
ณัฐธิดา เย็นบำรุง
ศตวรรษที่ 21 กล่าวได้ว่าเป็นศตวรรษของเมือง จากข้อมูลของสำนักงานประชากรแห่งสหประชาชาติในปี 2010 รายงานว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จำนวนประชากรของโลกอาศัยในเมืองเกินกว่าที่อาศัยในเขตชนบทแล้ว ความเป็นเมืองเป็นเสมือนประตูแห่งโอกาสทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา โอกาสแห่งการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองความสมดุลให้กับชีวิต
เมื่อความเป็นเมืองเป็นเสมือนพื้นที่แห่งโอกาส ความเป็นเมืองจึงผุดขึ้นทั่วโลก และทำหน้าที่ไม่แตกต่างกัน เมืองเป็นพื้นที่แห่งการค้า การแลกเปลี่ยน ความเจริญเติบโต อีกทั้งโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบันยิ่งเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว คำถามคือว่า เมื่อความเป็นเมืองทำหน้าที่ไม่แตกต่างกัน ทุกเมืองมีการเจริญเติบโต แต่เหตุใดเมืองทั่วโลก ยังมีอัตลักษณ์ หรือความแตกต่างบางอย่างที่ทำให้เมืองนั้นมีความโดดเด่น เหตุผลสำคัญนั่นก็คือ ทุกเมืองมี “วัฒนธรรม” เฉพาะของตัวเอง
วัฒนธรรมเมือง หมายถึงอะไร
วัฒนธรรม (culture) เป็นคำที่มีความหมายหลากหลายและซับซ้อนมากที่สุด ความหมายจึงกว้างมาก หากเลือกคำนิยามของ UNESCO คำว่าวัฒนธรรม (culture) มีนิยามว่า รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นมีความโดดเด่น ทั้งรูปธรรมและมีความหมายทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คน หรือสังคมนั้นผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ หรือแสดงออกผ่านวิถีชีวิต (lifestyle) ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้มักแฝงไปด้วยคุณค่า ประเพณี และความเชื่อด้วย กิจกรรมเหล่านี้มักผ่านช่วงเวลา การผสมผสาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จนเป็นเอกลักษณ์ ของแต่ละกลุ่มหรือสังคมนั้น
ทำไมเมืองต้องสนใจวัฒนธรรม
ตามรายงานของ World cities culture report in 2015 ได้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของวัฒนธรรม ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเมืองที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้คนได้พื้นที่การแสดงออกที่สร้างสรรค์ และยังมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย วัฒนธรรมมีความสำคัญต่อเมือง ดังนี้
1. ดึงดูดนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นสัดส่วนการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง งานวิจัยในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย พบว่า นักท่องเที่ยวจำนวน 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบศิลปะและวัฒนธรรมของเมือง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มาท่องเที่ยวในเมืองเวียนนา งานวิจัยในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างมูลค่าต่อปี 7.3 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ กว่า 313,900 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวแบบวัฒนธรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก
2. ดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพ ในตลาดด้านแรงงานของเมืองต่างๆ การมีงานที่ดีไม่ใช่เป็นเพียงเหตุผลเดียวที่ดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพให้เข้ามาทำงาน ผู้คนต้องการมากกว่านั้น โดยเฉพาะการมีสภาพแวดล้อมหรือวัฒนธรรมของเมืองที่เอื้อต่อการพักผ่อน เช่น การมีงานเทศกาล การมีสโมสร/ชมรม และแหล่งอาหารที่หลากหลาย เป็นต้น นอกจากจะช่วยดึงดูดผู้คนแล้ว วัฒนธรรมของเมืองยังมีผลในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานด้วย เมืองใหญ่ๆ ของโลกจึงพัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพักผ่อนของคน
3. วัฒนธรรมเป็น soft power ที่ดีที่สุด วัฒนธรรมไม่ได้ตอบโจทย์ในการแสดงออกหรือการพักผ่อนของคนเมือง แต่วัฒนธรรมยังถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในตลาดโลกด้วย ยกตัวอย่าง เช่นเมืองไต้หวัน ไต้หวันเป็นหนึ่งเมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูง และประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดคนจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากมีวัฒนธรรมและภาษาคล้ายกัน และในขณะเดียวกันเมืองไต้หวันยังสามารถเชื่อมกับตลาดนานาชาติด้วย
วัฒนธรรมเมืองของประเทศไทย
ไม่ใช่แค่เพียงเมืองใหญ่ๆ ของโลกที่ได้รับประโยชน์ที่หลากหลายจากการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเมือง เมืองของไทยหลายเมืองได้รับประโยชน์จากวัฒนธรรมของเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากวัฒนธรรมของเมืองสูงมาก มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามา MasterCard Global Destination Cities Index เผยผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2559 โดยจัดอันดับสุดยอดจากเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกทั้ง 132 ประเทศ พบว่า กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับที่ 1 ของโลก โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนถึง 21.47 ล้านคน เพราะความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและราคาถูก แต่ไม่ใช่เพียงแค่ดึงดูดนักท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครยังดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้เข้ามาศึกษา และทำงาน จากการเป็นเมืองใหญ่ และการมีวัฒนธรรมของเมืองที่หลากหลาย มีพื้นที่ในคนได้พักผ่อน เที่ยวเล่น เช่นโรงภาพยนตร์ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ รวมไปถึงการมีพื้นที่สาธารณะให้คนเข้ามาแชร์ไอเดียใหม่ๆ ร่วมกัน เช่น ร้านกาแฟ ร้านหนังสือทางเลือก หรือ office space จำนวนมาก เป็นวัฒนธรรมคนเมืองที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์อย่างดี
เมืองอื่นๆ ของไทยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวแบบเชียงใหม่ จากผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในเชียงใหม่ ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ในปี 2556 นักท่องเที่ยวจีนอยากมาท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเชียงใหม่มากที่สุด และส่วนใหญ่ใช้จ่ายในเชียงใหม่ครั้งละ 5000 -10000 หยวน หรือประมาณ 25000 – 50000 บาท นอกจากเชียงใหม่ เมืองอื่นๆ ของไทย เริ่มใช้วัฒนธรรมดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในเมืองมากขึ้น เช่น น่าน เชียงคาน ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี เป็นต้น
สถาบันชุมชน shequ มีลักษณะขององค์กรที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งจะช่วยให้ดึงผู้คนที่ว่างงาน รวมทั้งกลุ่มคนที่เกษียณอายุที่ต้องการพักผ่อน เพราะในกิจกรรมนี้ ผู้คนจะสามารถแบ่งปันความคิดด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ของชุมชน ด้วยแนวคิดของการสร้างสถาบันชุมชน shequ จะเป็น รูปแบบตัวอย่างที่ดี (Good Model) ของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วของประเทศจีนสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เช่นนี้ จะเป็นเครื่องสำคัญในการบริหารเมืองและช่วยให้สร้างความมั่นคงทางสังคมด้วย
ปัจจุบันนโยบายของเมืองส่วนใหญ่ ยังคงเน้นที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การดึงดูดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านวัฒนธรรมของเมืองน้อย หากนโยบายของเมืองมีการปรับ หรือผสมผสาน ที่จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของเมืองให้เข้าสร้างโครงพื้นฐาน เศรษฐกิจ หรือการศึกษา และมีการลงทุนทางวัฒนธรรมมากขึ้น น่าจะทำให้เมืองมีความหวังใหม่ และสร้างสมดุลให้กับชีวิตของคนในเมืองมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม (2013). พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนยุคใหม่: กรณีศึกษานักท่องเที่ยวจีนในจังหวัดเชียงใหม่.
• AUTHOR |
|
|
นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com |