อรุณ สถิตพงค์สถาพร

จากการเสวนาเรื่อง Shifting Paradigm of City with Innovation ในเวที District Summit 2018 จัดโดยสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงละคร K Bank สยามพิฆเณศ อาคารสยามสแควร์ วัน เขตปทุมวัน กทม. ดร.ธนชาต นุ่มนนท์ ประธานกรรมการตรวจสอบ (กรรมการอิสระ) ธนาคารธนชาต ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์/ระบบคอมพิวเตอร์/ระบบการสื่อสาร ได้มาอธิบายให้พวกเราฟังเกี่ยวกับแนวคิด Connected City กับ Smart City มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้
คุณธนชาต ได้ชี้ Point สำคัญเลยว่า หากเป็น Smart Home บ้านต้องชาญฉลาด ต้องมีอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) แต่ไม่ใช่ว่าแค่เอาอุปกรณ์มาต่อ เราต้องสร้างแพลตฟอร์ม เช่น สมาร์ททีวี Google Chrome Amazon หรือแม้แต่ปลั๊กไฟต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ทำให้เราสามารถสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเสียงได้ ทุกอย่างในบ้านมันเชื่อมต่อกันหมด เครื่องจักรสามารถคุยกับเครื่องจักรได้ เช่น เปิดประตูปุ๊บ ไฟติดปั๊บ หรือถ้าอากาศร้อน แอร์ก็จะเปิดอัตโนมัติ
ในหลักการเดียวกันนี้ หากเราต้องการทำ Smart City เราก็ต้องมีแพลตฟอร์ม ต้องมี Connected City ขึ้นมาก่อน หมายความว่า โครงสร้างพื้นฐานมันต้องดี เชื่อมต่อกันหมด แล้ว Connected City จะนำไปสู่ Inclusive City ต่อไป ในปัจจุบัน เราเห็นเทคโนโลยีมันเกิดขึ้นมา เช่น IoT สมาร์ทโฟน ซึ่งเรามักใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นข้อมูล (Data) จะไหลเข้ามาและสะสมจนกลายเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ต่อมาเมื่อเราสร้างแพลตฟอร์มขึ้น เปิดโอกาสให้คนสามารถเขียนโปรแกรมต่อยอด ทุกอย่างก็จะชาญฉลาดขึ้น เพราะทั้งบ้าน โรงพยาบาล สัญญาณไฟจราจร รถยนต์ เชื่อมต่อกันหมด การบริหารจัดการเมืองก็จะชาญฉลาดขึ้น เราก็จะได้ Smart City ขึ้นมา ฉะนั้น ประเด็นหลักของการทำ Smart City คือ เราต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่อัจฉริยะที่ทำให้เกิด Connected City ให้ได้
การสร้าง Smart City ต้องเริ่มจากแนวคิด Connected City
ความหมายที่แท้จริงของ Smart City หมายถึง การที่คนอยู่อย่างชาญฉลาด คนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี การรักษาพยาบาลที่ดี การเดินทางที่ดี การทำงานที่ดี และการศึกษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดความชาญฉลาด ช่วยต่อยอดให้บริการดีขึ้น หากถามว่า การบริการที่ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐาน แล้วเราก็จะได้ข้อมูล พอเรามีข้อมูล เราก็จะวิเคราะห์คน วิเคราะห์สถานการณ์ได้ เช่น รถติดมากน้อยแค่ไหน ควรจะเปิดไฟเขียวหรือไฟแดง หรือจะใช้บริการโรงพยาบาลอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องข้อมูล เราจะได้มาจาก IoT และ Crowd Funding ยกตัวอย่างโจทย์เช่น บริเวณหนึ่งมีอาชญากรรมมาก จะแก้ปัญหาอย่างไร เราก็ควรมี CCTV มีเซ็นเซอร์ มีระบบที่แจ้งเตือนและป้องกันได้ทันท่วงที
อีกแง่หนึ่ง เราต้องนำแนวคิด Inclusive City มาใช้ด้วย เพราะนั่นเป็นการมองไปถึงการมีส่วนร่วม และเป็นการมอง Smart City ที่มากกว่าแค่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และหากถามว่า จาก Smart City จะทำให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างไร เราก็ต้องใช้เมืองเป็นแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดไปสู่นวัตกรรม ถ้ามองในแง่ธุรกิจวันนี้ เขาไม่ได้เน้นสร้างสินค้า แต่เน้นสร้างแพลตฟอร์ม เช่น Agoda UBER Amazon Alibaba แล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องเปิดให้ทุกคนมามีส่วนร่วม จึงจะเกิดนวัตกรรมต่อยอดได้มหาศาล จนเกิดเป็นการมีส่วนร่วม เกิดเป็นการบริการใหม่ เกิดเป็นสินค้าใหม่ตามมา ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำนอกเหนือจากคำว่า Smart City เป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องเริ่มจากวางพื้นฐานแนวคิด Connected City โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้เกิดแพลตฟอร์ม หรือกล่าวได้ว่า ต้องสร้างเมืองให้เป็นแพลตฟอร์มแล้วเปิดให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด โดยทุกคนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ แล้วพึ่งจากแพลตฟอร์มในการสร้างสิ่งใหม่ๆ และทำงานร่วมกัน แล้วคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น

ไม่ใช่แค่การพัฒนาเทคโนโลยี แต่คุณภาพชีวิตของคนต้องดีขึ้น
สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนว่าเรามีผู้ใช้ดิจิทัลในระดับที่สูงมาก แต่จริงๆ แล้วเรามักใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก มิได้ใช้เพื่อให้มีรายได้หรือเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ถ้าถามว่าตอนนี้ Smart City ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ต้องบอกก่อนว่า Smart City ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น เทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ความสำคัญอยู่ที่คุณภาพชีวิตของคนต้องดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ควรทำอย่างไรให้เราไม่ต้องรอคิวโรงพยาบาลนาน ทำอย่างไรให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปกับการใช้บริการภาครัฐที่นานเกินความจำเป็น ทำอย่างไรให้รถติดน้อยลง ทำอย่างไรให้การศึกษาดีขึ้น โจทย์เหล่านี้ประเทศไทยยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าไรในแง่ของ Smart City
Smart City ไม่ใช่แค่วางโครงสร้างพื้นฐานแล้วจบ แต่ Smart City คือการเอาโครงสร้างพื้นฐานไปสร้างการบริการ (Service) ที่ดี ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พอเรามี Smart City การทำงานในบริษัทเอกชนก็ต้องชาญฉลาดขึ้น แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยเรามัวแต่เน้นโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะเราถนัดเป็นนักการตลาด เรามีศัพท์การตลาดออกมามากมาย เช่น ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ‘Smart City’ ‘ประชารัฐ’ ‘ไทยนิยมยั่งยืน’ แต่เรายังไม่เห็นภาพว่า เราจะได้อะไรจาก Smart City ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร เรายังไม่เห็นการบริการหรือแอปพลิเคชันอะไรที่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตเรา ทำให้เรายังไม่มั่นใจว่า ขณะนี้เราอยู่ในสถานะไหนหรือได้ลงมือทำ Smart City แล้วหรือยัง
นอกจากนี้ Smart City ไม่ได้สำคัญแค่ที่อุปกรณ์ (Device) จำพวกเซ็นเซอร์ CCTV สัญญาณไฟจราจร อินเทอร์เน็ต แต่มันเป็นเรื่องของแอปพลิเคชันด้วย เป้าหมายของแอปพลิเคชัน คือ ต้องสร้างชีวิตคนให้ดีขึ้น ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่รถติดจนเราต้องตื่นเช้าขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็น Smart City ที่ดี เราควรจะเดินทางได้สะดวกขึ้น ใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนและลดเวลาในการเดินทางได้ แต่เรายังไม่มีการบริการจำพวกนี้ เรายังมีแต่อะไรที่เป็นกายภาพ เป็นเปเปอร์ เป็นการประชุม เวลาเราไปโรงพยาบาล ความชาญฉลาดของเราคือ เอารองเท้าไปวางต่อคิว ฉะนั้น ปัจจุบันเราต้องเริ่มสร้างการบริการกับแอปพลิเคชัน และคิดให้ไกลกว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ นั่นคือ ต้องสร้างระบบเปิด (Open System) ขึ้นมา แล้วให้คนสามารถเข้ามาทำนวัตกรรมและสร้างแอปพลิเคชันต่อยอดได้
หัวใจของการสร้าง Smart City คือ “กำลังคน”
ทุกวันนี้ศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์เราพร้อมแล้วพอสมควร แม้จะยังไม่เปิดมากหรือยังไม่มี IoT อย่างทั่วถึง แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การจะสร้างการบริการได้ เราต้องการ “คน” คนของเรายังไม่สามารถสร้างการบริการใหม่ๆ จากอุปกรณ์หรือแพลตฟอร์มที่เรามีได้ พลังของเรายังมีไม่มากพอ สิ่งที่เราลงทุนลงแรงไปมากคือโครงสร้างพื้นฐาน แต่เรายังไม่สามารถนำไปสู่การสร้างการบริการได้ ข้อสำคัญ คือ ระบบไม่เปิดกว้างเพียงพอ ทั้งที่ระบบควรจะเปิดแล้วให้ทุกคนนำไปต่อยอดได้ แต่บ้านเรายังไม่คุ้นกับระบบที่เป็น Open System เราต้องการ Open Platform และ Open Economy อย่างเวลาเราพูดถึง Digital Economy มันหมายถึงการเปิด (Open) และการแบ่งปัน (Share)
ประเทศไทยมีคนจบไอทีเป็นจำนวนมาก แต่คนที่พอรับได้และทำงานด้วยกันได้จริงๆ มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น ความสามารถในระดับ World Class มีน้อยและมีแนวโน้มจะออกไปทำงานต่างประเทศ ทั้งที่ในปัจจุบัน เราต้องการกำลังคนจำนวนมากในการพัฒนา หากเรามองจีน เกาหลี สิงคโปร์ เวลาพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หรือยุค 4.0 มันจะคาบเกี่ยวทั้งเรื่องของ Big Data และ A.I. เขาต้องการบุคลากรด้านนี้จำนวนมาก เขาก็ทุ่มคนให้ไปทำไปศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่บ้านเรากลับมีน้อยมาก ส่งผลให้เราไม่สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชาญฉลาดและเป็นการบริการที่ต่อยอดไปได้
แม้เราจะสามารถนำเข้าโครงสร้างพื้นฐานหรืออุปกรณ์ไฮเทคมาได้ แต่หากเราจะสร้างการบริการของเราเอง เราต้องเปิดให้เป็นระบบเปิดแล้วดึงดูดให้คนเข้ามาช่วยกันพัฒนา แล้วมันต้องเป็น Ecosystem มีแรงจูงใจให้คนอยากจะพัฒนา เพราะเหตุใดจึงมีกลุ่มคนต้องการพัฒนาแอฟพลิเคชันไปต่อกับ Agoda เพราะเขาเห็นเรื่องของ Ecosystem Agoda คือแพลตฟอร์ม UBER ก็คือแพลตฟอร์ม และ UBER เขาจะมี Data Scientist จำนวนมหาศาล แต่เรากลับไม่มีระบบเช่นนี้
Open Platform ยังสร้างง่าย ที่ยากกว่าคือ การสร้างคน ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องเห็นในอนาคต คือ ในขณะที่เราเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ดีสำหรับ Smart City เราก็ต้องสร้างคนไปพร้อมๆ กัน และต้องระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีอะไรที่ชนะได้อย่างรวดเร็ว (Quick Win)” แต่บ้านเรามักจะคาดหวังอะไรที่มัน Quick Win เสมอ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องรีบสร้างคน และการศึกษาสำคัญที่สุด แต่เราลงทุนกับการศึกษาน้อยมาก
ประเด็นที่เรามักจะถกเถียงกัน คือ เรากลัวว่าเทคโนโลยีจะมาทำลาย (Disrupt) ธุรกิจ แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการทำ Disruption คือ Culture Disruption กล่าวคือ สังคมเราเป็นอย่างไร เราเข้าใจสังคมมากแค่ไหน ทุกวันนี้เรามีช่องว่างทางชนชั้นมากขึ้น พอมีเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามา มันเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ (Digital Divide) มากขึ้น หลายคนอยากทำสตาร์ทอัพ แต่ไม่เคยออกไปต่างจังหวัด ไม่เคยออกต่างประเทศ เราเห็นต้นแบบจากสต็อกโฮล์มดีมาก แต่พอนำมาใช้ที่ไทยอาจจะไม่เวิร์ค เพราะคนต่างถิ่นต่างมีวัฒนธรรมต่างกัน ความคิดแตกต่างกัน และเราต้องคิดว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย กรุงเทพฯ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้นแบบที่นำมาใช้กับกรุงเทพฯ แล้วประสบความสำเร็จ มิได้หมายความว่านำไปใช้กับจังหวัดอื่นแล้วจะสำเร็จเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบร้อยเปอร์เซ็นต์ ‘คน’ ต่างหากที่สำคัญที่สุด เราต้องเข้าใจคนให้มากพอๆ กับที่เราเข้าใจเทคโนโลยี

Smart City ที่ดี คนเมืองต้องมีส่วนร่วม
หากมองเมืองที่มี Connected City จำนวนมากอย่างสต็อกโฮล์ม ทุกอย่างเขาเชื่อมต่อกันหมด มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีแพลตฟอร์ม แล้วทุกคนก็เข้ามาทำแอปพลิเคชัน เมืองในยุโรปหลายๆ เมืองล้วนเริ่มจากวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แล้วเปิดเป็นแพลตฟอร์ม ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ (E-Payment) การจะทำระบบนี้ได้ต้องมี Smart Device มีระบบอินเทอร์เน็ตที่ดี โครงสร้างพื้นฐานต้องดี ต้องวางระบบเงินที่ดี ต้องมีคนมาทำแอปพลิเคชันต่อยอด ต้องมีร้านค้ามารับเงิน ต้องมีคนจ่ายตังค์โดยใช้ E-Payment จนสุดท้ายคนก็จะลดการใช้เงินสด ชีวิตก็อาจจะคล่องขึ้น หลักการเดียวกับ Smart City ที่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน คนต้องมีส่วนร่วม
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ Smart City เกิดขึ้นได้ คือ ประชาชนต้องร่วมมือกันที่จะให้ข้อมูล หรือที่เรียกว่า ‘Crowdsourcing’ เช่น อเมริกามีเว็บไซต์แจ้งเหตุไปยังตำรวจและรัฐบาลให้มาทำการช่วยเหลือ พอแจ้งหลายๆ กรณีเข้า ข้อมูลจากประชาชนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐก็จะมาช่วยช่วยเหลือสนับสนุน สะท้อนถึงความเป็นชาญฉลาดที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็อยู่ที่จุดนี้ด้วย เราจะเอาเมืองไหนมาเป็นต้นแบบก็ได้ แต่สุดท้ายมันก็จะกลับมาเรื่องโครงสร้างของคนว่า เราพร้อมแค่ไหน กระบวนทัศน์ของเราเป็นเช่นไร ยกตัวอย่างเช่น เราพูดถึง Open Platform แต่บางภาคส่วนยังหวงข้อมูลกันอยู่ ไม่แบ่งปัน อย่างที่เขาพูดถึง Sharing Economy คนไทยก็ไม่คุ้นเคย เราอาจต้องปรับบางเรื่องอยู่ อย่างไรก็ตาม หลักสำคัญขององค์กรต่างๆ ในปัจจุบัน คือ นวัตกรรมมันอยู่ได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในบริษัทหรือองค์กรเรา เราสามารถสร้างเมืองให้เป็นแพลตฟอร์ม (City as a Platform) แล้วคนจะมาจากที่ไหนก็ได้
ถ้าเราสร้าง Connected City ได้ เราก็จะได้เมืองเป็นแพลตฟอร์ม พอเรามองเมืองเป็นแพลตฟอร์ม ก็จะเกิดนวัตกรรมเมืองเต็มไปหมด เพราะว่าจะมีคนเข้ามาช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างการบริการ พัฒนาแอปพลิเคชัน ดังเป้าหมายของ Smart City ที่เราจะสร้างนวัตกรรมอะไรก็ได้ แต่ขอให้คุณภาพชีวิตคนเมืองดีขึ้น เพียงเริ่มจากการเปิดให้เป็นระบบเปิด สักพักหนึ่งเราจะเห็นคนเข้ามาสร้างนวัตกรรมเอง เพราะเขาเข้าใจปัญหา เขาจะเรียนรู้และอยากจะแก้ปัญหา จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ดีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มคุณภาพชีวิตคนเมืองได้ พอเรามี Smart City และ Connected City คนเมืองก็จะเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งถ้ามันเป็นระบบปิดเราก็ทำอะไรต่อยอดอะไรไม่ได้ แต่พอเป็นระบบเปิด มันจะเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม และอาจส่งผลดีให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาอาจไม่เคยแตะอะไรเกี่ยวกับ Smart City เลยก็ได้
ที่มาภาพ:
สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ
• AUTHOR
|
 |
อรุณ สถิตพงศ์สถาพร
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
|