็นช่วงประเพณีไหว้พระจันทร์ของคนจีน ซึ่งเป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (กันยายนตามปฏิทินสากล) ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน

งานประเพณีไหว้พระจันทร์ที่เมืองเบตงนั้น มีความแตกต่างจากประเพณีไหว้พระจันทร์เมืองอื่นๆ ซึ่งโดยปกติคนไทยเชื้อสายจีนอื่นในเมืองอื่นนั้นจะมีเพียงพิธีการไหว้ดวงจันทร์เท่านั้น แต่ที่เมืองเบตงนั้น สมาคมชาวจีน 5 สำนัก ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยการปิดถนนจัดขบวนพาเหรดคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองเบตง พร้อมทั้งการเชิดสิงโต แห่เดินทั่วทั้งเมืองเบตง ซึ่งการเฉลิมฉลองใหญ่เช่นนี้ มักมีในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือเวียดนาม ซึ่งในคนไทยเชื้อสายจีนทั้ง 5 สำนักได้จัดขบวนได้อย่างยิ่งใหญ่ สร้างความตื่นเต้นและเป็นที่ชื่นชอบนักท่องเที่ยวอย่างยิ่ง

 

 

ไม่เพียงแค่ขบวนเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองเบตงแล้ว ในตอนกลางคืน มูลนิธิอำเภอเบตง ที่ประกอบไปด้วยสมาคมจีน 5 สมาคม (จีนไหลหลำ, จีนแต้จิ๋ว, จีนกวางไส, จีนแคระ, จีนกวางตุ้ง) ร่วมกับสถาบันขงจื้อเทศบาลเมืองเบตง ได้จัดงานฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์และของดีเมืองเบตง ปี 2558 ที่โรงเรียนจงฝามูลนิธิ โดยเป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีน เพื่อให้คนไทยเชื้อสายจีนได้เข้าร่วม และจัดแสดง แสง สี เสียง ด้านวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนหลากหลายการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งที่น่าสนใจคือภายในงานดำเนินกิจกรรม ทั้งพิธีกร การเปิดงาน เสียงเพลง การแสดง วีดิทัศน์ ล้วนเป็นการใช้ภาษาจีนตลอดทั้งงาน โดยมีแปลเป็นภาษาไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนในเบตง ยังคงมีความเป็นจีนอยู่มากกว่าคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองอื่น ๆ มาก

 

 

การที่คนไทยเชื้อสายจีนในเมืองเบตง ยังคงความเป็นจีน ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (identity ethics) ได้อย่างเข้มข้นและอยู่ได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยเชื้อสายจีนมีความขยัน อดทน ประหยัด มีความรู้ด้านการค้าและการต่างประเทศเป็นอย่างดี และสามารถปรับตัวร่วมกับชาวมลายูและคนไทยได้ และที่สำคัญมีประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษที่เกิดจากเหตุการณ์คอมมิวนิสต์มาลายาที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนจีน ได้อพยพมาอาศัยอยู่ในเมืองเบตง และผ่านการต่อสู้ทางเมืองมาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้คนไทยเชื้อสายจีนยังคงได้รับความรู้สึกร่วมในประวัติศาสตร์ อีกทั้งด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเบตง ซึ่งเป็นเมืองในหุบเขา แถมยังตั้งอยู่ใต้สุดสยาม ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งห่างไกลกับอำเภออื่นๆ และตัวเมืองจังหวัดยะลามาก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมและประเพณีจีนในเมืองเบตงจึงยังรักษาความหลากหลายที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มคนจีนได้เป็นอย่างดี ทำให้วันนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนสามารถรวมกลุ่มสมาคมที่เป็นระบบ กลายเป็นชนชั้นนำทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ของเบตงในที่สุด

 

ประชาสังคมคนไทยเชื้อสายจีน : ผลต่อเมือง

การรวมตัวของ 5 สมาคมจีน ภายใต้มูลนิธิอำเภอเบตงนั้น ถือได้ว่าเป็น ประชาสังคม (Civil Society) ของเมืองเบตง เป็นประชาสังคมที่มีรากฐานความเป็นจีนอย่างเข้มแข็ง โดยกลุ่มคนจีนภายใต้มูลนิธิอำเภอเบตง จัดเป็นสถาบันทางสังคมหลักของผู้คนไทยเชื้อสายจีนในเมืองเบตง โดยเฉพาะการยังจัดงานที่ยังดำรงซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเป็นจีน โดยทางมูลนิธิอำเภอเบตงเป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีวัฒนธรรมจีนอย่างยิ่งใหญ่ทุกเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีสมโภช และแห่เจ้า การอนุรักษ์ประเพณีการถือศีลกินเจของชาวไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งการจัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในเทศบาลไหว้พระจันทร์ในข้างต้น ที่สำคัญการจัดประเพณี วัฒนธรรม เช่นนี้เป็นการส่งเสริมเยาวชน และประชาชนปฏิบัติตนเป็นคนดีละเว้นความชั่ว ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความรักสามัคคี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อำเภอเบตง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดนด้วย

นอกจากนี้ มูลนิธิอำเภอเบตง ภายใต้การรวมตัวของ 5 สมาคมจีนได้สร้างสถาบันการศึกษาเพื่อคนจีนเบตง คือ โรงเรียนจงฝามูลนิธิ เป็นโรงเรียนที่สอนภาษาจีนแห่งแรกของเบตง สอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลายอย่างครบถ้วน และในวันนี้โรงเรียนจงฝายังคงเป็นโรงเรียนที่ทำหน้าที่สถาบันการศึกษาภาษาจีนที่เป็นที่ยอมรับของผู้คนในเมืองเบตง การหลอมรวมเป็นหนึ่งของคนไทยเชื้อสายจีนนี้เอง อีกทั้งสร้างโรงเรียนภาษาจีน ทำให้ช่วยสนับสนุนให้เกิดแนวคิดผลักดันการพัฒนาเมืองเบตงให้เป็นศูนย์การศึกษาระดับนานาชาติ โดยใช้ความเข้มแข็งทางภาษาจีน เป็นจุดนำเมืองเบตงเข้าสู่ระดับนานาชาติ

 

สรุป

เรามักรับรู้ถึงเมืองเบตง ในฐานะเมืองท่องเที่ยว หรือเมืองที่มีความเป็นพหุลักษณ์ ที่มีความหลากหลายของผู้คน ซึ่งนั่นเป็นการรับรู้ที่ไม่ผิดเลย วันนี้เมืองเบตงยังคงความเป็นสังคมพหุลักษณ์ได้เป็นอย่างดี กับการอยู่ร่วมกันทั้ง 3 เชื้อชาติ (ไทย จีน มาลายู) นอกเหนือไปจากเรื่องดังกล่าว สิ่งที่บทความเล็กๆ นี้จะนำเสนอคือ ความเป็นประชาสังคมที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ความเป็นจีนอย่างแข็งแกร่งที่แตกต่างจากคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองอื่นๆ ในวันนี้คนไทยเชื้อสายจีนในเมืองเบตงได้กลายเป็นชุมชนและเครือข่ายทางชาติพันธุ์ (ethnic networks and associations) ที่ผ่านกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้สึกของการมีตัวตนรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (a sense of collective selfhood) กลายเป็นความรัก ความภูมิใจในความเป็นจีน ได้ส่งผลให้คนไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้ รวมตัวเป็นสถาบันคนจีนในเมือง ได้ทำประโยชน์แก่สาธารณะ เป็นสถาบันหลักดำรงสืบสานประเพณีจีน ซึ่งกลายเป็นประเพณีของเมือง เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเบตง

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต

Related Posts