Events

สัมมนา "คนสร้างเมือง" คลื่นลูกใหม่แห่งการพัฒนาเมืองของไทย

 

 

 

ความเป็นเมืองของไทยในวันนี้

ประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรอาศัยในเขตเมืองสูงถึงร้อยละ44 ของประชากรทั้งประเทศ หากนับรวม อบต.ขนาดใหญ่และขนาดกลางด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ความเป็นเมืองมีมากขึ้น สูงถึงร้อยละ 50  ของประชากรทั้งประเทศ  แต่ความเป็นเมืองของไทยมีลักษณะกระจุก จะเห็นได้ในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ความเป็นเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑลสูงถึงร้อยละ 76

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างประชากรในเขตเมือง โดยเฉพาะเขตเทศบาลนคร จะพบว่าสังคมเมืองวันนี้เป็นสังคมผู้สูงอายุ  เนื่องจาก มีประชากรที่มีอายุ  60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรในเขตเทศบาล ในเกือบทุกพื้นที่ของเทศบาลนคร ยกเว้นเพียงเทศบาลนครแหลมฉบัง และพบว่า เทศบาลนครนนทบุรีมีประชากรผู้สูงอายุในเขตเมืองเป็นสัดส่วนมากที่สุด ถึงร้อยละ 25  ของประชากรทั้งหมด  ส่วนเทศบาลเมืองก็เป็นไปทำนองเดียวกัน 

 ประเทศไทยที่เติบโตมาจนกระทั่งวันนี้ หลายเมืองได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม   ตัวอย่าง เช่น เมืองอุตสาหกรรม อย่าง Eastern Seaboard ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีประชากรญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในศรีราชา 8,000 คน คิดเป็น  60% ของประชากรเมืองศรีราชา จนได้รับฉายาว่า Little Osaka เมืองประมง ดงโรงงาน อย่างมหาชัย สมุทรสาคร  เมืองบุรีรัมย์ ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจติดจรวด ถูกพัฒนาให้เป็น sport city  ดึงดูดนักท่องเที่ยวในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ในอดีต เมืองจะเติบโตจากการวางแผนของภาครัฐส่วนกลาง แต่วันนี้ไม่ได้หมายความว่า เมืองอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาของรัฐจะหมดโอกาสของการพัฒนา เพราะบทเรียนที่ผ่านมา การพัฒนาจากภาครัฐส่วนกลางไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่  แต่จะสังเกตว่า วันนี้เมืองกำลังกลายเป็นสนามใหม่ของนักสร้างสรรค์และมีจินตนาการ ของผู้เล่นหรือผู้นำหน้าใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่คือภาคประชาสังคม ที่เข้าออกแบบสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเมืองมากมาย 

 

 

เมืองของไทย คือ "บ้าน" ของเรา

ประเทศไทยทุกวันนี้ไม่ใช่ชนบทเสียแล้ว บ้านเมืองกลายเป็นเมือง นคร และ มหานคร เป็นหลัก เมืองไทยยุคใหม่นี้ คนในเมืองจึงต้องสร้างเมืองด้วยตนเองมากขึ้น รักเมือง มีจิตอาสาเพื่อเมือง ร่วมกันดูแลพัฒนาเมือง ทำให้บรรดาเมืองทั้งหลายของไทย เป็นเสมือน "บ้าน" ของเรา

“คนสร้างเมือง” หรือ "ผู้สร้างบ้านแปงเมือง" คนกลุ่มนี้คือผู้อาสาสมัครเข้ามาช่วยกันพัฒนาเมือง ต้องทำให้คนเหล่านี้เป็นคนรักเมือง เสียสละให้เมือง ทำตัวเป็นเจ้าของเมือง ทุ่มเททำงานให้เมือง หลงใหลในอดีตกาลของเมือง สนใจในเสน่ห์ประเพณีและวัฒนธรรมเมือง เรียนรู้หาจุดเด่นจุดแข็ง รู้แจ้งถึงโอกาส และมองเห็นถึงอนาคตของเมือง ที่สำคัญ "ผู้สร้างบ้านแปงเมือง" ต้องไม่ท้อแท้หรือเหนื่อยหน่ายหรือ "ยอมจำนน" กับการทำงานของราชการที่ยึดแต่หลักกฏหมายและอยากทำงานอย่างเป็นทางการเท่านั้น  จิตสำนึก ร่วมกันรักบ้านร่วมดูแลบ้านและ พัฒนาบ้านแบบนี้ ต่อไป

การพัฒนาเมือง ในทัศนะผู้นำเมืองยุคใหม่

เมืองน่าอยู่ กายภาพสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือคน ผู้พัฒนาเมืองทุกคนต่างมีเป้าหมายมุ่งสู่เมืองน่าอยู่เป็นสำคัญ นายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น ให้แง่คิดเมืองน่าอยู่ว่า เรื่องกายภาพหรือโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่เมืองขอนแก่นต้องไม่ใช่เมืองที่มีแค่ถนนดีๆ หรือเป็นเมืองที่เอาสายไฟลงดินแล้ว องค์ประกอบของเมืองน่าอยู่ที่สำคัญที่สุด คือ “คน”  ซึ่งชาวขอนแก่นเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ สนใจความเป็นไปของเมือง มีส่วนร่วมของเมือง  ฉะนั้น การบริหารเมืองน่าอยู่ ต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชน

เมืองจะพัฒนาได้ ท้องถิ่นต้องไม่ยอมจำนน ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เกิดปัญหาความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่อง เกิดความระแวงระหว่างคน ทำให้คนย้ายออกจากพื้นที่ เป็นสถานการณ์ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครยะลาภายใต้การนำของ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนมเจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ให้ข้อคิดที่สำคัญว่าแม้จะเกิดอุปสรรคแค่ไหน หรือปัญหาของเมืองจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ท้องถิ่นต้องไม่ยอมจำนนต่อปัญหา เทศบาลนครยะลาในฐานะท้องถิ่น จึงบริหารเมืองท่ามกลางความขัดแย้ง โดยการสร้างเมืองยะลาให้เป็นเมืองน่าอยู่ด้วยหลักสำคัญ ที่เรียกว่า 6C คือ Cleanness  Collaboration  Connectivity Culture Competitive Comfort

 ผู้นำเมืองยุคใหม่ ผู้นำเมืองควรจะมีคุณสมบัติที่พิเศษให้มากขึ้น เพราะเมืองมีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างรวดเร็ว คุณสมบัติสำคัญของผู้นำยุคใหม่ ควรต้องมี คือ ผู้นำต้องมีสำนึกรักท้องถิ่น ต้องไม่หลงตัวเอง สามารถฟังคำเตือนได้ ต้องยืดหยัดต่อสู้กับปัญหาและยืนเคียงข้างประชาชน ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ต้องมีวิสัยทัศน์ และพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ  ขยันสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องอ่านหนังสือ  ต้องเข้าใจที่มาของนโยบายและทันโลก เช่น ปัจจุบันเป็น ยุค Internet of Thing วิธีคิดหรือการทำงานเดิมๆ คงใช้ไม่ได้กับเมืองอีกต่อไป และที่สำคัญผู้นำต้องสร้างผู้นำ  ผู้นำต้องสร้างคนรุ่นใหม่เสมอ เพื่ออนาคตการพัฒนาข้างหน้าของเมือง

 

ภาคประชาสังคม กับนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพเมือง

  • สาดสีเมืองสาย ศิลปะการพัฒนาเมืองสายบุรี ความรุนแรงในพื้นที่ สร้างความหวาดระแวงของผู้คน กลุ่มสายบุรี ลุคเกอร์ กลุ่มคนรุ่นใหม่ จัดกิจกรรมทางด้านศิลปะเป็นหลัก รวมถึงสื่อสมัยใหม่ อาทิ หนังสั้น และ Social Media อื่นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับบุคคลทั้งที่เป็นคนในพื้นที่และบุคคลภายนอก เพื่อให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา นำไปสู่การลดความขัดแย้ง สร้างสังคมที่เข้มแข็ง มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน การใช้ศิลปะในพื้นที่ทำให้เกิดการพูดคุยระหว่างกลุ่มมากขึ้น และปัจจุบันกำลังต่อยอดในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือรวมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ด้วย
  • social media ระดมพลังคนเมืองเชียงใหม่ มือเย็น เมืองเย็น เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มจิตอาสาที่สนใจการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองเชียงใหม่ การออกแบบกิจกรรมและเครื่องมือที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างความสนใจให้ผู้คนในเมืองได้ลงมือพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองร่วมกัน ได้แก่ การปลูกต้นไม้ด้วยความสนุก อาศัยการสร้างแคมเปญท้าปลูกในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) การใช้คนบันดาลใจที่มีชื่อเสียงมาเป็นสื่อดึงคนเข้าร่วมกิจกรรม สร้างความรับผิดชอบและพันธะสัญญาเพื่อให้ผู้คนยังสามารถทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มต่อไป
  • พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติบ้านสวนกง กับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การใช้แนวคิดในการทำกิจกรรมเน้นการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก ภายใต้การออกแบบวางผังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติบ้านสวนกงให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของพื้นที่ เพื่อสร้างกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาเรียนรู้อยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืนและไม่เบียดเบียน เน้นเรื่องการเกิดแผ่นดิน เนินทรายชายหาด ชายหาด พันธุ์พืชและสัตว์ ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรมของชาวประมงพื้นถิ่น
  • social enterprise กับการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองจันทบูร ชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นชุมชนเก่าที่ใช้กระบวนการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีหลักคิดคือชุมชนจะต้องร่วมเป็นเจ้าของ ที่สำคัญคือร่วมรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงจากการอนุรักษ์ การดำเนินการเริ่มจากก่อตั้งบริษัทชุมชนใช้ชื่อว่า “บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด” จากนั้นจึงได้มีการพัฒนารูปแบบธุรกิจเชิงอนุรักษ์ คือ ออกแบบปรับปรุง ฟื้นฟู ตัวอาคารสถาปัตยกรรมเรือนไม้เก่าเพื่อให้เป็นโรงแรมในลักษณะแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ (Historic Inn) รวมถึงการปรับปรุงชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
  • inclusive business กับการพัฒนาเมืองย่านสำราญราษฏร์ กทม. แนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) เป็นแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับการท่องเที่ยว เน้นให้เกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชน อาศัยการสร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลที่ได้จึงเป็นการสร้างธุรกิจร่วมกัน Once Again Hostel โฮสเทลเพื่อชุมชนเมืองย่านสำราษราษฎร์ กรุงเทพมหานคร ได้เชื่อมโยงธุรกิจที่พักแรมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือทักษะของคนในชุมชนโดยรอบที่กำลังจะเลือนหายไปจากการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน อาทิ ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนบ้านบาตร ย่านนางเลิ้ง-ตลาดเก่า เป็นต้น

 

 

สิทธิการมีสุขภาวะที่ดีในเมืองใหญ่

การพัฒนาเมืองในแนวทางของผังเมืองที่คิดแต่ว่าต้องมีพื้นที่สาธารณะ (Public Space) พื้นที่สีเขียว ลานออกกำลังกาย แต่ไม่มีใครคิดถึงการสร้างหรือรักษาพื้นที่ในการรับประทานอาหาร ทุกวันนี้สัญญาณของวิกฤตอาหารในเมืองใหญ่มีให้เห็นแล้วจากการที่คนที่อาศัยในคอนโดมิเนียมราคาหลักล้านต้องมายืนซื้ออาหารริมถนน  การสร้างคอนโดมิเนียมจำนวนมาก กำลังจะก่อให้เกิดวิกฤตกับสุขภาวะ วิกฤตเรื่องอาหารของคนเมืองอย่างยิ่ง เพราะคอนโดมิเนียมสร้างขึ้นโดยทำลายตลาด กำจัดแผงอาหารริมทาง  แต่ไม่มีคอนโดมิเนียมแห่งใดคิดสร้างศูนย์อาหารในคอนโดขึ้นมาทดแทน

เรื่องสุขภาพกับการพัฒนาเมือง มีประเด็นคือ การจะมีสุขภาพดี ไม่ควรพึ่งแค่หมอกับการดูแลตัวเอง แต่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมของเมือง เพราะตามหลักแล้ว สุขภาพจะดีได้ ต้องออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมของเมือง มีอาหารที่เพียงพอ และสามารถทำให้ทุกระดับเข้าถึงอาหารด้วย เรื่องสุขภาวะนั้นคนทั่วไปอาจจะมองเป็นเรื่องสุขภาพดีไม่ดีระดับปัจเจก แต่ในระดับเมืองนั้น สุขภาพดีปัจเจก ทำให้สุขภาพของปัจเจกอีกคนดีด้วยหรือไม่ เช่น การขับรถติดแอร์ทำให้คนข้างในรถเย็นแต่ทำให้อากาศภายนอกร้อนขึ้น เพราะฉะนั้น ความสำคัญของเรื่องสุขภาพคือการถามว่า การที่ตัวคุณดีแล้ว ทำให้คนอื่นแย่ลงหรือเปล่า และในคำถามระยะยาวกว่านั้น คือ ความยั่งยืนของสุขภาพที่ดี เราจะทำให้ยังยืนได้อย่างไร?

 

FURD SUMMIT 2016 (คนสร้างเมือง) REPORT
 

 

 

      

 

      

 

   

Related Posts