Cities Reviews

ประสบการณ์การออกแบบเมืองเพื่อสังคมที่เกื้อกูลในเขตเมือง

    

           วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่  ในงานเปิดตัวโครงการหาดใหญ่ การออกแบบเมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ สำนัก 3 ได้ร่วมกับ เทศบาลนครหาดใหญ่, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และชุมชนรอบคลองเตย ในเมืองหาดใหญ่ ภายในงานได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมมาให้ความรู้แนวทางการทำงานของการออกแบบเมืองสุขภาวะ ซึ่งได้รับเกียรติจาก Mr. Ng Sek San หรือคุณเสกสรร สถาปนิกชุมชนชื่อดังของประเทศมาเลเซียมาเป็นวิทยากรเล่าประสบการณ์การออกแบบพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม

ภาพที่ 1 1 คุณ Ng Sek San สถาปนิกชาวมาเลเซีย

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง,2565

 

          คุณเสกสรรเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทการออกแบบในชื่อ Seksan Design ซึ่งมีผลงานการออกแบบที่เป็นที่ยอมรับในระดับเอเชีย คุณเสกสรรเกษียณตัวเองจากธุรกิจการออกแบบเพื่อหารายได้ (แต่ยังมีหุ้นในบริษัท) มาสู่นักออกแบบเพื่อสังคม ออกแบบแก้ไขปัญหาสังคม ปัญหาเมือง ด้วยแนวคิดการออกแบบ เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานงานสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นที่สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ราคาไม่แพง เคารพธรรมชาติ มีส่วนร่วมกับชุมชน และสะท้อนถึงภูมิปัญญาและประเพณีของท้องถิ่น จึงเป็นต้นแบบของการออกแบบของเหล่าภูมิสถาปนิกในปัจจุบัน ที่ผ่านมาเขาใช้เวลาในการทำโครงการออกแบบเพื่อสังคม (No Money Projects) ที่เชิญชวนผู้คนที่มีแนวคิดเพื่อสังคมมาทำกิจกรรมขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ไปด้วยกัน ซึ่งการออกแบบของเขานั้นส่งผลดีต่อสุขภาวะของผู้คนในเมือง ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม โดยโครงการเพื่อสังคมที่คุณเสกสรรได้ออกแบบนั้นมีหลายโครงการ แต่ในบทความนี้ขอสรุป 2 โครงการที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 

 การออกแบบพื้นที่เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางสังคมและปัญญาของเยาวชน : โครงการบ้านเด็กธัมมคีรี

          ตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่งเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางสังคมและปัญญาของเยาวชน คือ การออกแบบบ้านพักเด็กธัมมคีรี (Dhammagiri Children Home) อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน บริบทของเมืองแม่ฮ่องสอน ด้วยเมืองแม่ฮ่องสอนใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธ์อาศัยอยู่ในเมืองหลายกลุ่ม ทั้ง ม้ง ไทใหญ่ มูเซอ กะเหรี่ยง และลีซอ ในกลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้มีเด็กด้อยโอกาสอยู่ราว 50-60 คน เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า อยู่ในครอบครัวยากจน หลายคนไม่มีสัญชาติไทย ขาดแคลนปัจจัยในการใช้ชีวิตและโอกาสทางการศึกษา

          จุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่เพื่อเยาวชนในแม่ฮ่องสอน เริ่มจากพระอาจารย์ชาคิโน ภิกขุ พระป่าชาวมาเลเซีย ก่อนที่ท่านจะบวชท่านเคยเป็นช่างภาพฝีมือดี หลังจากบวชแล้วมีโอกาสเดินธุดงค์ในเมืองฮ่องสอนกว่า 17 ปี เห็นความยากลำบากของเด็กชาติพันธุ์ต่างๆ หลายครอบครัวพยายามจะฝากบุตรหลานของตนไว้ที่พระอาจารย์และคณะสงฆ์  ทำให้ใน พ.ศ. 2555 พระอาจารย์ตั้งใจที่จะสร้างบ้านสำหรับเด็กด้อยโอกาส พระอาจารย์ได้เดินทางไปกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อระดมทุนสร้างบ้านพักเด็กธัมมคีรี (Dhammagiri Children Home) โดยจัดนิทรรศการภาพถ่ายร่วมกับนักออกแบบชาวมาเลเซีย ทำให้มีงบประมาณจำนวนหนึ่งที่สามารถก่อตั้งมูลนิธิธัมมคีรี และซื้อที่ดินกว่า 20 ไร่ ขนาบข้างด้วยภูเขาและแม่น้ำ เพื่อก่อสร้างอาคารบ้านพักเด็กธัมมคีรี โดยมูลนิธิธัมมคีรีได้ร่วมกับคุณเสกสรร (Ng Sek San) ภูมิสถาปนิกชาวมาเลเซียให้มาเป็นผู้ออกแบบ อีกทั้งยังมีกลุ่มคนมีความสามารถอีกหลายคนที่มาเข้าร่วมช่วยพัฒนาโครงการออกแบบพื้นที่เพื่อเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ เช่น Chris Wong สถาปนิก, Joseph Foo กราฟิกดีไซเนอร์ จาก 3nity Design, David Lok ช่างภาพ และ Tan Yew Leong ผู้กำกับภาพยนตร์

         แนวทางการออกแบบอาคารที่พักธัมมคีรี เป็นไปเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางสังคมและปัญญาของเยาวชน ภูมิสถาปนิกอย่างคุณเสกสรร ได้ออกแบบพื้นที่ให้มีทั้งที่พักอาศัย สำนักสงฆ์ ศาลาสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม และพื้นที่ที่ที่เป็นทั้งนาข้าวและแปลงพืชผักสวนครัวต่างๆ โดยอาคารหลักอย่างอาคารบ้านพักเด็กนั้น เป็นการออกแบบอาคารหลังยาวภายใต้แนวคิดการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ อาคารยาวประมาณ 165 เมตร และกว้างประมาณ 7 เมตร รองรับเด็กจำนวน 100 คน ด้านบนอาคารเป็นสวนดาดฟ้าสำหรับการปลูกผัก ภายใต้อาคารมีการออกแบบให้มีห้องนอน พื้นที่เอนกประสงค์เพื่อใช้สำหรับทำกิจกรรมทางศาสนา ห้องทานอาหารรวม และห้องเรียนคอมพิเตอร์ ที่มีบริเวณให้ทำการบ้าน

ภาพที่ 2 อาคารบ้านพักเด็กธัมมคีรี 

 ที่มา: NG Sek San, 2565

           หากมองจากมุมสูงจะเห็นว่าอาคารนั้นมีความโค้งไปตามบริบทของพื้นที่ แทบไม่เห็นตัวอาคาร การก่อสร้างจะรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่เดิมให้น้อยที่สุด วัสดุที่ใช้ก่อสร้างนั้นก็เป็นวัสดุในท้องถิ่นที่เด็กๆ คุ้นชิน ที่สำคัญแนวทางการสร้างพื้นที่ยังใช้แนวทางการการมีส่วนร่วม ใช้แรงงานจากคนในชุมชน และการให้เด็กและเยาวชนที่จะเข้ามาอยู่ในอาคารแห่งนี้ ได้เข้ามาช่วยก่อสร้างตามกำลังและความสามารถของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ และรู้สึกเป็นเจ้าของอาคารแห่งนี้และพื้นที่โดยรอบ

 

ภาพที่ 3 การมีส่วนร่วมของผู้คนในการก่อสร้างอาคาร

ที่มา: NG Sek San, 2565 

           การออกแบบทางกายภาพนั้นได้รองรับกิจกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชน  ที่เข้ามาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิธัมมคีรี ซึ่งเป็นไปเพื่อการพัฒนาสุขภาวะทางสังคมและสุขภาวะทางปัญญา ทั้งการพัฒนาการเรียนรู้ การพัฒนาจิตใจ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น เริ่มตั้งแต่เช้า มีพื้นที่สำหรับให้เด็กสวดมนต์เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี และการนั่งสมาธิ รวมไปถึงการฟังธรรมจากพระอาจารย์ จากนั้นเด็กๆ จะเริ่มทำงานความสะอาดอาคาร ห้องนอน ทางเดิน พื้นที่ส่วนกลาง ห้องน้ำ บางส่วนถูกแบ่งไปเพื่อเตรียมอาหารเช้า เมื่อพวกเขากลับมาจากโรงเรียน เด็กๆ จะต้องมีเวรทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ ปลูกผักและผลไม้ กวาดพื้น ใบไม้ ตัดหญ้า กวาดและถูพื้น บางส่วนก็สามารถไปเที่ยวเล่นตามลำธารและภูเขา เล่นกีฬาตามลานว่าง อีกทั้งใช้เวลาในการทำการบ้าน เรียนคอมพิวเตอร์ เรียนภาษาอังกฤษ และฟังธรรมเทศนา นอกจากนี้ในยามว่าง เด็กๆ ยังมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน คือ การปลูกพืชผักสวนครัว คอยรดน้ำบนหลังคาของอาคารบ้านพักที่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสวนครัว รวมไปถึงการปลูกข้าวด้านหน้าอาคาร ผักและข้าวที่ได้มาจะนำไปประกอบอาหารเลี้ยงเด็กทุกคน

 

ภาพที่ 4 การมีส่วนร่วมทำเกษตรกรรมของเยาวชน

ที่มา: NG Sek San, 2565

ภาพที่ 5 กิจกรรมของเยาวชนเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาวะทางปัญญาและสังคม

ที่มา: NG Sek San, 2565

           ปัจจุบันบ้านเด็กธัมมคีรี ดำเนินการด้วยเงินบริจาคจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการบริจาคทั้งเสื้อผ้า สิ่งของ อุปกรณ์การเรียนและกีฬา มีหลายหน่วยงานระดมทุนจากการทำกฐินมอบให้มูลนิธิธัมมคีรีใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนหลากชาติพันธ์ในเขตเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นระยะๆ  บ้านเด็กธัมมคีรี ถือว่าเป็นผลงานหนึ่งของการออกแบบของคุณเสกสรร (Ng Sek San) ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นสถาปนิกที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสังคมได้เป็นอย่างดี การออกแบบของเขาก็มีความตระหนักถึงการอยู่มนุษย์ร่วมกันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่สอดประสานกับวิถีชีวิตและอรรถประโยชน์ใช้สอยของผู้อยู่อาศัยได้อย่างเรียบง่ายและลงตัว ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะสุขภาวะทางสังคม ให้สามารถทำงาน เล่น เรียน ร่วมกับเด็กคนอื่น สอนการมีน้ำใจ สอนการช่วยเหลือ มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำร่วมกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาวะทางปัญญา ที่พวกเขาได้พัฒนาสติปัญญาจากถูกขัดเกลาให้เข้าถึงศาสนา ฝึกสมาธิ  และซัมซับหลักคำธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ การพัฒนาพื้นที่ด้วยแนวคิดเพื่อธรรมชาติและการพัฒนามนุษย์เช่นนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของเมืองแม่ฮ่องสอน

 

การออกแบบพื้นที่เกษตรกรรมในเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาสวน Kebun-Kebun Bangsar ประเทศมาเลเซีย

           อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจของการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาวะทางสังคมของคนในเมือง เป็นกรณีศึกษาในต่างประเทศ ในประเทศมาเลเซีย กรุงกัวลาลัมเปอร์ ย่านบังซาร์ ซึ่งเป็นย่านกลางเมืองหลวง ได้มีสวนที่ชื่อว่า Kebun-Kebun Bangsar เป็นสวนสีเขียวขนาดประมาณ 20 ไร่ ซึ่งได้รับการออกแบบ สร้าง จัดการ ให้ทุน และดูแลโดยความพยายามของชุมชนและอาสาสมัคร สวนเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์สุขภาวะกายของคนในเมือง ที่ขาดแคลนการเข้าถึงอาหารปลอดสารพิษราคาถูก สวนแห่งนี้ยังเป็นเครื่องมือ เป็นพื้นที่กลางในการพัฒนาสุขภาวะทางสังคมของคนในชุมชนบริเวณนั้น รวมถึงคนในเมืองอื่นให้มีกิจกรรมทำร่วมกัน

ภาพที่ 6 สวน Kebun-Kebun Bangsar

 ที่มา: NG Sek San, 2565

 

           สวน Kebun-Kebun Bangsar แห่งนี้ เดิมทีพื้นที่ก่อนจะเป็นสวนตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็ก ถูกขนาบข้างด้วยบ้านเรือนที่เรียงรายอยู่โดยรอบ พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทิ้งร้างภายใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลมาเลเซีย ส่วนหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใต้สายไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ประโยชน์ที่ก่อสร้างใดๆ จุดเริ่มต้นการพัฒนามาจากคุณเสกสรร (Ng SekSan) ภูมิสถาปนิก เล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่นี้ คุณเสกสรรและทีมงานจึงยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่จากทางรัฐบาล เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นสวนกลางเมืองเพื่อชุมชน (Community Garden) ที่เปิดให้ทั้งชาว Bangsar คนในเมือง รวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ทำสวนและเรียนรู้ได้ แต่การเดินเรื่องเพื่อขอพัฒนาสวนแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณเสกสรรและทีมงานต้องใช้เวลากว่า 5 ปี ในการต่อสู้ในทางกฎหมายกับภาครัฐ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่คัดค้านโปรเจ็กต์นี้ ใน พ.ศ. 2556 จึงได้รับอนุญาตให้สร้างสวนแห่งนี้ขึ้น โดยได้รับเงินทุนจากการบริจาคของผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงและมูลนิธิ Think City ซึ่งเป็นองค์กรในมาเลเซียที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้เมืองต่าง ๆ เป็นมิตรกับผู้คนและน่าอยู่มากขึ้น

 

ภาพที่ 7 การพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนกลางเมือง

ที่มา: NG Sek San, 2565

           แนวทางในการออกแบบสวน Kebun-Kebun Bangsar นั้น คุณเสกสรรได้ออกแบบให้เป็นสวนเกษตรกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้ท่ามกลางเมืองขนาดใหญ่ที่หาพื้นที่สวนได้น้อยเต็มที สวนแห่งนี้มีโซนที่ถูกแบบให้มีสวนแปลงผัก ผลไม้ และสมุนไพรต่าง ๆ โซนเลี้ยงสัตว์ ที่ประกอบไปด้วยสัตว์มากมาย ได้แก่ เป็ด ห่าน ไก่ แกะ และวัว รวมไปถึงการเลี้ยงผึ้งแบบธรรมชาติ การที่พื้นที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานานส่งผลดีในเรื่องการเป็นพื้นที่ปลอดสารพิษ เช่นเดียวกับการที่พื้นที่ตั้งอยู่บนเนินก็ทำให้ทีมงานสามารถเลือกปลูกพืชพันธุ์หลากหลายชนิดที่ต้องการแสงแดดแตกต่างกันในแต่ละเวลาของวันได้ สวนแห่งนี้ยังทำระบบกรองน้ำด้วยชั้นหินที่ไหลลงมาตามพื้นที่แต่ละขั้น ทำให้สามารถทำเอาน้ำเสียจากท่อระบายน้ำด้านบนมาเป็นน้ำสะอาดที่ใช้ได้เมื่อน้ำไหลลงมายังพื้นที่ด้านล่าง

           ผลผลิตที่ปลูกไว้ของสวน Kebun-Kebun Bangsar แห่งนี้ จะถูกนำไปมอบให้แก่บรรดาคนยากไร้ คนขัดสน ไม่ว่าจะเป็น ผู้อพยพลี้ภัย เด็กกำพร้า และคนไร้บ้าน เพื่อให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสรับประทานผักและผลไม้สดที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปที่ร้าน Soup Kitchen ในกัวลาลัมเปอร์ที่ชื่อ Pitstop Café ในขณะชาวชุมชนบริเวณนั้นก็สามารถเก็บพืชผักสวนครัวไปบริโภคได้เช่นกัน

ภาพที่ 8 ผลผลิตของสวน และการจำหน่ายแจกจ่ายให้กับผู้คนในเมือง

 

ที่มา: NG Sek San, 2565

 

           ไม่เพียงแค่การปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ อันเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของคนในเมือง สวน Kebun-Kebun Bangsar ยังออกแบบพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมที่ทำร่วมกันของคนในเมือง ในชื่อกิจกรรมว่า Gotong Royong หรือ อีกความหมายหนึ่งคือ อาสาสมัคร หรือการมีส่วนร่วม ที่เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจอยากมีส่วนร่วมกิจกรรมการทำเกษตรในเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยวก็ตาม ได้เข้ามาศึกษาเรื่องการทำสวน รวมทั้งมาเป็นอาสาสมัครรดน้ำ พรวนดิน กำจัดวัชพืช และปลูกต้นไม้ กิจกรรม Gotong Royong ที่เกิดขึ้นที่สวน Kebun-Kebun Bangsar เป็นกิจกรรมที่สนุก เพราะนอกจากผู้คนจากหลาย ๆ ที่จะได้มาทำความรู้จักกัน แบ่งปันความรู้เรื่องการทำสวนกันแล้ว หลายครั้งก็ยังมีชาวบ้านอาสาทำอาหารมาเลี้ยง มีการให้ความรู้เรื่องการทำสวน และมีเด็ก ๆ จากหลายแหล่งรวมทั้งบ้านเด็กกำพร้าในละแวกใกล้เคียงมาเรียนรู้ที่มาของอาหารต่าง ๆ และมาเล่นฟุตบอล จับปลา ฯลฯ กันอย่างสนุกสนาน นอกจากนั้น สวนแห่งนี้ยังเป็นสวนที่ออกแบบไว้เพื่อคนทุกเพศทุกวัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โต๊ะและเก้าอี้ ให้ครอบครัวสามารถมานั่งปิกนิกได้ ทำให้เห็นว่าสวนแห่งนี้ตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน การใช้พื้นที่อย่างสร้างสรรค์ การเป็นพื้นที่กลางให้คนมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ช่วยในการพัฒนาสุขภาวะทางสังคมของคนในเมืองใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 9 อาสาสมัครในสวน Kebun-Kebun Bangsar

ที่มา: NG Sek San, 2565

 

           การบริหารจัดการสวนแห่งนี้ บริหารจัดการด้วยกลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด ที่เต็มใจช่วยเหลือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน อาสาสมัครแต่ละคนมีจุดแข็งของตนเอง บางคนเก่งเรื่องการปลูก บางคนช่วยดึงดูดผู้มาเยี่ยมใหม่ บางคนบริจาคเงิน เวลา และ/หรือพลังงานเพื่อรักษาสวน แล้วมีคนกลางคอยจัดการและประสานงานงานอาสาสมัคร ในเรื่องของงบประมาณที่ดูแลสวน เนื่องจากสวนถูกสร้างขึ้นอย่างไม่ได้หวังผลกำไรตอบแทน สวนแห่งนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยกับค่าบำรุงรักษาจากเงินบริจาค ทั้งจากการจัดกิจกกรรมดนตรีและ Workshop การทำปุ๋ยหมักและการทำเกษตรอินทรีย์ ผู้เข้าร่วมบางคนกลายเป็นผู้บริจาคประจำ สวนแห่งนี้ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม แต่ใช้วิธีการบริจาคจากผู้คนที่มาเยี่ยมเยียน ซึ่งการให้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคาที่ชัดเจน ทำให้ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมบริจาคให้มากกว่าการกำหนดราคาเยี่ยมชมอย่างมาก เพราะประทับใจในแนวคิดและกิจกรรมที่ได้ร่วมทำภายในสวน ในภายหลังหลังจากมีการเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย ทำให้มีอาหารสัตว์จำหน่ายให้แก่ผู้มาเยี่ยมเยียน ก็เป็นรายได้อีกทางหนึ่งในการบำรุงรักษาสวนแห่งนี้ 

           สวน Kebun-Kebun Bangsar ได้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ดีของคนเมือง เป็นสถานที่ยอดนิยมมากในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งในหมู่ชุมชนใกล้เคียง ในหมู่นักท่องเที่ยว หมู่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เข้าไปศึกษาดูงาน และสวนแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับการสังสรรค์ งานสังสรรค์ และการประชุมของคนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องเกษตรกรรม สิ่งที่ทำให้สวนแห่งนี้มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้คนได้มากมายคือ การมีที่ตั้งที่ไม่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ คนเมืองที่มีความสนใจอยากจะลองปลูกพืชผักหรือเลี้ยงปศุสัตว์เป็นกิจกรรมยามว่างก็สามารถมาทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ที่สวนแห่งนี้ สวนแห่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนเมืองอื่นๆ สร้างพื้นที่ดังกล่าวในย่านที่อยู่อาศัยของพวกเขาด้วย

ภาพที่ 10 การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บนพื้นที่ สวน Kebun-Kebun Bangsar

 ที่มา: NG Sek San, 2565

 

           อย่างไรก็ตาม สวน Kebun-Kebun Bangsar เองก็เผชิญกับความท้าทายไม่น้อยเช่นเดียวกัน เนื่องจากสวนแห่งนี้เป็นสวนชุมชน มีการบริหารจัดการโดยใช้อาสาสมัครเป็นหลัก มาและไป จึงมีการเปลี่ยนคนทำงานอยู่เป็นประจำ ทำให้ต้องรับมือการหาอาสาสมัครใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในการปลูก เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี  มีความยากในการปลูกเป็นเท่าตัว แมลงและศัตรูพืชเข้ามาทำลายเป็นระยะๆ จำเป็นต้องมีการฝึกฝนในปลูกจนกว่าจะเชี่ยวชาญ อีกเรื่องหนึ่ง สวนแห่งนี้เมื่อมีการเลี้ยงสัตว์ ก็มีชุมชนรอบข้างบางส่วนร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวนและกลิ่นจากสัตว์ ทำให้ต้องมีการย้ายสัตว์บางส่วนออกจากสวนไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมมากขึ้น ดังนั้น การจะทำให้สวน Kebun-Kebun Bangsar กลายเป็นเป็นสวนชุมชนที่ยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญคือต้องมีกลุ่มอาสาสมัครที่เต็มใจช่วยเหลือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน  และการปรับตัวกับความคิดใหม่ๆ จากผู้คนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้สวนแห่งนี้ยังสามารถดำเนินต่อไปในระยะยาว

 

          ท้ายที่สุด คุณเสกสรร ได้ให้ข้อคิดที่เกิดจากประสบการณ์การออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองที่ผ่านมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพัฒนาเมือง หรือสถาปนิกที่ออกแบบเรื่องเมืองว่า การออกแบบก่อสร้างทางกายภาพนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับการใส่ความคิดนอกกรอบหรือแนวคิดที่เต็มไปด้วยการมุ่งหวังทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปในการออกแบบ การออกแบบเมืองจึงต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่ ให้งานออกแบบเมืองของเราเต็มไปด้วยคุณค่าที่เราต้องการส่งต่อ ไม่ใช่เพียงการออกแบบตามที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น แต่ควรใส่จิตวิญญาณ ความใส่ใจ การคิดถึงผู้อื่น การอยู่กับธรรมชาติ เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งก็จะทำให้เมืองนั้นไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยแต่ป่าคอนกรีต แต่เป็นเมืองของผู้คน เมืองที่มีชีวิตนั่นเอง

 

#furd
#Healthycitycodesign
#โครงการหาดใหญ่การออกแบบเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม
#สุขภาวะชุมชน
 
 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts