
ฮากิม ผูหาดา
เราได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และฟัง กิจกรรมอบรมพัฒนาแนวคิด ของเทศบาลนครยะลา โดย ดร.อรอร ภู่เจริญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ National University of Singapore ได้ให้เกียรติมาบรรยายให้ความรู้แลกเปลี่ยนทัศนคติแก่พนักงานเทศบาลนครยะลา หัวข้อ Talent and Leadership Management in Singapore และ Networks Management ณ เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดการสร้างและพัฒนา “คน” ของเทศบาลนครยะลา จากวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของนายกพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ที่เล็งเห็นว่าเมืองจะพัฒนาไปได้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า โดยกระบวนการสร้างคนตั้งแต่ภายในองค์กร และภายนอกองค์กร กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เทศบาลฯ จัดขึ้นเพื่ออบรมปลูกผังแนวคิดใหม่ๆ ให้กับบุคลากรในเทศบาลฯ เพื่อให้บุคลากรมีแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงาน โดยเนื้อหาในการบรรยายจะเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบใหม่ เพื่อให้บุคลากรมีแนวคิดหรือมีวิธีในการบริหารจัดการเมืองได้ ซึ่งสามารถสรุปเนื้อหาได้ดั้งนี้
เปลี่ยนรูปแบบการบริหารองค์กร สู่การบริหารงานแบบเครือข่าย
องค์กรต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างมากในปัจจุบันมี ซึ่งองค์กรแบบระบบราชการนั้นกำลังหมดบทบาทลง อันเนื่องมาจากการขับเคลื่อนการทำงานสาธารณะ ที่ต้องอาศัยวามรวดเร็ว เพื่อตอบสนองประชาชนที่มีความต้องการที่หลากหลาย ดังนั้น โซเชี่ยลมีเดีย อาทิ เฟสบุ๊ค ไลน์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและแก้ปัญหาดังกล่าว
เมืองโคเวนทรี (Coventry) ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว เมืองแห่งนี้ถือว่าเป็นเมืองที่มีปัญหาอาชญากรรมสูงมาก นอกจากอาชญากรรมแล้วยังมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งของเยาวชน อีกทั้งยังมีผู้คนไร้บ้านจำนวนมากอีกด้วย รัฐบาลอังกฤษแก้ไขปัญหาโดยการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ โดยให้งบประมาณเชิงเครือข่ายจากเดิมที่ให้เป็นเชิงองค์กร ด้วยการให้งบประมาณเชิงเครือข่ายทำให้หน่วยงานต่างๆในเมืองมีการทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การจัดเก็บขยะ มีติดไฟไซเรนคล้ายรถตำรวจ และเปลี่ยนเวลาจัดเก็บขยะให้จากปกติจากกลางวันเป็นกลางคืน ให้คนจัดเก็บขยะเป็นหูเป็นตาให้ คนจัดเก็บขยะกลายเป็นคนช่วยปกป้องอาชญากรรมของเมือง นอกจากนี้มีการตระหลักถึงแสงสว่างในยามวิกาลที่แสงสว่างให้รู้สึกปลอดภัย ทำให้พนักงานเปลี่ยนหลอดไฟ เปลี่ยนเร็วขึ้น อีกทั้งยังมีการให้อาสาสมัครคนในพื้นที่ ลาดตระเวน โดยสวมชุดเครื่องแบบที่คล้ายกับราชการ ไปลาดตระเวน อาสาสมัครเหล่านี้ทำให้ลดอาชญากรรมในท้องถิ่นอย่างมาก การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล
รูปแบบการบริหารงานภาครัฐ
ในอดีตมีการบริหารงานจากข้างบนลงล่าง แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเช่นมีการนำเอาระบบตลาดเช่น KPI เป็นต้น โดยตั้งแต่ 1980 ได้มีการนำแนวคิดการทำกำไรต้องถูกเสริมด้วยแนวคิดทางเครือข่ายด้วย นอกจากนี้แนวคิดที่ว่า คนที่ข้าราชการบริการคือ พลเมือง (Citizen) ซึ่งต่างจากในอดีตซึ่งมีแนวคิดที่ว่า คนที่ข้าราชการให้บริการคือ ราษฎร (Subject) ซึ่งเป็นคำที่มีคนถูกปกครอง และมีคนเหนือกว่าปกครอง และมีความต่างกัน พลเมืองมีหน้าที่ เป็นสมาชิกของประเทศ มีอำนาจและหน้าที่ มีสิทธิของตน ปัจจุบันจึงไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้านอีกต่อไป แนวคิดต่างๆข้างต้นเป็นแนวคิดที่สำคัญที่จะเกิดการทำงานเชิงเครือข่ายเกิดขึ้น
การทำงานเชิงเครือข่ายสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท
1. การทำงานเชิงเครือข่ายเพื่อวางนโยบาย
การสร้างสิ่งต่างๆ โดยคุยระดับนโยบายก่อนการปฏิบัติจริง ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าอย่างไรกับนโยบาย ทั้งนี้ในโลกมีเครือข่ายมากมายที่ผลักดันนโยบายอยู่ เช่น Open Government partnership ซึ่งมีสำนักงานที่กรุงวิชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลทุกระดับเปิดเผยงบประมาณอย่างเปิดเผยทำงานอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีนโยบายเมืองพี่เมืองน้อง เช่น โตเกียวกับปักกิ่ง การทำงานในระดับเมือง ที่มีการเจรจาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การแก้ปัญหามลพิษ Asian dust ที่เกิดในปักกิ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโตเกียวด้วย ทว่าในเวทีระดับประเทศระหว่างจีนและญี่ปุ่นไม่ได้มีการเจรจากัน
2. เครือข่ายระดับประเทศหรือพื้นที่
การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งทุกอย่างเมืองทำเองไม่สามารถได้ ซึ่งอาจจะต้องให้ชมรมต่างๆดูแลในแต่ละขั้นตอน หรืออาจจะต้องสร้างเครือข่ายกับสาธารสุขในพื้นที่ ร่วมกับอนามัยและโรงพยาบาลเป็นต้น กล่าวคือ การให้บริการผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงแต่บุคคลกลุ่มเดียวที่ทำ แต่ให้บริการเชิงเครือข่ายเพื่อความครอบคลุมของการให้บริการ ข้อนี้นั้นเป็นการเน้นการปฏิบัตินโยบายมากกว่าการสร้างนโยบาย โดยเน้นการปฏิบัติและการให้บริการ
3. เครือข่ายที่สลับซับซ้อน
เป็นเครือข่ายที่มีการทั้งออกนโยบายและการปฏิบัตินโยบาย ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ในการกำจัดคอรัปชั่น หลายๆคนมักมองว่าการคอรัปชั่นมักเกิดขึ้นกับภาครัฐ แต่การคอรัปชั่นนั้นเกิดทุกภาคส่วน มีผู้รับเงินก็ต้องมีผู้มอบ ดังนั้นจึงต้องเอาผิดกับทุกภาคส่วน การแก้ปัญหาของเกาหลีใต้คือมีการหุ้นเงินกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จัดตั้งองค์กรในการกำจัดคอรัปชั่นของประเทศ
สิ่งเหล่านี้ผู้บรรยายเรียกว่า "นักบริหารงานสาธารณะ" ที่ทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรตน โดยมองถึงผลประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้น
ตัวอย่างการทำงานเชิงเครือข่ายของประเทศสิงค์โปร์ในการช่วยเหลือผู้ที่เคยถูกจำคุก เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำซ้อน สิงค์โปร์มองว่าต้องตัดที่ต้นตอ จึงมีระบบที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ที่เคยกระทำผิดแล้วให้กลับมามีโอกาสใหม่ โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ กระทรวง และ NGO ต่างๆ การทำงานของกลุ่มนี้คือ ก่อนออกจากราชทัณฑ์ ๖ เดือน จะมีการฝึกทักษะวิชาชีพต่างๆให้กับผู้ต้องขัง เช่น ทักษะการสัมภาษณ์งาน การแสดงวิสัยทัศน์อย่างมั่นใจ การใช้คอมพิวเตอร์ การทำเบเกอร์รี การซักเสื้อผ้า เป็นต้น เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว ก็จะต้องทำงานร่วมกับ NGO ครอบครัว และชุมชน ภายใน ๖ เดือน เพื่อที่จะให้ตนได้มีโอกาสเข้ากลับไปทำงานใหม่ KPI ที่เกี่ยวกับโครงการเหล่านี้จึงมีความชัดเจน เช่น หางานทำได้หรือไม่ มีที่พักอาศัยหรือเปล่า มีสุขภาพเเข็งเเรงหรือไม่ ได้รับการยอมรับจากครอบครัวหรือไม่ โครงการเหล่านี้ทำให้อัตราคนทำผิดซ้ำของประเทศต่ำมาก
นอกจากนี้มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ ตัวอย่าง การจัดพื้นที่สีเขียว การทำงานเชิงเครือข่ายในการจัดพื้นที่สีเขียว โดยให้แต่ละชุมชนสร้างพื้นที่สาธารณะสร้างสวนสาธารณะสีเขียว ให้ชุมชนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ปัจจุบันทั้งเกาะสิงค์โปร์มีอยู่มากกว่า ๒๐๐ แห่ง บางที่อยู่ในโรงเรียน สถานที่เอกชน โรงพยาบาล สวนสาธารณะแต่ละที่อาสาสมัครจะเป็นคนจัดการ ปลูกพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ ต้นไม้ แม้กระทั้งผลไม้ และพืชผักสวนครัว มีการร่วมมือกับห้องสมุดต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดสวนอีกด้วย ภายใต้แนวคิดเมืองในสวน
ลักษณะประการสำคัญของนักบริหารเชิงเครือข่าย ที่ต่างจากอดีตของระบบราชการ ได้แก่
- จากที่เคยบังคับ (Enforce) ต้องเปลี่ยนเป็นการผลักดัน (Empower)
- การที่ควบคุมบังคับ (Control) บ่งชี้ว่าให้ใครทำอะไรเปลี่ยนเป็นการประสานงาน เพราะว่าทำงานในเชิงราบ
- การเปลี่ยนแปลงจากที่เน้นกฎระเบียบ (Rule-based) เป็นเน้นวัตถุประสงค์ (Objective-based) ที่สูงสุด ถ้ายึดติดก็จะไม่เกิดสัมฤทธิผล กฎระเบียบควรเป็นกฎระเบียบที่ง่ายๆ กระทำได้สะดวก และสะดวกต่อการตรวจสอบ ถ้ากฎระเบียบขัดขวางการทำงานก็เปลี่ยนกฎระเบียบ
- จากที่เป็นเจ้านาย (Principal-Agent) กลายเป็นการทำงานประสานงาน (Collaborative) อย่างแท้จริง แบบภาครัฐจ้างเอกชน กลายเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐกับเอกชน
- จากการมองแนวดิ่ง (Hierarchies) เป็นแนวราบ (Horizontal ties) ที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบันการตอบสนองประชาชนที่มีความต้องการที่หลากหลาย ต้องอาศัยวามรวดเร็ว โซเชี่ยลมีเดีย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการตอบสนองปัญหาดังกล่าว ประกอบกับแนวคิดที่ว่า คนที่ข้าราชการบริการคือ พลเมือง (Citizen) ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้านอีกต่อไป เป็นแนวคิดที่สำคัญที่จะเกิดการทำงานเชิงเครือข่ายให้เกิดขึ้น โดยการทำงานเชิงเครือข่ายสามารถแบ่งออกได้ ๓ ประเภท การทำงานเชิงเครือข่ายเพื่อวางนโยบาย เครือข่ายระดับประเทศหรือพื้นที่ และเครือข่ายที่สลับซับซ้อน ซึ่งนักบริหารงานสาธารณะ ที่ทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรตน โดยมองถึงผลประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้น ดังตัวอย่างการทำงานเชิงเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จในสิงค์โปร์ที่ช่วยเหลือผู้ที่เคยถูกจำคุก เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำซ้อน และการทำงานเชิงเครือข่ายในการจัดพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ลักษณะประการสำคัญของนักบริหารเชิงเครือข่ายก็มีความต่างจากการบริหารงานระบบราชการในอดีตอีกด้วย
• AUTHOR |
|
|
รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเนห์รู Jawaharlal Nehru University (JNU) ประเทศอินเดีย |