Cities Reviews

เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) : Uber

 

จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

 

“เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing Economy) เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เน้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกำลังการผลิตที่เหลือของทรัพยากรที่มีอยู่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการแบ่งเช่าหรือแบ่งขายทรัพย์สินที่ปัจเจกบุคคลมีอยู่ผ่านตลาดออนไลน์ อาทิ บ้านพัก รถ กระเป๋า เป็นต้น ซึ่ง Uber ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีรถส่วนตัวสามารถนำรถมาขับเป็นรถโดยสารได้ ภายในเวลาไม่นาน Uber ก็เติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยในเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 บริษัทมีมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 68,000 ล้านบาท และยังใช้เวลาเพียง 6 ปีก็สามารถเติบโตจนแซงหน้าบริษัทเก่าแก่อย่าง General Motors และ Ford ได้

 

 

Uber กับ Taxi ในสายตาของผู้โดยสาร

Uber เป็นการเสนอบริการรถโดยสารที่เชื่อมต่อผู้ขับขี่กับผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนที่ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการรถคันที่อยู่ใกล้ที่สุดได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ซึ่งบริการของ Uber นี้ทำให้ผู้โดยสารพึงพอใจกว่ามากเมื่อเทียบกับรถแท็กซี่ อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราค่าบริการของ Uber จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในแต่ละช่วงเวลา หากช่วงใดที่มีความต้องการใช้มาก แต่รถให้บริการมีน้อย ช่วงเวลานั้นอัตราค่าบริการก็จะปรับเพิ่มขึ้น กลไกราคาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ขับมากขึ้นและในขณะเดียวกันราคาที่สูงขึ้นก็อาจทำให้ผู้โดยสารหันไปเลือกใช้บริการรถชนิดอื่นแทนซึ่งจะช่วยให้อุปสงค์และอุปทานปรับสู่จุดสมดุลได้

ข้อดีของ Uber ที่เหนือกว่ารถแท็กซี่ทั่วไปในมุมมองของผู้โดยสารมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ได้แก่

  1. Uber มีอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยถูกกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป
  2. ในการเรียกใช้บริการ ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องรอโบกรถตามริมถนนเหมือนรถแท็กซี่ธรรมดา แต่สามารถนัดหมายตำแหน่งจอดรับกับผู้ขับได้เอง
  3. ผู้โดยสารสามารถติดตามตำแหน่งและเวลาที่รถจะเดินทางมาถึงได้ผ่านแอพพลิเคชั่น
  4. การชำระค่าโดยสารสามารถทำผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่จำเป็นต้องชำระด้วยเงินสด
  5. ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบข้อมูลของคนขับรถก่อนที่จะเลือกใช้บริการและสามารถให้คะแนนความพึงพอใจภายหลังใช้บริการได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้บริการให้มีมากขึ้น

 

ผลกระทบของ Uber ต่ออุตสาหกรรมรถแท็กซี่

ความสำเร็จของ Uber ได้สร้างผลเสียให้แก่อุตสาหกรรมรถแท็กซี่ดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนการขอใบอนุญาตขับรถแท็กซี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คนขับแท็กซี่จึงมีจำนวนไม่มากและกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง ทว่า Uber จะใช้ระบบการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการซึ่งไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานเหมือนรถแท็กซี่ จึงทำให้ผู้ขับขี่ที่ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาจนส่งผลให้คนขับรถแท็กซี่ถูกแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไปดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่าผู้โดยสารเดินทางด้วยรถแท็กซี่ลดลงถึง 65% ภายในเวลา 2 ปีหลังจากที่ Uber เริ่มให้บริการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงทำให้รถแท็กซี่ดั้งเดิมต้องเริ่มปรับปรุงคุณภาพทั้งด้านราคาและบริการเพื่อให้สามารถแข่งขันและดึงดูดผู้โดยสารได้มากขึ้น

ความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมรถแท็กซี่ดั้งเดิมยังนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อมิให้ Uber ดำเนินการต่อในหลายประเทศของยุโรปด้วยข้ออ้างที่ว่า Uber ขัดกับกฎระเบียบของแท็กซี่และเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ภูมิภาคยุโรปเองก็อาจยังไม่พร้อมสำหรับการก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากหน่วยงานที่กำกับดูแลยังไม่สามารถตอบสนองต่อแนวปฏิบัติในการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อเสนอแนะ

  1. ควรลดระเบียบของอุตสาหกรรมรถแท็กซี่ที่เน้นปกป้องผู้ขับรถแท็กซี่ให้น้อยลงและส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อยกระดับคุณภาพของรถแท็กซี่และ Uber ในตลาดมากขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ
  2. ควรให้สนับสนุนให้ผู้ขับ Uber ซึ่งถือเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่แรงงานโดยทั่วไปพึงมี
  3. ควรใช้เทคโนโลยีเป็นกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งในธุรกิจรถโดยสาร รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน

 

 

อ้างอิง

Georgios Petropoulos. Uber and the economic impact of sharing economy platforms.

Bruegel. ออนไลน์: http://bruegel.org/2016/02/uber-and-the-economic-impact-of-sharing-

economy-platforms/

 

• AUTHOR

 


จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

รัฐศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก NIDA

Related Posts