Cities Reviews

หนังสือ "From Urbanization to Cities : Towards a New Politics of Citizenship" โดย Murray Bookchin

 

สภาพเมืองในปัจจุบันเห็นจะเป็นภาพของพื้นที่ของความหวาดกลัว ความเกลียดชัง และเต็มไปด้วยแท่งคอนกรีตที่กระจัดกระจายไร้ระเบียบ Murray Bookchin จึงได้ตั้งคำถามกับสภาพเมืองในปัจจุบัน และพยายามนำเสนอภาพเมืองอันเป็นสถานที่ที่ผู้คนได้มีการปะทะสังสรรค์ และมีการจัดการตนเองตามแนวทางประชาธิปไตย เพราะ Bookchin เสนอว่าในความเป็นจริง เมืองควรจะเป็นพื้นที่ของชีวิตทางสังคมอย่างแท้จริงตลอดจนเป็นเวทีกิจกรรมทางการเมืองให้กับมนุษย์ในฐานะ “พลเมือง” โดยได้นำเสนอแบบอย่างของเมืองในอดีต เช่น เมืองเฮลเลนิค และนครรัฐเอเธนส์ที่ได้สร้างบรรยากาศของระบบศีลธรรมทางการเมือง ซึ่งมีพื้นฐานจากประชาธิปไตยทางตรงที่ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในชีวิตประจำวัน อันจะเป็นการก่อรูปของ “ความเป็นพลเมือง” ขึ้น ดังนั้นในทัศนะของ Bookchin ความเป็นการเมืองภาคพลเมืองจึงเกิดขึ้นจากเมืองโบราณเหล่านั้น

สาเหตุที่เมืองในปัจจุบันกลายเป็นเพียงพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยของแต่ละปัจเจกชนที่กระจัดกระจายจนขาดพลวัตรทางการเมืองของพลเมืองนั้น เนื่องด้วยเกิดการขยายตัวของเมืองใหม่ๆ ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ที่มาพร้อมกับภัยคุกคามชนิดใหม่จากกระบวนการก่อตัวของรัฐ และการสร้างชาติ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีของผู้คนจากเมืองไปสู่ชาติ ตลอดจนภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทุนนิยม กระบวนการทั้งสองนี้ได้ร่วมกันทำลายพื้นฐานประชาธิปไตยของเมือง และได้สร้างรูปแบบการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่มีรากฐานจากแนวคิดปัจเจกชนนิยมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ทุนนิยมได้เจาะเข้าไปในพื้นที่เมืองและทำให้ทุกแง่มุมของพื้นที่เมืองกลายเป็นสินค้า ในขณะเดียวกันการเมืองได้ถูกทำให้กลายเป็นของอาชีพ(นักการเมือง) กลายเป็นระบบราชการที่มุ่งสนใจเฉพาะกิจการของรัฐ แต่สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของปัจเจกชนเห็นจะมีเพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ทางแก้ของ Bookchin คือการหันกลับมาสนใจรากทางการเมืองภาคพลเมืองที่มีพื้นฐานจาก “เทศบาล” ในฐานะศูนย์กลางของเมือง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าเมืองในอดีตคือพื้นที่ที่ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และเป็นเวทีทางการเมืองมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงสามารถก่อตั้งการปกครองตนเองของพลเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายแนวคิดนี้ออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว เพื่อท้าทายการครอบงำของรัฐและทุน อย่างไรก็ตาม Bookchin ไม่ได้สนับสนุนให้ผู้คนแยกตัวเองไปใช้ชีวิตอยู่อย่างชนบท หรือกลับไปใช้ระบบเศรษฐกิจแบบในยุคหิน เขาเพียงต้องการสนับสนุนให้มีระบบเศรษฐกิจที่ผู้คนสามารถควบคุม ตรวจสอบได้ และไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ด้วยการเสริมสร้างพลังให้กับประชาชนสู่การเป็นพลเมืองภายใต้กลไกของเมือง

การพัฒนาเมืองที่ไร้ทิศทางมักจะส่งผลให้เกิดสภาพเมืองที่มีความเจริญเฉพาะกายภาพเมืองเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความต้องการของผู้คนในเมืองนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับเมืองในประเทศไทยอย่างกรุงเทพ “มหานคร” ที่ขยายพื้นที่และเติบโตขึ้นอย่างไร้ทิศทาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนในกรุงเทพฯ ขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ ที่มีน้อย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างระเบียบการเมืองใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนควรหันมาสนใจเมืองในแง่ของการเป็นพื้นที่ของการพัฒนา “ภาคพลเมือง”

 

 

• AUTHOR

 


ฮากิม ผูหาดา

 

รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเนห์รู Jawaharlal Nehru University (JNU) ประเทศอินเดีย 

Related Posts