Cities Reviews

การออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม

    

           วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ ในงานเปิดตัวโครงการหาดใหญ่ การออกแบบเมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ สำนัก 3 ได้ร่วมกับ เทศบาลนครหาดใหญ่, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และชุมชนรอบคลองเตย ในเมืองหาดใหญ่ ภายในงานได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมมาให้ความรู้ แนวทางการทำงานของการออกแบบเมืองสุขภาวะ ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้ง we! park แพลตฟอร์มกลางของการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจารย์ยศพล มีประสบการณ์การออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมหลากหลายกรณีศึกษา พัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กในเมืองที่มีคุณภาพและยั่งยืน มีผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะร่วมกับชุมชนหลายแห่งในกทม. เช่น สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ , สวนป่าเอกมัย ,พื้นที่สาธารณะคลองสาน เป็นต้น 

ภาพที่ 1 อาจารย์ยศพล บุญสม

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง,2565

 

 กรุงเทพมหานครกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

           อาจารย์ยศพล เริ่มด้วยการพูดถึงกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นภาพชัด ว่ามีการเติบโตของเมืองไม่หยุดหย่อน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ พื้นที่สีเขียว พื้นที่ธรรมชาติของเมืองหายไปอย่างชัดเจน เพราะถูกแทนที่ด้วยคอนกรีต อาคารต่างๆ  แต่การพัฒนาเมืองเราไม่สามารถพัฒนาแบบแยกส่วนได้ เพราะทุกเรื่องสัมพันธ์กัน อย่างสิงคโปร์เวลาออกแบบเมือง เขาออกแบบให้ทุกเรื่องสัมพันธ์กัน  เพราะการเติบโตของเมืองเชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพทั้งหมด ด้วยประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้ย้ายมาอยู่ในเมืองเป็นผลให้อากาศเสีย มีมลพิษ น้ำท่วม โลกร้อน ภัยพิบัติ โรคระบาด ทุกอย่างเกิดขึ้นในเมือง กลายเป็นว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นทำให้เมืองป่วย ตัวเราก็ป่วยไปด้วย

          บริบทกรุงเทพ เป็นตัวอย่างของเมืองที่พัฒนาให้กลายเป็นเมืองของรถยนต์ ทางเท้าก็แคบมาก การเติบโตของห้างสรรพสินค้า รวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับการเติบโตของสวนสาธารณะ ถ้าหากถามคนทั่วไป คนส่วนใหญ่ก็ชอบไปห้างมากกว่าสวน เพราะเดินทางง่าย ไม่ร้อน เพราะฉะนั้นเห็นเลยว่า คนไปสวนน้อยมาก สวนเป็นบริการสาธารณะแต่ทำไมคนไปห้างได้ง่ายกว่าไปสวน หากไปดูที่สิงคโปร์ จะเห็นถึงความคิดการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกับไทย สิงคโปร์ ภาครัฐพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาให้คนเข้าถึงสวนสาธารณะให้มากที่สุด สวนสาธารณะของสิงคโปร์ไม่ใช่เป็นแค่สวนออกกำลังกาย แต่เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น มีร้านอาหาร มีพื้นที่จัดแสดง เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการปรับปรุงทุก 6 เดือน มีการเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ในสวนตลอด ต่างกับไทย ที่การพัฒนาสวนเป็นการสร้างตามเกณฑ์ที่ควรจะมีเท่านั้น สวนส่วนใหญ่ของกทม. ก็เป็นแบบที่รัฐออกแบบ คือ มีสนามหญ้า ประติมากรรม เสาไฟ ต้นไม้ เป็นต้น สวนบางแห่งประชาชนใช้น้อยมาก เพราะดูแห้งแล้ง และไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีการรักษา ยังไม่ใช่สวนที่ตอบโจทย์คนบริเวณนั้น

          ขณะนี้มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและคิดว่าเป็นโอกาสของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ คือ ภาษีที่ดิน เมื่อกฎหมายได้กำหนดว่าหากใครมีพื้นที่ว่างเปล่าและไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีที่ดิน ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ปลูกกล้วยในพื้นที่ว่าง ซึ่งหากสวนกล้วยนั้นใช้ประโยชน์จริงๆ จะดีมาก ไม่ใช่ปลูกเพียงเพราะต้องการลดหย่อนภาษี ซึ่งภาษีที่ดินจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ถือครองที่ดิน อาจมอบให้ภาครัฐและชุมชนทำสาธารณประโยชน์มากขึ้น บางรายก็อาจจะบริจาคถาวร บางรายอาจมอบให้ทำประโยชน์ 10 ปี 15 ปี ซึ่งภาครัฐสามารถนำที่ดินเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ร่วม เป็นประโยชน์สังคมได้ เป็นสวน เป็นแหล่งอาคาร คำถามคือว่า มาตรการของรัฐจะมีวิธีให้แรงจูงใจอย่างไรให้เอกชนร่วมกับรัฐทำพื้นทีว่างให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่าการปล่อยว่าง

 

การออกแบบพื้นที่สาธารณะในมิติใหม่ที่คำนึงถึงผู้คนและการมีส่วนร่วม

         มีคำสองคำที่แตกต่างกัน คือ คำว่า Space และ Place สองคำนี้หมายถึงพื้นที่เหมือนกัน แต่มีจุดต่าง คือ Place จะมีผู้คน มีกิจกรรมที่เหมาะสมกับคนที่มาใช้บริการ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ space ที่ว่างเปล่า ที่มีเพียงสถานที่ แต่ไม่มีผู้คน พื้นที่สาธารณะในเมืองของไทย หลายแห่งเป็นเพียงแค่ space ที่มีผู้คนมาใช้บริการน้อยมาก บางพื้นที่รกร้าง บางพื้นที่ไม่ได้รับการดูแล ที่ผ่านมางบประมาณมักถูกใช้ไปกับการก่อสร้าง มากกว่าการสร้างการมีส่วนร่วม คำถามสำคัญก็คือว่า เราจะออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่างไรให้คนชอบ ทำให้แนวทางการออกแบบในปัจจุบันให้ความสำคัญกับผู้คนและการมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมมีส่วนช่วยให้ 1. สาธารณชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรับรู้วัตถุประสงค์ของโครงการ 2.ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีโอกาสแบ่งปันข้อกังวลและแก้ไขปัญหาร่วมกัน 3.สร้างกระบวนการลงมติเป็นเอกฉันท์ 4. ค้นหาแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ภาพที่ 2 ความแตกต่างระหว่าง Space และ Place

ที่มา: ยศพล บุญสม,2565 

           ใครบ้างที่ควรถูกดึงให้เข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ คำตอบคือ ทุกคน เพราะสาธารณะหมายถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใดก็ตาม โดยเฉพาะกับชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยบริเวณพื้นที่นั้น ต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่ยากอย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรให้เข้าถึงการมีส่วนร่วมของทุกคน มีประเด็นสำคัญที่ต้องทำของการมีส่วนร่วมก็คือ

  1. การสื่อสาร นักออกแบบต้องพูดคุยกับชุมชนเป็นระยะเรื่องการออกแบบ ว่าชอบแบบนี้หรือไม่ ก็จะทำให้ได้พื้นที่ที่คนชอบ ซึ่งการสื่อสารแบบนี้ต้องใช้เวลา ที่สำคัญคือต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง แรกๆ คนอาจจะยังไม่สนใจ แต่นานๆ ไป เขาอาจจะเริ่มสนใจ ต้องสร้างความเชื่อมั่น บทสนทนาจะค่อยๆ ขยาย และเมื่อพวกเขาเห็นภาพและเชื่อใจก็จะเข้าร่วมออกแบบได้
  2. การเลือกใช้เครื่องมือกับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะกับช่วงวัย มีทั้งเด็ก วัยแรงงาน วัยผู้สูงอายุ การที่จะทำให้พวกเขาเข้ามาร่วมและเห็นภาพพร้อมกันนั้นจะต้องออกแบบเครื่องมือให้เหมาะสมกับพวกเขา โดยเฉพาะการใช้ภาพหรือโมเดลที่เป็นรูปธรรม (mock up test) เป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
  3. ต้องมีกระบวนการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว จะทำอย่างไรให้คนในชุมชนอยากดูและและพัฒนาต่อด้วยตนเอง มีกลไกในรูปแบบต่างๆ ให้มีคนดูแลพื้นที่ต่อไป
  4. ไม่มีสูตรสำเร็จในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ไม่จำเป็นต้องมีโมเดลที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และผู้คน รูปแบบของพื้นที่สาธารณะไม่ได้มีรูปแบบเดียว มีได้หลายแบบ จึงควรเปิดโอกาสสำหรับความคิดหรือไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าเรามีสูตรสำเร็จแบบเดียว คนที่ไม่เกี่ยวเขาจะเริ่มออกจากการมีส่วนร่วม ทุกคนต้องสามารถเข้าร่วมได้ เพราะการพัฒนาพื้นที่ ต้องอาศัย commitment ที่จะทำให้สำเร็จ ต้องเป็นความต้องการของชุมชน ไม่ใช่เป็นเรื่องของโครงการ ต้องทำให้คนในพื้นที่อยากทำ อยากร่วม อยากสร้าง เพราะเป็นประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ 

ภาพที่ 3 กระบวนการสร้างมีส่วนร่วมกับผู้สูงอายุในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ

ที่มา: ยศพล บุญสม,2565

 

การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ กับประเด็นต่างๆ ที่ต้องเห็นภาพร่วมกัน

           ประเด็นที่ 1 มีพื้นที่ว่างอีกจำนวนมากที่รอการพัฒนา  โดยปกติเวลาจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะคนมักจะมองหาพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาเป็นสวนหรือลานกีฬาขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายก็มักจะหาไม่ได้และไม่ได้พัฒนา แต่จริงๆ แล้ว หากมีการสำรวจเมืองจะเห็นได้ว่าจะเห็นได้ว่ายังมีพื้นที่ว่าง ที่คนมักมองข้าม แต่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ คือ พื้นที่ริมฝั่งคลอง ทางเดินเท้าริมถนน พื้นที่ริมทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน  พื้นที่ยังเหลืออีกจำนวนมาก พื้นที่เหล่านี้จะได้รับการพัฒนาได้ คือ ต้องหาทางออกหรือแนวทางบางอย่าง (Solution) เข้ามาจัดการพื้นที่เหล่านี้  เช่น ริมทางรถไฟ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งสร้างสรรค์ของเยาวชนได้ พื้นที่ใต้ทางด่วน สามารถพูดคุยกับชาวบ้าน แบ่งเป็นโซนกีฬา โซนผู้สูงอายุ เปลี่ยนพื้นที่เป็นลานกีฬาต่างๆ ห้องสมุดชุมชน พื้นที่จัดงานของชุมชน  เป็นต้น

            ไม่เพียงแต่พื้นที่ว่างตามทางด่วนหรือทางรถไฟ พื้นที่ที่มีการก่อสร้างอาคารหรือใช้ประโยชน์แล้ว ก็ยังสามารถจัดสรรให้เกิดประโยชน์สังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น เช่น พื้นที่ราชการก็สามารถออกแบบได้ บริเวณลานจอดรถที่ไม่ใช้งานหลังเลิกงาน หรือไม่ได้ใช้งานในวันหยุด ก็สามารถออกแบบให้คนอื่นมาใช้พื้นที่ได้ เช่น การตีเส้นให้เป็นพื้นที่กีฬา พื้นที่กิจกรรมของเด็กและเยาวชน หรือพื้นที่อาคารก็สามารถออกแบบให้กลายเป็นสวนเกษตรกรรมเล็กๆ ได้ เช่น อาคารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ใช้พื้นที่บนดาดฟ้า ออกแบบแปลงผักสาธิต พื้นที่ workshop พื้นที่สาธารณะ พื้นที่นั่งพักพนักงาน

ภาพที่ 4 การออกแบบพื้นที่ดาดฟ้าของอาคาร สสส.

ที่มา: ยศพล บุญสม,2565

 

           ประเด็นที่ 2 การทำพื้นที่สาธารณะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศ  เวลาจะพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราต้องเข้าใจอยู่เสมอว่า พื้นที่นั้นไม่ได้มีแต่เพียงคนที่อาศัยอยู่ แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่ด้วย เช่น แมลง กระรอก สิงสาราสัตว์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั่วโลกกำลังโหยหาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เมื่อเจอพื้นที่ว่างต้องรีบวิจัยถึงองค์ประกอบที่อยู่ในพื้นที่นั้น และการออกแบบต้องคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย  เพราะเป็นแหล่งสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

                  ประเด็นที่ 3 พื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องเป็นแค่พื้นที่ออกกำลังกาย การออกแบบจะต้องกำหนดเป้าหมายของการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ชัด ว่าออกแบบเพื่ออะไร โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่สีเขียว ซึ่งเวลาพูดเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่ได้มีรูปแบบคือพื้นที่ออกกำลังกายเท่านั้น แต่พื้นที่สีเขียวสามารถออกแบบเพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลายได้ พื้นที่สีเขียวคือโครงสร้างพื้นฐาน ที่ตอบโจทย์ทางสิ่งแวดล้อม สามารถออกแบบเป็นพื้นที่ดูดซับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ พื้นที่หน่วงน้ำ เช่น สวนสาธารณะบางบอน ออกแบบเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้น้ำมีที่อยู่ ชะลอน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นได้  พื้นที่สีเขียวตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและสังคม เป็นพื้นที่ให้คนออกกำลังกาย ลานกิจกรรมชุมชน ที่ให้คนมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนดีขึ้น มีสังคมที่ใหญ่ขึ้น พื้นทีสีเขียวยังตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจด้วย บางพื้นที่สามารถออกแบบให้มีตลาดนัด มีการขายของ หรือสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนได้  

ภาพที่ 5 สวนสาธารณะบางบอน ออกแบบให้เป็นพื้นที่รับน้ำ 

 ที่มา: ยศพล บุญสม,2565

 

We! Park แพลตฟอร์มกลางของการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

           เมื่อเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเทศบาลเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นเรื่องทุกคน ทุกภาคส่วน  จะทำอย่างไรให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วม แต่ไม่รู้ว่าต้องเดินไปหาใคร ทำอย่างไร ได้มีพื้นที่แบ่งปันและแลกเปลี่ยนทำงานร่วมกัน อาจารย์ยศพลจึงได้ก่อตั้ง We! Park แพลตฟอร์มกลางของการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน พัฒนาพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวร่วมกัน           

        เรามักจะเคยได้ยินตัวเลขของปริมาณพื้นที่สีเขียว แต่ปัจจุบันสิ่งที่สำคัญกว่าตัวเลขปริมาณพื้นที่สีเขียว คือ ตัวเลขของการกระจายตัวของพื้นที่สีเขียว ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่สีเขียวที่สามารถเดินทางไปได้ภายใน 400 เมตรนั้นมีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พื้นที่สีเขียวที่เหลือไกลกว่า 400 เมตร ทำให้มีความลำบากในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว กทม.เองก็หวังจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ที่ดินผืนใหญ่ในเมืองเริ่มจำกัด หาได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน เป็นไปได้ยากที่จะทำสวนขนาดใหญ่ กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้เกิดพื้นที่สีเขียวมากขึ้น คือ

        กลยุทธ์ที่ 1 การทำ Pocket Park สวนขนาดกะทัดรัด เป็นการใช้พื้นที่ว่างๆ เช่นมุมตึก ซอกซอย ไปจนถึงหลังคา ออกแบบเป็นพื้นที่ส่วนรวมให้คนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เกิดสุขภาวะกายและจิตที่ดีของในเมือง

        กลยุทธ์ที่ 2 คือ การแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน พื้นที่สีเขียวที่เคยเป็นเรื่องของภาครัฐ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องความล่าช้า จำกัดงบประมาณ มีทรัพยากรไม่ครบ แต่ภาคส่วนอื่นๆ มีทรัพยากรของตนเอง เช่น นักศึกษามีความคิด เอกชนมีเงิน ชุมชนมีความคิดความเห็น การกระจายการมีส่วนร่วมที่หลายภาคส่วนมาแชร์ทรัพยากรกัน ก็จะทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวได้ง่ายขึ้น เมื่อเวลาและทรัพยากรมีจำกัด เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ จากการรวมศูนย์กลางและทำคนเดียวทุกอย่างโดยรัฐสู่การ Sharing เพื่อเอาทรัพยากร ความรู้ มาทำให้เกิดการพัฒนาสวนที่ทุกคนสามารถมีส่วนในการสร้างคุณภาพชีวิตของเมือง ในมิติของสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้ทั้งสวนที่ตอบโจทย์และสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน ที่ benefit ต่อทุกคนกระบวนการออกแบบพื้นที่แบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการพัฒนาพื้นที่ที่ใช้เวลานานกว่าหน่วยงานเดียวออกแบบและดำเนินการ แต่หากทำสำเร็จรับประกันได้ว่า จะเป็นพื้นที่ที่คนมาใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาขาดตัวกลาง We! Park จึงเป็นตัวกลางเชื่อมคนเหล่านี้

            กระบวนการทำงานของการออกแบบพื้นที่สาธารณะแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางของ We! Park มี 3 ขั้นตอน คือ 1. การขึ้นรูป  ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำข้อมูลพื้นที่ การร่วมหาพื้นที่ที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เห็นร่วมกันในการพัฒนา และการร่วมออกแบบ ร่วมคิด ร่วมให้ความเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อได้แบบที่ตรงกับความตรงการของผู้ใช้งาน ซึ่ง We! Park ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการขึ้นรูปอย่างมาก เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม 2. ขั้นก่อสร้าง ร่วมหางบประมาณและระดมทุน ไปจนถึงการก่อสร้าง และ 3. ขั้นดูแลรักษา ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือหารูปแบบที่จะดูแลพื้นที่ต่อไป

 

ภาพที่ 6 ขั้นตอนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแบบมีส่วนร่วม

ที่มา: ยศพล บุญสม,2565

           ตัวอย่างของพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ที่ we! Park ได้เป็นตัวกลางเชื่อมหลายภาคส่วนให้ดำเนินการ มีหลายแห่งในกทม. เช่น สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ใช้พื้นที่ว่างซอยใกล้วัดหัวลำโพงเป็นพื้นที่นำร่อง  พื้นที่มีการบริจาคมาจากประชาชน มีขนาด 0.7 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park)  ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยดึงการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน เช่น กทม. สสส. โรงแรมใกล้สวน ชุมชน และนักศึกษาให้มาร่วมออกแบบ แม้ว่าพื้นที่เล็ก แต่ไม่กิจกรรมไม่ได้เล็กตามพื้นที่ เพราะมีการออกแบบให้มีกิจกรรมของเด็ก ผู้สูงอายุ มีชุมชนมาใช้เป็นประจำ เยาวชนก็มาจัดกิจกรรมตลอด มีเทศกาลดนตรี เห็นได้ว่า สวนได้กลายเป็นเครื่องมือในการดึงคนให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น

            ส่วนป่าเอกมัย ทองหล่อ มีการบริจาคที่ดิน เป็นพื้นที่เศษเหลือของพัฒนาบริเวณถนนทางข้ามแยกยกระดับ จากถนนเพชรบุรีไปถนนเอกมัย พื้นที่ประมาณ 5.6 ไร่ บริเวณรอบมีชุมชน มีคอนโด อพาร์ตเมนต์ โรงแรม เดิมก็เป็นสวนสาธารณะและลานกีฬาเอนกประสงค์ แต่ไม่มีคนใช้งานเท่าที่ควร จึงควรพัฒนาพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น กลุ่ม We! Park จึงเชิญชวนทุกคนมาร่วมคิด ร่วมออกแบบ จัดประกวดสวนป่าเอกมัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาแบบสถาปัตยกรรมร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

          พื้นที่เลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็นการพัฒนาจากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่สะพานโชฎึกจนถึงบริเวณศาลเจ้าชุมชน ออกแบบตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ คนทำงานและผู้สูงอายุ เด็กในบริเวณนั้น พัฒนาออกมาเป็นลานอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น และพื้นที่ออกกำลังกาย มีกระบวนการไปพูดคุยกับชุมชน เก็บข้อมูลเพื่อสรุปความต้องการของพื้นที่ จึงสามารถออกแบบตอบโจทย์คนหลายกลุ่ม โดยมีรูปธรรมการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สนามเด็กเล่นโชฎึก และที่นั่งที่ดัดแปลงจากแนวกระถางต้นไม้

 ภาพที่ 7 สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์

 ที่มา: ยศพล บุญสม,2565 

ภาพที่ 8 สวนชุมชนโชฎึก

 ที่มา: ยศพล บุญสม,2565  

           ตลอด 2 ปี ที่ กลุ่ม We! Park ได้ดำเนินการเป็นตัวกลางพัฒนาพื้นที่แบบมีส่วนร่วม สามารถสรุปบทเรียนเป็นโมเดลการพัฒนาพื้นที่สาธารณะได้ 5 แบบ คือ  1. ที่ดินของรัฐ ดำเนินการ ดูแลโดยภาครัฐ 2. รัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ 3. รัฐและเอกชนค่อยๆ ขยับทรัพยากรร่วมกัน 4. ที่ดินของเอกชน ดำเนินการ ดูแลโดยภาคเอกชน 5. รัฐให้เอกชนมาลงทุน 10 ปี  นอกจากนี้ยังสรุปได้ว่า พื้นที่สีเขียว มีผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เมืองสามารถปรับตัวให้อยู่ได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ และพื้นที่สีเขียวมีผลบวกในทางสังคม คือ ช่วยสร้าง Awareness Impact สร้างความเป็นส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับภาคชุมชนที่ได้เข้ามาช่วยดูแล และรู้สึกหวงแหนพื้นที่ อีกทั้งยังมีผลบวกในทางเศรษฐกิจด้วย คือ  เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะขึ้นมา จะทำให้เกิดการจ้างงานที่เกี่ยวกับสวน เช่น คนทำสวน รุกขกร คนทำเกษตรกรรม หรือพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของ เป็นต้น

กระบวนการออกแบบเมืองหาดใหญ่ 

         ในช่วงท้ายของการบรรยาย อาจารย์ยศพล ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ จากประสบการณ์ของตนเอง โดยมองว่า เมืองหาดใหญ่ถือเป็นเมืองที่ศักยภาพของพื้นที่สูงมาก เมื่อมีโอกาสได้เดินสำรวจ พบว่า หาดใหญ่เป็นเมืองคลอง เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีมัสยิด ศาลเจ้า และที่สำคัญหาดใหญ่เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย ช่วงก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสร้างกระบวนการออกแบบพื้นที่ ชักชวนคนหาดใหญ่ได้มาคุยเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ผู้คนสะท้อนว่า หาดใหญ่มีศักยภาพและขาดการเชื่อมโยงและเดินด้วยเท้าค่อนข้างยาก ไม่สะดวกเดินเพื่อเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ดังนั้น ต้องทำให้คนสามารถเดินได้ และเข้าถึงสถานที่ต่างๆ จึงได้ชักชวนคนหาดใหญ่ให้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่ สร้างกิจกรรม Hatyai Happen เดินเมืองผ่านมื้ออาหาร ชวนคนมาเดินกินตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งระหว่างการเดิน สามารถมีจุดแวะตามสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ศาลเจ้า ศูนย์เยาวชน เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมือง นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมให้เยาวชนมานำเสนอข้อมูลจากการเดินสำรวจ และหวังว่าจะได้นำความคิดเห็นต่างๆ ของชุมชนและยาวชน ไปสานต่อพัฒนาโครงการพัฒนาเมืองต่อไปได้

 ภาพที่ 9 ตัวอย่างกิจกรรม Hatyai Happens ในเมืองหาดใหญ่

ที่มา: ยศพล บุญสม,2565

 ภาพที่ 10 กิจกรรมนำเสนอข้อมูลจากการเดินสำรวจเมืองหาดใหญ่

ที่มา: ยศพล บุญสม,2565

  

#furd
#Healthycitycodesign
#โครงการหาดใหญ่การออกแบบเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม
#สุขภาวะชุมชน
 
 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts