Cities Reviews

ทฤษฎีการพัฒนาระบบเมืองในมิติประชากร

 

อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

งานวิชาการเกี่ยวกับเมืองส่วนใหญ่มักกล่าวถึงความเป็นเมือง (Urbanization) ด้วยการใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหลัก ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณจะถูกใช้เป็นเพียงหลักฐานสนับสนุนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากร ลักษณะเขตการปกครองและเศรษฐกิจเมือง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดความเป็นเมืองที่นักวิชาการหลายท่านถกเถียงกันมาเป็นเวลานับหลายทศวรรษ แต่งานเขียนชิ้นนี้ได้ให้ความสำคัญทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อหารูปแบบของการพัฒนาเมือง

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1871 เมืองมอนทริออลเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศแคนาดา จนกระทั่งปี ค.ศ.1981 อันดับเมืองที่มีประชากรมากที่สุดกลับตกเป็นของเมืองโตรอนโต แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เมืองนิวยอร์คยังคงเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นชี้ให้เห็นว่าความเป็นเมืองของมอนทริออลอาจมีการพัฒนาที่เชื่องช้ากว่านิวยอร์ค อีกประเด็นหนึ่งคือ เมื่อปี ค.ศ.1881 เมืองออนโตริโอเป็นเพียงเมืองแห่งเดียวในประเทศแคนาดาที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 100,000 คน นอกนั้นเป็นเมืองหลักที่มีจำนวนประชากรอยู่ระหว่าง 25,000-99,999 คน ซึ่งมีอยู่จำนวน 4 เมือง และมีเมืองขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 1,000-2,499 คนอีกจำนวน 98 เมือง ในปัจจุบันพบว่าผู้คนในประเทศแคนาดามากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนประชากรกระจุกตัวอยู่ในมหานคร 3 แห่ง ได้แก่ โตรอนโต มอนทริออล และแวนคูเวอร์ ด้วยเหตุนี้ Wyly (2012) จึงสนใจในการวิเคราะห์ระบบเมือง (Urban System) เพื่อศึกษาทิศทางและความสัมพันธ์ของการพัฒนาเมืองแต่ละเมืองในประเทศแคนาดา โดยมีข้อสมมติฐานว่า “เมืองที่มีจำนวนประชากรมากจะมีอยู่น้อย แต่เมืองที่มีจำนวนประชากรน้อยจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก”

ระบบเมือง (Urban System) เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหนึ่ง ๆ กับเมืองโดยรอบ กล่าวคือเมืองทุกเมืองมีความเชื่อมโยงกัน หากเมืองใดเมืองหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปตั้ง ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นมากหรือก่อให้เกิดมลพิษเป็นจำนวนมาก เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมส่งผลกระทบให้เมืองโดยรอบเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Berry, 1964) นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่มีความชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย ตามสมการแสดงขนาดประชากรของเมือง (Zipf, 1941) ดังนี้

 

จากสมการข้างต้น สามารถคำนวณจำนวนประชากรของเมือง ณ อันดับใดอันดับหนึ่งได้จากการนำจำนวนประชากรของเมืองที่มีขนาดประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศหารด้วยอันดับของเมืองนั้น ๆ เช่น ถ้าต้องการคำนวณจำนวนประชากรของเมืองที่ได้อันดับที่ 2 ในปี ค.ศ.1871 แล้วต้องนำจำนวนประชากรของเมืองที่ได้อันดับที่ 1 คือ เมืองมอนทริออล ซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 115,000 คน แล้วหารด้วยอันดับของเมืองที่ต้องการหา นั่นคือ 2 จะได้จำนวนประชากรของเมืองที่ได้อันดับที่ 2 เท่ากับ 57,500 คน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจำนวนประชากรจริงในปี ค.ศ.1871 แล้วเมืองที่ได้อันดับที่ 2 คือ เมืองควิเบก มีจำนวนประชากรประมาณ 60,000 คน จะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรจริงกับจำนวนประชากรที่ได้จากการประมาณค่ามีความใกล้เคียงกัน

ในลำดับถัดมาได้มีการใส่ฟังก์ชันลอการิทึมเข้าไป เพื่อแปลงสมการให้อยู่ในรูปของสมการเส้นตรงเป็นดังนี้

 

 

สมการนี้มีความสอดคล้องกับข้อมูลจำนวนประชากรของแต่ละเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือ เมืองที่มีขนาดประชากรใหญ่ที่สุดจะมีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงซึ่งมีความชันประมาณ  กับเมืองที่มีขนาดประชากรที่เล็กกว่า ดังนั้น หากจัดอันดับของเมืองตามจำนวนประชากรและนำข้อมูลจำนวนประชากรใส่ในรูปลอการิทึม จากนั้นใช้กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองแต่ละเมือง โดยให้แกน x แทน อันดับของเมือง และแกน y แทน ขนาดประชากร แล้วจะได้กราฟที่ลักษณะใกล้เคียงกับเส้นตรง ดังรูปที่ 1

 

รูปที่ 1 อันดับของเมืองในสหรัฐอเมริกาเรียงตามขนาดประชากร

ที่มา: Wyly (2012) “Theories of Urban System Development.”, p.4

 

จากรูป สามารถสรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

1. การที่กราฟมีลักษณะใกล้เคียงเส้นตรงนั้นแสดงถึงการเข้าสู่ดุลยภาพ (Equilibrium) หรือภาวะสมดุล (Steady State) ของระบบเมือง นอกจากนี้ หากเมืองขนาดเล็กมีการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วจะทำให้เส้นตรงมีความชันน้อยลง ในทางกลับกันหากเมืองขนาดใหญ่มีการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วจะทำให้เส้นตรงมีความชันมากขึ้น

2. การที่กราฟมีลักษณะเป็นเส้นตรงที่ไม่สมบูรณ์นั้นเกิดจากความแตกต่างของภูมิภาคหรือประเทศ รวมไปถึง “ภาวะหยุดชะงัก (interruptions)” หากข้อมูลจำนวนประชากรจริงมากกว่าจำนวนประชากรที่ประมาณค่าได้ แสดงว่าค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยว (primacy) มีความเอนเอียงสูง เมืองที่มีค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยวสูงมักเกิดจากผลกระทบภายนอก เช่น เคยถูกล่าอาณานิคม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกัน อย่างไรก็ตามแม้ความเข้มข้นทางเศรษฐกิจกับความหนาแน่นประชากรต่างนำมาสู่ซึ่งความมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน หากเมืองยิ่งมีขนาดใหญ่จะยิ่งทำให้ผลดีที่เกิดนั้นเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงตามกฎการลดน้อยถอยลงของผลได้ (diminishing returns) เนื่องจากผลประโยชน์จากการมีประสิทธิภาพจะถูกหักล้างด้วยต้นทุนของความแออัด มลพิษ และผลกระทบจากขนาดของเมืองและความหนาแน่นประชากรที่เติบโตขึ้น

เมื่อนำข้อมูลประชากรของแต่ละประเทศมาคำนวณหาค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยว โดยนำจำนวนประชากรของเมืองอันดับที่ 1 หารด้วยผลรวมของจำนวนประชากรของเมืองอันดับที่ 2 กับ 3 จะได้เมืองที่มีค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยวสูงสุดและต่ำสุด 10 อันดับ ดังตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยว (Urban Primacy)

 ที่มา: Wyly (2012) “Theories of Urban System Development.”, p.6

 

3. เมืองทุกเมืองในแต่ละประเทศสามารถมีอันดับเมืองที่สูงขึ้นหรือต่ำลงได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น อันดับเมืองในประเทศแคนาดา (ตารางที่ 2) จะพบว่าในแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงอันดับของเมืองอยู่ตลอด ส่งผลให้ทฤษฎีของ Zipf (1941) และ Berry (1964) ไม่สามารถนำมาใช้อธิบายในกรณีนี้ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทฤษฎีดังกล่าวใช้ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะถ้าหากนำข้อมูลจำนวนประชากรของเมืองที่ได้อันดับที่ 1 หารด้วยจำนวนประชากรในเมืองที่ได้อันดับที่ 10 ในปี ค.ศ.1871 และปี ค.ศ.1981 แล้วจะได้เท่ากับ 9.58 และ 9.86 ตามลำดับ

 

ตารางที่ 2 อันดับเมืองตามขนาดประชากรในประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1871-1981

ที่มา: Wyly (2012) “Theories of Urban System Development.”, p.7

 

สรุป

สำหรับเมืองในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยวสูงถึง 9.48 (ตารางที่ 1) ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะเมืองกรุงเทพนั้นมีประชากรกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แตกต่างจากเมืองที่อยู่ในลำดับรองลงมาค่อนข้างสูงมาก จึงเป็นที่น่าสนใจว่าจะมีแนวทางในอนาคตที่ทำให้ค่าความเป็นเมืองโตเดี่ยวของประเทศไทยลดลงหรือไม่ โดยสามารถนำงานเขียนชิ้นนี้ไปประยุกต์กับข้อมูลจำนวนประชากรของเมืองในประเทศไทย แล้วทำการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มและสาเหตุที่ทำให้ความเป็นเมืองของแต่ละเมืองขยายตัว

 

 

 

• AUTHOR

 


อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts