
สำรวจเทรนด์สุขภาพ ปี 2019 คนเมืองปรับตัวอย่างไรให้มีสุขภาวะที่ดี
ทศพร มุ่งครอบกลาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะกว่า 650 คน จาก 50 ประเทศ ซึ่งต่างก็เป็นผู้นำในวงการการแพทย์ การท่องเที่ยว สปา ความงาม การออกกำลังกาย โภชนาการ เทคโนโลยี การเงิน และสถาปัตยกรรม รวมตัวกันเพื่อถกเถียง สรุปออกมาเป็นรายงาน “2019 Global Wellness Trends Report” อธิบายถึงแนวโน้มด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต จึงขอสรุปแนวโน้มดังกล่าว เพื่อให้คนในเมืองได้เห็นแนวทางและสร้างเป็นแง่คิดในการปรับตัวให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น มีทั้งหมด 8 แนวโน้มดังนี้
แนวโน้มที่ 1 การรีไซเคิลและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยปกติแฟชั่นมักเน้นให้คนเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ที่ผ่านมาได้สร้างขยะและเป็นมลพิษ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังเปลี่ยน เมื่อพวกเขาเริ่มหันมาวัสดุอื่นมาแทนขนสัตว์และหนังสัตว์ เน้นการออกแบบที่ไม่ทำลายสิ่งมีชีวิต และสนใจการออกแบบเสื้อผ้าเฉพาะบุคคลมากขึ้น ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการตัดชุดที่เกินความต้องการของผู้ซื้อ นอกจากนี้การรีไซเคิลเสื้อผ้าและการนำเสื้อผ้ากลับมาใส่ใหม่ที่หลายแบรนด์เริ่มหันมาทำกิจกรรมให้รางวัลแก่ผู้นำเสื้อผ้าที่ชำรุดมาให้ร้านก็กำลังเป็นที่นิยมเกือบทุกแบรนด์
แนวโน้มที่ 2 การพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง ทั่วโลกประสบปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกินส่งผลให้เมืองสกปรกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดมลพิษทางเสียงรบกวนตามชุมชนที่อยู่อาศัย เกิดความแออัดในระบบการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ทำให้หลายประเทศตระหนักได้ว่าคุณภาพของการท่องเที่ยวมีความสำคัญมากกว่าปริมาณของนักท่องเที่ยว จึงพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยการพัฒนาให้เมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวมาก่อนให้มีความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้คนอย่างเหมาะสม เพื่อลดการกระจุกตัวรวมกันของนักท่องเที่ยว พร้อมพัฒนาการเมืองใหม่เป็นการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพมากขึ้น เช่น ประเทศโครเอเชีย ตั้งใจจะพัฒนาเขตการท่องเที่ยวแบบสปาและสุขภาพขึ้นมาในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ วาราซดินสเค โทพลิเซ (Varasdinske Toplice) อันเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องน้ำพุร้อนและศูนย์การแพทย์มาอย่างยาวนาน ถือเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ในโครเอเชีย จากที่ปกติมีแต่การท่องเที่ยวเน้นทะเล หรือในกรณีของญี่ปุ่น ก็กำลังพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมสุขภาวะ เช่น เส้นทางสายมังกร (The Dragon Route) และหมู่บ้านมิซูกิ (the village of Misugi) ที่เน้นธรรมชาติบำบัดและการอาบแช่เบียร์
แนวโน้มที่ 3 การฝึกสมาธิร่วมกับผู้อื่น ที่คนเมืองกำลังสนใจมาก เช่น การฝึกในชั้นเรียนหรือในสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิในรูปแบบใหม่ ไม่ได้แยกกันฝึกสมาธิคนเดียวตามแบบดั้งเดิม ซึ่งการฝึกสมาธิร่วมกับผู้อื่นนี้ก็กำลังเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง การฝึกสมาธิยังได้เข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์และเทคโนโลยี เช่น ในการศึกษาคลื่นสมองและระบบประสาทขณะฝึกสมาธิ และในการตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจและรูปแบบที่เปลี่ยนไปของสมอง เพื่อให้แต่ละคนสามารถปรับการฝึกสมาธิของตนได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การฝึกสมาธิในปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติคนเดียวตามแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ทำร่วมกับทั้งผู้อื่น เทคโนโลยี และความรู้สาขาต่าง ๆ
แนวโน้มที่ 4 ภาวะการขาดธรรมชาติของคนเมือง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเมืองส่วนใหญ่จับจ้องอยู่กับแต่โทรศัพท์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้คนเมืองแยกตัวออกห่างจากธรรมชาติมากขึ้นจนส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ แพทย์และนักวิจัยในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และพบว่าวิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ ก็คือ “การใช้ธรรมชาติบำบัด” หรือการเพลิดเพลินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดความเครียดในจิตใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการรักษามะเร็ง โรคหัวใจ จนนำไปสู่แนวโน้มเกิดการท่องเที่ยวที่มุ่งกลับเข้าสู่ธรรมชาติตามมา อีกทั้งยังเกิดกระแสการออกแบบเมืองที่มีพื้นที่ธรรมชาติด้วย เช่น การนำสภาพแวดล้อมธรรมชาติเข้ามาไว้ภายในอาคาร (Bringing The Outdoor Environment Indoor) เพื่อช่วยให้คนเมืองที่ไม่ได้มีโอกาสออกไปซึมซับกับธรรมชาติมากนัก สามารถเข้าถึงธรรมชาติได้บ้าง และช่วยลดความเครียดจากการทำงานและทำให้มีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น ส่งผลตามมาให้เกิดผลลัพธ์ในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ ตัวเมืองต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว เช่น การพบปะพูดคุยงานกันในสวน การออกกำลังกายกลางแจ้ง และการจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้ออกไปเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งเมืองก็ควรจะมีพื้นที่ที่รองรับกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วย
แนวโน้มที่ 5 ความนิยมในกลิ่นหอม กลิ่นหอมกำลังเป็นที่นิยมและถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย เช่น การทำน้ำหอมที่มีกลิ่นเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล การทดลองใช้กลิ่นหอมในทางเภสัชกรรมและการทดลองทางการแพทย์ การปรุงอาหารโดยใช้กลิ่นแทนรสชาติ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับกลิ่น และการสร้างนวัตกรรมที่ควบคุมกลิ่น อย่างตัวกระจายน้ำหอมที่สามารถเลือกเปลี่ยนกลิ่นได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ กลิ่นหอมยังถูกนำมาใช้ในการช่วยให้ระลึกถึงความทรงจำดีๆ ใช้เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีต่อจิตใจ นอกจากนี้ เริ่มมีแนวโน้มปรากฎขึ้นบางเมืองจะนำกลิ่นมาทำงานร่วมกับ Big Data เพื่อหาพื้นที่ในเมืองที่ประชากรมีความเครียดสะสมมาก และใช้กลิ่นหอมลดความเครียดของประชากรเหล่านั้น
แบบจำลองเมืองป่าที่จะสร้างในหลิวโจว
แนวโน้มที่ 6 ประเทศจีนทำการปฏิวัติด้านสุขภาวะ จีนที่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาวะ ทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน แต่วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว รัฐบาลจีนดำเนินการออกแผนนโยบายดูแลสุขภาพ “Healthy China 2030” ขึ้นมา เพื่อปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ ปฏิรูปอุตสาหกรรมการแพทย์ จัดการสิ่งแวดล้อมเมือง เช่น การสร้างเมืองป่า (Forest City) หรือเมืองที่ผสานเข้ากับป่าและเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ไว้ที่หลิวโจว (Liuzhou) ในเขตกวางสี (Guangxi) เมืองป่านี้จะประกอบไปด้วย บ้าน และอาคารสำนักงานสูงระฟ้า ที่อยู่กันอย่างแออัดและปกคลุมไปด้วยต้นไม้ที่ช่วยซึมซับหมอกมลพิษประมาณ 4 หมื่นต้น และพืชอีกกว่า 1 ล้านต้น ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าเมืองป่านี้จะช่วยลดมลพิษของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ได้ ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายของรัฐบาลจีนเท่านั้น ที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาวะ แต่วิถีชีวิตของชนชั้นกลางจีนรุ่นใหม่เองก็เปลี่ยนไป ชนชั้นกลางของจีนจำนวนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและบริโภคอาหารออร์แกนิก นักท่องเที่ยวจีนกำลังเริ่มเปิดรับประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ต่างกับสมัยก่อนที่จะท่องเที่ยวในลักษณะของการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเป็นหลัก ซึ่งเมื่อประเทศมหาอำนาจอย่างจีนปรับตัวเรื่องสุขภาพ เราจะเห็นการเติบโตของเหล่าธุรกิจสุขภาพและแนวโน้มสุขภาพประชากรที่ดีขึ้นอีกมาก
แนวโน้มที่ 7 การกำหนดโภชนาการในแบบของตนเอง ผู้คนอาจเคยมีต้นแบบและปฏิบัติตามคนอื่นในการดูแลสุขภาพ แต่แนวโน้มในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ และการทดลองทางการแพทย์ที่ค่าใช้จ่ายน้อยลง กำลังส่งผลให้โลกเข้าสู่ในยุคที่แต่ละบุคคลสามารถกำหนดโภชนาการในแบบของตนเองได้ เช่น บริษัทอย่าง Habit และ Nutrigenomix ใช้ดีเอนเอของแต่ละบุคคลในการวิเคราะห์หาประเภทอาหารที่เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถตอบสนองความต้องการทางโภชนาการของตนเองได้
แนวโน้มที่ 8 การเตรียมตัวตายอย่างมีสติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้คนเริ่มสนใจเรื่อง การตายและการจัดการร่างกายเอื้อต่อสุขภาวะคนและสุขภาวะโลกมากขึ้น เริ่มมีการรวมกลุ่มปรึกษาพูดคุยกันเรื่องความตายผ่านทางพื้นที่ออนไลน์ที่จัดขึ้นใน 64 ประเทศ เน้นฝึกให้คนยอมรับในความตายและมองว่าความตายเป็นปกติของชีวิต และมีการฝังศพในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฝังศพโดยปล่อยให้เห็ดและต้นไม้ขึ้นจากศพเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเผาไหม้จากการเผาศพ และทำให้ศพถูกกลืนเข้าสู่ธรรมชาติได้เร็วยิ่งขึ้น
แบบจำลองเมืองป่าที่จะสร้างในหลิวโจว
แนวโน้มด้านสุขภาพในประเทศไทย
จากแนวโน้มด้านสุขภาวะของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2019 กำลังส่งผลให้เมืองทั่วโลกปรับตัวตาม เปลี่ยนแปลงเมืองให้เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของคนและของโลกมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลกให้หันมาใส่ใจกับประเด็นเรื่องสุขภาวะมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย เมื่อลองวิเคราะห์ดูแนวโน้มความสนใจด้านสุขภาพนั้น ก็เผชิญปัญหาหรือมีความสนใจปรับตัวด้านสุขภาวะไม่แตกต่างมากนักกับแนวโน้มของโลก
ประเทศไทยเองก็เผชิญกับแนวโน้มการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองไม่ต่างจากประเทศอื่น ซึ่งกระจุกอยู่เพียงแค่บางเมือง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองผ่านการประชาสัมพันธ์ให้การท่องเที่ยวเมืองรอง จัดการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งก็ช่วยกระจายนักท่องเที่ยวได้พอสมควร และช่วยให้เมืองอื่นๆ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวได้มากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ความพยายามแก้ปัญหานี้ เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่ได้มีการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างถูกสุขภาวะ จึงควรหันมาใส่ใจเรื่องการออกแบบที่เหมาะสมต่อสุขภาพคนให้มากขึ้นกว่าเพียงการกระจายนักท่องเที่ยว
ในเมืองใหญ่ของไทยอย่างกรุงเทพมหานคร คนเมืองติดโทรศัพท์และเทคโนโลยีมาก อีกทั้งพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ก็น้อย คนกรุงไม่น้อยอยู่ไกลจากพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ การออกแบบเมืองในประเทศไทยยังมีลักษณะที่แยกระหว่างพื้นที่ของอาคารกับพื้นที่ของธรรมชาติออกจากกัน ส่งผลให้คนไม่สามารถเจอกับธรรมชาติได้บ่อยนัก และอาจนำไปสู่ภาวะขาดธรรมชาติตามมา การแก้ไขปัญหาในเรื่องในไทยยังไม่เห็นเด่นชัดนัก แต่ก็มีกระแสของการออกแบบแนวใหม่ที่คำนึงสิ่งแวดล้อม เช่น Green Architecture หรือ Eco Design ซึ่งรูปธรรมยังเห็นน้อย ต่างกับในหลาย ๆ ประเทศ ที่เริ่มมีการออกแบบเมืองโดยผสานธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้างเข้าด้วยกัน (Biophillic Design) เช่น เมืองป่าในประเทศจีน
การตื่นตัวของคนเมืองในเรื่องสุขภาวะในประเทศไทย มีการตื่นตัวชัดเจน ดูได้จากกิจกรรมวิ่งที่มีมากขึ้น การเต้นแอโรบิคตามสวนสาธารณะ การบริโภคอาหารออร์แกนิกมีมากขึ้น แต่ก็เป็นเฉพาะกลุ่มอยู่ ยังไม่ใช่ค่านิยมหลักของคน สำหรับด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างการออกแบบเมืองให้ผสานเข้ากับป่านั้น ยังไม่ปรากฏในประเทศไทยเท่าใดนัก เมืองในประเทศไทยยังมักจะแยกพื้นที่ของอาคารกับพื้นที่ของธรรมชาติออกจากกัน หรือพื้นที่ของอาคารกับพื้นที่ของธรรมชาติยังไม่ผสานกันมากพอที่จะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้ อีกทั้งคนไทยก็มักจะชอบไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ห่างจากเมือง มากกว่าที่จะนำธรรมชาติลักษณะนั้นเข้ามาไว้ในเมือง เมืองในประเทศไทยจึงเป็นไปตามแนวโน้มการปฏิวัติสุขภาวะแค่บางส่วนอย่างด้านการใช้ชีวิตเท่านั้น ไม่ได้ปฏิวัติสุขภาวะกันอย่างรอบด้านเหมือนประเทศจีน
กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยยังไม่ได้มีการสร้างพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ธรรมชาติมาก เมืองในประเทศไทยยังคงเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้นำธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก การส่งเสริมให้มีการศึกษาหาพืชที่เหมาะจะปลูกในเมืองไทยก็ยังมีน้อย อีกทั้งการผังเมืองยังไม่ตอบโจทย์ที่จะส่งเสริมให้ออกแบบเมืองที่เอื้อต่อสุขภาวะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ตั้งใจให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะอย่างจริงจัง ซึ่งต่างกับที่กำลังเกิดขึ้นในหลาย ๆ เมืองทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมีหลายเมืองที่อยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งในอนาคตเมืองเหล่านี้ก็อาจจะออกแบบให้ทรัพยากรเหล่านั้นผสานเข้ากับเมือง และอาจจะพัฒนาให้เมืองมีสุขภาวะได้ อีกทั้ง ประเทศไทยก็ยังมีชุมชนเมืองหลาย ๆ ชุมชน ที่พยายามจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสุขภาวะคนและสุขภาวะเมืองของตนให้ดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนเมืองในประเทศไทยมีการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะ
หากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย หันมาสนใจสุขภาวะของคนเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเมืองที่ผสานกับธรรมชาติมากขึ้น คนเมืองในประเทศไทยก็อาจจะประสบปัญหามลพิษอย่างฝุ่น PM 2.5 ภาวะขาดธรรมชาติ ความเครียด และนักท่องเที่ยวล้นเมืองน้อยลงก็เป็นได้ คนเมืองจะมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในเมืองเพิ่มขึ้นตามมาในอนาคต ความน่าสนใจของประเทศไทยอยู่ตรงที่ หน่วยงานต่าง ๆ และคนเมืองในประเทศไทย จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อประเด็นด้านสุขภาวะเหล่านี้
ที่มาบทความ:
Global Wellness Summit. 2019 Global Wellness Trends Report. Access from: https://www.globalwellnesssummit.com/2019-global-wellness-trends/download-report/
ที่มาภาพ:
https://www.stefanoboeriarchitetti.net/en/project/liuzhou-forest-city/
• AUTHOR |
|
|
รัฐศาสตร์บัณฑิต ภาคปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |