Events

เสวนา "เมือง กิน คน" นคราภิวัตน์ การพัฒนาเมือง และสุขภาวะเมืองของไทย

 

สั่งซื้อ 

 

การเสวนาเปิดตัวหนังสือ เมืองกินคน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมือง และสุขภาวะของไทย เขียนโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พิมพ์โดยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีปาฐกถาพิเศษของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง หัวข้อ นคราภิวัฒน์ กับการปฏิรูปการเมือง  และการเสวนาพิเศษที่ร่วมโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์  ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ทวิดา กมลเวชช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบและพัฒนาเมือง (UDDC)  ดำเนินรายการโดย ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานจัดขึ้นที่ห้อง 103 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดโดยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ม.รังสิต และชมรม politicus รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

   

นคราภิวัฒน์ กับการปฏิรูปการเมือง[1]

 

.ดร.เอนก บอกว่า ตอนนี้โลกเป็นเมืองมากกว่าชนบทแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาชทบทเป็นที่ที่มีคนมากกว่าเมืองมาโดยตลอด แต่ใน 3-4 ปีให้หลังนี้ ประชากรเมืองมากกว่า คนในชนบทแล้ว หากนับตัวชี้วัดที่ไม่เป็นทางการ อย่างเช่นการมีร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เทศบาลตำบลเหล่านี้ครึ่งหนึ่งมีเซเว่นฯแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ประชากรเมืองของเรา ตอนนี้มีประมาณ 75% ได้ และชนบทที่เหลือก็ไม่ใช่บทบทแบบเดิม  ไม่มีชนบทล้าหลังไกลปืนเที่ยงแบบเดิมอีกแล้ว เวลานี้ชนบทแบบนี้ เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ เป็นชนชั้นกลางระดับล่างเป็นผู้ประกอบการ เเบบพอเลี้ยงตัวเองได้ ในชนบทไม่มีใครทำมาหากิน ในภาคเกษตรโดยไม่รับจ้างแล้ว

ตอนนี้ไทยเป็นเมืองหมดแล้ว

.ดร.เอนก กล่าวว่า  เมื่อก่อนไทยเป็นชนบทเป็นหลัก เมื่อก่อนมีเมืองจังหวัดละแห่งเท่านั้น ชนบทยังเป็นพื้นฐานเดิมของสังคมไทยและยังสำคัญ  อย่างไรก็ตามประเทศไทยในเวลานี้อยู่ใน “นคราภิวัฒน์” คือกำลังกลายเป็นมหานครที่เข้มข้นมากขึ้น หวังว่าจะมีการประสานกันระหว่างของใหม่และของเก่า ตะวันออกกับตะวันตกได้มากขึ้น

การปฏิรูปการพัฒนาที่เน้นที่ชาติ เศรษฐกิจศูนย์รวมอย่างเดียวน่าจะไม่พอ เราอาจจะต้องสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นนคราภิวัฒน์ย้อนหลังไปได้ร้อยปีที่เเล้ว เมื่อเราพัฒนาประเทศเเบบสมัยใหม่ มีเมืองเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศ เมืองขยายตัวมากขึ้น เมื่อมีการค้าขาย และต่อมาขยายตัวไปยังอุตสาหกรรม นี่คือเมืองอย่างกรุงเทพเติบโตมากแบบนี้ และขยายออกไป ตอนนี้ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ก็คล้ายๆ กันแบบนี้"

.ดร.เอนก ชี้ว่า  นคราขยับไปอีก ไปโตเพราะการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย 20 ปีที่ผ่านมา เมืองเหล่านี้เกิดคู่การกับการกระจายอำนาจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่วันนี้ไม่ใช่เรื่องของชนบทแล้ว เป็นการทำงานในเมืองเป็นหลัก แต่คนที่ทำจะสนใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน บอกไม่ได้

นคราภิวัฒน์เกิดการท่องเที่ยวของไทย เป็นอาหารจานหลักของเศราฐกิจไทย เศรษฐกิจเวลานี้ 20% เป็นรายได้จากการท่องเที่ยว  ใหญ่มาก ทำให้เราเกิดเมืองระดับโลก เช่นเมืองกรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา เมืองของเรา รับแขกต่างประเทศปีละหลายสิบล้านคน เป็นนครที่มีคนเดินทางจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก มากกว่า ลอนดอน นิวยอร์กสิงคโปร์ โตเกียว 

เมื่อเมืองเบ่งบาน การบริหารจัดการต้องไปทางไหน

.ดร.เอนก ชวนมองว่า ถ้าเราดูวิธีบริหารเมือง มหานคร เราคาดไม่ถึงว่าจะมีนคราภิวัฒน์ที่เบ่งบานขนาดนี้ เราไม่ค่อยได้วางแผน ไม่ได้ทำเป็นระบบที่ดีมากนัก หน่วยงาน กรมทางหลวง การท่าอากาศยาน กรมรถไฟ หรืออื่นๆ มีส่วนช่วยกันวางแผนหรือไม่ หรือทั้งหมดเกิดขึ้นเอง

เราไม่มีกระทรวงที่สร้างเมืองอย่างมีแผน มีการวางผังดี การเกิดขึ้นของเมืองในประเทศไทยจึงเกิดแบบของเราคือวางแผนไม่ได้ตามแผน เราคิดจะสร้างเมืองไปอุตสาหกรรม กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว จากเดิมที่มองว่า การท่องเที่ยวของเราไม่มีอนาคต จากที่ไม่ตั้งใจ กลายเป็นอนาคตของเราได้” 

.ดร.เอนก กล่าวติดตลก โดยให้แง่คิดว่า "อยู่เมืองไทย อย่าสนใจวางแผน ต้องสนใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง มีอะไรที่เราคาดไม่ถึงอีกมาก เราบริหารเมืองไม่ได้เป็นแบบนานาอารายะ อย่างเมืองต่างประเทศ ที่เน้นการบริหารโดยองค์กรท้องถิ่น อย่างเช่น เมืองวอชิงตันดีซี ที่บริหารโดยองค์กรท้องถิ่น ไม่ใช่มาจากรัฐบาลกลาง แล้วมาดูประเทศไทยเรามีผู้ว่าฯ ก็จริง แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราบริหารเมืองโดยใช้ราชการเป็นส่วนกลาง และมีส่วนภูมิภาคลงมาบ้าง คนในท้องถิ่นมีโอกาสน้อยในการสร้างเมือง แม้ว่าจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นรื่อยๆ แต่หากกล่าวโดยสรุปจริงๆ เราโตจากส่วนกลางมากกว่าภูมิภาค" 

ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ .ดร.เอนก  ชวนมองคือ ตอนนี้เรามีชานเมืองที่มีสำนึกว่า อยากสร้างบ้านแปงเมืองด้วยตัวเอง และเวลานี้ก็จะขยายตัวเรื่อยๆ

นคราภิวัฒน์ต้องมองอะไร

.ดร.เอนก กล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึง นคราภิวัฒน์ ประเด็นแรกคือ การพัฒนาการเมือง ปฏิรูปการเมือง ต้องคิดที่ทำให้เมือง นครกรุง เป็นพื้นที่ที่มีบทบาท มีความคิดริเริ่ม มีความสร้างสรรค์ของตัวเองใหม่มากขึ้น การพัฒนาประเทศของเรา การปฏิรูประบบราชการของเราน้อยครั้งจะเกิดจากพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดจากกรมมากกว่า เป็นการทำงานแบบ “กรมมาธิปไตย” 

เมืองชายแดนของไทย มีอะไรที่พิเศษและวิเศษ ไม่มีประเทศไหนที่ทุกภาคเป็นเมืองชายแดน เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เมืองชายแดนของเรา มีความสามารถ ริเริ่มอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้เมืองชายแดนเติบโต โดยไม่ต้องขึ้นกับกรม กระทรวงมากนัก แต่คิดไม่ได้ เพราะเราคิดจากกระทรวง” 

.ดร.เอนก บอกว่า  จังหวัดเป็นเพียงภาคสนามของส่วนกลาง แต่นั่นก็พาประเทศไทยมาถึงวันนี้ แต่ถ้าแก้ไขจะดีกว่านี้ เมืองพิเศษการท่องเที่ยวต่างๆ เช่นเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ถ้าปล่อยให้บริหารแบบนี้ ก็พอทำได้ แต่ถ้าจะหากินกับการท่องเที่ยวมากกว่านี้ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่เปลี่ยนจะไม่มีอะไรโดดเด่น เหมือนเครื่องบินใบพัด ที่ใส่ใบพัดเพิ่มไปเรื่อยๆ

 

กรมมาธิปไตยนำพาไม่รอดในยุคใหม่

.ดร.เอนก ระบุว่า วันนี้เราไม่มีข้าราชการภูมิภาคที่แท้จริง แต่ละจังหวัดของคนของกรมที่ส่งลงมา  กรมมาธิปไตย” เราปกครองโดยไม่มีพื้นที่ให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นเป็นพื้นที่เป็นเพียงภาคสนามของกรม เวลาฝนตก น้ำท่วมแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะคนต่างถิ่นที่ลงมาทำงานไม่รู้ว่า แม่น้ำของเมืองเป็นอย่างไร

