Cities Reviews

กำเนิดแนวคิด Smart Cities

 

ยุวดี  คาดการณ์ไกล

 

แนวคิด Smart City กำเนิดขึ้นเมื่อครั้งทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลกใน ค.ศ. 2008 ในช่วงดังกล่าวระหว่าง ค.ศ. 2008-2009 เมืองหลายแห่งต่างตระหนักดีว่า เมืองของตนกำลังอยู่ในภาวการณ์แข่งขันกับเมืองอื่นๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมืองของตนไม่เพียงแข่งขันกับเมืองข้างเคียงทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศเท่านั้น แต่.... ผลมาจากอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายที่รองรับทั่วโลก.... ทำให้เมืองต่างกำลังแข่งขันกันเองในโลก และไม่เพียงแข่งขันด้านการลงทุนและการจ้างงาน เมืองกำลังแข่งขันเพื่อดึงดูดคนรุ่น Y และรุ่น Z ผู้ซึ่งเมืองต่างคาดหวังว่า พวกเขาจะเป็นผู้ที่เข้ามาพัฒนาจุดแข็งของเศรษฐกิจแนวใหม่ให้กับเมืองต่อไป

ความสนใจของเมืองในเรื่อง Smart City นั้นจะอยู่ที่การสร้างแบรนด์หรือภาพพจน์ของเมืองและความ สามารถของเมืองในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ หรือที่บางคนเรียกว่า ชนชั้นสร้างสรรค์ (Creative Class) เพราะโลกาภิวัฒน์สร้างโลกที่แบน ด้วยแนวคิดนี้เองจึงมีผู้นำมาประยุกต์กับอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ให้มีลักษณะเด่นพิเศษด้วยการสร้างงานที่มีคุณค่าสูงเพื่อทำให้เมืองมีเสน่ห์ดึงดูด ปรากฏการณ์นี้ในช่วงเริ่มต้นพบว่างานกระจุกรวมกันอยู่ในเมืองขนาดเล็ก

 


ประสบการณ์การริเริ่ม Smart City
 
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 2008 บริษัท IBM ได้เริ่มทำงานด้วยแนวคิด Smart City ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ได้ริเริ่มขึ้นในชื่อ Smart Planet ถัดมาในช่วงต้น ค.ศ. 2009 แนวคิดนี้เริ่มดึงดูดพลังความคิดที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก โดย IBM ประยุกต์เทคโนโลยีข้อมูลมาใช้เพื่อทำให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะขึ้น ยุทธศาสตร์การทำ Smart City ของ IBM นั้น จะเน้นไปที่การวิเคราะห์และการจัดการข้อมูล เทคโนโลยี analytical algorithms and data processing ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ข้อมูลเซ็นเซอร์จำนวนมาก
 
ส่วน Cisco ในอเมริกา ได้ริเริ่มโครงการ Connected Urban Development programme ใน ค.ศ. 2005 มาก่อน โดยทำงานกับเมืองซานฟรานซิสโก อัมสเตอร์ดัม และโซล เป็นการดำเนินการเพื่อทดลองศักยภาพของเทคโนโลยีที่ Cisco มี ในฐานะผู้สร้างเครื่องมืออุปกรณ์เครือข่าย อันเป็นความรู้ทางเทคนิคที่นำมาใช้พัฒนาเมืองให้ยั่งยืนมากขึ้น โดยได้จัดทำ Smart and Connected Communities เพื่อรองรับการค้าขายผลิตภัณฑ์และบริการ
 
ในส่วนอื่นๆ ของโลก ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และจีน เริ่มลงทุนอย่างมากในงานวิจัยและการสร้างเมือง และมีตัวอย่างมากมายที่สามารถเรียนรู้ได้ เช่น เวียนนา อาฮุซ อัมสเตอร์ดัม ไคโร ไลออน มาลากา มัลต้า the Songdo International Business District ใกล้กรุงโซล Verona และอีกหลายๆ เมืองในโลก
 
มีการคาดการณ์ว่า ใน ค.ศ. 2020 จะมีการใช้จ่ายในเทคโนโลยี Smart City สูงถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับเมืองจำนวนมากทั่วโลกที่มีความต้องการเทคโนโลยี Smart City จึงดูเหมือนมีช่องว่างจำนวนมากในเรื่องดังกล่าว ทำให้บริษัทไอทีที่สำคัญต่างกำลังมองหาช่องทางในตลาด Smart City
 
 
แง่คิด
 
การสร้าง Smart City มีประโยชน์ เนื่องจากมีความสร้างสรรค์ แต่หลายเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งในความเป็นจริง หัวใจของการสร้าง Smart City มีรากฐานมาจากความต้องการของเมืองที่ต้องการกระตุ้นและพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ดังที่กล่าวข้างต้น นักพัฒนาเมืองจำนวนมากมีความคิดในการสร้างสรรค์เมืองใหม่หรือเขตใหม่ภายในเมือง ว่าทำอย่างไรให้เมืองน่าสนใจต่อนักลงทุนเป้าหมาย มีสาธารณูปโภคอะไรที่จับต้องได้ เช่น เครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายสำหรับสาธารณะ สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะ เลนจักรยาน ทาสีตึก และอื่นๆ ท่ามกลางการพัฒนาเมืองด้วยวิธีคิดแบบนี้ จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นแฟชัน แต่เรายังทำความเข้าใจน้อยถึงสาเหตุและผลกระทบที่จะตามมา เพราะเรามักละเลยรากฐานและจิตวิญญาณของเมือง
 
 
 

• AUTHOR

 


ยุวดี  คาดการณ์ไกล

ผู้อำนวยการ  ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

Related Posts