
หนังสือ "If Mayors Ruled the World" โดย Benjamin R. Barber
Barber ได้กล่าวถึงความเป็นศูนย์กลางของเมืองในเวทีระดับประเทศ และนายกเทศมนตรีได้ปรากฏตัวอย่างโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ ข้อเสนอของ Barber คือการรณรงค์ให้นายกเทศมนตรีเป็นผู้ที่มีบทบาทการบริหารในระดับโลก โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอใน 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวคิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเมือง ตลอดจนประวัติศาสตร์-ปรัชญาของเมืองว่าเป็น “สถานที่ที่พัฒนามนุษย์และจริยธรรม”(หน้า 40) และ “เรื่องราวของเมืองคือเรื่องราวของประชาธิปไตย”(หน้า 53) หลังจากนั้น Barber ได้ชวนถกถึงความหมายของ “เมือง” จากกรณีศึกษาต่างๆ ที่มีเมืองเป็นศูนย์กลางจากประสบการณ์มนุษย์ และอีกส่วนหนึ่งที่ Barber ต้องการนำเสนอคือประวัติการทำงานของนายกเทศมนตรีคนสำคัญ เช่น Michael Bloomberg แห่ง New York หรือ Park Won-Soon แห่ง Seoul เป็นต้น ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่นายกเทศมนตรีควรปกครองโลก ตลอดจนประสิทธิภาพที่นายกเทศมนตรีได้เคยปกครองมาแล้ว
Barber ยกตัวอย่างของการจัดการปัญหาต่างๆ โดยกลไกในระดับเมือง ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถจัดการได้จริง เช่น การรณรงค์ควบคุมการใช้ปืน การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน(C40 Cities) อันจะนำไปสู่การนำเสนอ “รัฐบาลโลก” ที่นายกเทศมนตรีมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลสำหรับ Barber คือการทำให้ระเบียบการความร่วมมือระหว่างเมืองที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งของแนวคิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่ หรือที่เรียกกันว่าแนวคิด Interdependent Cosmopolis ให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลก ทั้งนี้ Barber ยังไปไกลกว่านั้นคือการสร้างแผนแม่บทในการประชุมเครือข่ายเมืองต่างๆ ของโลก และเครือข่ายนายกเทศมนตรีอันจะนำไปสู่การตั้งเป็นสมัชชานายกเทศมนตรีต่อไป
สุดท้าย หนังสือได้ฉายภาพความเป็นไปได้ที่นายกเทศมนตรีสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับประเทศ เช่น นาย ลี กวน ยู ซึ่งถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน และล่าสุด นายโจโก วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียก็มาจากการเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโลบนเกาะชวา เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเริ่มต้นจากนายกเทศมนตรีที่เป็นผู้นำเมืองที่มีความสามารถในการบริหารจัดการเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่การก้าวเป็นผู้นำประเทศที่มีความสำคัญในระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็นแนวโน้มของ “นายกทศมนตรีที่ก้าวขึ้นมาปกครองโลก” มากขึ้น
• AUTHOR |
||
![]() |
|