ทำไมย้ายผู้ว่าฯ บ่อย เป็นผู้ว่าฯ ไม่ถึงปีจะไปพัฒนาจังหวัดอย่างไร เพราะฉะนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหาทำได้หลายวิธีเช่น หากเราอยากรักษาจังหวัด ต้องบอกว่า ผู้ว่าฯ ต้องอยู่อย่างน้อย สองปีเป็นต้น หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่อย่างน้อยอยู่ครบเทอมแน่ๆ อย่างเช่นกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความต่อเนื่อง ฉะนั้นเรื่องผู้ว่าฯ ควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าจะทำจริงๆ มีโอกาสได้ทั้งนั้น เราอาจเลือกบางจังหวัดลองทำก่อน แต่พอบอกว่าเลือกตั้งข้าราชการไม่ค่อยพอใจถ้าให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ถ้าบอกข้าราชการเกษียน แล้วไปบอกว่า ลงเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ก็จะพอใจ

ดังนั้นเราไปฟังความพอใจากส่วนบุคคลไม่ได้ ในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังพอทำอะไรได้เยอะ แต่ถ้าปฏิรูปเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองเราจะไปได้ไกลกว่านี้ ฉะนั้นถ้าจะส่งเสริมเศรษฐกิจในต่างจังหวัด ให้คนในพื้นที่ทำ บ้านเมืองจะได้ไม่น้อย เพราะว่าเขารู้เรื่องพื้นที่มากกว่าเรา ข้าราชการ

ในประเทศจีน เวลาบอกว่าเป็นข้าราชการของมณฑล ก็จะเป็นคนของคนที่นั่นจริงๆ ประธานาธิบดี รัฐมนตรีมากจากผู้ว่าการมณฑลมาก่อน ต้องฝึกมาจากการเป็นผู้บริหารขนาดย่อมก่อน ซึ่งขนาดย่อมคือร้อยล้านคนนโยบายสาธารณสุขในต่างประเทศ เป็นของเมือง ของรัฐนั้น  เรื่องการศึกษา สาธารณสุข เมืองทำเองทั้งหมด ดูประเทศไทย รัฐบาลทเองหมด นโยบายสาธารณสุข การศึกษาเป็นของรัฐบาล อย่างไปดูงานที่ญี่ปุ่น เจอห้องแลปวัดค่ามลพิษของเมือง ทันสมัยมากเราคิดว่าเป็นงานของกระทรวงวิทย์ฯ แต่จริงๆ เป็นงานของเทศบาลเมืองประเทศเราแปลกประหลาด พัฒนาโดยใช้รัฐบาลทำ"

พลังท้องถิ่นแข็งแรง ยั่งยืนกว่า

.ดร.เอนก มองว่า การท่องเที่ยวของเรา เกิดจากอะไรที่รัฐบาลไม่ได้บริหาร  การท่องเที่ยวของเชียงรายเกิดขึ้นเองของมันหรือสถานที่ฮิตๆ ที่อื่นก็เกิดขึ้นเอง ก่อนที่รัฐจะรู้เสียอีก

เรามาได้ไกลขนาดนี้ได้อย่างไร ถ้าดูในระบบบริหาารราชการแผ่นดิน เราจะงงว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” 

.ดร.เอนก วิเคราะห์ถึงวัฒนธรรมของเรา คือการปรับตัวได้ตลอดเวลา จนชาวบ้านรู้เรื่องการท่องเที่ยวก่อนรัฐบาล รู้เรื่องโลกาภิวัฒน์ก่อนส่วนกลาง ชาวบ้านรู้เรื่องสังคมสูงอายุก่อนพวกเราในเมือง ถ้าจะคิดเรื่องการสร้างบ้านสร้างเมืองต้องยึดกับพลังเป็นจริง ที่ไม่ใช่พลังทางการ การบริหารอะไรที่ทำเป็นทางการ ไม่ค่อยได้ผล

ยกตัวอย่างเช่น อสมเป็นอะไรที่วิเศษมากในตอนต้น เกิดขึ้นด้วยตัวเอง แต่พอรัฐลงไปจัดเข้าระบบทางการ มีเงินเดือน พลังก็ลดลงไป

 

ชาวบ้านผู้สร้างบ้านแปลงเมืองที่แท้จริง

.ดร.เอนก  กล่าวว่า ผู้สร้างบ้าน แปงเมืองคือชาวบ้าน เป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก ในขณะที่สภาพความจริงในตอนนี้ในระดับประเทศ เราห่วงว่า หลังการเลือกตั้งประเทศจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจของชาติจะโตได้ 3.8% ตามที่สภาพัฒน์ฯ บอกไหม แต่หากไม่มองเป็นประเทศ มองแค่เมือง เราจะเห็นอนาคตค่อนข้างสดใส  ยกตัวอย่างเช่น อุดรธานี เป็นจังหวัดที่สวยมาก และอุดรฯ มีพลังทางเศรษฐกิจสูงมาก ทุกเช้ามีรถออกไปลาวเยอะมาก ถ้ามองอุดรฯ อย่างเดียว จะมีอนาคตที่ดีกว่าภาพใหญ่ของประเทศ หรือไปดูที่เชียงคานก็ดี หรือที่แม่สอด ตอนนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของชาวย่างกุ้ง ที่มาช้อปปิ้ง รักษาพยาบาล

ถ้ามองประเทศไทยเราเห็นอนาคตไม่มาก แต่ในระดับท้องถิ่น เราเห็น เมืองของเราขโมยโต ขโมยสร้างสรรค์ จะเห็นว่า เมืองไปของมันเองได้ เมืองต่างๆ ที่พูดมาเป็นเมืองที่นำมาประเทศ เป็นเมืองที่ไม่เป็นทางการนำประเทศนายกเทศมนตรี นายกอบจเมืองหลายแห่ง เก่งในระดับประเทศ ระดับโลก เพราะฉะนั้น คิดว่า ในการปฏิรูปการเมือง นคราภิวัฒน์ เป็นพลังที่สำคัญ กระบวนการรักษ์บ้าน สร้างบ้านแปงเมือง สร้างบ้านสร้างเมือง มันจะช่วยเสริมสร้างจิตใจ ยกระดับจิตให้ประชากรของเมืองนั้นเป็นคนของเมืองจริงๆ เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนชาวเมืองปกครองตนเอง การกระจายอำนาจ ไม่ได้ทำเพื่ออปท.เอง แต่ทำให้ส่งพลังในประชาชน เกิดเป็นเศรษฐกิจ” 

 

เมื่อไม่สามารถรอรัฐส่วนกลางได้

.ดร.เอนก อธิบายว่า  ในระหว่างที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคช่วยเราไม่ได้ เราต้องใช้ท้องถิ่นช่วยเหลือชาวเมืองมากแต่ไม่ใช่ท้องถิ่นอย่างเดียว  ต้องประสานร่วมมือ ผู้ที่มีเมืองเป็นหัวใจ ผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์ของเมือง เป็นคนของเมือง ต้องทำให้เมืองนคร กรุง เป็นบ้านของเรา เราต้องรู้สึกอินกับเมือง หรือนครของเรา   สร้างการเมืองใหม่ การเมืองภาคประชาชน เป็นการเมืองของนครและกรุง เกิดจากความรัก ความภาคภูมิใจในเมืองของตัวเอง

เรามีชาตินิยมเกือบจะอย่างเดียว เรารักชาติ หลายชีวิจจบลงเพื่อพลีกายให้ชาติ แต่สิ่งที่ขาดไป คือความรักที่มีต่อเมือง เพราะว่า เราไม่มีประวัติศาตร์ของเมือง ทำให้พลังไม่แข็งแรง เราเรียนแต่ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เมือง นครกรุง อยู่แบบไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ” 

.ดร.เอนก กล่าวถึงนคราภิวัฒน์กับการปฏิรูป ไม่จำกัดแค่ชาติอย่างเดียว จะต้องสนใจเมือง นคร และกรุงให้มากขึ้น ต้องสร้าง “เมืองนิยม  ต้องสร้างความภูมิใจต่อเมือง เชิดชูเมืองให้มากกว่านี้ จะมีเพียงวงเวียน ไฟฟ้า สวนสาธารณะ โรงเรียนไม่พอ ต้องมี "ใจ" ของเมืองด้วย

การปฏิรูป ถ้าคิดแบบฝรั่งก็คิดได้ รัฐเป็นคนคิด ผู้นำเป็นคนทำ ผมอยากให้เสริมการคิดรูปแบบการปฏิรูป ที่ต้องเปลี่ยนจากภายในด้วย ถ้าเราไม่มีจิตใจที่งดงาม เราจะปฏิรูปให้ดีงามด้วย เราต้องสร้างจากจิตที่บริสุทธิ์ที่สุด เป็นจิตที่เข้มงวดตัวเอง ปัญหาที่ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ตัวเรา หรือสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยให้เราต้องคิดว่าเรามีส่วนด้วย ถ้าคิดว่าทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมใสะอาด เราต้องมีส่วนในการไม่ทิ้ง ไม่ต้องรอว่า ให้ใครทำ ถ้าทำแบบนี้ได้ เมืองมหานคร ก็จะเป็นหน่วยปฏิรูป หมายถึงเริ่มจากหน่วยเล็กๆ"  ...

[1] เขียนโดย isranews เผยแพร่ครั้งแรกที่ สำนักข่าวอิศรา วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 

 

เสวนา เมือง กิน คน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมืองและสุขภาวะของไทย [2]

 

จากซ้ายไปขวา วสันต์ เหลืองประภัสร์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นิรมล กุลศรีสมบัติ ธเนศวร์ เจริญเมือง ส่วนทวิดา กมลเวชชได้รับการนำเสนอผ่านวิดีโอ

 

 

เข้าใจผังเมืองในฐานะรัฐธรรมนูญของท้องถิ่นและการเมืองของเมืองเมื่อคนกินกันเพื่อมีชีวิตที่ดี

 

พิชญ์กล่าวว่า ผู้คนพบหลักสูตรที่ผมเรียนมาเคยอธิบายคำๆ หนึ่งที่ผมหยิบมาใช้ เขาพูดว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญของท้องถิ่น ผังเมืองคือกระบวนการจัดสรรอำนาจในท้องถิ่น ไม่ใช่ผังสี โซนนิ่งเป็นเพียงผลสะท้อนการต่อรองทางอำนาจของคนในท้องถิ่น ไม่ใช่มีเทวดามาสร้างให้คุณ แต่มันคือผลของการคุยกัน ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ทั้งการเมืองชาติและท้องถิ่นมันแก้ไม่ได้หรอก ถ้าอยากอธิบายให้คนไทยฟังเข้าใจว่าผังเมืองคืออะไร ผมอธิบายให้มันง่าย ผังเมืองคือหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นจิตวิญญาณของเมืองที่จะหลอมรวมใจรวมกัน ไม่ใช่กระดาษ มันคือสิ่งที่จะปกป้องคุณจากภัยอันตราย เป็นสิ่งหลับตาดูแล้วรู้ว่ามันมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ในเมือง ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้เพราะคุณมีอำนาจหรือมีเงิน ถ้าไปยกเลิกผังเมืองง่ายๆ มันเจ็บปวดเพราะมันทำลายวิญญาณของชุมชน มันทำลายชีวิตคุณ ผังเมืองไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิคหรือแฟชั่นที่มาตามเวลา เช่นวันนี้พูดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) วันต่อไปพูดเรื่องการคืนกลับ (Resilience) แต่ในแต่ละยุคผังเมืองมันคือจุดหลอมรวมจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีจุดนี้ยึดมั่น คุณจะร่างรัฐธรรมนูญทำไม

ผมว่าการเมืองของเมือง (urban politics)มันขนานไปกับเรื่องการศึกษาท้องถิ่น แต่เวลาเราพูดเรื่องท้องถิ่นเราจะไปโฟกัสที่กรอบกฎหมาย หน้าที่ ระบบราชการ ผมชวนคิดเรื่องเมืองเพราะมันเป็นอีกมุมหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องความเหมือนแบบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่นต้องศึกษาทั้งโครงสร้างอำนาจ การบริหารและธรรมชาติของพื้นที่ที่ต่างกันไป การเมืองของเมืองในโลกนี้คุยกันเรื่องการใช้อำนาจในเมือง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเชิงโครงสร้าง อำนาจเชิงอคติในชนชั้น สีผิว เพศ ไม่ใช่แค่เทคนิคการบริหารเมือง แต่เรียนเพื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ ให้มองว่าถ้าทำอะไรในจุดหนึ่งแล้วมันจะไปสะเทือนกับชีวิตคนอื่นมากแค่ไหน

ผมอยากจะขยับไปอธิบายว่า ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตย เราจะต้องขยายความจากการปกครองของเสียงข้างมากไปสู่สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจร่วมกัน (Collective decision making) ไม่ใช่การปกครองโดยคนบ้าคลั่ง สิ่งที่ประชาธิปไตยมีเหนือกว่าปกครองทุกแบบคือความเป็นกลุ่มก้อน ถ้าคุณเชื่อว่าเรารวมกันแล้วเราแก้ปัญหาได้คุณก็ต้องไปสู่ประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าจะเป็นราชานักปราชญ์ จอมอหังการ์หรือการปกครองแบบชนชั้นสูง ไม่ใช่การตัดสินใจร่วมกันในระดับใหญ่ ศิลปะในการทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันก็คือประชาธิปไตย ถ้าคุณศรัทธาในการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยมีส่วนร่วมแบบผู้ใหญ่ลีเรียกชาวบ้านมาพบ สิ่งที่เห็นในการเมืองระดับเมืองคือการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ไม่ใช่การปกครองเสียงข้างมาก แล้วการตัดสินใจรวมหมู่มันจะไปตอบโจทย์รากฐานของประชาธิปไตยคือสิ่งที่เรียกว่าการปกครองตนเอง สิ่งที่ท้าทายคือเราจะปกครองตนเองอย่างไร ถ้าคุณต้องการปกครองตนเอง เชื่อว่ามากหัวดีกว่าหัวเดียวคุณก็ต้องเดินไปกับประชาธิปไตยแล้วสร้างสถาบันอะไรให้ประชาธิปไตยมันทำงานได้ บิ๊กดาตาของคุณมีไว้ให้กูเกิลเอาข้อมูลของคุณไปขาย หรือมีไว้ให้คุณสามารถตัดสินใจแบบรวมหมู่ได้ มันต้องมีตัวเราเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วฐานของประชาธิปไตยต้องคือการปกครองตนเอง เหมือนกับตอนเป็นเด็กที่เราบอกพ่อแม่เราว่าผมโตแล้ว ผมจะปกครองตัวเอง เราเรียนการปกครองท้องถิ่นเราไม่เน้นคำว่าการปกครองท้องถิ่นด้วยตัวเองเลย ดังนั้นการเถียงเรื่องกระจายอำนาจมันเถียงกันไม่จบหรอก เพราะมันคือการย้ายอำนาจไปมา อำนาจในการปกครองมันต้องผลิตอำนาจเอง ข้อมูลใหม่ๆ มันทำให้เราผลิตอำนาจเองได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เมือง กิน คนเริ่มจากเรื่องสุขภาวะเมือง เวลาพูดถึงเมืองที่มีสุขภาวะแล้วคุณพูดถึงใคร ผมพยายามอธิบายว่า เมือง กิน คนเป็นชื่อที่เรียงกันสามคำ คือคำว่า เมือง กิน คน สิ่งสำคัญเวลาเรียนรู้เรื่องเมืองคือการกินชีวิตกันในเมือง คำนี้พีฒนาจากทฤษฎีฝ่ายซ้ายว่าด้วยวิภาษวิธี (dialectic) มนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่นและมีชีวิตที่ดีได้ด้วยการกินชีวิตคนอื่น แล้วการกินในพื้นที่หนึ่งๆ มันมีรูปแบบอย่างไร เรานั่งในห้องแอร์เย็นๆ แล้วเราเห็นใจคนที่ร้อนไหม เราอยากได้เมืองที่สวยแล้วเราต้องขับไล่คนจำนวนหนึ่งออกจากเมืองไหม ทำอย่างไรเราจะออกแบบเมืองที่เราอยู่ด้วยกันได้

 

“กรุงเทพฯ เป็นการปกครองที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทย” กับทัศนคติผู้บริหาร โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้ค่าการมีส่วนร่วม

 

พิชญ์กล่าวว่า ปัญหาของ กทม. มีสองข้อ หนึ่ง การทำงานเต็มที่ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ เขามีปัญหากับการสื่อสารกับประชาชนว่าทำอะไรบ้าง ปัญหาที่สองคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำได้เท่านั้น โครงสร้าง กทม. คือการปกครองท้องถิ่นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทยจากแต่เดิมเคยเป็นที่ๆ ก้าวหน้าที่สุด แต่ตอนนี้ก้าวหน้าอันเดียวคือมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่ล้าหลังคือเขตทั้ง 50 เขตไม่มีภาระความรับผิดชอบกับประชาชนเลย ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. คือเขต ถ้าไม่รื้อระบบเขตก็ไม่สามารถพัฒนา กทม. และประชาธิปไตยของประเทศได้ ผมยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วม บ้านผมน้ำท่วมผมยังไม่รู้เลยว่า ผอ. เขตบางนาเป็นใคร ประเด็นคือ ข้ามจากลาซาลไปแบริ่ง น้ำท่วมเท่ากันแต่ผมเห็นรถเทศบาลออกไปประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบว่าน้ำท่วมครับ ขอโทษนะครับ จะรีบทำให้น้ำลงภายในกี่วันๆ ออกมาให้ด่าจริงๆ เพราะรู้ว่าทำอะไรไม่ได้ ผมยังไม่เคยรู้เลยว่าตัวแทนสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บ้านผมเป็นใคร และ ส.ข. ไม่มีอำนาจอะไรเลย เขตไม่มีความรับผิดกับประชาชนเลย ถ้าเทียบกับเทศบาลที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า

นิรมลเล่าถึงโครงการยานนาวา ริเวอร์ฟรอนท์ ที่มีวัตถุประสงค์ให้พื้นที่ริมน้ำตั้งแต่สะพานกรุงธนบุรีถึงกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สาธารณะ เราเจอพื้นที่หนึ่งคือยานนาวา แถวๆ รถไฟฟ้า BTS ตากสิน ความยาวประมาณ 1 กม. เป็นจุดๆ เดียวที่รถ รางและเรือมาต่อกัน มีโรงเรียน โรงแรม และชุมชนแออัดที่สุดแห่งหนึ่งของ กทม. เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่เจ้าของจำนวนร้อยละ 85 เป็นศาสนสถาน หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่เป็นพื้นที่กลางเมืองและเป็นพื้นที่ริมน้ำแต่ก็ไม่มีพื้นที่ทางกายภาพให้คนมาคุยกัน จึงเริ่มมีเวิร์คชอปเมื่อปี 2556 มีการหยั่งเสียงแล้วพบว่ามติส่วนมากเห็นด้วยที่จะพัฒนาพื้นที่ จึงค่อยๆ มีการประชุมเจ้าของที่ดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายก็มีการตั้งทีมงานพัฒนาพื้นที่ริมน้ำตามที่ทุกคนตกลงกันได้อย่างฉันทามติจากเจ้าของที่ดินและคนที่เกี่ยวข้องในปี 2558 เส้นทาง 1 กม. มีการออกแบบตามความสอดคล้องกับเจ้าของที่ดินแต่ละราย

แต่หลังจากที่เราบรรลุข้อตกลงกับเจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการก็หยุดชะงัก เพราะ กทม. ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ 14 กม. ทาง กทม. เลยให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวมากกว่า ทำให้โครงการของเราเป็นดาวค้างฟ้า แม้จะเดินหน้าจนถึงขั้นได้ฉันทามติแล้ว โครงการยานนาวาตอนนี้ก็ยังหยุดนิ่งอยู่ กทม. ให้น้ำหนักกับโครงการของรัฐบาลมากกว่า เลยย้อนกลับมาที่ประเด็นที่พิชญ์และธเนศพูดไว้ คือ เวลาคนมองว่า กทม. สภาพแย่ ไม่น่าอยู่ ไม่ใช่ว่าเพราะประชากรไม่ตื่นตัว แม้เราจะมีพื้นที่ให้คนออกมาต่อรอง มีส่วนร่วมแล้วแต่โครงสร้างอำนาจไม่เอื้อ ผลมันจึงไม่เกิด

นิรมลยังได้กล่าวว่าตนเรียนการออกแบบพื้นที่ทางกายภาพเป็นหลัก ยิ่งทำงานที่่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDC) ยิ่งเห็นบริบทประเทศของเราก็ยังไม่เห็นมรดกในการบริหารจัดการเมืองที่ดี ถ้าเราไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ โอกาสการสร้างกายภาพเมืองที่ฝันกันมันยากมาก เวลาเราทำผังแต่ละผัง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เราจะถามเสมอว่าเราทำไปให้ใคร เรื่องที่พิชญ์บอกเรื่องโครงสร้างอำนาจก็พยายามเข้าใจว่าในพื้นที่นี้ใครมีและไม่มีอำนาจ แล้วเราจะทำให้คนไม่มีอำนาจมีพื้นที่ในการต่อรองได้อย่างไร

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมีขนาดเมืองเล็กกว่ากรุงเทพฯ 15 เท่า แต่แบ่งย่อยเป็นเขตการปกครองเยอะมาก มีการเลือกตั้งสองระดับทั้งนายกเทศมนตรีปารีสและระดับเขต กรุงโตเกียวเองในปี 80 ก็เห็นว่ามหานครโตเกียวใหญ่เกินกว่าที่ผู้ว่าคนเดียวจะปกครองหมด จึงมีการซอยย่อยเป็นเขตพิเศษ แต่ของกรุงเทพฯ เขตทั้ง 50 เขตเป็นเหมือนส่วนท้องถิ่นที่รอคำสั่งจากผู้ว่าฯ กทม. เพียงคนเดียว หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นของปารีสก็ครบเครื่องตามมาตรฐาน คือมีหน้าที่พัฒนาเมือง สร้างสรรค์คุณภาพแวดล้อมเมืองและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ นอกจากนั้นอาจมีอะไรที่เป็นเชิงรูก เช่น พัฒนา ฟื้นฟูพื้นที่ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ ช่วงหนึ่งปารีสทำการสำรวจพบว่าด้านตะวันตกมี การเคหะเพื่อสังคม (social housing) ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เพราะเป็นพื้นที่คนรวย ทางเมืองปารีสจึงมีนโยบายที่จะไปแทรกแซงเขต 16 ในปารีส ปรากฏว่าคนประท้วงกันจนเป็นข่าวใหญ่โตเพราะคนรวยไม่อยากให้คนจนมาอยู่ในเขตของตน นายกเทศมนตรีเขต 16 ให้สัมภาษณ์ว่าเขตจะฟ้องเมืองกลับโทษฐานจัดนโยบายขัดกับคนในพื้นที่ วิธีคิดแบบนี้มันไม่มีในสมการของคนในกรุงเทพหรือแม้แต่เมืองไหนก็ตาม

 

สะท้อนภาวะลูกเมียน้อยของการปกครองท้องถิ่นและผังเมืองผ่านเรื่องผู้ว่าฯ แต่งตั้ง และกำแพงเมืองเชียงใหม่

 

ธเนศวร์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในเล่มนี้คือเมืองเป็นที่อยู่ของคน ทุกเรื่องของเราเกี่ยวพันกันไปหมด เช่นประโยชน์ของหนึ่งที่ก็ไปกระทบกระเทือนคนอื่นด้วย ปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นผลของความใช้ไม่ได้ของระบบผังเมือง เราต้องการพื้นที่เรียบๆ เราก็ถม เรากลัวน้ำจะท่วมเราก็ถมให้สูงขึ้นไปอีก ที่บ้านผมที่เชียงใหม่ การขยายบ้านและเขตราชการรอบดอยสุเทพทำให้ร่องน้ำและลำห้วยกว่า 70 กว่าลำห้วยถูกปิดด้วยเหตุผลนานัปการ พอฝนตกลงมาเยอะๆ มันก็ไหลสู่ที่ต่ำที่สุดก็เลยกลายเป็นคลองระบายน้ำขนาดใหญ่บนถนนสุเทพและหลายๆ จุด

ทำไมสิ่งที่พิชญ์พูดในหนังสือว่าเมืองมันเหมือนจะไม่มีกิจกรรมเรื่องกินเรื่องอยู่ เหมือนจะเอาของชนบทมากินตลอด ก็ศูนย์อำนาจที่เกิดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ล้วนเกิดมาจากเมืองทั้งนั้น มนุษย์เริ่มต้นรวมตัวกันก่อน สร้างบ้านเมือง สร้างกำแพง ชาวนากระจอกๆ ให้ออกไปอยู่ข้างนอก เราไม่ได้ความสำคัญ ที่ผ่านมาความเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจมากมันกระจุกที่เมือง ที่ผ่านมาเราสังเกตจะพบว่า ที่ผ่านมา ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา เราศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองไหม เรามีวิชาประวัติศาสตร์ไทย แต่เรามีวิชาประวัติศาสตร์ปักษ์ใต้ สงขลา ขอนแก่น อีสานไหม ถ้ามีก็น่าจะช่วยให้คนเข้าใจท้องถิ่นได้มากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของผังเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ผมก็เสนอว่า การปกครองท้องถิ่นหรือการปกครองเมือง การบริหารจัดการท้องถิ่นคือมรดกที่สำคัญของโลก นี่คือสิ่งที่เราต้องเสนอขึ้นมาว่า เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันแล้วสร้างระบบบริหารที่ดี มันจึงเป็นระบบที่สำคัญ ผังเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญแต่เราให้ความสำคัญน้อย ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ควรเป็นที่ๆ สงบและดีที่สุดในเมืองกลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมราคาถูกที่สุด คำถามคือทำอย่างไรกับกระบวนการผังเมืองจนทำให้พื้นที่ที่ดีที่สุดของเมืองเป็นพื้นที่โรงแรมราคาถูกที่สุด

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังกล่าวว่า การที่เราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นใครที่ไหนในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่มีปัจจัยมากระแทกสังคมไทยให้เราตระหนักว่าอะไรคือปัญหา พอตะวันตกเข้ามาพัฒนาในแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็กลายเป็นเมืองที่โตขึ้น แต่รัฐที่กลัวสูญเสียที่ดินและรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป เมื่อคอมมิวนิสต์บุกก็หวาดกลัวคอมมิวนิสต์อีก รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง เขม็งเกลียวมากขึ้นด้วยการเอาอำนาจส่วนภูมิภาคมาครอบส่วนท้องถิ่นเอาไว้อีกที การทับซ้อนของอำนาจระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่นก็แบ่งกันอย่างที่เห็นในเวลานี้ ก็แบ่งแยกกันไป แย่งชิงกันมา ระบบการศึกษาไม่ให้ความรู้เรื่องท้องถิ่น แต่ถ้าไม่ให้อำนาจเขาลงมาดูแลจริงๆ ยังให้คนที่อื่นมาเป็นผู้ว่าฯ ไม่นานเท่าไหร่แล้วก็ย้าย ในเมื่อคนอื่นมาทำให้เราหมดแล้วเราก็อยู่ๆ ของเราไป

อีกเรื่องคือ ยังไม่เคยเห็นบทบาทของกลุ่มธุรกิจมาพูดเรื่องสิทธิการปกครองตนเองของท้องถิ่นอย่างจริงจัง ความคิดอันนี้ก็คงเปลี่ยนไปเยอะ มีคนจำนวนมากขึ้นที่อยากมีส่วนตรงนี้ สมัยที่รณรงค์เรื่องขอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่เชียงใหม่เมื่อสิบปีกว่าปีก่อนก็โดนตัวแทนกระทรวงมหาดไทยบอกว่าไม่ได้ เพราะเชียงใหม่ติดกับพม่า กลัวว่าจะมีคนหาเสียงแล้วชูนโยบายแยกตัวไปอยู่กับพม่า เราก็ถอยให้สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานีเริ่มก่อน แต่จนบัดนี้ก็ไม่มี

เมื่อมีผู้ว่าฯ กทม. แบบเลือกตั้งเมื่อปี 2522 ก็ไม่มีการเรียกร้องให้มี แต่คิดว่าเป็นเพราะไปดูงานจากต่างประเทศแล้วพบว่ามีผู้ว่าฯ ที่เข้มแข็ง มาจากการเลือกตั้ง แต่ในต่างจังหวัดที่อยากได้ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งกลับไม่ได้

[2] เขียนโดย ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ ประชาไท วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 

 

   

Related Posts