Cities Reviews

กลยุทธ์การออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมการเป็นเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม

    

           วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ ในงานเปิดตัวโครงการหาดใหญ่ การออกแบบเมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ สำนัก 3 ได้ร่วมกับ เทศบาลนครหาดใหญ่, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และชุมชนรอบคลองเตย ในเมืองหาดใหญ่ ภายในงานได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมมาให้ความรู้ แนวทางการทำงานของการออกแบบเมืองสุขภาวะ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. ณญดา นาคะสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองและผู้ก่อตั้ง บริษัท เออร์เบิ้น บล็อคส์ จำกัด ดร. ณญดา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore, NUS) จึงได้นำกลยุทธ์การออกแบบเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมของสิงคโปร์มาแบ่งปันให้ทุกคนได้รับฟัง ซึ่งการออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมการเป็นเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมนั้น ดร. ณญดา ย้ำว่า ต้องมีทั้ง Hardware และ Software ปฏิบัติการควบคู่กันไป โดย Hardware ได้แก่ โครงสร้างเมืองที่ชัดเจน รูปแบบเมืองที่สวยตามการออกแบบเมืองต่างๆ และ Software คือ การที่หน่วยงานท้องถิ่นให้ความสำคัญและพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองไปด้วยกันกับภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษา และนักวิชาการท้องถิ่นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ซึ่งเมืองสุขภาวะที่ประสบความสำเร็จอย่างประเทศสิงคโปร์ ประกอบไปด้วยแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองสุขภาวะหาดใหญ่ที่นับได้ว่ามีบริบทความเป็นเมืองเขตร้อนชื้นเช่นเดียวกัน โดยเนื้อหาในการบรรยายสามารถสรุปได้ดังนี้

ภาพที่ 1 ดร.ณญดา นาคะสิทธิ์

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง,2565

 

 เหตุผลที่เลือกศึกษาการพัฒนาเมืองสุขภาวะของสิงคโปร์

           เมื่อพิจารณาถึงบริบทเมืองสุขภาวะในปัจจุบันแล้วพบว่า เมืองที่สามารถเป็นตัวอย่างเมืองสุขภาวะที่ดีระดับโลกนั้นได้แก่ เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เมืองต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีบริบทความเป็นเมืองแตกต่างกันกับเมืองในประเทศไทย โดยเมืองสุขภาวะที่มีบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทยที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ดีนั้นได้แก่ “เมืองสุขภาวะสิงคโปร์”

           ประเทศสิงคโปร์ ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และมีลักษณะเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับเมืองหาดใหญ่ โดยตั้งแต่ปี 1967 ผู้นำที่ชื่อ “ลี กวน ยู” ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองสิงคโปร์ภายใต้วิสัยทัศน์ “Garden City” เพื่อฟื้นฟูเมืองที่เสื่อมโทรมจากการเป็นเมืองท่าสู่การเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและมีสภาพแวดล้อมเมืองที่สะอาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

           ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มีพื้นที่ประมาณ 700 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 5.8 ล้านคน ความหนาแน่นประชากรเฉลี่ย 8,358 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งนับได้ว่ามีความหนาแน่นของประชากรสูงเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครที่มีขนาดพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร ประชากรจำนวน 10.5 ล้านคน โดยมีความหนาแน่นประชากรเฉลี่ย 6,718 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนาเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้ส่งผลให้สิงคโปร์ประสบปัญหาเช่นเดียวกับมหานครอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ส่งผลต่อภาวะการขาดแคลนที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย และปัญหาด้านอื่นๆ ที่ตามมา เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านของเสียที่เพิ่มมากขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม ปัญหาด้านความต้องการด้านการเดินทางของประชาชนในเมืองที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น ทั้งทรัพยากรแหล่งน้ำ พลังงานต่าง ๆ และแหล่งอาหาร เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้ประเทศสิงคโปร์หันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาเมืองเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองสุขภาวะภายใต้กรอบแนวคิดด้านคุณภาพอากาศ มลภาวะทางเสียง เกาะความร้อนในเมือง ความปลอดภัย แรงบันดาลใจ ความสุข และการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเมืองน่าอยู่ (Livable City) ด้วยเช่นกัน

  

กลยุทธ์ของสิงคโปร์ในการการออกแบบเมืองสุขภาวะ

         กลยุทธ์ที่ 1: การสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี เมืองต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี เพื่อส่งเสริมโอกาสในการมีชีวิตที่กระฉับกระเฉงและมีสุขภาพดีให้กับประชาชน โดยการออกแบบเมืองให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบชุมชนเมือง ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ทางเท้า ภูมิทัศน์ภายในเมือง การควบคุมความหนาแน่นและความสูงอาคารในแต่ละบริเวณ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ป้ายบอกทาง ป้ายรถเมล์ ไฟส่องสว่าง เป็นต้น

         กลยุทธ์ที่ 2: การวางผังให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลาย เมืองต้องมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลายตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับเมือง ที่ประกอบไปด้วยความหนาแน่นของกิจกรรมการค้าและบริการภายในชุมชน (การค้าปลีก สิ่งอำนวยความสะดวก) กิจกรรมการค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมการอยู่อาศัย และการคมนาคมขนส่งที่ครอบคลุม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา

          กลยุทธ์ที่ 3: ขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบ เมืองต้องให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบและมีการบริการที่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่สำคัญในชุมชน ไม่เพียงแค่การให้บริการรสบัส หรือรถเมล์ แต่รวมไปถึงการให้บริการการขนส่งสาธารณะระบบราง รถไฟฟ้า เพื่อรับส่งคนระหว่างเมืองและที่ทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและให้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น

          กลยุทธ์ที่ 4: การควบคุมและลดมลพิษในเมือง เมืองต้องสภาพสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อควบคุมและลดมลพิษภายในเมือง เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพอากาศที่ดี การลดมลภาวะทางเสียง และสิ่งรบกวนจากการสั่นสะเทือน การออกแบบที่คำนึงถึงแสงธรรมชาติ การลดเกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) และอื่นๆ ด้วยการส่งเสริมภาวะน่าสบายนอกอาคารหรือในพื้นที่ว่างสาธารณะ เช่น การกำหนดตำแหน่งไม้ยืนต้น เพื่อให้ร่มเงา และสอดคล้องกับทิศทางลม การออกแบบและเลือกใช้พืชพรรณต่าง ๆ ทั้งไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน เป็นต้น 

ภาพที่ 2 การควบคุมและลดมลพิษในเมือง

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

 

          ทั้งนี้สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่าการออกแบบเมืองสุขภาวะนั้นมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลักที่สำคัญ 3 ประการ คือ

  • Mobility กิจกรรมด้านการบริการขนส่ง การคมนาคมหลากหลายรูปแบบ
  • Energy การให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดการใช้พลังงานต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ เช่น การส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า การออกแบบอาคารเขียวเพื่อลดพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
  • Urban Programme รัฐบาลท้องถิ่น (อปท.) ให้ความสำคัญกับการออกแบบและวางผังชุมชนเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลาย ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

นโยบายการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ (Urban Policy)

        สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนโยบายการพัฒนาเมืองมาเนิ่นนาน และเริ่มต้นได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยนโยบายการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ประกอบไปด้วยนโยบายที่สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่

           (1) การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Planning)

           (2) การควบคุมการพัฒนา (Development Control)

           (3) การออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design)

           (4) การอนุรักษ์ชุมชนเมือง (Urban Conservation)

           (5) การขายที่ดินของรัฐ (Government Land Sales)

           (6) การบริหารจัดการสถานที่ (Place Management)

        สำหรับนโยบายด้านการพัฒนาเมืองดังกล่าวข้างต้น จะเป็นการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมือง ที่จะดำเนินการทบทวนและจัดทำขึ้นในทุกๆ 10 ปี โดยแผนแม่บทฉบับแรกของประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1971 ภายใต้วิสัยทัศน์ Garden City” โดยท่านผู้นำ ลี กวน ยู

        ปัจจุบันสิงคโปร์ได้ดำเนินการพัฒนาเมืองภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาสิงคโปร์ 2019 ซึ่งเป็นแผนการใช้ที่ดินตามกฎหมายที่จะชี้นำการพัฒนาของสิงคโปร์ในระยะกลางในช่วง 10 ถึง 15 ปีข้างหน้าตามกรอบแนวคิดการพัฒนาเมือง City in Nature” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการรักษาสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ได้แก่ การจัดหาที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน การผสมผสานความเขียวขจีเข้ากับสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย การจัดให้มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก และขยายเส้นทางให้บริการที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น การส่งเสริมการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยแหล่งงานที่ดี และการสร้างความมั่นใจในการเติบโตและสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ดีในอนาคตให้กับประชาชนและนักลงทุนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งนับได้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวได้ขับเคลื่อนประเทศสิงคโปร์ให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจและสังคม

        การพัฒนาแต่ละย่านจะมีรายละเอียดการควบคุมการพัฒนาตามข้อกำหนดพระราชบัญญัติการวางผังเมืองของประเทศสิงคโปร์ที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว เช่น การควบคุมความหนาแน่นที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน การกำหนดความหนาแน่นของอาคารต่อแปลงที่ดิน การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคและสาธารณูปการขั้นพื้นฐานให้แต่ละชุมชน ทั้งศูนย์บริการชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวของเมืองด้วยการจัดทำทะเบียนต้นไม้ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสวนสาธารณะและต้นไม้ เป็นต้น

ภาพที่ 3 ผังแม่บทการพัฒนาเมืองสิงคโปร์ ในค.ศ. 2019

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

 

การผลักดันสู่เมืองสุขภาวะ: เมืองสีเขียว

            สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองที่เด่นชัดมาตั้งแต่ปี 1963  คือ การพัฒนาเมืองสีเขียว (Garden City) โดยปัจจุบันได้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดและสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ (City in Nature) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ภายใต้การขับเคลื่อนที่สำคัญของหน่วยงานหลักดังนี้ 1. หน่วยงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง (The Urban Redevelopment Authority หรือ URA) เน้นการออกข้อบังคับ / กฎหมายควบคุมการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง 2. หน่วยงานควบคุมอาคารและการก่อสร้าง (Building and Construction Authority- BCA) 3. คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (National Parks Board หรือ NParks) ทำหน้าที่กำหนดมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้แก่ภาคเอกชนในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวภายในเมือง การผลักดันการใช้พลังงานสะอาด การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ 

            การผลักดันสู่เมืองสุขภาวะ ภายใต้แนวคิดเมืองสีเขียว เริ่มจากหน่วยงานหลักซึ่งได้แก่ หน่วยงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง (URA) ได้กำหนดนโยบาย LUSH 3.0 ขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Landscaping for Urban Spaces and High-Rises” มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้นักพัฒนาที่ดินและเจ้าของอาคารนำแนวคิดพื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบก่อสร้าง และกำหนดให้นักพัฒนาจำเป็นต้องสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทนธรรมชาติที่อาจถูกทำลายไปจากการก่อสร้าง เพื่อตอบโจทย์และข้อจำกัดต่าง ๆ นี้จึงนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวแบบแนวตั้งซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียวหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ กำแพงสีเขียว ฟาร์มบนดาดฟ้า สวนลอยฟ้า หรือหลังคาสีเขียว โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทดแทนพื้นที่สีเขียวที่สูญเสียไปจากการพัฒนาที่ดินแล้ว ยังสามารถสร้างความสวยงามน่ามองให้กับตัวอาคารและยังช่วยลดอุณหภูมิความร้อนให้กับอาคารอีกด้วย

          นอกจากนโยบาย LUSH 3.0 โดยหน่วยงาน URA ที่คอยควบคุมการพัฒนาเมืองและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองแล้ว ยังคงมีหน่วยงานควบคุมอาคารและการก่อสร้าง (Building and Construction Authority- BCA) อีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยกำหนดและควบคุมการออกแบบก่อสร้างอาคารเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งอาคารสีเขียว (Green building) ในเอเชีย โดยได้กำหนดแผนแม่บทอาคารสีเขียวภายใต้ชื่อ  Singapore Green Building Master Plan หรือ SGBMP ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และในปัจจุบัน (2021) ได้กำหนดไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 สิงคโปร์ต้องมีอาคารสีเขียวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของอาคารทั้งหมดในประเทศ และในปี ค.ศ. 2030 เป็นต้นไป อาคารร้อยละ 80 ของอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ต้องเป็นอาคารประเภท Super Low Energy (SLE) ที่สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างน้อย 60% ก่อนขับเคลื่อนไปสู่อาคารประเภท Zero Energy (ZE) ซึ่งพิจารณาจากอาคารประเภท SLE จะต้องมีการใช้พลังงานที่ต่ำมาก รวมทั้งโหลดปลั๊กต้องเกิดจากการแหล่งพลังงานหมุนเวียน (ทั้งในและนอกสถานที่) และอาคารประเภท Positive Energy (PE) ที่มีการใช้พลังงานต่ำมาก โดยการโหลดปลั๊กต่างๆ ต้องเกิดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในสถานที่

ภาพที่ 4 ลักษณะอาคารสีเขียวในสิงคโปร์

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

 

        การก้าวสู่การเป็นเมืองท่ามกลางธรรมชาติ หรือ ‘City in Nature’ พื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ของสิงคโปร์ที่เราเห็นในวันนี้เป็นผลงานความร่วมมืออันยาวนานหลายสิบปีจากน้ำพักน้ำแรงของทั้งจากชุมชน หน่วยภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมที่ได้ให้ความสำคัญ โดยมีอีกหน่วยงานที่สำคัญที่ช่วยเป็นตัวกลางในการกำหนดกรอบการพัฒนา ได้แก่ คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (National Parks Board หรือ NParks) ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวไว้อย่างชัดเจนที่ไม่เฉพาะสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่สีเขียวตามแนวถนน ทางเท้า ภายในอาคารสาธารณูปโภคต่างๆ ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยว ที่สะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสูง และทุกคนสามารถมีโอกาสเข้าถึงความเขียวชอุ่มของธรรมชาติ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ภาพที่ 5 แนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของประเทศสิงคโปร์ในอนาคต

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

 

การออกแบบเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม: OUR TAMPINES HUB  

        จากการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเมืองสีเขียวภายใต้มาตรการและแรงจูงใจ LUSH 3.0 และ SGBMP ได้ส่งผลให้นักพัฒนาเมืองให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารเขียว (Green building) และการทดแทนพื้นที่สีเขียวที่หายไปจากพื้นที่พัฒนาเมืองต่าง ๆ โดยโครงการตัวอย่างที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันได้แก่โครงการก่อสร้างอาคาร OUR TAMPINES HUB ซึ่งเป็นโครงการ Mixed-use ที่รวมฟังก์ชั่นการใช้งานระหว่างห้างสรรพสินค้า สวน พื้นที่สันทนาการ และสนามกีฬาเข้าไว้ด้วยกันในที่ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 232,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ปกคลุมอาคารประมาณ 120,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 35.6 ไร่ รองรับการใช้งานประมาณ 225,000 คน โดยผู้ใช้บริการเป็นคนในย่าน Tampines และผู้อยู่อาศัยภาคตะวันออกของประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก

            โครงการ OUR TAMPINES HUB นับได้ว่าเป็นศูนย์การค้าชุมชนที่ได้รับการออกแบบให้เป็นอาคารเขียวประหยัดพลังงานและได้รับการรับรองจากหน่วยงานควบคุมอาคารและการก่อสร้าง (BCA) ว่าเป็นอาคาร Green Market ระดับ Platinum ซึ่งมีการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการใช้พลังงานต่ำ การใส่ใจสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชุมชนเมือง การบำบัดของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างชาญฉลาด ภายในพื้นที่โครงการประกอบไปด้วย ร้านค้าปลีก, ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม, ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก, หอประชุมศิลปะการแสดง, พื้นที่ทำการบ้านของนักเรียน และสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียวบนชั้นดาดฟ้า มีการออกแบบอาคารโดยให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งมีพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะที่หลากหลายเพื่อมุ่งหวังให้เด็กๆ ในชุมชนได้ซึมซับอัตลักษณ์และของดีในชุมชน รวมทั้งมีสถานที่ออกกำลังกายทั้งแบบฟรี (สำหรับผู้สูงอายุ) และแบบสมาชิกรายเดือนเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันเช่น ห้องทดลองทำปุ๋ยชีวภาพ ห้องฝึกอบรมสำหรับอาสาสมัครชุมชน หอประชุมชุมชน ห้องสมุดชุมชน เป็นต้น

            ทั้งนี้ จากการส่งเสริมมาตรการและแรงจูงใจต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวของประเทศสิงคโปร์ ได้ส่งผลให้ในปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ติดอันดับความเป็น “เมืองน่าอยู่” ระดับโลก โดยนับได้ว่าเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย จากการสำรวจโดย Siemens/EIU ซึ่งระบุว่าสิงคโปร์มีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวจำนวน 20,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 38.5 ตารางเมตร ต่อประชากร 1 คน ซึ่งเกินมาตรฐานพื้นที่สีเขียวของ WHO หลายเท่า และนับเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีสูงสุดในเอเชีย (อันดับที่ 25 จาก 221 เมืองทั่วโลกที่ได้รับการสำรวจโดย Mercer Quality of Life report (2014))

ภาพที่ 6 โครงการศูนย์ชุมชน “Our Tampines Hub”

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาวะน่าสบายให้กับเมือง มีอะไรอีกบ้าง? 

        สิงคโปร์ได้จัดทำคู่มือ “กลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบเกาะความร้อนของประเทศสิงคโปร์” ให้กับภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับใช้กับการออกแบบอาคารและโครงการพัฒนาเมืองต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดภาวะน่าสบายให้กับเมือง ประกอบด้วยนโยบายที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1. พืชพรรณ (Vegetation) 2. รูปทรงของเมือง (Urban geometry) 3. แหล่งน้ำ (Water features and bodies) 4. วัสดุและพื้นผิว (Materials and surfaces) 5. ร่มเงา (Shading) 6. การคมนาคมขนส่ง (Transport) 7. พลังงาน (Energy) ทั้งหมดนี้ มีถึง 86 กลยุทธ์และเครื่องมือให้ประชาชนเลือกใช้ในการออกแบบ ยกตัวอย่าง

            ในหมวด ด้านพืชพรรณ (Vegetation) ประกอบด้วย 1. กลยุทธ์ส่งเสริมหลังคาเขียว สวนแนวตั้ง สวนดาดฟ้า และที่จอดรถสีเขียว ซึ่งหลังคาสีเขียวแต่ละอาคารสามารถลดอุณหภูมิลงได้ประมาณ 15-45ºC เมื่อเทียบกับหลังคาทั่วไปหรือหลังคาที่ไม่ใช่สีเขียว และสามารถลดการใช้พลังงานลงได้เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น 2. กลยุทธ์เพิ่มสวนและพื้นที่สาธารณะ สามารถช่วยลดอุณหภูมิเมืองและชุมชนได้ถึง 1.5-4ºC และช่วยส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนภายในเมืองและชุมชน 3. กลยุทธ์การเชื่อมต่อเส้นทางถนนสีเขียวให้ทั่วทั้งเมือง จะช่วยส่งเสริมและยกระดับสภาวะความน่าสบายภายนอกอาคารให้กับเมือง

          ในหมวด การคมนาคมขนส่ง (Transport) มุ่งเน้นกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก พร้อมกับการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-motorized Transportation) อย่างการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน โดยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจและปรับปรุงคุณภาพบริการขนส่งเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกใช้

          ในหมวดของพลังงาน (Energy) มุ่งเน้นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งปัจจุบันหนึ่งในนวัตกรรมของสิงคโปร์ คือการพัฒนาระบบเทคโนโลยี Energy Grid 2.0 เพื่อใช้ในการพัฒนาความมั่นคงของระบบการผลิตพลังงานทดแทนและระบบทำความเย็น (Cooling Energy Science and Technology Singapore; CoolestSG) ที่ได้มีการประเมินผลของระบบดังกล่าวว่าสามารถที่จะช่วยลดอุณหภูมิภายนอกอาคารและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้พลังงานสิ้นเปลืองได้ถึง 40% โดยพื้นที่นำร่องที่ได้ใช้ Energy Grid 2.0 ได้แก่ กลุ่มอาคารบริเวณอาคารมารีนาเบย์แซนด์ (Marina Bay Sands)

 

ภาพที่ 7 แนวทางการใช้พลังงานสะอาดของอาคาร

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

 

กลยุทธ์การออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองสุขภาวะที่เหมาะสมกับบริบทเมืองไทยต้องเป็นอย่างไร?

        สิงคโปร์มีกลยุทธ์ที่ดีในการพัฒนาเมืองสุขภาวะซึ่งทุกกลยุทธ์สามารถนำมาพัฒนาในเมืองของไทยได้ แต่ทั้งนี้ หากนำสิงคโปร์มาเทียบกับเมืองในไทย ยังคงพบว่ามีบริบทที่แตกต่างกันในรายละเอียดของระบบการบริหารจัดการ โครงสร้างและกลไก ขนาดพื้นที่ ดังนั้นทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สำหรับการพัฒนาเมืองสุขภาวะภายใต้บริบทของสังคมไทย โดยได้ทำการกำหนดดัชนีการพัฒนาเมืองสุขภาวะของไทยออกเป็น 10 ดัชนี ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเมืองในประเทศไทย ดังนี้

 

หาดใหญ่กับการสร้างเมืองสุขภาวะ

        หากลองนำกลยุทธ์การออกแบบเมืองสุขภาวะที่กล่าวมาข้างต้นของสิงคโปร์ และดัชนีการพัฒนาเมืองสุขภาวะภายใต้บริบทของสังคมไทย มาประยุกต์กับการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า “เมืองหาดใหญ่” นับได้ว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว โดยปัจจุบันพบว่าเมืองหาดใหญ่มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 10 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ WHO ที่ระบุว่าประชาชน 1 คน ต้องการพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตร นอกจากนี้ หาดใหญ่ยังเป็นเมืองที่มีขนาด Blocks ตามมาตรฐาน TOD Standard 3.0 ของสหรัฐอเมริกา คือมีขนาดความกว้างของ Blocks ถนนประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งมีศักยภาพส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเดินเท้าที่เอื้อต่อการเกิดกิจกรรมการค้าและกิจกรรมทางสังคม และสามารถส่งเสริมให้คนในชุมชนเดินไปหากันอย่างทั่วถึง  

          อย่างไรก็ตาม หาดใหญ่ยังมีอีกหลายประเด็นในเรื่องของเมืองสุขภาวะที่ต้องดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ สภาพและรูปแบบของพื้นที่สาธารณะ การให้บริการขนส่งมวลชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาด้านมลพิษทางเสียง ฝุ่น ควัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ คงเป็นประเด็นในความสนใจของเทศบาลนครหาดใหญ่ และประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วในระดับหนึ่ง มีหลายโครงการพัฒนาเมืองที่ได้ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ทั้งเมืองแห่งการเรียนรู้ และโครงการหาดใหญ่การพัฒนาเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม หากในอนาคตสามารถพัฒนาเป็น “ผังแม่บท” การสร้างพื้นที่สุขภาวะและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในบริเวณของชุมชนคลองเตย ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ก็จะเป็นเข็มทิศและหลักในการยึดโยงให้คนในเมืองเห็นภาพและมีวิธีการการพัฒนาเมืองสุขภาวะที่ตรงกันได้

ภาพที่ 8 ขอบเขตพื้นที่ผังแม่บทการสร้างพื้นที่สุขภาวะและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริเวณชุมชนคลองเตย เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ที่มา: ณญดา นาคะสิทธิ์,2565

 

#furd
#Healthycitycodesign
#โครงการหาดใหญ่การออกแบบเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม
#สุขภาวะชุมชน
 
 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts