Cities Reviews

Smart City กับแนวคิดการมีส่วนร่วม (Inclusive)

  
ณัฐธิดา เย็นบำรุง 

 

 

 
ในงานการเสวนาเรื่อง Shifting Paradigm of City with Innovation ในเวที District Summit 2018 จัดโดยสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงละคร K Bank สยามพิฆเณศ อาคารสยามสแควร์ วัน เขตปทุมวัน กทม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ  ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติมาบรรยายหัวข้อที่คนสนใจเรื่องเมืองกำลังมีคำถามมากที่สุด ในแนวคิดที่มาแรงแบบ inclusive City อะไรคือการสร้างเมืองแบบที่มองเห็นคนทุกกลุ่ม อะไรคือหัวใจของเรื่องดังกล่าว  

 

นิยามของคำว่า Inclusive City

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ  ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อธิบายว่า ไม่มีนิยามไหนที่เป็นสากล และคิดตรงกันได้ หากมาดูคำ คำว่า inclusive น่าจะมีความหมายคือ พยายามให้คนที่ไม่สามารถได้รับประโยชน์ สามารถได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นจากที่เคยมีการลงทุนและมีการพัฒนา บางคนอาจจะแปลว่าเมืองทั่วถึง เมืองเหลื่อมล้ำน้อยลง เมืองยุติธรรม ก็แปลได้

เรื่อง inclusive กับย่านนวัตกรรมนั้น คือ เวลาเราพูดเรื่องนวัตกรรม เรามีวิธีคิดว่าถ้าไม่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี ประเทศไทยจะติดกำกับรายได้ปานกลาง เรื่อง inclusive ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ว่าเราพัฒนานวัตกรรมแล้วเรามีรายได้มากขึ้น ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น เวลาเราพูดถึงนวัตกรรม และพูดถึง inclusive ด้วย แสดงว่านวัตกรรมและการพัฒนาตอนนี้มันไม่ทั่วถึง เราพยายามพัฒนานวัตกรรมออกมา แต่ว่าคนได้รับประโยชน์จริงๆ มันมีไม่กี่คน อาจจะมี start up ที่ได้ประโยชน์ แต่ประเทศเราก็มี SME ย่อยๆ อีกจำนวนมาก แสดงว่ามีคนจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนนวัตกรรม

 เวลาเราพูดถึง inclusive เราต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรคือ exclusive นวัตกรรมเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นการพัฒนาข้างหน้า เป็นการพัฒนา แต่อีกมุมหนึ่งของนวัตกรรม ขอเปรียบเหมือน ศิวนาฏราช ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ คือเป็นทั้งผู้สร้างและเป็นผู้ทำลาย นวัตกรรมนอกจากจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แล้ว ในตัวมันเองเป็นการทำลายในตัวอยู่แล้ว หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Creative Destruction (การทำลายอย่างสร้างสรรค์) เป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ Joseph Schumpeter ชาวอเมริกา – ออสเตรีย คือ เวลาที่จะผลิตอะไร มันต้องมีการทำลายสิ่งก่อนหน้านี้ ซึ่งคือพื้นฐานของนวัตกรรม เวลาทำเรื่องนวัตกรรม โดยอัตโนมัติ เรา exclude คนอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น เราเคยมีไมโครโฟนแบบมีสาย ปัจจุบันไมโครโฟนไม่มีสายแล้ว คนทำสายก็ต้องไปทำอย่างอื่น แสดงว่านวัตกรรมมาพร้อมกับการทำลาย หรือการ exclude เสมอ นั่นหมายความว่าเวลาเราทำย่านนวัตกรรม ต้องมีคนได้รับผลกระทบเสมอจากนวัตกรรม ซึ่งคนมักจะบอกว่ามันเป็นกลไกตลาด คนไม่ดิ้นรนเอง ช่วยไม่ได้ แต่เรากำลังพูดถึง inclusive ฉะนั้น คนที่แพ้ในเกม รัฐหรือว่าใครจะต้องเข้ามาช่วยคนที่เสียประโยชน์ตรงนี้ นโยบายนวัตกรรม ไม่ใช่เพียงแค่ไปข้างหน้า ในอีกทางหนึ่งมีคนได้รับผลกระทบเสมอ นั่นคือโจทย์ รัฐหรือสำนักงานนวัตกรรมต้องสนใจ

Smart City กับการมีส่วนร่วม
 
inclusive คือแนวคิดการมีส่วนร่วม เวลาเราพูดถึง inclusive ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในประเทศนี้จะได้ของเท่ากัน เหมือนกันทุกอย่างแบบคอมมิวนิสต์ inclusive ในการทำงานเมือง คือเราในฐานะพลเมืองจะมีสิทธิ์หรือมีอะไรบางอย่างให้สิ่งที่เราต้องการ สามารถบรรลุออกมาเป็นบริการหรือเครื่องมืออะไรก็ได้ ประเด็นคือ ไม่ใช่ว่าเมืองไม่มีบริการขั้นพื้นฐาน แต่มันยัง exclude คน เช่น เช่น คนจนต้องใช้รองเท้าต่อคิวเข้าโรงพยาบาล เอาจริงๆ คนรวยจะทำแบบนั้นเหรอ ก็ไม่หรอก ไปโรงพยาบาลเอกชนสบายๆ ฉะนั้น เมืองจะต้องมี platform ที่เป็นทั้งดิจิตอลและ physical หรือในเชิงกระบวนการที่จะทำให้คนในเมืองสามารถได้รับบริการที่เขาต้องการได้
 
การพัฒนาเมือง ส่วนหนึ่งคือ การพัฒนาที่ดิน การพัฒนาที่ดินมัน exclude อยู่แล้ว เพราะประเทศไทยกรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน ซึ่งเอกชนก็พัฒนาไป ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่มันเป็นกระบวนการธรรมชาติของการพัฒนาที่ดินและเมืองที่จะขับคนอยู่แล้ว ตอนนี้คนอยู่ใกล้จุฬาไม่ค่อยได้ เราต้องเดินทางกันไกล การจัดการเรื่องของที่ดินต้องทำ เวลาเราพูดถึงย่านนวัตกรรม เรากำลังเอาสองเรื่อง คือ นวัตกรรมและที่ดิน ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะขับคนอยู่แล้ว มันเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ย่านนวัตกรรมหากเราคิดว่าจะมีแต่ตึกใหญ่ มีอะไรสวยหรู มี co-working มีร้านกาแฟแพงๆ ผมคิดว่า miss the point ประเทศนี้คงไม่ได้ติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่เหมือนเรากำลังติดกำดักปัญญาปานกลาง
 
เราจะพัฒนาย่านนวัตกรรม หวังว่าจะประโยชน์จากนวัตกรรม จะไหลริน เป็น tickle down ไปสู่คนที่ตอนนี้กำลัง exclude อยู่จากกระบวนการพัฒนา แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น เวลาเราเดินสยามเราก็เห็นความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด
 
เรื่องนวัตกรรม เอาเข้าจริงเอกชน หรือกลุ่ม start up เขาทำกันอยู่แล้ว ซึ่งรัฐก็ต้องสนับสนุน แต่โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือ จะทำให้คนที่ถูก exclude ให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการ และทำให้นวัตกรรมมีประโยชน์จริงๆ ผมคิดว่าการตั้งโจทย์สำคัญกว่าการหาคำตอบ อย่างน้อยมีโจทย์แล้วว่า นวัตกรรมต้องตอบโจทย์ของประเทศนี้นะ นวัตกรรมที่เราทำ ตอบโจทย์เหล่านี้หรือไม่ นี่เป็นประเด็นสำคัญ

ตัวอย่างการพัฒนาเมืองในต่างประเทศ
 
แต่ละประเทศมีพื้นฐาน มีบริบทไม่เหมือนกัน ถ้าน่าสนใจอาจจะเป็นที่ สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่มีพื้นฐานของความเท่าเทียมในระดับหนึ่ง คนจ่ายภาษีเยอะ แต่รัฐก็นำกลับมาสร้าง platform ให้คนมีส่วนร่วม ทำสวัสดิการได้ แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่า inclusive city นั้น สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเราต้องมีวัฒนธรรมเอาใจเขามาใส่ใจเรา
 
Inclusiveness คือต้องให้ความสำคัญกับคนที่ไม่คิดว่าเขาสำคัญ เป็นความละเอียดไปสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์คนที่ต้องการจริงๆ เช่น ผู้หญิง เด็ก คนแก่ คนพิการ คนจน เราสนใจคนเหล่านี้แค่ไหน ถ้าไม่สนใจจริงๆ นวัตกรรมจะไม่เกิด เรานำเข้านวัตกรรมหมด เช่น อยากทำทางจักรยานก็ทำ ประเด็นคือเราสนใจคนที่เขาขี่จักรยานจริงๆ หรือเปล่า ฉะนั้นมีไปก็เท่านั้น เหมือนกันคนพิการ อาจจะทำทางขึ้น มีลิฟท์ แต่ผลที่ออกมาก็ไม่ดีเท่าไหร่ คนที่ทำนวัตกรรมที่เจ๋ง เขาต้องเข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคม ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ไปเห็นต่างประเทศทำแล้วมันดี แต่ต้องเข้าใจว่าเราสนใจอะไร ห่วงใยอะไร ถ้าไม่มีก็จบ
 
ท้ายสุด inclusive ผมคิดว่า ต้องสร้างพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น ทั้งในแง่พื้นที่สาธารณะทางความคิดและพื้นที่สวนสาธารณะ หรือศูนย์ อะไรก็ได้ที่เป็นพื้นที่ common ที่เปิดสาธารณะพอ ให้เขามีจินตนาการได้ เอื้อให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ และอีกประเด็นหนึ่งถ้าเป็นไปได้ พื้นที่สาธารณะ ควรบริหารเป็นกลุ่ม หรือชุมชนจริงๆ ประเทศเราจะขาดเรื่องเหล่านี้ ที่คนพื้นที่ช่วยกันบริหาร เรายังขาดนวัตกรรมแบบนี้อยู่ หากมีพื้นที่ common เราจะได้ platform แบบหนึ่ง แล้วคนก็จะเข้ามาทำอะไรมากมาย
 
 
ที่มาภาพ :
สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ
 
 
 
 
 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts