Events

ชุมชนเข้มแข็งในเขตเมืองตามนิยามความหมายของชาวเมืองยะลา

 

อุกฤษฏ์  เฉลิมแสน

 

 

“เซฟตี้โซน” (safety zone) “ชป.” (ชุดปฏิบัติการ) “เครื่องแดง” “ตูป๊ะ” “อาเก๊าะ” ชื่อเรียกที่ทำให้คณะแผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (นพม.) เกิดความสงสัยระหว่างศึกษาดูงานชุมชนเมืองในเขตเทศบาลนครยะลา แต่สำหรับชาวชุมชนนั้น ชื่อเรียกเหล่านี้คือ คำพูดธรรมดาสามัญและคุ้นชิน ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวชุมชนมายาวนาน

ขนาดพื้นที่ 19.4 ตารางกิโลเมตรของเทศบาลนครยะลา มีชุมชนทั้งสิ้น 40 ชุมชน และมีประชาชนราว 60,000 คน หลายชุมชนต้องเผชิญกับความรุนแรง จนบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนรับข่าวสารนอกพื้นที่ แต่ในอีกด้านหนึ่งเหตุความรุนแรงนี้ได้ทำให้แต่ละชุมชนได้ปรับตัว พยายามลดความระแวงสงสัยระหว่างกลุ่มชน จนนำไปสู่การสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” ในมิติที่แตกต่างจากชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ในการศึกษาดูงานที่เมืองยะลาครั้งนี้ คณะแผนงานฯเข้าเยี่ยมชุมชน 2 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนผังเมือง 4 และชุมชนสามัคคี

 

 

ชุมชนผังเมือง 4

ชุมชนผังเมือง 4 เป็นชุมชนที่เคยเกิดเหตุความรุนแรงและมีผู้บาดเจ็บราว 40 คน เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่ตลาดสดของเทศบาล และยังเป็นสถานที่ออกกำลังกายของชาวชุมชน จากการพุดคุยกับคณะกรรมการชุมชน ทำให้ทราบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงมีผลให้ชุมชนป้องกันความรุนแรง ด้วยระบบ “ตาสับปะรด” ซึ่งหมายถึงชาวชุมชนได้ช่วยสอดส่องดูแลความผิดปกติในพื้นที่ชุมชน

ถึงแม้จะมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และกลุ่มอาสาสมัคร อพปร. ชุดปฏิบัติการ (ชป.) แต่ภายในชุมชนก็จะมีคณะกรรมการชุมชน และมีกรรมการซอยช่วยดูแลในอีกด้านหนึ่ง ทั้งด้านสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการสอดส่องเหตุที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่ายกว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ โดยมีการประสานงานผ่าน “เครื่องแดง” หรือวิทยุสื่อสารเครื่องสีแดงสำหรับการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ เครือข่ายการดูแลความปลอดภัยของชาวชุมชน หรือ “ตาสับปะรด” จึงช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ลงเป็นอย่างมาก

นายนเรศ เจียรนัย รองประธานชุมชนผังเมือง 4 กล่าวถึงความยากลำบากของชาวชุมชนในการปรับตัวให้เข้ากับนโยบายการป้องกันความรุนแรงในระยะแรก แต่ต่อมาสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวชุมชน และทำให้ชาวชุมชนได้พบปะพูดคุย มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่าในอดีต ยกตัวอย่างเช่น “เครือข่ายตาสับปะรด” รวมถึงกลุ่มพ่อค้าและแม่ค้าที่จะนำสินค้ามาวางขายในตลาดสดเทศบาล จะเข้ามาตลาดได้หลังเวลา 05.30 น. และหลัง 20.30 น. ต้องขนสินค้าออกจากตลาด

 

 

ชุมชนสามัคคี

คณะแผนงานฯได้เยี่ยมชมและร่วมพุดคุยกับอีกหนึ่งชุมชนในเขตเมืองคือ ชุมชนสามัคคี คณะกรรมการชุมชนที่รอต้อนรับมีทั้งชาวไทยมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน อาหารและขนมที่เตรียมไว้ คือ สิ่งที่หาได้ยาก โดยเฉพาะคนนอกพื้นที่เช่นคณะแผนงานฯ คณะกรรมการชุมชนท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ทำให้ชาวชุมชนเกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน คณะกรรมการชุมชนจึงพยายามจัดกิจกรรม เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วม และลดความหวาดระแวงระหว่างคนภายในชุมชน

ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าการจัดกิจกรรมต่างๆของชุมชนสามัคคี สามารถแก้ปัญหาจนสามารถรวบรวมชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน มาอยู่ร่วมกันได้ คณะกรรมการชุมชนให้ความเห็นว่า กิจกรรมของชุมชนเริ่มจากการมุ่งไปที่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเสาหลักของชุมชน คณะกรรมการของชุมชนได้ออกเยี่ยมผู้สูงอายุ เพื่อได้ทราบถึงปัญหาว่าเกิดอะไรบ้าง ทั้งปัญหาของผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาของชุมชนด้านอื่นๆ อาทิ เยาวชน คนยากจน และ “คนติดเตียง” กิจกรรมที่ถักทอสายสัมพันธ์ของชุมชน เช่น การแข่งขันทำ “ตูป๊ะ” (ข้าวต้มสามเหลี่ยม) ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งชาวไทยมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน และมีความเป็นไปได้ว่าตูป๊ะจะพัฒนาเป็นสินค้าโอทอป (OTOP) ในไม่ช้า นอกจากนั้นแล้ว ภายในชุมชนยังมี “ตลาดนัดสองพันปี” (อายุของผู้สูงอายุรวมกัน) ซึ่งเป็นพื้นที่ซื้อขายสินค้าของชุมชน เป็นพื้นที่ของการพบปะแลกเปลี่ยนของชาวชุมชน

 

 

สรุป

ภายในผังเมืองที่สวยงามที่สุดของประเทศไทย ความรุนแรงที่ไม่ยังมีสัญญาณสิ้นสุดว่าเมื่อใด อาจทำให้หลายคนมองไม่เห็นทางออก จนอพยพและโยกย้ายออกนอกพื้นที่เมืองยะลา แต่สำหรับประชาชนในเขตเมืองยะลา การปรับตัวของคนเหล่านี้คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน นำไปสู่การถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างกัน จนได้สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (community of practice) ในที่สุด

 

 

Related Posts