
หนังสือ “Triumph of the City” โดย Edward Glaeser
แม้การเดินทางและการสื่อสารทางไกลในปัจจุบันจะมีต้นทุนต่ำและมีความสะดวกสบายมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะอพยพเข้าไปทำงานหารายได้ในเมือง จนเป็นเหตุทำให้ในขณะนี้มีจำนวนผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด เกลเซอร์ (Edward Glaeser) ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ทำการพิจารณาภาวะความเป็นเมืองและผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองกับชนบทในกรณีศึกษาเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว มุมไบ บังกาลอร์ เป็นต้น จนกลายเป็นหนังสือชื่อว่า “Triumph of the City” ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นภาพรวมและเปรียบเทียบความเป็นเมืองในการสร้างจุดแข็งและดึงดูดผู้คนของแต่ละเมืองได้อย่างชัดเจน
จากการขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกันไปตามเหตุการณ์และช่วงเวลา เช่นตัวอย่างในหนังสือกล่าวถึงเมืองนิวยอร์กที่ขยายตัวจากการที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรเติบโตจาก 60,000 คนกลายเป็น 800,000 คน นั่นหมายความว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นจะทำให้อุปสงค์ของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ประชากรจึงย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองเพิ่มสูงขึ้น ในอีกทางหนึ่ง หากเทคโนโลยีการขนส่งดีขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลงและผู้ผลิตขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ผู้ผลิตจึงมีความต้องการผลิตสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้อัตราการจ้างงานสูงขึ้น เทคโนโลยีการขนส่งจึงมีส่วนทำให้ประชากรในเมืองเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ผลกระทบจากการที่ผู้คนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในเมืองนั้นจะทำให้สังคมใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถพบปะทำความรู้จักกันได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในสังคมด้วย เนื่องด้วยแรงงานที่มีจำนวนมาก ทำให้ผู้คนต่างแสวงหาทักษะ ความรู้และความสามารถ นำไปพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวสู่การเป็นแรงงานในเมือง ผู้คนในเมืองจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาค่อนข้างมาก ส่งผลให้แรงงานในเมืองเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง ค่าจ้างจึงสูงตามไปด้วย ดังเช่นที่หนังสือเล่มนี้อ้างถึงประเทศสหรัฐอเมริกาว่า แรงงานในพื้นที่ที่มีเมืองขนาดใหญ่จะได้รับเงินเดือนสูงกว่าแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมืองมากถึงร้อยละ 30 เฉกเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่มีช่องว่างความแตกต่างระหว่างรายได้ของแรงงานในเมืองกับชนบทค่อนข้างกว้าง แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ในประเทศที่ยากจนมักจะมีช่องว่างนี้กว้างกว่ามาก
ทั้งนี้ เมืองที่เจริญรุ่งเรืองได้นั้นจะต้องมีทั้งแรงงานที่มีทักษะและมีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพ หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วย่อมทำให้ความเป็นเมืองถูกทำลายลง อย่างเช่นกรณีเมืองดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐฯ ในช่วงศตวรรษที่ 20 เมืองดีทรอยต์เต็มไปด้วยแรงงานที่ไร้คุณภาพจำนวนกว่าหนึ่งแสนคน ซึ่งถูกป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เมื่อยุคอุตสาหกรรมหมดลง ทำให้เมืองดีทรอยต์เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนต่างพากันย้ายออกจากเมือง ประชากรจึงลดลงจาก 1.85 ล้านคนในปี ค.ศ. 1950 เหลือเพียง 777,000 คนในปี ค.ศ. 2008
โครงสร้างและจำนวนประชากรของเมืองล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเป็นเมืองขยายตัวหากเปรียบโครงสร้างของเมือง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง เป็นต้น เสมือนเป็นอุปทาน และเปรียบประชากรเสมือนเป็นอุปสงค์ แล้วการมีปัจจัยทั้งสองประกอบกันในระดับที่เหมาะสมคือ ณ จุดดุลยภาพ หรือจุดที่อุปทานและอุปสงค์ตัดกันพอดีนั้นจะทำให้คุณภาพชีวิตสังคมความเป็นอยู่ดีขึ้นและเมืองมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
• AUTHOR |
|
![]() |
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |