
การพัฒนาเมืองปราจีนบุรี : มุมมองจากภาคเอกชน
ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท.ได้จัดเวทีเมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองปราจีนบุรี : มุมมองจากภาคเอกชน ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 - 12.00 น. ผ่านการประชุมออนไลน์
วิทยากรโดย คุณมาโนช วีระกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดปราจีนบุรี ประธานชมรมอนุรักษ์ป่ามรดกโลก และเจ้าของแวโรน่า แอด ทับลาน
ร่วมแลกเปลี่ยนโดย
ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์
อ.ปพิชญา แซ่ลิ่ม
เวทีดังกล่าว วิทยากรได้อธิบายถึง การเปลี่ยนแปลงของจังหวัดปราจีนบุรี ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปราจีนบุรีได้เปลี่ยนจากเมืองเกษตรกรรมไปเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเกษตรกรรมของชาวบ้าน ที่ดินมีการเปลี่ยนมือ ทำให้เกษตรกรบางคนต้องเช่าที่ดินทำเกษตรกรรม การมีโรงงานอุตสาหกรรมทำให้มีคนต่างถิ่นเข้ามาในปราจีนบุรีจำนวนมาก แต่ถ้าเทียบกับสัดส่วนกับคนปราจีนบุรี ยังถือว่าคนปราจีนบุรียังมีสัดส่วนที่มากกว่าคนต่างถิ่น
ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ แต่ละกลุ่มมีเป้าหมายของตนเอง มีกลุ่มทุนเข้ามาทำให้เมืองเปลี่ยน และพยายามโน้มน้าวเมืองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ล้วนมีความต้องการเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นสีม่วง เพื่อตอบรับอุตสาหกรรมที่เข้ามา เป็นที่น่ากังวลสำหรับคนกลุ่มคนทำเกษตรกรรมในอนาคต ในขณะที่ภาคชุมชน และประชาสังคม ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับภาคใต้ แต่ละครัวเรือนค่อนข้างปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทใหม่ที่เข้ามา อย่างไรก็ตาม ด้วยการทุ่มเทพัฒนาโครงการ EEC ของรัฐบาล ซึ่งมีเมืองเป้าหมายอย่างชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมไปเพิ่มมากขึ้นในเมืองเป้าหมายดังกล่าว ในเมืองปราจีนบุรีจึงไม่ได้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมจากเดิมมากนัก
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ราว พ.ศ. 2559 - 2564 จีนได้ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งของกัมพูชาให้เจริญขึ้นมา เช่น เมืองสีหนุวิลล์ เกาะกง เมืองกัมปอต กลายเป็นเมืองใหญ่ เมืองท่าและเมืองท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเดินเรือบนเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน ซึ่งกัมพูชาไม่ได้อยู่ห่างกับปราจีนบุรี ราว 150 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปถึงด่านกัมพูชาได้ การที่่กัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งครั้งใหญ่ เป็นบริบทใหม่ที่ปราจีนบุรีจะคิดหาทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยเฉพาะนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะหันไปกัมพูชา รวมทั้งจะทำอย่างไรให้สร้างโอกาสดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวมาปราจีนบุรีให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้กลับไม่เห็นการตื่นตัวของภาครัฐในจังหวัดปราจีนบุรี ยังไม่มีแผนใดๆ ที่จะรองรับการบริบทที่กระทบปราจีนบุรีในเรื่องดังกล่าวเลย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันและแนวโน้มทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจปราจีนบุรี ควรสนใจการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งปราจีนบุรีมีศักยภาพและต้นทุนเหล่านี้อยู่ ควรพัฒนาขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ของจังหวัดมากกว่าจะมุ่งเน้นแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม
ในส่วนของคุณมาโนช ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับลาน มีกิจการโรงแรมขนาดใหญ่ ที่จ้างงานคนในท้องถิ่นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีความคิดและแผนที่จะร่วมกับเทศบาลตำบลทับลานพัฒนาเศรษฐกิจของอำเภอทับลานให้เกื้อกูลได้ผลประโยชน์กับหลายกลุ่มให้มากที่่สุด โดยเฉพาะกับชุมชนคนท้องถิ่นในอำเภอทับลาน ด้วยการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและสมุนไพร ดึงผู้คนให้เข้ามาท่องเที่ยว โดยที่สินค้าและบริการให้มาจากชุมชนในอำเภอทับลานเป็นหลัก เพื่อหวังจะเป็นโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองต่อไป