
ภาพ “เมือง” แห่งอนาคต
ฮากีม ผูหาดา
ในปี 2012 TED ได้จัดให้มีการนำเสนอแนวคิดสำหรับเมืองแห่งอนาคต ในเวที The City 2.0 อันจะทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้น สวยงามมากขึ้น ตลอดจนมีความยั่งยืน โดยจะสรุปและยกตัวอย่างบางแนวคิด ดังต่อไปนี้
1) อาคารส่งเสริมสุขภาวะ : Alan Ricks หวังจะสร้างโครงสร้างอาคารที่เสริมสร้างสุขภาวะ โดยได้นำเสนอสถิติของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล เช่น การระบาดของวัณโรคในชนบทของแอฟริกาใต้ในพื้นที่แออัด หรือห้องโถงที่อับชื้น แม้แต่ในสหรัฐฯ อัตราผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น Ricks จึงนำเสนอเรื่องราวที่เขาได้ทำการช่วยเหลือการสร้างโรงพยาบาล Butaro ในรวันดา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความสวยงาม อากาศสามารถถ่ายเทสะดวก และสร้างจากความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งโรงพยาบาล Butaro ได้เปลี่ยนแปลงสุขภาวะของชาวรวันดาที่ยากจนอย่างมาก ดังนั้นการสร้างอาคารในเมืองต้องคิดถึงแง่มุมของสุขภาวะของผู้ใช้งาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนเมือง
2) เมืองที่มีตรอก/ซอยที่เงียบสงบคือต้นกำเนิดแรงบันดาลใจ : Jason Sweeney ชอบที่จะมองหาพื้นที่เงียบสงบ ซึ่งหาได้ยากในเมืองใหญ่ พื้นที่ที่เขาสามารถได้ยินเสียงร้องของนก หรือเสียงธารน้ำพุที่ไหลดังจนกลบเสียงของฝูงชน แนวคิดของเขาคือการใช้เสียงบำบัดเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โครงการของเขาชื่อว่า Stereopublic ซึ่งขณะนี้มีหลายเมืองได้นำแนวคิดนี้ไปใช้แล้ว เช่น Perth, Sydney, Melbourne, Sheffield, London, Los Angeles และ New York ความเงียบสงบ หรือเสียงธรรมชาติจะช่วยผ่อนคลายชีวิตคนเมือง ตลอดจนก่อเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ต่อไป
3) บ้านขนาดเล็ก : Amy Henion กล่าวว่า “ความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก” ดังนั้นเขาจึงสนับสนุนแนวคิด “บ้านขนาดเล็ก” ในการบรรยายเขาได้พูดถึงประโยชน์ของการมีบ้านขนาดเล็ก ทั้งสามารถสร้างความปลอดภัยแล้วยังสามารถเคลื่อนย้ายได้อีกด้วย และในปัจจุบันนี้ได้มีกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนการมีบ้านขนาดเล็กในสหรัฐฯ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากและทรัพยากรธรรมชาติที่น้อยลง
4) สนามเด็กเล่นสำหรับเด็ก ๆ ทุกคน : G Cody QJ Goldberg เห็นว่าสนามเด็กเล่นคือสถานที่แสดงศักยภาพที่ไม่น่าเชื่อของเด็กๆ เขายังสนับสนุนให้เพิ่มเวลาเล่น และการสร้างตัวอย่างของการสร้างสนามเด็กเล่นที่ดี เขาหวังที่จะสร้างเมืองที่เต็มไปด้วยสนามเด็กเล่น โดยมีแนวคิดว่าสิ่งที่โลกต้องการมากกว่าคือการมีผู้คนที่ทำการเล่นมากขึ้น ด้วยพื้นที่ของการเล่นจะเป็นพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ และเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิต
5) ถึงที่สุดแล้ว เมืองเป็นเรื่องของคน : Felice Belle ได้เสนอว่านอกเหนือจากการให้ความสนใจการวางผังเมืองและนโยบายต่างๆ ของเมืองแล้ว ยังต้องสนใจชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นสำคัญ โดยเขาได้ยกตัวอย่างกลุ่มคน เช่น ภารโรง บาริสต้า คนว่างงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาจไม่ได้รับความสนใจหรือเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับเมืองมากนัก แต่คนเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเมือง และวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นจะส่งเสริมให้เมืองมีชีวิต
6) อาหารเป็นรูปแบบหนึ่งทางการฑูต : Leah Selim หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Global Kitchen สนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของแต่ละเมืองผ่านอาหาร เพราะอาหารถูกผูกโยงกับวัฒนธรรมอย่างแน่นแฟ้น และการทำอาหารถือได้ว่าเป็นการแสดงออกว่าเราเป็นใคร ดังนั้น “อาหาร” จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมากภายใต้แนวคิดโลกาภิวัตน์ การแลกเปลี่ยนทางอาหารจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนทางความคิดที่จะส่งเสริมการเติบโตของชุมชน
สามารถอ่านและชมคลิปการนำเสนอเพิ่มเติมได้ที่ : http://blog.ted.com/8-ideas-for-the-future-of-cities/
• AUTHOR |
|
|
รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเนห์รู Jawaharlal Nehru University (JNU) ประเทศอินเดีย |