Cities Reviews

หนังสือ “Happy City” โดย Charles Montgomery

Happy City เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 ด้วยสำนวนการเขียนในแนวการเล่าเรื่อง พาผู้อ่านเข้าไปสัมผัสสถานการณ์ของเมืองใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ความเป็นเมืองในแต่ละที่ที่ได้กล่าวถึง สิ่งที่มีร่วมกันของหลายพื้นที่คือ การเกิดขึ้นของพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่มีการวางแผนที่ดี (sprawl) ขึ้นในพื้นที่รอบๆเมือง นำมาซึ่งการจราจรที่ติดขัด มลพิษ อาชญากรรม พื้นที่เสื่อมโทรม ฯลฯ และในขณะเดียวกัน ก็มีการแสดงตัวเลขของผู้คนที่เข้ามาอาศัยในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มของภาวะดังกล่าวของเมืองที่ต้องรองรับผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามา ในเบื้องต้น Happy City ได้พาผู้อ่านตั้งคำถามพื้นฐานที่สำคัญยิ่งว่า “ความสุข” คืออะไร

หากพิจารณาความหมายของ “ความสุข (Happiness)” จะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่อาจนิยามให้อยู่ในแบบใดแบบหนึ่งได้ Happy City ตั้งคำถามถึงความสุขของชีวิตในเมืองในภาวะที่เต็มไปด้วยเสียงอึกทึกของการพัฒนาจนบางครั้งละเลยเสียงความต้องการที่แท้จริงของผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ไป การอาศัยอยู่ใน “เมือง” มีผลในเชิงจิตวิทยากับผู้คนในแง่ที่ว่า มันสามารถสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองจะดูราวกับเป็นพื้นที่ที่แสวงหา “ความสุข” ได้ยาก Happy City ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของเมืองใหญ่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ออกแบบพื้นที่ในเมืองของตนอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับทั้งความทันสมัย การหลั่งไหลของผู้คน และคุณภาพชีวิตในเมืองของผู้คนได้อย่างสมดุล เป็นการพัฒนาภายใต้ข้อจำกัดและความท้าทายที่ได้ผลออกมาเป็นแบบอย่างที่น่าอัศจรรย์ใจ

Happy City ได้ยกตัวอย่างถึงเมืองที่มีการออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่แห่งการพบปะ เช่น Vancouver ประเทศแคนาดา ที่เป็นเมือง แม้มีการขยายตัวของเมือง แต่ก็มีการให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียว พื้นที่ว่างเพื่อการดำเนินกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบของชาวเมือง ประกอบไปด้วยสวนสาธารณะ สนามกีฬา ลานอเนกประสงค์ สวนสาธารณะ Stanley Park เป็นสถานที่พักผ่อนที่ตั้งอยู่ใกล้ย่านใจกลางเมือง Vancouver มีลาน Ice skate จะจัดให้ชาวเมืองได้มาใช้บริการฟรีในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าเป็นช่วงเวลานอกเหนือไปจากนี้จะใช้ เป็นพื้นที่สำหรับจัดประชุมหรือสัมมนาของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย บริเวณโดยรอบของลานนี้ จะมีการประดับตกแต่งด้วยม้านั่งสำหรับให้ผู้คนได้มานั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ สภาพพื้นที่โดยรวมในเมือง Vancouver นั้นเอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของชาวเมืองได้อย่างหลากหลาย เช่น บริเวณชายหาดต่างๆ นั้นมีการทำกิจกรรมนันทนาการได้มากมาย อาทิ เล่นน้ำทะเล นอนอาบแดด เล่นกีฬา เป็นต้น ถนนแกรนวิลล์มีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับการเชิญชวนให้ชาวเมืองมาร้องคาราโอเกะ ซึ่งเป็นกิจกรรมสากลที่สามารถร่วมสนุกได้หลายชนชาติ มีทั้งเพลงภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน

ในทำนองเดียวกัน อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ Bogota เมืองหลวงประเทศโคลอมเบีย ผลงานของอดีตนายกเทศมนตรี Enrique Penalosa ที่เปลี่ยนวิธีการพัฒนาจากการทุ่มเงินเพื่อสร้างถนน ทางด่วน รถไฟใต้ดิน เป็นการสร้างทางสำหรับรถขนส่งสาธารณะระบบราง TransMilenio การสร้างเลนจักรยาน การออกมาตรการไม่ให้จอดรถและตั้งแผงลอยบนทางเท้า เพื่อลดความแออัดของรถยนต์ในเมือง มีพื้นที่ให้ผู้เดินเท้า ผู้ใช้บริการสาธารณะสามารถใช้พื้นที่ถนนในการสัญจรได้เท่าเทียมกับเจ้าของรถส่วนตัว นอกจากนี้ รถขนส่งสาธารณะและทางจักรยานยังถูกสร้างให้เข้าไปในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของ Bogota และเชื่อมโยงเข้ากับใจกลางของ Bogota เป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้คนได้มีโอกาสเชื่อมต่อกับสิ่งใหม่ ทั้งผู้คน อาชีพ ประสบการณ์ต่างๆ เป็นต้น

จากตัวอย่างของสองเมืองข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะว่าด้วย “ความสุข (happiness)” ใน Happy City ว่าด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คน มีพื้นที่สาธารณะที่เป็นส่วนกลาง ให้ทุกชีวิตผู้คนในเมือง สามารถใช้ร่วมกันได้ สอดคล้องกับความคิดที่ว่า “เมือง” เป็นพื้นที่ที่สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่อยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว แปลกหน้าต่อกัน แม้ว่าการมาใช้ชีวิตในเมืองจะไม่สามารถตอบสนองให้ผู้คนมั่งคั่งให้เสมอกันได้ หากแต่สามารถสร้างเมืองพื้นฐาน เช่น การออกแบบเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของพลเมือง การอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในเมืองอย่างบริการขนส่งสาธารณะ อันเป็น “ความสุข” พื้นฐานที่ผู้คนในแต่ละสังคมพึงได้รับ ก่อนที่จะต่อยอดเป็น “ความสุข” เฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่ต่างกันไป

 

 

 

• AUTHOR

 


นวลปรางค์ ขัติยศ

รัฐศาสตร์บัณฑิต ภาคปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts