เศรษฐกิจดิจิทัล: อนาคตของเศรษฐกิจเมืองในไทย
Yannik Mieruch[1] ผู้เขียน
กฤตภัค พรหมมานุวัติ[2] ผู้แปล
เศรษฐกิจเมืองในประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นได้รับการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่ปี 2009 ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง (UN Habitat, 2019) ประเทศไทยเองนั้นก็เช่นเดียวกัน ระหว่างค.ศ. 2000 และ 2020 ประชากรในเขตเมืองของประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 55% อยู่ที่ประมาณ 35.9 ล้านคน (World Bank, 2020) การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรนั้นก็สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเปอร์เซ็นต์ GDP ในพื้นที่เขตเมืองของประเทศไทยอีกด้วย นับตั้งแต่ค.ศ. 2012 ถึง ค.ศ. 2019 นั้น กรุงเทพมหานครได้มีส่วนช่วยทำให้ GDP เพิ่มขึ้นจาก 17.2% เป็น 23.7% (Office of the National Economic and Social Development Commission, 2019) ถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในเรื่องของการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในประเทศไทย กระนั้นเมืองศูนย์กลางอื่น ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต โคราช และหาดใหญ่ ก็ได้เจริญรอยตามการพัฒนาที่คล้าย ๆ กันนี้ แม้จะมีความเด่นชัดที่น้อยกว่าก็ตาม (Friend et al., 2016) ในขณะที่การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองดำเนินไปด้วยความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นและการจัดหาบริการสาธารณะที่ง่ายดาย แต่ก็มีความท้าทายมากมายต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองด้วย เช่น ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม การบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ความเปราะบางในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพชีวิตต่าง ๆ เช่น เรื่องการคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัย มลพิษในอากาศ และสุขาภิบาล (Friend et al., 2016; McKinsey&Company, 2018; UN Habitat, 2019)
ลักษณะเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจเมืองในประเทศไทยคือ มีภาคการจ้างงานนอกระบบขนาดใหญ่ การจ้างงานนอกระบบนั้นหมายถึง “งานที่ทำเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายตัวเองหรือลูกจ้างก็ตาม) ซึ่งไม่ได้มีการจดทะเบียน วางระเบียบ หรือได้รับการปกป้องทางกฎหมายหรือกรอบการกำกับดูแลใด ๆ เช่นเดียวกับงานไม่แสวงหาค่าตอบแทนที่ถูกจัดแจงโดยองค์กรทางธุรกิจต่าง ๆ ลูกจ้างนอกระบบนั้นไม่มีทั้งสัญญาจ้างงานที่มั่นคง ไม่มีสวัสดิการของลูกจ้าง ไม่มีการคุ้มครองทางสังคม หรือการรวมกลุ่มของแรงงาน” (ILO) ใน ค.ศ. 2019 การจ้างงานนอกระบบนั้นคิดเป็น 42.1% ของการจ้างงานทั้งหมดในเขตพื้นที่เมืองของประเทศไทย และคิดเป็น 28.4% เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ (Poonsab, Vanek, & Carré, 2019) แม้ว่าการจ้างงานนอกระบบส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม ทว่าบางส่วนของการจ้างงานนอกระบบที่นอกเหนือไปจากงานเกษตรกรรมก็ยังมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ส่วนสำคัญของการจ้างงานนอกระบบนั้นให้ความสนใจไปที่ภาคธุรกิจ 4 ส่วน ได้แก่ แรงงานทำงานบ้าน แรงงานธุรกิจในครัวเรือน จักรยานยนต์รับจ้างหรือแท็กซี่ และผู้ค้าในตลาด (Poonsab, Vanek, & Carré, 2019) ความไม่เป็นทางการของงานนั้นได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้ใช้แรงงาน และกลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ด้านนโยบายสังคม การพัฒนาเมือง และนโยบาย Digitalization ต่าง ๆ (การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ) เนื่องจากว่าแรงงานนอกระบบนั้นไม่มีระเบียบข้อบังคับที่เป็นทางการใด ๆ มากำกับดูแลงานของพวกเขา และพวกเขาก็ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมใด ๆ เช่นกัน ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องประสบกับการทำงานและรายได้ที่ไม่มั่นคง และที่สำคัญคือเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ผลกระทบจาก Covid-19 เป็นต้น (d'Alençon et al., 2018; Parks, Chatsuwan, & Pillai, 2020; WIEGO, 2021).
เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย
ทิศทางกระแสหลักอย่างหนึ่งของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเอง ก็คือกระบวนการ Digitalization ในด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ของสังคม งานศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า โดยทั่วไปแล้วการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมไปถึงประเทศที่เริ่มพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน (Niebel, 2018) เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีดิจิทัล บรรดาผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และนักวิชาการ ต่างได้ป่าวประกาศถึงการอุบัติขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่ง “อ้างอิงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันหลากหลายที่ใช้ข้อมูลดิจิทัลและความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต” (G20 Summit China, 2016) ในประเทศไทยนั้น กระบวนการ Digitalization ที่เพิ่มขึ้นในทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดการให้ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมทางเศรษฐกิจทั้งหมดอีกด้วย ใน ค.ศ. 2018 มีการประมาณการณ์เอาไว้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนในการสร้าง GDP ถึง 17% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในค.ศ. 2027 (Thailand Board of Investment, 2019)
ในการตระหนักถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย รัฐบาลไทยได้มีการจัดเตรียมนโยบายหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในบรรดานโยบายที่โดดเด่นที่สุดนั้นประกอบไปด้วยแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Thailand Digital Plan) ใน ค.ศ. 2016 และนโยบาย Thailand 4.0 ใน ค.ศ. 2018 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (2016) ได้กล่าวว่าแผนพัฒนาดิจิทัลนั้นมีจุดประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะเวลา 10 ปี ประกอบไปด้วย “การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยกับนวัตกรรมดิจิทัล การสร้างโอกาสอันเท่าเทียมด้วยกับข้อมูลข่าวสารและบริการดิจิทัล การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) สำหรับยุคสมัยแห่งดิจิทัล และการปฏิรูประบบราชการให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ตัวนโยบายจะต้องประกอบไปด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างเช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านโครงการพัฒนาทักษะต่าง ๆ การสร้างความคิดริเริ่มในเรื่องรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และมาตรการรับรองเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมในทุกด้าน (Ministry of Information & Communication Technology, 2016) นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญภายใต้นโยบายทั้งสองที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ยังรวมไปถึงมาตรการที่เอื้อสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผ่อนปรนระเบียบการต่าง ๆ และผ่อนคลายนโยบายเกี่ยวกับการจ้างงานชาวต่างชาติสำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Thailand Board of Investment, 2019)
ผลกระทบจากการระบาดของโรค Covid – 19 ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล มาตรการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดอย่างเช่น การทำงานที่บ้าน (Work from home) และการปิดโรงเรียน ได้ผลักดันให้บรรดาผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคหันเข้าสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น รายงานจาก Google, Temasek และ Bain (2020) กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในเชิงธุรกิจหน้าใหม่ ๆ ถึง 30% ซึ่งในจำนวนนี้มี 95% ที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาจะยังคงใช้งานบริการออนไลน์ต่าง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ในรายงานได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าในด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และสื่อมวลชนออนไลน์เติบโตขึ้นไปที่ 81% และ 20% ตามลำดับในปี 2019 ถึง 2020 ทว่า การเติบโตนี้ได้แลกมากับการหดตัวลงของภาคคมนาคมขนส่งและภาคการท่องเที่ยวผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ต่าง ๆ การเติบโตในภาพรวมนั้นยังคงมีนัยสำคัญและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกภายในปี 2025 ในทุกภาคส่วน สะท้อนให้เห็นว่าความมั่นใจของนักลงทุนทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่มากขึ้นด้วย (Google et al., 2020)
โอกาสและความท้าทายต่อกระบวนการ Digitalization ของเศรษฐกิจเมือง
กระบวนการ Digitalization ได้ให้โอกาสมากมายแก่เศรษฐกิจเมืองในประเทศไทย อย่างแรกสุดก็คือ กระบวนการ Digitalization นั้นจะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจเมืองและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยอย่างแน่นอน รายงานของ Deloitte (2020) ได้ให้เหตุผลว่า กระบวนการ Digitalization ในทางธุรกิจสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาค SMEs ได้ รายงานฉบับนี้ยังกล่าวต่อไปว่าชนชั้นนำทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ตระหนักถึงโอกาสทางเศรษฐกิจนี้ และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในการที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลในทางเศรษฐกิจเมืองของประเทศไทยนั้น จะต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว และในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและการเมืองด้วย (Deloitte, 2020) อันที่จริงแล้ว ในแง่ของนโยบาย Digitalization ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น อาจจะทำให้สันนิษฐานได้ว่ารัฐบาลไทยเองก็ตระหนักถึงโอกาสทางเศรษฐกิจนี้และเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้การมุ่งหน้าไปสู่การมีเศรษฐกิจแบบดิจิทัลเป็นไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนั้น ภาคธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start-up Sector) ก็เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับภาพรวมทั้งหมดของกระบวนการ Digitalization ในทางเศรษฐกิจเมืองของประเทศไทย จาก ค.ศ. 2012 ถึง ค.ศ. 2017 จำนวนของสตาร์ทอัพที่ได้รับทุนจากกลุ่มทุนต่าง ๆ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 3 บริษัทเป็นมากกว่า 90 บริษัท ในขณะที่เงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพก็เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 271.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน (Thailand Board of Investment, 2019) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็แข็งขันไปกับการสนับสนุนการเติบโตของโครงสร้างทางธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยผ่านการลงทุนและปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ (Thailand Board of Investment, 2019)
ไม่เพียงแค่การปรากฏขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการเติบโตในทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงการมีเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงเมืองต่าง ๆ ด้วย เพื่อที่จะจัดการกับความท้าทายในเรื่องการขยายตัวของเมือง รวมไปถึง พลวัตของเมือง โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง สาธารณูปโภค ความปลอดภัย ชุมชน และเศรษฐกิจ (McKinsey&Company, 2018) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่เมืองนั้น ได้ถูกสร้างเป็นกรอบคิดที่เรียกว่า “เมืองอัจฉริยะ” (Smart Cities) ซึ่งเป็นการรวมเอา “ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่าง ๆ โดยทั้งหมดมุ่งแก้ปัญหาทั่วไป และทำให้สภาพแวดล้อมในเมืองน่าอยู่ มีความยั่งยืน และก่อให้เกิดผลิตผลต่าง ๆ มากขึ้น” (McKinsey&Company, 2018, p. 2) ที่สำคัญ การใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโซลูชั่น (Smart Solution) ต่าง ๆ เพื่อการจัดการเรื่องเมืองที่ดีขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงวิธีดำเนินการแบบ “บนลงล่าง” (Top-down Approach) เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการริเริ่มจากชุมชน นักวิชาการ และภาคเอกชนอีกด้วย (McKinsey&Company, 2018) ตัวอย่างหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองของประเทศไทยด้วยวิธีดำเนินการแบบ “ล่างขึ้นบน” (Bottom-up Approach) ก็คือแอปพลิเคชัน ViaBus ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยศิษย์เก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนโดย Chula Innovation Hub และ BMTA แอปพลิเคชัน ViaBus ได้ยกระดับโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ โดยการแสดงแผนที่และเส้นทางของรถโดยสารประจำทางแต่ละคันด้วยระบบ GPS ทำให้การโดยสารรถประจำทางสะดวกสบายขึ้นและร่นระยะเวลาในการคมนาคมขนส่งอีกด้วย (ViaBus, 2020) อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่ออนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาเมืองจะมีความครอบคลุมในทุกด้าน (Deloiette, 2021) งานวิจัยบางแห่งแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้เทคโนโลยี อย่างเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยี Algorithmic decision making และเทคโนโลยีจดจำใบหน้า อาจจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อการตัดสินใจต่าง ๆ และก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวได้ (Equals Global Partnership, 2019; Feldstein, 2019; Hardesty, 2018; Lee, Resnick, & Barton, 2019)
แม้จะมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ที่มากขึ้น แต่กระบวนการ Digitalization ก็ยังคงไว้ซึ่งความท้าทายให้กับเศรษฐกิจเมืองในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำให้มั่นใจว่า การพัฒนาเมืองและกระบวนการ Digitalization มีความครอบคลุมในทุกด้าน ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งสำหรับกลุ่มคนชายขอบและกลุ่ม “บุคคลเปราะบาง” ในการที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขา ก็คือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลหมายถึงการที่ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน (ITU, 2020, 2021; Livingstone, Mascheroni, & Stoilova, 2021; Scheerder, van Deursen, & van Dijk, 2017) แม้ว่าในประเทศไทย ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งแบบผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ แต่ก็ยังมีคนอีกบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต (ITU, 2021) อีกตัวแปรที่สำคัญที่บั่นทอนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนก็คือการขาด “ทักษะทางดิจิทัล” การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและการเข้ามามีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นที่จะต้องมีทักษะหลายประการ ตั้งแต่ทักษะพื้นฐานอย่างการใช้งานสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งทักษะขั้นสูงอย่างการเขียนโปรแกรม รวมไปถึง Soft Skill ต่าง ๆ เช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการแก้ปัญหา (Coward & Fellows, 2018) งานวิจัยต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการขาดทักษะทางดิจิทัลของประชากร ดังที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2019) ได้จัดระดับความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัลโดยรวมของคนไทยไว้ที่ระดับ 6 จากทั้งหมด 9 ระดับ การวิจัยอื่น ๆ ยังได้แสดงให้เห็นว่าช่องว่างทางทักษะดิจิทัลในประเทศไทยนั้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย ดังที่ Siddoo, Sawattawee, Janchai, and Thinnukool (2019) พบว่าความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นไม่ตรงกับความสามารถของผู้สำเร็จการศึกษาด้านไอที ในขณะที่การสำรวจชนชั้นนำและนายจ้างในภาคอุตสาหกรรมโดย Deloitte (2020) พบว่าในปัจจุบัน ระดับทักษะทางดิจิทัลของพนักงานเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการประสบความสำเร็จ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า บรรดาคนชายขอบทั้งหลาย เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานต่างด้าว หรือแรงงานสตรี มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากช่องว่างทางดิจิทัล และช่องโหว่ของทักษะทางดิจิทัล ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่คนเหล่านี้จะถูกละเลยจากกระบวนการ Digitalization ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (GSMA, 2019; Robinson et al., 2015; Stiller & Trkulja, 2018)
นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ที่บ่อนทำลายศักยภาพของคนบางกลุ่มในทางเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ตัวของกระบวนการ Digitalization เองก็มีผลเสียโดยตรงเช่นเดียวกัน จากสถานการณ์การระบาดของ Covid – 19 บริษัทอย่าง Grab, Food Panda, Line Man, GoJek หรือ Lalamove ได้ทำให้รูปแบบของธุรกิจบริการส่งอาหารและบริการรถโดยสารในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่บริการเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคจำนวนมาก มันกลับส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรถโดยสารแบบดั้งเดิม เช่น วินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ ก่อเกิดข้อกังขาต่อแพลตฟอร์มด้านแรงงานและร้านอาหารต่าง ๆ มากขึ้น การประท้วงและการกระทบกระทั่งกันในบางครั้งระหว่างวิ-นมอเตอร์ไซค์และแรงงานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่า แรงงานนอกระบบเหล่านี้ได้รับผลเสียจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบรรดาบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต่าง ๆ นอกจากนี้บรรดา “ไรเดอร์” ที่ทำงานให้กับบริษัทแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ได้รับสถานะการจ้างงานที่เป็นทางการ และต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Teerakowitkajorn & Tularak, 2020) แม้ว่าจะไม่มีงานวิจัยที่ครอบคลุมเกี่ยวกับผลกระทบของแพลตฟอร์มที่มีต่อร้านอาหารขนาดเล็ก แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่งชี้ว่า การพึ่งพาแพลตฟอร์มทำให้เกิดความตึงเครียดต่อความอยู่รอดในทางการเงินของร้านอาหารขนาดเล็กและร้านอาหารข้างทางหรือบ้านที่รับสั่งทำอาหาร ฯลฯ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่สูงนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ผลการค้นคว้าทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเป็นทิศทางแห่งอนาคตของเศรษฐกิจเมืองในประเทศไทย เป็นความจริงที่ยอมรับกันโดยผู้กำหนดนโยบายและภาคเอกชน กระบวนการDigitalizationของเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ให้ศักยภาพต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และเพื่อจัดการกับความท้าทายของการขยายตัวของเมือง รัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อให้แน่ใจว่าศักยภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริง อย่างไรก็ตาม กระบวนการDigitalization ได้นำมาซึ่งความท้าทาย ความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างครอบคลุมในทุกด้าน และผลกระทบด้านลบต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะทางดิจิทัล ได้ละทิ้งกลุ่มบุคคลเปราะบางเอาไว้เบื้องหลัง ทั้งนี้ในบริบทของเศรษฐกิจเมืองของประเทศไทยนั้น กลุ่มบุคคลเปราะบางกลุ่มหนึ่งที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือแรงงานนอกระบบ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในภาพรวมของการจ้างงานทั้งหมด เมื่อพิจารณาจากผลการค้นคว้าเหล่านี้ ทำให้พบว่ามีประเด็นที่มีความน่าสนใจสำหรับการค้นคว้าวิจัยต่อไปในอนาคต เพื่อที่จะสามารถนำมาซึ่งข้อมูลเชิงลึกอันมีค่า และแจ้งให้ผู้กำหนดนโยบายได้รับทราบถึงข้อมูลดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอเสนอให้พิจารณาทำวิจัยในเชิงลึก4ประเด็น ได้แก่1.ประเด็นเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities)2.ทักษะทางดิจิทัล(Digital Skills) 3.นโยบายของรัฐ และ4.เศรษฐกิจเมืองที่ครอบคลุมในทุกด้าน (Inclusive Urban Development)
[1] นักศึกษาปริญญาเอกของ School of Global Studies - GSSE Program, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] ผู้ช่วยวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง
อ้างอิง
Coward, C., & Fellows, M. (2018). Digital Skills Toolkit. Retrieved fromhttps://www.itu.int/en/ITU-D/DigitalInclusion/Documents/ITU%20Digital%20Skills%20Toolkit.pdf
d'Alençon, P. A., Smith, H., Andrés, E., Cabrera, C., Fokdal, J., Lombard, M., . . . Spire, A.(2018). Interrogating informality: Conceptualisations, practices and policies in the light of the New Urban Agenda. Habitat International, 75(May 2018), 59-66.doi:10.1016/j.habitatint.2018.04.007
Deloiette. (2021). Global Technology Governance Report 2021.
Deloitte. (2020). The Thailand Digital Transformation Survey Report 2020. Retrieved fromhttps://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/th/Documents/technology/th-techthe-thailand-digital-transformation-report.pdf
Equals Global Partnership. (2019). I'd blush if I could: closing gender divides in digital skills through education. Retrieved from https://2b37021f-0f4a-4640-8352 0a3c1b7c2aab.filesusr.com/ugd/04bfff_06ba0716e0604f51a40b4474d4829ba8.pdf
Feldstein, S. (2019). The global expansion of AI surveillance. Retrieved from https://carnegieendowment.org/files/WP-Feldstein-AISurveillance_final1.pdf
Friend, R., Choosuk, C., Hutanuwatr, K., Inmuong, Y., Kittitornkool, J., & Lambregts, B.(2016) Urbanising Thailand -Implications for Climate Vulnerability Assessments. In,
Asian Cities Climate Resilience Working Paper Series.G20 Summit China. (2016). G20 Digital Economy Development and Cooperation Initiative. Retrieved from https://www.mofa.go.jp/files/000185874.pdf
Google, Temasek, & Bain. (2020). e-Conomy SEA 2020. Retrieved from https://storage.googleapis.com/gweb-economy-sea.appspot.com/assets/pdf/eConomy_SEA_2020_Report.pdf
GSMA. (2019). Connected Women: The Mobile Gender Gap Report 2019. Retrieved fromhttps://www.gsma.com/mobilefordevelopment/wp-content/uploads/2019/03/GSMAConnected-Women-The-Mobile-Gender-Gap-Report-2019.pdf
Hardesty, L. (2018). Study finds gender and skin-type bias in commercial artificial-intelligence systems. Retrieved from https://news.mit.edu/2018/study-finds-gender-skin-type-biasartificial-intelligence-systems-0212
ILO. Thesaurus: Informal Employment. Retrieved from https://metadata.ilo.org/thesaurus/936921656.html
ITU. (2020). The affordability of ICT services 2020. Retrieved from https://www.itu.int/en/ITUD/Statistics/Documents/publications/prices2020/ITU_A4AI_Price_Briefing_2020.pdf
ITU. (2021). Digital Trends in Asia and the Pacific 2021. Retrieved from https://www.itu.int/en/myitu/Publications/2021/03/08/09/13/Digital-Trends-in-AsiaPacific-2021
Lee, N. T., Resnick, P., & Barton, G. (2019). Algorithmic bias detection and mitigation: Best practices and policies to reduce consumer harms. Retrieved from https://www.brookings.edu/research/algorithmic-bias-detection-and-mitigation-bestpractices-and-policies-to-reduce-consumer-harms/
Livingstone, S., Mascheroni, G., & Stoilova, M. (2021). The outcomes of gaining digital skills for young people’s lives and wellbeing: A systematic evidence review. New Media & Society, 14614448211043189. doi:10.1177/14614448211043189
McKinsey&Company. (2018). Smart Cities in Southeast Asia. Retrieved from https://www.mckinsey.com/~/media/McKinsey/Business%20Functions/Operations/Our%20Insights/Smart%20cities%20in%20Southeast%20Asia/MGI-Smart-Cities-inSouthEast-Asia.PDF
Ministry of Information & Communication Technology. (2016). Digital Thailand. Retrieved from http://cio.mhesi.go.th/sites/default/files/webcontent/1/Digital%20Thailand%20pocket%20book%20EN.pdf
Niebel, T. (2018). ICT and economic growth – Comparing developing, emerging and developed countries. World Development, 104, 197-211.doi:https://doi.org/10.1016/j.worlddev.2017.11.024
Office of the National Digital Economy and Society Commission. (2019). Media and Information Literacy Summary Survey Report Thailand. Retrieved from Bangkok,Thailand: https://www.onde.go.th/assets/portals//files/Booklet_2.pdf
Office of the National Economic and Social Development Commission. (2019). Gross Regional and Provincial Product Chain Measure.
Parks, T., Chatsuwan, M., & Pillai, S. (2020). Enduring the Pandemic Covid-19 Impact on Thailand Livlihoods. Retrieved from https://asiafoundation.org/wpcontent/uploads/2020/09/Enduring-the-Pandemic-Covid-19-Impact-on-ThailandLivlihoods-Sept-2020.pdf
Poonsab, W., Vanek, J., & Carré, F. (2019). Informal Workers in Urban Thailand: A Statistical Snapshot. Retrieved from https://www.wiego.org/sites/default/files/publications/file/Informal%20Workers%20i n%20Urban%20Thailand%20WIEGO%20SB%2020_1.pdf
Robinson, L., Cotten, S. R., Ono, H., Quan-Haase, A., Mesch, G., Chen, W., . . . Stern, M. J. (2015). Digital inequalities and why they matter. Information, Communication & Society, 18(5), 569-582. doi:10.1080/1369118X.2015.1012532
Scheerder, A., van Deursen, A., & van Dijk, J. (2017). Determinants of Internet skills, uses and outcomes. A systematic review of the second- and third-level digital divide. Telematics and Informatics, 34(8), 1607-1624. doi:https://doi.org/10.1016/j.tele.2017.07.007
Siddoo, V., Sawattawee, J., Janchai, W., & Thinnukool, O. (2019). An exploratory study of digital workforce competency in Thailand. Heliyon, 5(5), e01723. doi:https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2019.e01723
Sopranzetti, C. (2021). Shifting informalities: Motorcycle taxis, ride-hailing apps, and urban mobility in Bangkok. Geoforum. doi:https://doi.org/10.1016/j.geoforum.2021.04.007
Stiller, J., & Trkulja, V. (2018). Assessing Digital Skills of Refugee Migrants During Job Orientation in Germany.
Teerakowitkajorn, K., & Tularak, W. (2020). New Forms of Platform Mediated Work for Ondemand Food Delivery. Retrieved from http://library.fes.de/pdffiles/bueros/thailand/18070.pdf
Thailand Board of Investment. (2019). Digital Economy Brochure. Retrieved from http://www.boi.go.th/upload/content/BOI_Digital_Economy_Brochure.pdf
UN Habitat. (2019). The Future of Asian & Pacific Cities. Retrieved from https://unhabitat.org/sites/default/files/2019/10/future_of_ap_cities_report_2019_com pressed.pdf
ViaBus. (2020). Home. Retrieved from https://www.viabus.co/
WIEGO. (2021). COVID-19 Crisis and the Informal Economy: Informal Workers in Bangkok, Thailand. Retrieved from https://www.wiego.org/sites/default/files/publications/file/WIEGO_FactSheet_Bangk ok_Final_web.pdf
World Bank. (2020). Urban population - Thailand. Retrieved from: https://data.worldbank.org/indicator/SP.URB.TOTL?locations=TH