Cities Reviews

การสร้างหลั่นล้าอีโคโนมี ด้วยการขับเคลื่อนสังคมบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรมของพื้นที่

 

เอนก  เหล่าธรรมทัศน์

 

วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นรากฐานการพัฒนาชาติ

การขับเคลื่อนสังคม สิ่งสำคัญที่ควรเลือกใช้ไม่ใช่เศรษฐกิจ ไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา สำหรับคนไทย วัฒนธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์และดีงาม แต่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมเท่าใดนัก

จริงอยู่กับคำกล่าวที่ว่า ชาตินั้นสำคัญ แต่เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม ไทยไม่เคยสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมชุมชน ส่วนความคิดที่มีต่อประเทศว่า ต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งตอกย้ำเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวนี้เพื่อป้องกันความแตกแยกมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชนเลือนหายไปมากเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดที่ไทยสามารถรวมชาติได้เป็นปึกแผ่นแล้วดังเช่นในปัจจุบัน ก็ถึงเวลาที่เราควรต้องแสวงหาวิธีในการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจเหมือนที่วัฒนธรรมชาติได้เคยสร้างเศรษฐกิจชาติมาแล้ว ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้แนวทางหรือรูปแบบหลั่นล้าอีโคโนมีได้พัฒนาไปอีกไกล

วัฒนธรรมท้องถิ่นหรือชุมชน เป็นวัฒนธรรมที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด มีเจ้าภาพชัดเจน ปัจจุบันจึงเริ่มมีแนวโน้มการแบ่งงานแบ่งพื้นที่กันทำระหว่างภาครัฐและชุมชน โดยภาครัฐดูแลวัฒนธรรมส่วนกลาง ส่วนชุมชนก็ดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่น เมื่อใดที่วัฒนธรรมชุมชนแข็งแรงพอที่จะดูแลตัวเองได้ เมื่อนั้นวัฒนธรรมส่วนกลางก็จะเปลี่ยนไป โดยรัฐจะต้องมีบทบาทในการบริหารจัดการแทนที่จะเป็นผู้ผลิตงานวัฒนธรรมเสียเอง

 

เรียนรู้การขับเคลื่อนวัฒนธรรมระดับพื้นที่  

 การขับเคลื่อนวัฒนธรรมนั้น ควรใช้พื้นที่เป็นหน่วยในการทำงาน เช่น ใช้เทศบาล ใช้ประชาคม ใช้ทุน ใช้ศิลปิน แต่ที่ผ่านมา มีปัญหาอุปสรรค คือ

  • คนกลุ่มนี้ทำงานได้น้อย ไม่มีงบ เพราะคนพื้นที่ที่จะขอให้จัดสรรงบประมาณลงมาได้ยาก
  • กรม กระทรวง กลับมีงบลงไปที่พื้นที่มาก แต่ไม่มีคนทำงาน
  • ดังนั้น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในพื้นที่กับกรม กระทรวงจึงมีน้อย

ข้อเสนอทางออก

  • ต้องสามารถเชื่อมโยงกลุ่มคนเหล่านี้ให้ได้
  • ทำให้คนในพื้นที่มีกำลังใจจริงๆ เนื่องจากคนในพื้นที่มีศักยภาพที่จะทำเองได้อยู่แล้ว แต่ระบบที่มีอยู่ออกแบบให้เขาทำอะไรได้น้อย หรือไม่ค่อยได้ เพราะคนให้เงินก็อีกคนหนึ่ง คนที่ทำก็อีกคนหนึ่ง

 

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมให้สำเร็จ

 หนึ่ง   ต้องอาศัยผู้ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูล เคยให้ ต้องเป็นคนที่ใช้การให้ก่อน ใช้ความเป็นคนไทยที่มีความเอื้อเฟื้อ จึงจะทำให้คนอื่นอยากเข้ามาช่วย ซึ่งคิดสวนทางกับการทำธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นชัดๆ ว่าจะเอา แต่ถ้าทำงานวัฒนธรรมจะเป็นการให้ ให้ไปมากๆ เขาก็คืนกลับ บางทีคืนเป็นทบเท่าทวีคูณ

อง  ต้องทำเป็นกระแส และคำนึงถึงผลงานและกระบวนการ ซึ่งภาครัฐชอบทำแต่กระแส ไม่ได้ไปดูผลงาน  ฉะนั้น ถ้าเราทำงานให้มีผลงานแล้วจะต้องมีกระแสด้วย ถ้าไม่มีกระแส ภาครัฐไทยจะมองไม่เห็น จึงต้องทำสองอย่าง คือ หนึ่ง ทำให้เห็นผลงาน ลึกๆ คิดให้ไกล สอง ทำให้เป็นกระแส ให้บทบาทให้หน้าตากับทุกคน  ไม่ทำงานเอาหน้า เปรียบได้กับเป็นเด็กล้างถ้วยล้างชามอยู่หลังร้าน เพราะคนส่วนใหญ่ชอบทำงานเอาหน้า  ชอบโผล่ไปงานต่างๆ แต่งานที่อยู่ข้างหลังจริงๆ เราไม่ค่อยทำ

         

  วัฒนธรรมท้องถิ่นรวมคนได้มาก

โครงการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชุมชน เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งสิ้น ไม่ใช่วัฒนธรรมชาติ แต่ที่พวกเราถูกสั่งสอนมา เรามักเข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมชาติอยู่นั่นแหละ เพราะคำว่า “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ของเรามันผิวเผินมาก และไปเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นในแง่ที่เป็นส่วนย่อส่วนย่อยของชาติเท่านั้น เรามักเข้าใจว่าถ้าเรารู้จักวัฒนธรรมชาติ เราก็จะรู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่นแน่ๆ จริงๆ แล้วสองเรื่องนี้มันคนละเรื่อง

วัฒนธรรมที่รวมคนให้ทำอะไรได้เยอะๆ ไม่ใช่วัฒนธรรมชาติ ต้องเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะวัฒนธรรมชาติจริงๆ  อ่อนแอ  เพิ่งจะสร้างเมื่อ 80 ปีหลังมานี้เอง วัฒนธรรมท้องถิ่นต่างหากที่เป็นของจริง เช่น อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดพิธีแห่ต้อนรับ มีดนตรีพื้นเมือง มีเสียงกลอง เสียงระฆัง สะท้อนให้เห็นว่า ล้านนายังไม่ตาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมชาติก็จำเป็นต้องสร้าง แต่ภายในระยะเวลา 80 ปี มันยังสร้างได้น้อย  วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราคิดว่าคงถูกลืมเลือนไปแล้วนั้น ที่จริงไม่ได้เลือนไป และฟื้นได้เร็วมาก ภาคเหนือ อาจเรียกได้ว่าเกิด ล้านนาเรเนซองส์ เช่น วัดร่องขุ่น วัดร่องเสือเต้น เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เชียงราย ที่ลำปางก็มี ลำพูนก็มี น่านก็มี  เป็นกระบวนการของคนรุ่นใหม่ที่กลับไปใช้วัฒนธรรมศิลปะแบบล้านนา และทำได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีโรงเรียนช่างมาสอน ถ้ามีโรงเรียนช่างขึ้นมา อาจทำให้ล้านนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมหาศาลก็ได้

 ส่วนภาครัฐไทยเป็นรัฐอีเวนท์ ชอบฮูลาฮูบ ชอบกระแส ก็ปล่อยให้รัฐไทยทำอีเวนท์ไป สิ่งที่โครงการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนต้องทำ คือการสร้างประชาคม เพราะหากประชาคมตื่นขึ้นมา จัดการตนเองได้ จะเป็นฐานที่มั่นคงของสังคมไทย ของประเทศไทยในอนาคต ประเทศไทยมีรัฐเป็นคนจิ้ม สังคมก็สะท้อนตามแรงจิ้มของรัฐ ทั้งนี้ก็พอทำอะไรได้อยู่  แต่ไม่ยั่งยืนเท่าใดนัก ฉะนั้น การพัฒนาประเทศชาติอยู่ที่การสร้างประชาสังคมให้เข้มแข็ง มีทิศทางของตัวเอง

           

วัฒนธรรมชาติสร้างเศรษฐกิจชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น

 โดยทั่วไป เรามักคิดถึงวัฒนธรรมคือแบบแผนประเพณี แล้วนำมาเป็นข้อกำหนด แต่ที่สำคัญคือความภูมิใจ วัฒนธรรมคือความภาคภูมิใจ ท้องถิ่นทำไม่ได้ถ้าไม่มีความภูมิใจในท้องถิ่น จังหวัดทำไม่ได้ถ้าไม่มีความภูมิใจของจังหวัด เช่น อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เขาภูมิใจในฐานะที่เป็นส่วนย่อส่วนย่อยของประเทศ ภูมิใจเถินเพราะเถินเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ฉะนั้น เราในฐานะนักวิชาการ นักปฏิบัติ เรายังมีเหมืองทองให้ขุดอีกมาก อย่าไปมองแค่ประเทศไทย

ปัจจุบัน วัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชนถูกทำให้เลือนหายไปมาก  เช่น ดนตรีไทยก็กลายเป็นดนตรีเวอร์ชันเดียว คือเวอร์ชันภาคกลาง ในขณะดนตรีภาคเหนือเป็นดนตรีเครื่องสาย ดนตรีภาคใต้ก็ไม่เหมือนภาคกลาง ดนตรีอีสานก็ไม่เหมือนภาคใต้  ฉะนั้น ดนตรีไทยไม่ได้หมายถึง แค่วงที่ใส่ชุดราชปะแตน โจงกระเบน และตีระนาดเท่านั้น แต่วัฒนธรรมชาติทำให้เราเห็นอยู่แค่แบบเดียว การแต่งกายก็เช่นกัน ทำไมเราไม่สนับสนุนให้คนแต่งกายชุดท้องถิ่น เช่น จังหวัดแพร่ให้แต่งชุดม่อฮ่อม เศรษฐกิจแพร่ก็จะดีขึ้น เป็นต้น

วัฒนธรรมชาติ ทำให้เกิดเศรษฐกิจวัฒนธรรมชาติแล้ว เราต้องมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เราไปดูผ้าหมักโคลนที่อำเภอศรีสัชนาลัย ถ้าเรากำหนดว่าสามสี่จังหวัดเป็นวัฒนธรรมสุโขทัยด้วยกันหมด ต้องใส่ผ้าหมักโคลน เศรษฐกิจก็จะเปลี่ยน ที่ผ่านมา  เราเคยชินกับวัฒนธรรมชาติ อย่างเครื่องแต่งกายชุดนักเรียนที่เหมือนกันหมด ไม่แตกต่างกันไปแต่ละภาค เพราะเรากลัวว่า ถ้าหลากหลายจะทำให้แตกแยก ในความเป็นจริงเราต้องรู้จักใช้ความแตกต่าง

ในทางหลักการ ถ้ามีตั้งแต่สี่คน (อาจจะสุดขั้วไป) จนถึงสี่ห้าพันคนในกลุ่มทำอะไรที่คล้ายกันก็เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งได้ ฉะนั้น เราต้องทำวัฒนธรรมให้หลากหลาย แล้วมันจะผสมปนเป มันจะอุดมสมบูรณ์เอง ผสมพันธุ์ข้ามวัฒนธรรม ทำให้หลั่นล้าอีโคโนมีไม่ตาย

 

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำมากขึ้นคือ การปลูกฝังวิธีคิดให้คนไทยได้มีความเข้าใจว่า วัฒนธรรมคือความภาคภูมิใจ ท้องถิ่นคือความภาคภูมิใจ วัฒนธรรมท้องถิ่นจะพัฒนาไม่ได้หากคนไม่มีความภูมิใจในท้องถิ่น ที่ผ่านมา เราภูมิใจในท้องถิ่นของเราก็เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ให้คนไทยมีความเป็นท้องถิ่นนิยมมากขึ้น

 

 

 

• AUTHOR

 


ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

 

Related Posts